ในปี พ.ศ. 2302 ตรงกับรัชสมัยพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) แห่งกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้เกิดเหตุการณ์อันไม่มีใครคาดฝันขึ้น ณ กรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ ได้มีพระยาช้างเผือกได้ตกมันแตกหนีออกจากโรงช้างเตลิดเข้าป่า โดยมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้สร้างความแปลกประหลาดและตระหนกตกใจแตกตื่นกันทั่วทั้งกรุงศรีอยุธยา มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา ว่าจะเกิดเหตุร้ายอะไรขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาซึ่งก็เป็นยุคสมัยที่กำลังเสื่อมถอยและอ่อนแอลงอย่างมากของกรุงศรีอยุธยา อย่างไรก็ตามพระยาช้างเผือกถือว่าเป็นช้างมงคลคู่บารมีองค์พระมหากษัตริย์ ดังนั้น พระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาจักรี (ทองด้วง) และพระยาสุรสีห์ (บุญมา) (พระยศในขณะนั้น) พร้อมไพร่พล ออกติดตามพระยาช้างเผือก เพื่อนำกลับกรุงศรีอยุธยาให้ได้ โดยคณะผู้ติดตามพระยาช้างเผือกมงคลในครั้งนี้ได้ใช้เวลาติดตามเป็นเวลาแรมเดือนจนหาพบและสามารถจับพระยาช้างเผือกได้ ในขณะที่กำลังออกหากินอยู่ท่ามกลางโขลงช้างป่าจำนวนหลายสิบเชือกในบริเวณพื้นที่เขตป่าใกล้ ๆ เทือกเขาพนมดงรัก ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่เมืองขุขันธ์ในอดีต
ในการติดตามและสามารถจับพระยาช้างเผือกได้แล้วนำกลับคืนกรุงศรีอยุธยาได้ ในครั้งนี้ ก็โดยได้รับความช่วยเหลือจาก “หัวหน้าชาวเขมรป่าดง” ทั้งหกโดยเฉพาะ“ตากะจะ” และเมื่อคณะผู้ติดตามนำพระยาช้างเผือกกลับ เพื่ออำนวยความสะดวก และให้เกิดความมั่นใจ ในความปลอดภัยระหว่างการเดินทาง หัวหน้าเขมรป่าดงทั้งหกก็ได้อาสาร่วมเดินทางส่งคณะถึงกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย
เมื่อคณะผู้ติดตามนำพระยาช้างเผือกกลับถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว หัวหน้าผู้ติดตาม ทั้งสองได้เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมทูลให้พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบถึงเหตุการณ์ที่ได้ติดตามพระยาช้างเผือกจนสามารถจับและนำกลับมาได้ในครั้งนี้ว่า ได้รับการช่วยเหลือจากหัวหน้า “ชาวเขมรป่าดง” ทั้งหกพร้อมลูกบ้านจึงสำเร็จ โดยเฉพาะ “ตากะจะ”หรือ “ตาไกร” ซึ่งเป็นผู้ที่หัวหน้าชาวเขมรป่าดงคนอื่นให้ความเคารพยอมรับที่สุด ได้เป็นกำลังสำคัญ เมื่อพระองค์ทรงทราบเช่นนั้น ทรงซาบซึ้งในความมีน้ำใจที่แม้จะเป็นเผ่าชนชาวเขมรป่าดงที่อยู่ห่างไกลเมืองราชธานี แต่ก็ยังมีใจที่จะรับใช้อันแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อเมืองราชธานีเช่นนี้ จึงทรงพอพระทัยยิ่งนัก เพื่อเป็นการตอบแทนและให้เกิดผลดีต่อทางราชการจึงทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานความชอบแก่หัวหน้าชาวเขมรป่าดงทั้งหก ด้วยตำแหน่งและบรรดาศักดิ์ ดังนี้
๑. ชุมชนบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองขุขันธ์” (ชุมชนบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน แท้ที่จริงก็คือเป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมแถบบริเวณพื้นที่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบันนั่นเอง บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนหาใช่บ้านดวนใหญ่ อำเภอวังหิน แต่อย่างใด และเมื่อยกฐานะขึ้นเป็นเมือง เรียกว่า “เมืองขุขันธ์” หาใช่ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง เรียกว่า “เมืองนครลำดวน” อย่างที่เข้าใจไม่ ดังหลักฐานในพงศาวดารระบุไว้) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ “หลวงแก้วสุวรรณ” (ตากะจะ)ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” ตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์เป็นท่านแรกในยุคปลายกรุงศรีอยุธยา และต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นชั้น “พระยา” ในราชทินนาม “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” โดยมีที่ตั้งศาลาว่าราชการอยู่ที่เมืองขุขันธ์ ฐานะหัวเมืองชั้นนอก ขณะนั้นขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย
๒. โปรดเกล้าฯให้ชุมชนบ้านเมืองทีได้รับยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองประทายมัน” (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น เมืองสุรินทร์) ทรงโปรดเกล้าฯให้ “หลวงสุรินทร์ภักดี”(เชียงปุม) ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง” ตำแหน่งเจ้าเมืองประทายสมัน
๓. โปรดเกล้าฯ ให้ชุมชนบ้านอัจจะปนึง หรือบ้านโคกยาง ได้รับยกฐานะขึ้นเป็น "เมืองสังฆะ" ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ “หลวงเพชร” (เชียงฆะ หรือ เชียงเกา)ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ” ตำแหน่ง “เจ้าเมืองสังฆะ”
๔. โปรดเกล้าฯ ให้ชุมชนบ้านกุดหวาย ได้รับยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองรัตนบุรี” ทรงโปรดเกล้าฯให้ “หลวงศรีนครเตา” (เชียงสี) ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระศรีนครเตา” ตำแหน่ง “เจ้าเมืองรัตนบุรี”
ส่วนอีกชุมชน คือชุมชนบ้านกุดไผทสิงขร(บ้านจารพัต ในปัจจุบัน) ซึ่งมี “ขุนไชยสุริยง”(เชียงไชย) ตำแหน่งนายกองนอก ขึ้นตรงต่อเมืองสังฆะ
ทั้งนี้ทรงโปรดเกล้าฯ หัวหน้ากลุ่มชนชาวเขมรป่าดงทั้งห้ากลุ่มชน มีตำแหน่งเป็นนายกองบ้าน (ยกเว้น “หลวงปราบ” เป็นผู้ช่วยนายกอง) มีฐานะรับราชการปกครองชุมชนบ้านของตนเอง โดยปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อเจ้าเมืองพิมาย และขึ้นต่อกรุงเทพฯ ในเวลาต่อมา
ขอบคุณผู้เรียบเรียง : นิติภูมิ ขุขันธิน(2557)