-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นายกองหมู่บ้านได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ และยกฐานะชุมชนหมู่บ้านขึ้นเป็น “เมือง”

ในปี พ.ศ. 2306 นายกองหมู่บ้านทั้งห้า  หลังจากได้รับโปรดเกล้าฯ บรรดาศักดิ์และตำแหน่งหน้าที่ปกครองชุมชนหมู่บ้านมาเป็นเวลาพอสมควรแล้วเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงได้พร้อมใจกันเดินทางสู่กรุงศรีอยุธยาเพื่อเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว  โดยได้นำของป่าอันได้แก่ สัตว์และข้าวของที่หาได้จากป่า จำนวนอันเหมาะสมเพื่อเป็นเครื่องบรรณาการในการขอเข้าเฝ้าและทูลถวายพระเจ้าอยู่หัว พร้อมกราบบังคมทูลรายงานให้ทรงทราบ ในน้ำพระทัยที่ทรงไว้วางใจให้ปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะตำแหน่งนายกองหมู่บ้าน ปกครองขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย ซึ่งก็ทำให้ชุมชนหมู่บ้านเจริญรุ่งเรืองได้พอสมควรแล้ว และเมื่อทรงทราบเช่นนั้นแล้วทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรง     พอพระทัยยิ่ง อีกทั้งพระองค์ทรงเห็นว่า ชุมชนหมู่บ้านเหล่านี้มีที่ตั้งห่างไกลเมืองราชธานีแต่ก็มีความตั้งใจในการดูแลปกครองลูกบ้านอย่างสมฐานะและตำแหน่ง  อีกทั้งยังได้แสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อเมืองราชธานีส่วนกลางมาโดยตลอด เพื่อให้กำลังใจในการปกครองและมีความมั่นใจ ที่จะนำไปสู่ความมั่นคงในการปกครองมากขึ้น พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะชุมชนหมู่บ้านทั้งห้า ขึ้นเป็น “เมือง” โดยโปรดเกล้าฯ ให้

  ชุมชนบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ได้รับโปรดเกล้าฯ ยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองขุขันธ์” (ชุมชนบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน แท้ที่จริงก็คือเป็นชุมชนเก่าแก่ดั้งเดิมแถบบริเวณพื้นที่ทางทิศเหนือของอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบันนั่นเอง บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนหาใช่บ้านดวนใหญ่  อำเภอวังหิน  แต่อย่างใด และเมื่อยกฐานะขึ้นเป็นเมือง เรียกว่า  “เมืองขุขันธ์” หาใช่ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง เรียกว่า “เมืองนครลำดวน” อย่างที่เข้าใจไม่  ดังหลักฐานในพงศาวดารระบุไว้) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ “หลวงแก้วสุวรรณ” ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” ตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์เป็นท่านแรก และต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นชั้น “พระยา” ในราชทินนาม “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” โดยมีที่ตั้งศาลาว่าราชการอยู่ที่เมืองขุขันธ์  ฐานะหัวเมืองชั้นนอก  ขณะนั้นขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย
โปรดเกล้าฯให้ชุมชนบ้านเมืองทีได้รับยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองประทายมัน” (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น  เมืองสุรินทร์) ทรงโปรดเกล้าฯให้ “หลวงสุรินทร์ภักดี” ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น  “พระสุรินทร์ภักดีศรีณรงค์จางวาง” ตำแหน่งเจ้าเมืองประทายสมัน   โปรดเกล้าฯ ให้ชุมชนบ้านโคกยาง ได้รับยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองสังฆะ ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ “หลวงเพชร” ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น  “พระสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ” ตำแหน่ง  “เจ้าเมืองสังฆะ” โปรดเกล้าฯ ให้ชุมชนบ้านกุดหวาย ได้รับยกฐานะขึ้นเป็น “เมืองรัตนบุรี”  ทรงโปรดเกล้าฯให้ “หลวงเพชร” ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระศรีนครเตา” ตำแหน่ง “เจ้าเมืองรัตนบุรี”

ส่วนอีกชุมชน คือชุมชนบ้านจารพัด ซึ่งมี “ขุนชัยสุรวงศ์” ตำแหน่งนายกอง หมู่บ้านปกครองอยู่ไม่ปรากฏหลักฐานใดๆว่า ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมืองและเลื่อนบรรดาศักดิ์หรือไม่อย่างไร ( กำลังสืบค้นและเผชิญสืบ)  

ทั้งนี้โดยให้เจ้าเมืองทั้งสี่ทำราชการปกครองลูกบ้านในฐานะเมืองที่เป็นเมืองหัวเมืองชั้นนอก โดยให้ขึ้นตรงต่อเมืองหลักคือ เมืองพิมาย และอยู่ใต้พระราชอำนาจ พระเจ้าอยู่หัว  แห่งกรุงศรีอยุธยา อันเป็นเมืองราชธานีในขณะนั้น
  
ในการปกครองเมืองทั้งหัวเมืองชั้นนอกและหัวเมืองชั้นใน ผู้ปกครองที่ได้ตำแหน่งเจ้าเมือง ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากทายาทผู้สืบเชื้อสายของเจ้าเมืองนั้น ๆ สืบสายสกุล  โดยปกครองในระบบ “เจ้าเมืองกินเมือง” โดยมีคณะปกครองที่เรียกว่า “คณะอาญาสิทธิ์” ประกอบด้วยตำแหน่ง เจ้าเมือง  ปลัดเมือง ยกบัตรเมือง ผู้ช่วยราชการเมือง โดยมีกรมการเมืองเป็นองค์คณะบุคคล

คำว่า “เจ้าเมือง” ภาษาเขมรเรียกว่า “สดาจ่กราญ” หรือ “ออกญา” หรือก็คือ “พระยา” นั่นเอง ดังนั้นอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองอยู่ที่เจ้าเมืองแต่ต้องขึ้นกับเมืองราชธานีส่วนกลาง  
เมืองขุขันธ์  เป็นเมืองหัวเมืองชั้นนอกเมืองหนึ่งที่มีการปกครองโดยตำแหน่งเจ้าเมืองที่มีบรรดาศักดิ์ในราชทินนามชั้น “พระยา” คือ “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” และพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ตำแหน่ง “เจ้าเมืองขุขันธ์”  สืบทอดติดต่อกันมาเป็นเวลา 138  ปี (พ.ศ. 2302 - พ.ศ. 2440)  มีเจ้าเมือง  9  ท่าน (ดังที่ได้อธิบายไว้โดยละเอียดในหัวข้อ "ประวัติเจ้าเมืองขุขันธ์ทั้ง 9 ท่าน" แล้ว 

ขอบคุณผู้เรียบเรียง : นิติภูมิ ขุขันธิน(2557)

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย