-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การเล่นมะมวด

การเล่นมะมวด  มีลักษณะเป็นความเชื่อ คือเป็นการรำแก้บน  และมีความสำคัญที่แสดงถึงประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงามอีกแบบหนึ่ง ซึ่งได้สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และถือเป็นการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมที่ดีงามของท้องถิ่น

ประวัติความเป็นมา
การเล่นมะมวด  เป็นการละเล่นเพื่อแก้บนที่เจ้าภาพได้บนบานเอาไว้  เมื่อผู้ป่วยได้หายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย  เป็นประเพณีที่สืบต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน  มีการละเล่นประเพณีนี้เกือบทุกหมู่บ้านในถิ่นชนบท  การละเล่นอาจจะแตกต่างกันบ้างตามภาษาพูดของแต่ละท้องถิ่น  แต่ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก  เพราะภาษาพูดในท้องถิ่นนี้มีหลายภาษาด้วยกัน เช่น  บางหมู่บ้านพูดภาษาเขมร ลาว ส่วย  การใช้ภาษาร้องภาษารำก็เป็นไปตามภาษาของท้องถิ่นนั้น

เมื่อครอบครัวมีคนเจ็บไข้ได้ป่วยที่เฝ้าดูแลรักษาทั้งแพทย์แผนโบราณและแพทย์แผนปัจจุบัน  อาการคนป่วยก็ไม่ดีขึ้น  ชาวบ้านก็จะหันมาพึ่งทางไสยศาสตร์  ซึ่งชาวบ้านยังเชื่อเรื่องไสยศาสตร์อยู่มาก  เมื่อเห็นว่าแพทย์แผนปัจจุบันช่วยไม่ได้แล้ว  ก็เตรียมอุปกรณ์ที่จะนำไปเข้าทรงเจ้ากับคนทรงว่าคนป่วยป่วยเป็นอะไร  โดยให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งนำถ้วยที่ใส่ข้าวสารและเงินเหรียญ ๕ บาท หรือ ๑๐ บาท  ใส่บนข้าวสารเดินถือไปบ้านคนทรงประจำหมู่บ้าน  ซึ่งคนทรงอาจจะมี ๑ คน  หรือมากกว่านั้นก็แล้วแต่  คนที่จะไปให้คนทรงจะเลือกเองว่าจะไปทรงเจ้ากับใครในขณะที่คนที่จะไปหาหอทรงเจ้าเดินถือถ้วยข่าวสารไปนั้น  ห้ามพูดจากับใครโดยเด็ดขาด  ในระหว่างทางใครจะถามอย่างไรก็ห้ามตอบ  แต่ถ้าเป็นคนในหมู่บ้านที่รู้ประเพณีนี้เขาก็จะถามแต่อย่างใด  นอกเสียจากเป็นบุคคลอื่นที่มาจากท้องที่อื่น  บางคนก็จะถามเซ้าซี้จนทำให้เกิดความเสียหายได้เหมือนกัน

สาเหตุที่ไม่ให้คนที่จะไปหาคนทรงเจ้าพูดจากับใคร  ก็เพราะเชื่อกันว่า  ถ้าหากพูดจาทักทายกับใครต่อใครก่อนที่จะไปทรงเจ้าจะทำให้คำทำนายที่หมอคนทรงพูดออกมาจะไม่ตรงตามความเป็นจริงนั่นเอง  แต่หลังจากกลับจากทรงเจ้าแล้ว  ก็สามารถตอบคำถามของผู้ที่อยากทราบข้อเท็จจริงจากคำทำนายได้  คำทำนายที่หมอคนทรงพูดออกมาจะมีอยู่หลายลักษณะแล้วแต่อาการป่วยของผู้ป่วยคนนั้น  อย่างเช่น  บางคนหมอทรงก็บอกว่าผีปู่ย่าตายายโกรธที่พ่อด่าลูกชายคนนั้นคนนี้ต้องเซ่นเป็ดไก่  หรือบางทีก็บอกว่าผีบรรพบุรุษโกรธที่ยกที่นาแปลงนั้นแปลงนี้ให้กับคนที่เขาไม่ต้องการให้แต่แรก  ให้กลับไปแบ่งใหม่  และอีกกรณีหนึ่งก็คือมะมวดเขาอยากร้องรำทำเพลง  ถ้าในกรณีหลัง  ญาติของผู้ป่วยก็จะต้องนำสิ่งของที่จะใช้เข้าทรงที่จัดขึ้นมาใหม่ไปหาแม่ครูมะมวด  โดยเฉพาะเพื่อที่จะทำการบนบานต่อไปว่า  หากคนป่วยหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วยจะเล่นร้องรำทำเพลงแม่มดให้เป็นที่สนุกสนานต่อไป

ระยะแรกที่จะแก้บนก็ขึ้นอยู่กับญาติของผู้ป่วยที่จะให้คำสัญญากับมะมวดที่มาเข้าทรงกับแม่ครู  ว่าจะแก้บนทันทีหลังจากที่คนป่วยหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย  หรือจะแก้บนในปีหน้าเพื่อขอเวลาหางบประมาณในการจัดพิธีการการรำมะมวด  ซึ่งปัจจุบันต้องใช้งบประมาณเป็นหมื่นบาท  คนป่วยบางรายหลังจากที่ญาติได้บนบานกับมะมวดแล้วอาการไข้ก็หายเป็นปกติ  แต่บางรายพอหายแล้วแกล้งทำเป็นลืม  มะมวดก็จะบันดาลให้อาการคนป่วยกลับมาเป็นอีก  อาจจะทรุดกว่าเดิมถ้าญาติรีบบนบานว่าหากอาการป่วยคราวนี้หายขาดเหมือนคราวแรกจะรีบเล่นมะมวดทันที  ถ้าคนป่วยหายป่วยก็จะต้องรีบเล่นมะมวดให้จงได้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพิธีการเล่นมะมวดจะรักษาคนเจ็บคนป่วยได้เสมอไป  บางรายหลังจากได้บนบานไว้แล้วเป็นเดือนเป็นปีคนป่วยอาการไม่ดีขึ้นเลยก็มี  ญาติเกรงว่าคนป่วยจะเสียชีวิตเสียก่อน  ก็รีบชิงเล่นมะมวดทั้งที่คนป่วยยังนอนป่วยหนักอยู่ในบ้าน  บางรายคนป่วยได้เสียชีวิตลงทั้ง ๆ ที่ยังเล่นมะมวดอยู่ก็มี  ชาวบ้านก็จะลงความเห็นว่าไม่ได้ทำผิดกับมะมวดแต่อาจทำผิดกับภูตผีปีศาจหรือเทพาอารักษ์จากที่อื่นก็เป็นได้  ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบ้านที่มีมาช้านาน  ยากที่จะเปลี่ยนแปลงความรู้สึกเหล่านี้ให้ออกไปจากใจของพวกเขาได้  เพราะประเพณีนี้มีมาแต่โบราณ  ไม่มีใครสามารถให้ข้อมูลได้ว่าเริ่มาแต่เมื่อไร  เพราะทุกคนเกิดมาก็พบกับประเพณีนี้เลย  ก็คงจะพูดได้ว่าไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่  เพราะคนป่วยที่หายเป็นปกติก็มากมายหลายรายหลังจากที่หาแพทย์ปัจจุบันแล้วอาการไม่ดีขึ้นเลย  บางรายแพทย์บอกว่าให้ญาติทำใจนำคนป่วยมานอนรอวันตายที่บ้านได้เลย  ญาติเมื่อหมดหนทางก็บนบานมะมวดทำพิธีเล่นมะมวด  คนป่วยกลับหายป่วยราวปาฏิหาริย์ก็มีหลายราย



การแต่งกาย มีเครื่องแต่งกาย ได้แก่
         เสื้อ  ส่วนมากจะนิยมเสื้อแขนสั้น  หรือเสื้อแขนกระบอก  อาจจะเป็นลายดอกไม้เล็ก ๆ  ลายตาราง  หรือลายฉลุลูกไม้  โดยไม่นิยมสีฉูดฉาด  แต่ก็จะมีแม่มดบางคนที่เมื่อผีเข้าแล้วจะร่ำร้องหาเสื้อสีที่ตนชอบ  เช่น  แดงสด หรือชมพูสด  หรือสีอื่น ๆ ที่ตนเองชอบ
         ผ้าโพกหัว  ผ้าสไบ  ผ้าคาดเอว  ผ้ามัดแขน  มักจะเป็นผ้าผืนเล็กขนาดความกว้างประมาณ  ๑๐ – ๑๕ เซนติเมตร  และมีสีสันที่สดใส  ส่วนมากจะเน้นสีแดงและสีชมพูสด  สำหรับผ้าสไบและผ้าโพกหัว  บางคนจะมีระบายห้อยบาง ๆ เพื่อความสวยงาม
         ผ้านุ่ง  จะเป็นการบอกเพศของผีตนนั้น ๆ ที่เข้ามาอยู่กับคนรำแม่มด  โดยถ้าผู้ชายเข้าจะใส่โสร่ง  ถ้าผีผู้หญิงเข้าจะใส่ผ้าถุง  โดยส่วนมาจะนิยมผ้าที่เป็นผ้าไหม  หรือผ้าฝ้ายลวดลายแบบพื้นบ้านเรียบ ๆ โดย โสร่งจะเป็นลายตารางใหญ่ ๆ  และผ้าถุงจะเป็นลายยาวหรือลายตารางเล็ก ๆ  
         เครื่องประดับ ส่วนมากจะเป็นเครื่องประดับที่ทำจากเงิน  เช่น  ต่างหู  กำไลแขน  กำไลขา  ถ้าผีตนไหนมาจากคนที่มีอันจะกินหรือฐานะดี  ก็จะใส่เครื่องประดับต่าง ๆ เหล่านั้น

เครื่องประกอบดนตรี  
          ดนตรีที่ใช้ประกอบจะเป็นวงปี่พาทย์  ของงานแม่มดโดยเฉพาะ  เพราะดนตรีเหล่านี้จะนำไปบรรเลงและเล่นในงานอื่น ๆ ไม่ได้  ซึ่งวงหนึ่งจะประกอบด้วย  ฆ้อง ๑ วง  กลอง ๓ ตัว  แคน ๑ ลำ  ขลุ่ย ๑ เลา  ซอด้วง ๑ เลา

นักดนตรี  มีประมาณ  ๕-๘  คน  เพราะมีไว้เพื่อสลับและหมุนเวียนกันเล่น  เพราะการเล่นดนตรีจะเล่นตลอดตั้งแต่เริ่มงานจนจบงาน  จะหยุดเฉพาะการต่อเพลงเท่านั้น
   
การสืบทอดการเล่นดนตรี  มาจากบรรพบุรุษและไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นใคร  อายุ  เพศ  แต่ส่วนมากผู้ชายจะนิยมมาเล่น  และเล่นด้วยใจรักจริง ๆ ถึงจะเล่นได้ดี  ในการเชิญนักเพลงมาเล่น  แม่มดเจ้าภาพจะไปบอกกับหัวหน้าวงเกี่ยวกับวัน  เวลา  สถานที่  และเมื่อถึงวันงานก่อนที่นักดนตรีจะทำการบรรเลง  จะต้องมีการเซ่นไหว้ครูนักดนตรี  โดยเจ้าภาพจะเตรียมเทียน ๒ คู่  เหล้า ๒ ขวด  เงิน ๑๒ บาท  เพื่อเป็นการเชิญให้นักเพลงเล่นเพลงหน้ากลองและหน้าซอด้วงจะทำจากหนังงูและหนังตะกวด  มีความเชื่อว่า  สัตว์เหล่านี้ชอบอาศัยอยู่ในป่าช้าจึงเป็นเสียงเรียกภูตผีวิญญาณเข้ามาได้ง่าย

การตั้งปรำพิธี
ใช้เสา ๙ ต้น  ไม้ที่ใช้ต้องเป็นไม่สด ๆ  ที่ตัดมาใหม่ ๆ เช่น  ต้นไม้  ต้นหมาก  ต้นยูคาลิปตัส  และอื่น ๆ  เพราะมีความเชื่อว่า  ถ้านำต้นไม้ที่ตายหรือล้มมาทำเป็นเสา  แม่มดหรือเจ้าที่ต่าง ๆ จะไม่เข้า  และหลังคาปรำพิธีจะใช้ก้านมะพร้าวผ่าซีกครึ่งวางมุมไปในทิศทางเดียวกัน  ความเชื่อที่วางก้านมะพร้าวคือ  เพื่อที่จะเป็นทางให้แม่มดลงมาสิงสถิตในร่างทรง  เมื่อแม่มดเข้ามา  ญาติพี่น้องที่อยู่ข้าง ๆ  หรือญาติ ๆ จะถามว่าร่างที่เข้ามาทรงนั้นเป็นใคร  หรือมาจากไหน เพราะเหตุใดและถามว่าคนที่ป่วยนั้นป่วยด้วยสาเหตุใด ผ้าขาวม้า1 ผืน ผูกตรึงบนปรำพิธีทางทิศใต้

มีความเชื่อว่าผ้าขาวม้าเป็นผ้าที่เป็นสิริมงคล  นำโชคลาภมาให้บ้านที่ทำการบวงสรวงรำแม่มด  ส่วนสิ่งของที่ใช้ประดับหรือห้อยในปรำพิธี  ได้แก่  นก  ปลาตะเพียนที่สานจากใบตาล  กล้วย  ข้าวต้มที่ห่อเป็นสามเหลี่ยมเล็ก ๆ  และดอกคูณ  โดยสิ่งเหล่านี้มีความหมายที่แตกต่างกันออกไป

- ดอกไม้หรือดอกคูณ หมายถึง   ความสูงส่ง  เชิดชู  ยกย่อง  สรรเสริญ
- ปลาและนก หมายถึง   ความอ่อนโยน  อ่อนไหว
- กล้วย, ข้าวต้ม หมายถึง   เครื่องรองรับเซ่นไหว้ครูในปรำพิธี

ตรงเสากลางจะมีต้นกล้วยและล้อมรอบด้วย  กรวยปากชาม  มีตะเกียงติดไฟผูกติดกับเสา  และในถาดที่วางของเซ่นไหว้ตรงเสาก็จะประกอบด้วย (เจิงจวม)  คือ  จะเป็นครูประจำตัวของบุคคลในครอบครัวนั้น ๆ  ถ้าครอบครัวที่เล่นแม่มดมี ๕ คน  เจิงจวมก็จะมี ๕ อัน  และของเซ่นไหว้อื่น ๆ จะประกอบไปด้วย  โตก  ที่เตรียมไหว้ให้แม่มด  ใช้ในการเข้าสมาธิเรียกวิญญาณ  เหล้า ๑ ขวด  อาหารคาวหวาน ๑ ถาด  กระเฌอใส่ข้าวเปลือก  โดยมีหินลับหัวขวานและข้าวเหนียวอุดหัวขวาน  เสื้อผ้าเซ่นถวายผี

เมื่อเวลาที่แม่มดเข้าและรำ  ก็จะรำเวียนซ้ายอ้อมเสาเอก  ลักษณะของการรำจะรำตามจังหวะกลองและเพลง  การรำจะรำตลอดทั้งคืนและตอนเช้าพระอาทิตย์ขึ้น  ก็จะทำการจุดเทียนเพื่อบอกพระอาทิตย์อีกครั้งหนึ่ง  โดยช่วงวันที่ ๒ นี้จะเป็นพิธีสำคัญของการรำแม่มด  เพราะเป็นการรับแม่มดใหม่เข้าบ้าน  คนที่เป็นแม่มดใหม่  ครูแม่มดจะนำด้ายฝ้ายขาว 1 ใจ  มาผูกคอไว้  โดยมีระเบียบดังนี้ คือ
- เงิน ๓๒ บาท  แทนอวัยวะทั้ง ๓๒ ประการของมนุษย์
- ไม้ลำปอ  ตัดยาวประมาณ ๑๕–๒๐  เซนติเมตร  ๑๐–๑๕  ชิ้น  นำมามัดรวมกันด้วยด้ายขาวแล้วให้แม่มดยกขึ้นทูนเหนือหัว  พิธีการรับแม่มดใหม่ก็จะทำการข้ามทาง (ฉลอง – เพลา)  โดยมีความเชื่อว่า  เป็นการบอกทางผี  ถ้ามีการรำในงานต่อไปจะเชิญได้ง่าย  เมื่อแม่มดรำจนอิ่มและสมควรแก่เวลาแล้วมะม๊วดจะทำการลาผู้เฒ่าผู้แก่  และจะมาจับขันโตกที่มีข้าวสารเทียนปักอยู่ตรงกลาง นั่งประมาณ 35 นาที  แม่มดก็จะออกไป

ขั้นตอนสุดท้ายของพิธี จะเป็นการไถ่นักดนตรี หรือแลกนักดนตรี เพื่อหยุดการบรรเลง คือการได้สิ้นสุดพิธีแล้ว  โดยผู้เฒ่าผู้แก่ หรือเจ้าภาพจะนำพานเงินที่ใส่เพื่อให้นักดนตรี  ได้แก่  จีบพลู ๖ จีบ  (๓ คู่) บุหรี่ ๖ มวน  (๓ คู่)  หมากจีบ ๕–๑๐  อัน กาลพฤกษ์  เงิน ๑๒ บาท   เหล้า ๑ ขวด

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย