ในปี พ.ศ. 2443 เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการปกครองในรูปแบบเทศาภิบาล กล่าวคือในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 มีเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ในขณะนั้น คือ สมเด็จพระเจ้า บรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ตรากฎกระทรวง ชื่อ ข้อบังคับเรื่องเปลี่ยนชื่อ มณฑลทั้ง 4 มณฑล และมีผลให้ยุบเมืองบางเมืองเป็นอำเภอ ยุบรวมเมืองเล็ก ๆ หลายเมืองเป็นเมืองเดียวกัน
ผลการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ จึงทำให้ผู้เคยมีอำนาจและตำแหน่งต้องเสียตำแหน่งและเสียอำนาจ ส่วนบางคนผู้เคยมีตำแหน่งอยู่แล้วก็ยังได้ตำแหน่งและอำนาจที่สูงขึ้น จึงมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้นผู้เสียประโยชน์จึงไม่พอใจและก่อความไม่สงบขึ้นทั่วไป ในภาคพื้นแถบมณฑลอิสาน ที่เรียกว่า “กบฎผีบุญ” ท้าวบุญจันทร์ ก็เป็นบุคคลหนึ่งที่ประวัติศาสตร์ชาติไทยได้บันทึกไว้ว่า เป็นผู้ก่อกบฎ (ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ)
ท้าวบุญจันทร์เป็นบุตร พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 8 และท้าวบุญจันทร์ยังเป็นน้องชายของ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา ขุขันธิน ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 มีตำแหน่งราชการเป็นกรมการเมือง ปฏิบัติหน้าที่ราชการช่วยเจ้าเมืองขุขันธ์ ผู้เป็นพี่ชายมาโดยตลอด
ท้าวบุญจันทร์ สมรสกับภรรยาคนที่ 1 มีธิดา 2 คน ชื่อ นางญาณ และนางสุข ส่วนภรรยา คนที่ 2 เป็นหญิงชาวบ้านสิ ขุนหาญ (ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับบุตรธิดา) ท้าวบุญจันทร์เป็นบุคคลที่มีอัธยาศัยไมตรี ใจกว้าง ใจบุญ โอบอ้อมอารี ฉลาด กล้าหาญ มีน้ำใจ คราใดที่ทางราชการบริหารราชการส่อไปในทางเอารัดเอาเปรียบ ข่มเหงรังแกประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อนจากนโยบายส่วนมากดูจะเห็นใจราษฎร ทำให้ทางราชการมองว่า ปลุกปั่น สนับสนุนราษฎร ให้เรียกร้องอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับพระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี) ที่มีตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองบริเวณ ซึ่งสูงกว่าเจ้าเมืองขุขันธ์ (ท้าวปัญญา) ผู้เป็นบุตรเขย และเป็นพี่ชายของท้าวบุญจันทร์ จึงทำให้ท้าวบุญจันทร์และกรมการเมืองหลายคนไม่พอใจข้าหลวง คือ พระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี ) บ่อยครั้งจึงเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่จะมีการแต่งตั้งนายอำเภอกันทรลักษ์คนใหม่ เจ้าเมืองขุขันธ์ (ท้าวปัญญา) ซึ่งเป็นพี่ชายท้าวบุญจันทร์ โดยความเห็นชอบและได้รับการสนับสนุนจากกรมการเมืองหลายคน เจ้าเมืองขุขันธ์ (ท้าวปัญญา) จึงได้เสนอต่อข้าหลวงกำกับบริเวณ คือพระยาบำรุงบุระประจันต์ เพื่อเสนอเพื่อทรงโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้ง ท้าวบุญจันทร์เป็นนายอำเภอกันทรลักษ์ แต่พระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี ) ข้าหลวง ไม่เห็นด้วย และได้เสนอบุคคลอื่นซึ่งเป็นของฝ่าย พระยาบำรุงบุระประจันต์ สนับสนุนให้ทรงโปรดเกล้าฯ เป็นนายอำเภอกันทรลักษ์แทน กลายเป็นเรื่องขัดแย้งอย่างรุนแรง ความจริงนายอำเภอกันทรลักษ์คนเดิมที่ถึงแก่อนิจกรรมก็คือ พี่ชายของ ท้าวบุญจันทร์ และเจ้าเมืองขุขันธ์ก็เป็นพี่ชาย ท้าวบุญจันทร์ก็น่าจะมีความชอบธรรมในการเสนอให้ทรงโปรดเกล้าฯ ในตำแหน่งนายอำเภอกันทรลักษ์ แต่กลับมิได้รับการเสนอ และกลับถูกกล่าวหาและถูกใส่ร้ายว่าจะก่อการไม่สงบขึ้น เพราะความมักใหญ่ใฝ่สูง ทำให้ท้าวบุญจันทร์ ไม่พอใจอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม จากน้ำผึ้งหยดเดียวกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต อำนาจในการปกครองเมืองขุขันธ์ แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายที่เห็นด้วย และสนับสนุนข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณ กับอีกฝ่ายคือ ฝ่ายเจ้าเมืองขุขันธ์ คือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) แต่ความขัดแย้งจะไม่แสดงออกถึงขั้นแตกหักเพราะทั้ง 2 ท่านมีศักดิ์เป็นพ่อตาและบุตรเขยจึงต่างก็ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
ส่วนท้าวบุญจันทร์ และกรมการเมืองอีกกลุ่มไม่เห็นด้วยกับพระยำบำรุงฯ จึงรับไม่ได้ อีกทั้งเพื่อความปลอดภัยในชีวิต จึงได้พาผู้ที่ศรัทธาและสนับสนุนตนเองหนีออกจากเมืองขุขันธ์ ไปอยู่อาศัยที่เขาภูฝ้าย (บริเวณตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน )
ต่อมาอีกไม่นานพอชาวขุขันธ์ทราบข่าวว่าท้าวบุญจันทร์ได้หนีออกจากเมืองขุขันธ์ ไปพำนักอยู่ที่เขาภูฝ้าย ด้วยความรักและศรัทธาในตัวท้าวบุญจันทร์ จึงทยอยหลั่งไหลกันไปที่เขาภูฝ้าย ซึ่งต่างก็อ้างว่าไปทำบุญประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อไม่ให้ทางการเกิดความสงสัย บางคนเมื่อไปร่วมทำบุญบนภูฝ้ายแล้วไม่ยอมกลับตัดสินใจสมทบอาศัยอยู่กับท้าวบุญจันทร์ ทำให้มีผู้คนอยู่ร่วมกับท้าวบุญจันทร์มากขึ้น ๆ ทำให้พื้นที่พักอาศัยบนเขาภูฝ้ายคับแคบลงและขาดความอุดมสมบูรณ์ ท้าวบุญจันทร์จึงตัดสินใจเคลื่อนย้ายสมัครพรรคพวกไปพำนักอยู่ ณ เขาซำปีกา ฝ่ายเจ้าเมืองขุขันธ์ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) เป็นผู้ที่อยู่ ในฐานะที่ลำบากใจยิ่ง ไหนจะห่วงเรื่องปกครองบ้านเมือง ไหนจะห่วงท้าวบุญจันทร์ผู้น้องต้องการให้เลิกความคิดยอมเข้ามาช่วยราชการบ้านเมืองอย่างเดิม แต่ก็ไม่ได้ผลจนในที่สุด พระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี) ข้าหลวงประจำเมืองขุขันธ์ได้มีบัญชาให้ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ท้าวปัญญา) ส่งกองกำลังจากเมืองขุขันธ์ออกปราบ แต่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนไม่เห็นด้วย แต่ก็มิได้ทัดทานหรือคัดค้านประการใด เนื่องจาก พระยาบำรุงบุระประจันต์ ( จันดี) มีตำแหน่งเป็นข้าหลวงที่ส่วนกลางแต่งตั้งให้กำกับดูแลเมืองบริเวณขุขันธ์ ย่อมมีอำนาจที่สูงกว่าเจ้าเมืองขุขันธ์อยู่แล้ว (ฐานะพ่อตาด้วย) ในที่สุดพระยาบำรุงฯ ข้าหลวงกำกับเมืองขุขันธ์ขอเป็นผู้สั่งการเอง โดยจะหลีกเลี่ยงการกระทำการใด ๆ ที่รุนแรงและขอจับตัวมาลงโทษให้ได้ โดยจะไม่พยายามให้มีการตายเกิดขึ้น
แต่เป็นที่น่าสังเกต การวางแผนออกปราบปรามกลุ่มท้าวบุญจันทร์ในครั้งนี้ พระยาบำรุงฯ จะปิดเป็นความลับ โดยมิให้พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ได้ล่วงรู้แผนใด ๆ เลย แต่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ก็พอจะล่วงรู้ได้ว่า จะมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
ในปี พ.ศ. 2443 พระยาบำรุงฯ ได้สั่งให้ทหารเมืองขุขันธ์ออกไปปราบกลุ่มท้าวบุญจันทร์ บนเขาซำปีกา อยู่หลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ เนื่องจากทหารยังเกรงใจท้าวบุญจันทร์ เป็นเจ้านายเก่าและเป็นน้องพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนด้วย อีกทั้งทหารเกรงกลัวและขยาดต่อคำล่ำลือ ในความเก่งกล้าด้านคาถาอาคมทางไสยศาสตร์ของท้าวบุญจันทร์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อเดินทางไปถึงที่มั่นของท้าวบุญจันทร์ ต่างก็หวาดกลัวไม่กล้าที่จะเผชิญหน้าเกิดขวัญเสียต่างก็วิ่งหนี เอาตัวรอดไปทุกครั้งทำให้ไม่สามารถทำอะไร ท้าวบุญจันทร์ได้ ก็ยิ่งทำให้สมัครพรรคพวก ของท้าวบุญจันทร์เกิดความมั่นใจและศรัทธาในตัวท้าวบุญจันทร์มากขึ้น
ในที่สุดพระยาบำรุงฯ ข้าหลวงจึงตัดสินใจออกไปปราบด้วยตนเอง เมื่อกองกำลังของพระยาบำรุงฯ เดินทางถึงที่มั่นบนเขาซำปีกา ก็ได้เผชิญหน้ากับท้าวบุญจันทร์ ร้องขอให้ ท้าวบุญจันทร์ได้มอบตัวเพราะการกระทำของท้าวบุญจันทร์เข้าข่ายก่อการกบฎต่อบ้านเมืองที่ทางการมิอาจยอมให้กระทำต่อไปได้ ฝ่ายของท้าวบุญจันทร์เมื่อได้ฟังดังนั้นก็ไม่ยอม ต่างฝ่ายต่างกรูชักดาบเข้าต่อสู้กัน ส่วนท้าวบุญจันทร์มิได้ชักดาบซึ่งเป็นอาวุธประจำตัว แต่กลับพนมมือสวดมนต์ ร่ายคาถาเดินเข้าหาฝ่ายทหารจากเมืองขุขันธ์ แม้จะถูกฝ่ายทหารจากเมืองขุขันธ์ใช้ดาบฟันถูกร่างกายหลายครั้ง แต่ดูไม่ระคายผิวแม้แต่น้อย พอปะทะกันได้ไม่นานนัก ฝ่ายทหารจากเมืองขุขันธ์ ที่มีความเกรงกลัวต่อท้าวบุญจันทร์อยู่ก่อนแล้ว ยิ่งตกใจและพากันถอยร่นหนีเอาตัวรอด ฝ่ายพระยาบำรุงฯ เห็นว่าสถานการณ์ไม่สู้จะดีนักจึงสั่งให้กองกำลังล่าถอยกลับไปก่อน
จากเหตุการณ์ดังกล่าว พระยาบำรุงฯ จึงครุ่นคิดได้ว่า จากการที่กองกำลังจากเมืองขุขันธ์เข้าปราบกองกำลังกลุ่มท้าวบุญจันทร์หลายครั้งแล้วไม่สำเร็จ ก็โดยเหตุที่ว่าทหารจากเมืองขุขันธ์ เกรงบารมีท้าวบุญจันทร์ ทั้งด้านฝีมือการรบและเป็นน้องชายเจ้าเมืองขุขันธ์ หากเป็นเช่นนี้ คงยากที่จะใช้กำลังจากเมืองขุขันธ์เข้าปราบปรามและจับตัวท้าวบุญจันทร์ได้ จึงได้ทำรายงานไปยังพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ได้ทราบว่า ที่เมืองขุขันธ์มีกบฎผีบุญขึ้น มีผู้คนเข้าร่วมเป็นสมัครพรรคพวกพร้อมอาวุธเป็นจำนวนมาก ยากต่อการปราบปรามได้ จำเป็นต้องขอกำลังทหารจากหน่วยเหนือมาช่วยปราบ ดังนั้นพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้สำเร็จราชการมณฑลอิสาน ได้ทูลขอสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ให้ทรงทราบ ได้มีการประชุมเสนาบดีที่กรุงเทพฯ มีมติส่งกองทหารจากเมืองนครราชสีมาอีกจำนวน 200 คน โดยมีร้อยโทหวั่น ร้อยตรีเจริญ และร้อยตรีอิน คุมกองกำลังทหารหนึ่งกองร้อย พร้อมอาวุธเดินทางเข้าสู่เมืองขุขันธ์โดยหยุดรวมพลวางแผน โดยใช้บริเวณวัดไทยเทพนิมิตร เป็นฐานที่มั่นรวมกองกำลังทั้งทหารพลเรือนที่ยกไปปราบครั้งนี้จำนวน 800 คน ในขณะที่ทหารจากส่วนกลางและจากเมืองนครราชสีมาไม่เคยชินต่อภูมิประเทศของภูเขาซำปีกา ซึ่งเป็นที่มั่นของกลุ่ม ท้าวบุญจันทร์ ดังนั้นการปราบปรามเพื่อจับกุมท้าวบุญจันทร์จึงทำได้ไม่สำเร็จ กองทหารต้องล่าถอยกลับ เพื่อวางแผนในการเข้าปราบปรามต่อไป
ครั้งที่สองที่กองทหารจากส่วนกลางและจากนครราชสีมา ซึ่งพระยาบำรุง ฯ เป็นผู้คุมกองกำลังด้วยตนเอง โดยหวังจะให้กองทหารเข้าจับกุมท้าวบุญจันทร์ให้ได้ แต่ไพร่พลที่เป็นกองกำลังของฝ่ายท้าวบุญจันทร์ไม่ยอมเกิดการต่อสู้กันอย่างหนัก ทหารฝ่ายพระยาบำรุงฯ ได้ใช้อาวุธปืนยิงเข้าใส่กองกำลังของท้าวบุญจันทร์ แต่ก็ไม่สามารถทำให้กองกำลังของท้าวบุญจันทร์ได้รับบาดเจ็บจากอาวุธปืนแต่อย่างใด ทำให้ฝ่ายทหารของพระยาบำรุงฯ เกิดเสียขวัญต้องล่าถอยไปอีกครั้ง
ในที่สุดฝ่ายท้าวบุญจันทร์แม้จะพยายามต่อสู้ด้วยวิธีการใด ๆ ก็ตาม เนื่องจากอาวุธ ในการต่อสู้ที่เสียเปรียบฝ่ายทหารอยู่แล้ว ดังนั้น พระยาบำรุงฯจึงได้วางแผนร่วมกับแม่ทัพ จากส่วนกลางเป็นอย่างดี โดยตัดสินใจใช้อาวุธหนักเบาที่มีอยู่อย่างเต็มที่ แม้จะต้องมีการบาดเจ็บ ล้มตาย ก็ต้องยอมเพื่อจับตัวท้าวบุญจันทร์ให้ได้ ในคราวนี้ ดังนั้นเมื่อเกิดการเผชิญหน้ากัน พระยาบำรุงฯ ก็คาดคิดมาก่อนแล้วว่า ท้าวบุญจันทร์และกองกำลังฝ่ายท้าวบุญจันทร์คงไม่ยอมมอบตัวและยอมแพ้อย่างง่าย ๆ แน่นอนเมื่อเผชิญหน้ากัน จึงสั่งให้ทหารเข้าโจมตีด้วยอาวุธทุกชนิดที่เตรียมมา ทำให้ไพร่พลฝ่ายท้าวบุญจันทร์ที่มีน้อยกว่าอยู่แล้วต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากที่เหลือเกิดขวัญเสียยอมแพ้ต้องหนีเอาตัวรอด ส่วนท้าวบุญจันทร์ได้ถูกกระสุนที่แขนอาการสาหัสไม่ยอมหลบหนี จึงถูกทหารจับตัวไว้ได้ พระยาบำรุงฯ จึงสั่งให้ทหารตัดเอาศรีษะ ท้าวบุญจันทร์นำกลับไปที่เมืองขุขันธ์ แล้วทำการแห่ไปรอบเมืองแล้วจึงได้เสียบประจานไว้ที่ทางสี่แพร่ง หน้าสถานีตำรวจในขณะนั้น (ทิศตะวันตกโรงเรียนขุขันธ์ ในปัจจุบัน)
ผลพวงจากการปราบปรามกบฎท้าวบุญจันทร์ในครั้งนี้ แม้ท้าวบุญจันทร์จะต้องสิ้นชีวิตไปแล้วก็ตาม แต่ประชาชนชาวขุขันธ์ส่วนหนึ่งไม่พอใจในการกระทำการอย่างรุนแรงของทางการ โดยการนำของพระยาบำรุงฯ ข้าหลวงประจำเมืองขุขันธ์ในครั้งนี้ทำให้ ในเวลาต่อมาเหตุการณ์ในเมืองขุขันธ์วุ่นวายเกิดขึ้น มีการก่อความไม่สงบ มีการทำลายและเผาสถานที่ราชการ มีการลอบฆ่าฝ่ายปกครองเป็นเนือง ๆ จนต้องใช้กองกำลังทหารจากส่วนกลางช่วยรักษาความสงบภายในเมืองขุขันธ์อยู่อีกเป็นเวลาแรมปี
ฝ่ายพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา ขุขันธิน) เจ้าเมืองขุขันธ์ เมื่อทราบข่าวการตายของท้าวบุญจันทร์ผู้น้องก็ตกใจและรู้สึกเสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะได้ขอร้อง พระยาบำรุงฯ แล้วว่าอย่าใช้ความรุนแรงโดยขอให้จับเป็นไม่ให้จับตาย แต่เมื่อเหตุการณ์ ได้เป็นไปถึงขนาดนี้แล้วก็ได้แต่นึกสงสารท้าวบุญจันทร์ ผู้เป็นน้องและนึกตำหนิตัวเอง ที่แม้จะเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ก็ไม่สามารถช่วยเหลือชีวิตท้าวบุญจันทร์ ผู้เป็นน้องไว้ได้ จึงได้แต่รับหลานซึ่งเป็นบุตรสาว 2 คน ของท้าวบุญจันทร์ชื่อ นางญาณ และนางสุข ไปเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ ซึ่งต่อมาได้ใช้นามสกุล “ขุขันธิน” ซึ่งเป็นนามสกุลของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) ผู้เป็นลุง
จากการที่ได้ปราบปรามกบฎท้าวบุญจันทร์นี้เอง ทำให้ พระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี) ข้าหลวงกำกับราชการเมืองบริเวณขุขันธ์ เกิดความไม่มั่นใจในความมั่นคงในการบริหารราชการปกครองเมืองขุขันธ์ อยู่ ณ ที่เมืองขุขันธ์เดิม ในราวปลายปี พ.ศ. 2449 จึงได้ตัดสินใจที่จะย้ายเฉพาะศาลาว่าราชการเมืองขุขันธ์ จากตำบลห้วยเหนือ ไปตั้ง ณ ตำบลเมืองเหนือ และทำการย้ายได้สำเร็จเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2450 โดยพระเจ้าอยู่หัว ร.5 โปรดเกล้าฯให้ยุบเมืองศรีสะเกษ เมืองเดชอุดม รวมเข้ากับเมืองขุขันธ์ รวมเรียกว่า “เมืองขุขันธ์” ส่วนที่เมืองขุขันธ์เดิม คงไว้ให้มีฐานะเป็นอำเภอเมือง เท่านั้น
ข้อสังเกต มิใช่ยุบเมืองขุขันธ์ หรือลดฐานะเมืองขุขันธ์เป็นอำเภอ เพราะขณะที่ศาลากลางเมืองขุขันธ์ตั้งอยู่ ณ เมืองขุขันธ์ ก็มีศาลาว่าการอำเภอห้วยเหนือ ยังคงอยู่ เมื่อย้ายเฉพาะศาลาว่าการเมืองขุขันธ์มาตั้งที่ ศีร์ษะเกษ ที่ตัวเมืองขุขันธ์แห่งเดิมก็ยังคงมีมีสถานะเป็นอำเภอเมืองอยู่เช่นเดิม มิใช่ยุบหรือลดฐานะ เมืองขุขันธ์ดังที่เข้าใจ เพราะเมื่อย้ายมาตั้งที่ศรีสะเกษ ก็ยังใช้ชื่อ ศาลาว่าราชการเมืองขุขันธ์ อยู่เช่นเดิม ตำแหน่ง ผู้ว่าก็ยังเป็นผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ โดยทรงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบำรุงบุระประจันต์ ซึ่งเป็นข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณขุขันธ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ แทนผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ท่านเดิมคือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนตำแหน่งไปเป็นกรมการพิเศษเมืองขุขันธ์ และกรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์ ในเวลาต่อมา จากปี พ.ศ. 2450 ถึงปี พ.ศ. 2460 จึงได้สิ้นสุดในตำแหน่งหน้าที่ราชการแล้วท่านได้กลับไปใช้ชีวิตที่อำเภอห้วยเหนือ จนมาถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2470 รวมสิริอายุได้ 70 ปี นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ยืนยันว่า จากที่ท้าวบุญจันทร์ผู้น้องถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎก็มิได้ทำให้ผู้พี่คือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา ) มิได้รับตำแหน่งใด ๆ อย่างที่บางท่านกล่าว เป็นการกล่าวที่ขาดเหตุผลและขัดต่อข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง