-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การขอตั้งเมืองเมืองกันทรารมย์

             เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๓ เริ่มเกิดศึกฮ่อเข้ามาในพื้นที่เมืองเวียงจันทน์ ในการปราบศึกครั้งนั้น มีเจ้าเมืองสังขะ เจ้าเมืองขุขันธ์ เจ้าเมืองศรีขรภูมิ และเจ้าเมืองสุรินทร์ ได้รับคำสั่งให้มีการสนับสนุนกองกำลังและส่งเสบียงอาหารบำรุงทัพในการปราบฮ่อ ซึ่งใช้ระยะเวลาหลายปีการปราบฮ่อจึงสงบลง(เหตุการณ์สงครามปราบฮ่อ เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๔๐๘ - ๒๔๓๓ ซึ่งใน พ.ศ. ๒๔๑๘ เป็นช่วงที่ทางการไทยเอาจริงเอาจังมากกับการปราบฮ่อ โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหาอำมาตย์(ชื่น กัลยาณมิตร) จัดส่งกองทัพจากกรุงเทพ ฯ ไปปราบฮ่อที่ได้ยกกำลังล่วงล้ำเข้ามาจนถึงเมืองเวียงจันทน์ )
กองทัพสยามขณะปราบฮ่อ พ.ศ. 2418

          พ.ศ. ๒๔๑๕ พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ (ทองอินทร์) เจ้าเมืองสังฆะ ท่านที่ ๓ 
ในขณะนั้นโดยการสนับสนุนของ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ ๘ (ท้าววัง -พุทธศักราช ๒๓๙๕ - ๒๔๒๖) ได้มีใบบอกขอตั้ง "บ้านร็วมปุก" (ชาวบ้านออกเสียงเพี้ยนมาเป็น "บ้านลำพุก" ในปัจจุบัน)เป็นเมือง    และได้กราบทูลขอยกฐานะ "บ้านลำพุก" ขึ้นเป็นเมือง ชื่อว่า "เมืองกันทรารมย์" พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นเมืองชื่อว่า "เมืองกันทรารมย์" ขึ้นตรงต่อเมืองสังฆะ(ซึ่งขณะนั้นใช้แนวเขตลำห้วยสำราญกั้นระหว่างเขตเมืองสังขะกับเมืองขุขันธ์)  และโปรดเกล้าฯให้พระมหาดไทยของเมืองสังฆะ คือพระกันทรานุรักษ์ เป็นเจ้าเมือง ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันพฤหัสบดี ตรงแรม ๔ ค่ำเดือน ๕ ปีวอก ตรีศก จุลศักราช ๑๒๓๓ พุทธศักราช ๒๔๑๕  
          ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ พระกันทรานุรักษ์ เจ้าเมืองกันทรารมย์ถึงแก่กรรม หลวงสุนทรพิทักษ์ เป็นบุตรกรมการเมือง ได้ขึ้นรักษาราชการเป็นเจ้าเมืองสืบต่อมาจนเข้าสู่การยุบเมืองเป็นอำเภอ แล้วโอนจากเมืองสังขะมาขึ้นกับเมืองขุขันธ์ และได้ถูกลดฐานะเป็นตำบลกันทรารมย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๐ ขึ้นตรงต่ออำเภอห้วยเหนือ จังหวัดขุขันธ์ โดยมีหลวงพล  อินดา เป็นกำนันคนแรก
       และในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นสมัยที่ อำมาตตรี พระวิเศษชัยชาญ ( ชอุ่ม อมัตติรัตน์ ) ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ ได้ขอประกาศเปลี่ยนชื่อ “อำเภอท่าช้าง” เดิม เป็นชื่อ “อำเภอกันทรารมย์” เพื่อรักษานามของ “เมืองกันทรารมย์” เดิมที่ถูกยุบไป
อำมาตย์เอก พระยาวิเศษไชยชาญ พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๖๗
อำมาตตรี พระวิเศษชัยชาญ(ชอุ่ม อมัตติรัตน์ )
ผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ ท่านที่ 2

(พ.ศ. 2463-2465)
      ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ มีการสำรวจ เส้นทางรถไฟสายนครราชสีมา – อุบลราชธานี มีการปรับเปลี่ยนแนวเขตจังหวัด แล้วย้ายที่ว่าอำเภอกันทรารมย์ จากที่ตั้ง“อำเภอท่าช้าง” เดิม(อยู่บ้านพันทา ตำบลโพธิ์ในปัจจุบัน) มาตั้งอยู่ที่ บ้านคำเมย  หมู่ที่  ๕  ตำบลดูน เรียกว่า "อำเภอกันทรารมย์" ถึงปัจจุบัน


             สิ่งที่เป็นหลักฐานว่าเคยเป็นเป็นเมืองเก่า ได้แก่ บริเวณวัดโสภณวิหาร และหนองปรุ เคยมีการขุดพบวัตถุโบราณเป็นเตาเผา มีเครื่องสังคโลก และอาวุธโบราณ มีลักษณะคล้ายขวานทำจากหินแกรนิตมีสีชมพู และมีความคมมาก และประจักษ์พยานที่สำคัญที่สุด ก็คือ มีหลักเมืองโบราณ ที่ยังคงตั้งตระหง่านตั้งอยู่ ณ ใจกลางหมู่บ้านลุมพุก และเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘  อดีต สจ.ชุมรัก ศิริรัตน์มานะวงศ์ ได้ประสานงบประมาณเพื่อการพัฒนาปรับภูมิทัศน์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ  ทำการก่อสร้างมนฑปลักษณะทรงปรางค์ขอมครอบหลักเมืองเพื่อให้เป็นที่เคารพสักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวตำบลกันทรารมย์ ตลอดไป

คำขวัญตำบลกันทรารมย์
"กันทรารมย์"เมืองเก่า 
มีเสาหลักเมืองโบราณ
โสภณวิหารงามล้ำค่า 
ถิ่นภูมิปัญญานักปราชญ์
ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม 
น้อมนำพัฒนารักสามัคคี"


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย