สมัยปฏิรูปการปกครอง
มีตำแหน่งข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณขุขันธ์
มีตำแหน่งข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณขุขันธ์
ปี พ.ศ.2428 พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งข้าราชการว่าราชการในตำแหน่งข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณขุขันธ์ขึ้น โดยทรงโปรดเกล้าฯ ข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณขุขันธ์คณะแรก ประกอบด้วย หลวงเสนีย์พิทักษ์ หลวงนเรนทร์ หลวงโจมพินาศ และ หลวงนคร
ดังได้กล่าวแล้วว่า เมืองขุขันธ์เป็นเมืองหัวเมืองชั้นนอกที่สำคัญเมืองหนึ่งในเขตภาคอิสาน จึงมีที่ทำการทางราชการตั้งอยู่ที่เมืองขุขันธ์ พร้อมกัน 3 องค์กร ได้แก่ ข้าราชการ ว่าราชการข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณขุขันธ์ โดยมีคณะข้าหลวงกำกับว่าราชการเมืองขุขันธ์ และเมืองบริวารและมีที่ทำการศาลาว่าราชการเมืองขุขันธ์ โดยมีเจ้าเมืองขุขันธ์เป็นผู้กำกับว่าราชการเมืองอีกส่วนหนึ่ง คือ ที่ทำการแขวงขุขันธ์และเปลี่ยนเป็นที่ทำการอำเภอขุขันธ์ ในเวลาต่อมา โดยมีนายอำเภอขุขันธ์เป็นผู้ดูแลบังคับบัญชา
ในปี พ.ศ. 2428 นี้เช่นเดียวกัน พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตัดถนนวางสายโทรเลข จากเมืองจำปาสัก ถึงเมืองขุขันธ์ เชื่อมต่อไปถึงเมืองเสียมราฐ โดยมีบัญชาจาก พระยาอำมาตย์ข้าหลวงใหม่ เมืองจำปาสัก โดยตั้งและมอบหมายให้ ข้าหลวงเมืองขุขันธ์ มีหนังสือบอกแจ้งไปยังเจ้าเมืองขุขันธ์ เจ้าเมืองสังขะ ให้เกณฑ์ไพร่พลไปตัดทางวางสาย โทรเลขจากเมืองขุขันธ์ ไปยังเมืองอุทุมพรพิสัย ตลอดไปยังเมืองมโนไพร ทั้งนี้โดยมีคำสั่งให้ ข้าหลวงพิชัยชาญยุทธ เป็นข้าหลวงประจำอยู่ที่เมืองมโนไพรด้วย
ปี พ.ศ. 2429 คณะข้าหลวงออกตรวจราชการชายแดนเมืองขุขันธ์ และเมืองมโนไพร ที่ติดต่อกับเมืองกัมปงสวาย ทางกัมพูชา ได้พบออกญาเสนาราชกุเชน กับออกญาแสนพรหมเทพ ได้อพยพครอบครัวมาอยู่ที่บ้านจอมกระสาน ในเขตแดนสยาม เป็นเวลา 8–9 ปีแล้ว ซึ่งสอบถามแล้วออกญาทั้งสองสมัครใจที่จะอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของสยาม จึงได้นำออกญาทั้งสองไปถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่เมืองมโนไพร และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ออกญาเสนาราชกุเชน มีบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม พระภักดีสยามรัฐ ตำแหน่งนายกองนอก ส่วนออกญาแสนพรหมเทพ ให้มีบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม หลวงสวัสดิ์จุมพล เป็นปลัดกองนอก ควบคุมปกครองไพร่พลทำราชการ โดยขึ้นต่อเมืองขุขันธ์
ปี พ.ศ. 2430 กรมไปรษณีย์โทรเลข ได้ส่งมิสเตอร์ อัลซอล ไลแมน ไปตรวจ ราชการที่เกี่ยวกับการตรวจ บำรุงรักษาทางสายโทรเลขระหว่างเมืองจำปาสักไปถึงเมืองขุขันธ์ และจากเมืองขุขันธ์ ไปถึงเมืองเสียมราฐ แต่คณะตรวจราชการปฏิบัติภารกิจยังไม่เสร็จ ได้เกิดป่วยเป็นไข้ ถึงแก่กรรมที่เมืองขุขันธ์
ปี พ.ศ. 2431 หลวงเสนีย์พิทักษ์ ตำแหน่งข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณขุขันธ์ ได้ล้มป่วยถึงแก่อนิจกรรมในระหว่างที่ไปตรวจราชการที่เมืองอุทุมพรพิสัย ทำให้ตำแหน่งข้าหลวงประจำเมืองขุขันธ์ ได้ว่างลง แต่ต่อมาไม่นานพระยามหาอำมาตย์ (หงุ่น) ได้จัดส่งหลวงนครบุรี ไปปฏิบัติหน้าที่ข้าหลวงประจำเมืองขุขันธ์ เป็นท่านต่อไป
ในปี พ.ศ. 2431 นี้เช่นเดียวกัน พระอุปราชเมืองสุวรรณภูมิ ได้กล่าวโทษเจ้าเมืองมหาสารคาม เจ้าเมืองสุรินทร์ และเจ้าเมืองศรีสะเกษ ว่า ได้กระทำการอันมิชอบ คือ ได้ทำการแย่งชิงแบ่งเอาดินแดนที่เป็นเขตของเมืองสุวรรณภูมิบางส่วนไปตั้งเป็นเมืองขึ้นใหม่ กล่าวคือ เมืองมหาสารคาม ได้เอาบ้านนาเลาขอตั้งเป็นเมืองชื่อว่า เมืองวาปีปทุม เมืองสุรินทร์ ได้เอาบ้านทัพค่าย ขอตั้งเป็นเมือง ชื่อว่า เมืองชุมพลบุรี ส่วนเมืองศรีสะเกษ ได้เอาบ้านโนนหินกอง ขอตั้งเป็นเมืองชื่อว่า เมืองราษีไศล ดังนั้นพระเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงทราบเรื่องแล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ข้าหลวงกำกับเมืองจำปาสัก และข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณอุบลราชธานี ร่วมคณะไปสอบสวน หาข้อเท็จจริง ผลการสอบสวนได้คำสัตย์จริงดังที่เจ้าเมืองสุวรรณภูมิกล่าวโทษ แต่เนื่องจากพระองค์เห็นว่า การกระทำของเจ้าเมืองทั้งสาม ดังกล่าว ได้สำเร็จและล่วงเลย มานานแล้ว ยากที่จะรื้อถอนได้ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้คงความเป็นเมืองไว้ต่อไป
ปี พ.ศ. 2433 พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้แบ่งหัวเมืองภาคอีสาน ออกเป็นกองๆ แล้วรวมหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา เข้าด้วยกันแบ่งออกเป็น 4 กองใหญ่ และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มีตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการประจำเมืองต่าง ๆ ดังนี้
1. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก ให้ตั้งที่ทำการข้าหลวงกำกับอยู่ที่เมืองจำปาสัก มีเมืองสังกัดที่เป็นเมืองเอก 11 เมือง ที่เป็นเมืองโท เมืองตรี และเมืองจัตวา อีก 26 เมือง รวมเป็น 37 เมือง ( เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองเดชอุดม ให้ขึ้นต่อเมืองจำปาสักด้วย)
สำหรับเมืองขุขันธ์ ได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ปลัดเมืองขุขันธ์ คือ พระรัตนโกศา (จันดี) มีบรรดาศักดิ์ในราชทินนามใหม่เป็น พระยาบำรุงบุระประจันต์ ตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการเมืองบริเวณขุขันธ์ส่วนเจ้าเมืองขุขันธ์ ยังเป็นท่านเดิม คือ พระยา ขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา) ยังคงมีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์อยู่เช่นเดิม และยังได้กราบบังคมทูล ขอให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ท้าวทองคำ ขึ้นในตำแหน่งปลัดเมืองขุขันธ์แทนพระรัตนโกศา (จันดี ) พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ เห็นชอบ
2. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ตั้งที่ทำการข้าหลวงกำกับอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี มีเมืองสังกัดที่เป็นเมืองเอก 12 เมือง ที่เป็นเมืองโท เมืองตรี และเมืองจัตวา อีก 29 เมือง รวมเป็น 41 เมือง (เมืองศรีสะเกษ สังกัดเมืองในฝ่ายนี้ด้วย )
3. หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ มีที่ทำการข้าหลวงกำกับอยู่ที่เมืองหนองคาย มีเมืองสังกัด ที่เป็นเมืองเอก 16 เมือง ที่เป็นเมืองโท เมืองตรี และเมืองจัตวา อีก 36 เมือง รวมเป็น 52 เมือง
4. หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง ตั้งที่ทำการข้าหลวงกำกับอยู่ที่เมืองนครราชสีมา มีเมืองเอก ในสังกัด 3 เมือง ที่เป็นเมืองโท เมืองตรี และเมืองจัตวา อีก 16 เมือง รวมเป็น 19 เมืองต่อมาในปี พ.ศ. 2435 พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวมกลุ่มเมืองชั้นนอก ตั้งเป็นมณฑล และทรงตั้งข้าราชการจากส่วนกลางไปเป็นข้าหลวงใหญ่ หรือข้าหลวงสำเร็จราชการมณฑลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ในปี พ.ศ. 2435 นี้เช่นเดียวกัน เนื่องจากพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงเห็นว่า เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ รวมทั้งเมืองศรีสะเกษ มีราษฎรพูดภาษาถิ่นหลายภาษา อันได้แก่ ภาษากูย ภาษาเขมร ภาษาเยอ และภาษาลาว จึงทรงโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ พระศรีพิทักษ์เป็นข้าหลวงใหญ่กำกับราชการแยกเป็นอีกเขตหนึ่งประกอบด้วยเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ และเมืองศรีสะเกษ นับเป็นท่านที่ 4 ที่มีตำแหน่งเป็น ข้าหลวงกำกับราชการประจำเมืองขุขันธ์
ปี พ.ศ. 2436 พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งหลวงยกบัตรเมืองอุทุมพรพิสัย ได้รับบรรดาศักดิ์ในราชทินนามใหม่เป็น พระอุทุมพรเทศานุรักษ์ ตำแหน่งเจ้าเมืองอุทุมพรพิสัย แทนท่านเดิมที่พ้นจากตำแหน่งไป ส่วนปลัดเมือง และยกบัตรเมืองอุทุมพรพิสัย ได้ทรงโปรดเกล้าฯ มอบให้ เจ้าเมืองอุทุมพรพิสัยเป็นผู้แต่งตั้งด้วยตนเองโดยให้ว่าราชการขึ้นต่อเมืองขุขันธ์
ส่วนข้าหลวงกำกับราชการเมืองบริเวณขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ ให้ตั้งที่ทำการว่าราชการของข้าหลวง อยู่ที่เมืองขุขันธ์ โดยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้พระศรีพิพัฒน์ (หว่าง) เป็นข้าหลวงกำกับราชการทั้งสามเมือง
ในการนี้จะเห็นว่า เมืองขุขันธ์ จากปี พ.ศ. 2428 จนถึงปี พ.ศ. 2440 จะมีตำแหน่งข้าหลวงและที่ทำการข้าหลวงกำกับราชการประจำเมืองขุขันธ์ ในขณะเดียวกัน จะมีตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์ โดยมีศาลาว่าการเมืองขุขันธ์กำกับราชการในเวลาเดียวกัน
มาในปี พ.ศ. 2440 – 2450 การปกครองเมืองต่าง ๆ ของสยาม ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเปลี่ยนตำแหน่ง “เจ้าเมืองขุขันธ์” เป็นตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์” โดยในปี พ.ศ. 2450 ได้มีการยกเลิกตำแหน่ง ข้าหลวงกำกับบริเวณขุขันธ์ (ยุบเมืองบริเวณและตำแหน่งข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณ)
ปี พ.ศ. 2436 ทางกรมไปรษณีย์โทรเลข ได้จัดให้มิสเตอร์ โทมัสมาเมอร์ มิสเตอร์แมคคูลเลอร์ และ มิสเตอร์วิลเลี่ยมไปจัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์ตามหัวเมืองในมณฑลลาวกาว ทั้งนี้ให้รวมถึงเมืองขุขันธ์และเมืองศรีสะเกษ ไปจนถึงกรุงเทพฯ กำหนดการเดินไปรษณีย์โทรเลข อาทิตย์ละ 1 ครั้ง
ปี พ.ศ. 2436 ปีเดียวกันนี้ พระกันทรานุรักษ์ เจ้าเมืองกันทรารมย์ ได้ถึงแก่อนิจกรรม จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ หลวงสุนทรพิทักษ์ ผู้เป็นบุตร ซึ่งในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นกรมการเมืองกันทรารมย์ เป็นเจ้าเมืองกันทรารมย์ บริหารราชการสืบต่อกันมา จนกระทั่งได้ยุบเป็นอำเภอและได้โอนจากการกำกับของเจ้าเมืองสังขะมาขึ้นต่อการกำกับดูแลของเมืองขุขันธ์