ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2559

ความรู้พิธีการศาสนพิธี

การไหว้การกราบไหว้ 
           การไหว้  วันทนาหรือวันทา เป็นการแสดงความเคารพโดยประการพนมมือแล้วยกมือขึ้นทั้งสองขึ้นจรดใบหน้าให้เห็นว่าเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูงการไหว้แบบไทยแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามระดับของบุคคล
           ระดับที่ ๑ การไหว้พระ ได้แก่ การไหว้พระพุทธรูป พระธรรมพระสงฆ์ รวมทั้งปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ในกรณีที่ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ ให้ประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลง ให้หัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว  ปลายนิ้วชี้แนบส่วนบนของหน้าผาก 
           ระดับที่ ๒ การไหว้ผู้มีพระคุณ และผู้มีอายุมาก เช่นปู่ย่าตายาย พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และผู้ที่เราเคารพนับถือ ให้ประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศีรษะลง ให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วชี้แนบระหว่างคิ้ว 
           ระดับที่ ๓ การไหว้บุคคลทั่วไปที่เคารพนับถือหรือผู้ที่มีอายุมากกว่าเล็กน้อย ให้ประนมมือแล้วยกขึ้นพร้อมกับค้อมศรีษะลง ให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วชี้แนบปลายจมูก สำหรับการไหว้ในระดับที่ ๓ นี้ จะใช้แสดงความเคารพผู้ที่มีอายุเท่ากัน หรือเพื่อนกันโดยยืนตรง ไหว้ไม่ต้องค้อมศีรษะ


กราบคน-กราบศพคน
(กราบโดยมือตั้งครั้งเดียว) 
จังหวะที่ ๑ นั่งพับเพียบพนมมือไหว้ขึ้น กรณีผู้ตายอาวุโสกว่าให้หัวแม่มือจรดปลายจมูก กรณีผู้ตายอาวุโสเท่ากันหรือรุ่นราวคราวเดียวกันให้หัวแม่มือจรดปลายคาง 
จังหวะที่ ๒ กราบลงมือหมอบกราบครั้งเดียว มือตั้งกับพื้น หรือบนที่กราบ หน้าผากจรดสันมือ


การจุดเทียน-ธูปบูชาพระ 
๑. จุดเทียนเล่มขวาของพระพุทธรูป 
๒. จุดเทียนเล่มซ้ายของพระพุทธรูป 
๓. จุดธูป ๓ ดอกที่กระถางธูป 
แล้วกราบพระ 3 ครั้งแบบเบญจางคประดิษฐ์


สัญลักษณ์แห่งการบูชา 
ธูป บูชาพระคุณของพระพุทธเจ้า
เทียน บูชาพระธรรมและพระวินัย
ดอกไม้ บูชาพระสงฆ์


แนวปฏิบัติในการตั้งโต๊ะหมู่บูชา 
            การตั้งหรือไม่ตั้งโต๊ะหมู่บูชา อาจแบ่งออกได้หลายกรณีมีข้อควรปฏิบัติ ๓ แบบดังนี้ 
            ๑. การตั้งโต๊ะหมู่บูชา มีพระพุทธรูปธงชาติพระบรมฉายาลักษณ์ งานพิธีใดที่มุ่งให้ผู้เข้าร่วมพิธีสำนึกในสถาบันสูงสุดทั้ง ๓ คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์  งานพิธีนั้นควรตั้งโต๊ะหมู่บูชา ซึ่งมีทั้งพระพุทธรูป  ธงชาติ  และพระบรมฉายาลักษณ์ เช่นงานพิธีต่างๆ ของโรงเรียน หรือสถาบัน  งานเปิดประชุมสัมมนา  งานมอบปริญญาบัตร  ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรต่างๆ
           ๒. การตั้งโต๊ะหมู่บูชาซึ่งมีพระพุทธรูป ที่ไม่ต้องมีธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ 
           การตั้งโต๊ะหมู่บูชาซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ แบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะ ดังต่อไปนี้ 
           ๑) งานพิธีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน หรือโปรดเกล้าฯให้ผู้แทนพระองค์มาในงาน เช่นพิธีพระราชทานปริญญาบัตร พิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ 
          ๒) งานพิธีเนื่องด้วยพระพุทธศาสนา เช่น พิธีวิสาขบูชา พิธีมาฆบูชา และอาสาฬหบูชา 
          ๓) งานพิธีที่มีจุดหมายเพื่อเป็นสิริมงคล เช่น พิธีวางศิลาฤกษ์ พิธีเปิดอาคารสถานที่  งานมงคลสมรส  งานทำบุญอายุ  งานขึ้นบ้านใหม่ ถ้าเป็นราชการให้ถือตามข้อ ๑.
         ๓. การตั้งโต๊ะหมู่บูชาถวายสักการะ  ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินผ่าน หรือในวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ประชาชนถวายสักการะโดยจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาด้วยดอกไม้พุ่มเป็นแจกัน หรือกระทงดอกไม้  พร้อมด้วยธูปเทียนแพ ถ้าจัดหาได้ไม่ต้องจุดธูปเทียน แต่ขอให้มีพระบรมฉายาลักษณ์ประดิษฐานที่โต๊ะหมู่บูชา หรือพุ่มดอกไม้มีพระปรมาภิไธยย่อ ภปร หากไม่สามารถจะได้ เพียงดอกไม้อย่างเดียวก็ได้


การแต่งกายและการทำความเคารพในพิธีการ

       ๑. งานวันที่ 5 ธันวาคม 
             การแต่งกาย ข้าราชการชายหญิงแต่งตัวเต็มยศ  ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์บนกระเป๋า  เหรียญตราประดับใต้กระเป๋าเสื้อด้านซ้าย   สวมหมวก กางเกงดำ  สวมสายสะพาย 
             การทำความเคารพ ข้าราชการชายหญิง ถ้าแต่งตัวเต็มยศทำความเคารพด้วยการวันทยหัตถ์  ถ้าไม่สวมหมวก ทำความเคารพด้วยการโค้งคำนับ 1 ครั้งประชาชนทั่วไป แต่งชุดสุภาพชุดสากล ชายโค้งคำนับ หญิงถอนสายบัว

      ๒. งานวันที่ 12 สิงหาคม
            การแต่งกาย  ข้าราชการชายหญิง แต่งตัวชุดปกติขาว ไม่มีป้ายชื่อ กรัดรังดุมประดับช่อชัยพฤกษ์ และแถบข้าราชการ ถ้ามีปีกร่ม หรือสัญลักษณ์อื่นๆให้ตกแต่งทางซ้ายเหมือนกับเหรียญตรา  
            การทำความเคารพ ข้าราชการชายหญิง ถ้าสวมหมวกทำความเคารพด้วยการวันทยหัตถ์   ถ้าไม่สวมหมวกทำความเคารพ ชายหญิงอยู่ในชุดปกติขาวโค้งคำนับ   ประชาชนทั่วไปชายโค้งคำนับ หญิงถอนสายบัว

     ๓. วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม
           การแต่งกาย ข้าราชการชายหญิง แต่งตัวเต็มยศหรือชุดปกติขาวหรือตามคำสั่ง ประดับช่อชัยพฤกษ์กลัดรังดุม และแถบข้าราชการ ประชาชนแต่งชุดสุภาพสากลนิยม 
          การแต่งกาย ข้าราชการหญิง แต่งตัวสวมหมวกใช้วันทยหัตถ์ไม่สวมหมวกชายโค้งคำนับ หญิงถอนสายบัว

    ๔. งานพระราชทานเพลิงศพ
          การแต่งกาย ข้าราชการชายหญิงแต่งชุดปกติขาวเหมือนกับงานอื่นประดับช่อชัยพฤกษ์ ไม่นิยมสวมหมวก เพราะงานเกี่ยวกับการไหว้พระ และเคารพสถานที่คือวัด  ไม่ประดับเหรียญตรา  ติดปลอกแขนไว้ทุกข์ด้านซ้าย กว้าง ๗ - ๑๐ เซนติเมตร ไม่ติดป้ายชื่อ 

         การทำความเคารพ หญิงชายโดยโค้งคำนับเหมือนกัน  ผู้มีเกียรติแต่งชุดดำ หรือสูทสากล ชุดสุภาพ การทำการทำความเคารพก็โค้งคำนับ ไม่นิยมถอนสายบัว

    ๕. งานฉลองตราตั้งสัญญาบัตรพัดยศ 
         การแต่งกาย  ข้าราชการชายหญิงแต่งชุดปกติขาว  ประดับช่อชัยพฤกษ์  กลัดรังดุม แถบข้าราชการ   ไม่นิยมสวมหมวก เพราะงานเกี่ยวกับการไหว้พระ และเคารพสถานที่คือวัด  
         การทำความเคารพ ใช้การยกมือไหว้เป็นสำคัญ
    
  ๖. งานรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
       การแต่งกาย   ข้าราชการชายหญิงแต่งชุดปกติขาว  ปิดรังดุมเรียบร้อย  เหลือที่ว่างช่อชัยพฤกษ์ และเหรียญตรา หรือแต่งตัวตามคำสั่ง
       การทำความเคารพ  ชายหญิงโค้งคำนับ หรือตามคำสั่ง

การใช้ การชัก หรือการแสดงธงชาติคู่กับธงอื่น หรือกับพระพุทธรูป และพระบรมรูป            ข้อ ๑ การใช้การชัก หรือการแสดงธงชาติคู่กับธงอื่น หรือร่วมกับธงอื่นที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยธง ยกเว้นธงพระอิสริยยศ จะต้องไม่ต้องไม่ให้ธงชาติอยู่ในระดับต่ำกว่าธงอื่นๆ และโดยปกติให้จัดธงชาติอยู่ที่เสาธงแรกด้านขวา การใช้ธงชาติคู่กับธงอื่นในงานพิธีซึ่งมีแท่น หรือที่สำหรับประธานให้จัดธงชาติอยู่ด้านขวา และธงอื่นอยู่ด้านซ้าย
            ข้อ ๒ การใช้หรือชักธงชาติคู่กับธงอื่น  นอกจากที่กล่าวให้ปฏิบัติ ดังนี้ 
                  ๑) เมื่อร่วมกับธงชาติแล้วเป็นจำนวนค่ต้องให้ธงชาติอยู่ตรงกลาง 
                  ๒) เมื่อร่วมกับธงชาติแล้วเป็นจำนวนคู่ต้องให้ธงชาติอยู่กลางด้านขวา

            ข้อ ๓ การใช้ธงชาติคู่กับพระพุทธรูป และพระบรมรูปในพิธีการต่างๆ เพื่อเป็นที่สักการะร่วมกันให้จัดตรงชาติอยู่ด้านขวาของพระพุทธรูป และจัดพระบรมรูปให้อยู่ด้านซ้าย

            ข้อ ๔ การใช้ธงชาติคลุมศพให้ใช้ในกรณีดังต่อไปนี้
                  ๑) ในพิธีรับพระราชทานน้ำอาบศพ หรือพิธีรดน้ำศพ
                  ๒) ในพิธีปลงศพตามประเพณีของทหารเรือ
                  ๓) ในระหว่างการเคลื่อนย้ายศพเพื่อประกอบพิธีทางศาสนา

           ข้อ ๕ การใช้ธงชาติหีบศพ หรืออัฐิ ให้ใช้ดังกรณีต่อไปนี้
                 ๑) เมื่อเชิญ หรือเคลื่อนย้ายหีบศพ หรืออัฐิ เพื่อประกอบพิธีรับพระราชทานน้ำอาบศพ รดน้ำศพ หรือบำเพ็ญกุศลตามพิธีทางศาสนาวงเล็บ 
                  ๒) ในระหว่างการประกอบพิธีทางศาสนา ว
                  ๓) ในระหว่างการตั้งศพเพื่อรับพระราชทานเพลิงศพประกอบการฌาปนกิจ หรือเคลื่อนย้ายศพไปประกอบพิธีฝัง

           ข้อ ๖ การใช้ธงชาติคลุมศพหรือหีบศพ ปกติให้ใช้คลุมตามความยาวของธง โดยให้ด้านต้นของผืนธงอยู่ทางส่วนศีรษะของศพและจะต้องปฏิบัติไม่ให้เป็นการเสื่อมเสียเกียรติแก่ธง  ห้ามมิให้วางสิ่งหนึ่งสิ่งใดลงบนธงชาติที่คลุมศพหรือหีบศพ เมื่อรับพระราชทานน้ำอาบศพ  บรรจุหรือฝังศพ  ประชุมเพลิงศพ ตอนเผาจริงให้เชิญธงชาติที่คลุมศพหรือหีบศพ พับเก็บให้เรียบร้อย โดยไม่ให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของธงสัมผัสพื้น

            ข้อ ๗ ผู้ได้รับพระราชทานโกศ หรือหีบหลวงประกอบเกียรติยศศพอยู่แล้ว  ถ้ามีสิทธิ์ที่จะใช้ธงชาติคลุมศพด้วย ให้กระทำได้โดยวิธีเชิญธงชาติ  ในสภาพที่พับเรียบร้อยใส่พานตั้งไว้เป็นเกียรติยศที่หน้าที่ตั้งศพเช่นเดียวกับการตั้งเครื่องยศ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์  แต่ต้องไม่ต่ำกว่าเครื่องยศและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ห้ามใช้ธงชาติ  หรือแถบสีธงชาติกลุ่มทับ หรือตกแต่งโกศ หรือหีบศพที่พระราชทานประกอบเกียรติยศศพ


การแต่งกายไปงานศพ
สำหรับสุภาพบุรุษ ให้เลือกแต่งกายตามรูปแบบของงานศพที่จะไปร่วมดังนี้ 
            ๑. แต่งเครื่องแบบราชการ ปกติขาวไว้ทุกข์หรือปกติกากีคอพับผ้าผูกคอ  สำหรับงานพระราชทานเพลิงเพลิงศพที่ทางราชการจัดซื้อและแต่งเครื่องแบบปกติ กากีคอพับผูกผ้าผูกคอ  สำหรับงานบำเพ็ญกุศล หรือฌาปนกิจศพที่ทางราชการจัดขึ้น            ๒. แต่งชุดไทยพระราชทานสีขาว หรือดำทั้งชุด หรือเสื้อสีขาว  กางเกงดำ  ไม่ติดแขนทุกข์
            ๓. แต่งชุดสากลสีขาว ดำ เทา  ผ้าผูกคอสีดำ  ติดแขนทุกข์

            ๔. แต่งชุดสุภาพ  กางเกงสีดำ เทา  เสื้อขาว  ผ้าผูกคอดำ  จะไม่ผูกก็ได้สำหรับงานศพสามัญชน

สำหรับสุภาพสตรี ก็ควรเลือกแต่งกายให้เหมาะสมกับฐานะของตนเอง และให้ถูกต้องตามรูปแบบของงานศพ ดังนี้
           ๑. สำหรับการแต่งเครื่องแบบราชการ ให้แต่งเหมือนสุภาพบุรุษสำหรับงานศพที่ทางราชการจัดขึ้น 
           ๒. แต่งชุดไทยสีดำ 
           ๓. แต่งชุดสุภาพ เช่น ผ้าซิ่นสีดำ  กระโปรงสีดำ ไม่ควรสั้นเกินไป เสื้อดำเป็นเสื้อที่ไม่เปิดไหล่  คอไม่กว้าง  กระเป๋า  รองเท้า ควรเป็นสีดำ  ไม่ควรใช้เครื่องประดับสีฉูดฉาด  ไม่ควรแต่งหน้าให้เหมือนกับจะไปงานราตรี  หรืองานมงคลสมรส

ความหมายของคำว่า "หมายรับสั่ง" "หมายกำหนดการ" และ "กำหนดการ"
"หมายรับสั่ง" เป็นหมายสั่งเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพระราชพิธีเป็นการภายใน  ตอนล่างของหมายเขียนว่า "ทั้งนี้ ให้จัดการตามวัน ตามรับสั่งยาให้ขาดเหลือ  ถ้าสงสัยให้ถามผู้รับสั่งโดยหน้าที่ราชการ"  แล้วลงชื่อผู้รับสั่ง ผู้สั่งก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

"หมายกำหนดการ" เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธี โดยเฉพาะลักษณะของเอกสารจะต้องอ้างพระบรมราชองค์การคือ ขึ้นต้นด้วยข้อความว่า "นายกรัฐมนตรี หรือเลขาธิการพระราชวังรับพระบรมราชโองการเหนือเกล้าสั่งว่า..."


"กำหนดการ"เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานโดยทั่วไปที่ทางราชการ หรือส่วนเอกชน จัดทำขึ้นเองแม้ว่างานนั้น จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องถึงเบื้องพระยุคลบาท เช่นงานที่เสด็จ กำหนดการทั้งสิ้นเช่น ขั้นตอนของงานสวนสนามสำแดงความสวามิภักดิ์ของทหารรักษาพระองค์ ก็ใช้ว่า กำหนดการ  เพราะงานนี้ไม่ใช่พระราชพิธีที่มีพระบรมราชโองการให้จัดขึ้น


คำถวายสังฆทาน (ประเภทสามัญ)

คำบาลี อิมานิ  มะยัง  ภันเต , ภัตตานิ , สะปะริวารานิ , ภิกขุ  สังฆัสสะ,   โอโณชะยามะ , สาธุ  โน ภันเต, ภิกขุสังโฆ,  อิมานิ , ภัตตานิ , สะปะริวารานิ , ปะฏิคคัณหาตุ , อัมหากัง , ทีฆะรัตตัง , หิตายะ , สุขายะ ฯ   
         
คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ  ข้าพเจ้าทั้งหลาย  ขอน้อมถวายภัตตาหารกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้  แด่พระภิกษุสงฆ์  ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหาร  กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย  เพื่อประโยชน์และความสุข  แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย  สิ้นกาลนานเทอญ ฯ  


คำถวายสังฆทาน (ประเภทอุทิศให้ผู้ตาย)

คำบาลี  อิมานิ  , มะยัง   ภันเต , มะตะกะภัตตานิ , สะปะริวารานิ , ภิกขุสังฆัสสะ , โอโณชะยามะ ,  สาธุ  โน  ภันเต , ภิกขุสังโฆ อิมานิ , มะตะกะภัตตานิ , สะปะริวารานิ , ปะฏิคคัณหาตุ , อัมหากัญเจวะ , มาตาปิตุ , อาทีนัญจะ , ญาตะกานัง , กาละกะตานัง , ทีฆะรัตตัง , หิตายะ , สุขายะ  ฯ 

คำแปล ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ  ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายมตกภัตตาหาร  กับทั้งบริวารเหล่านี้แด่พระภิกษุสงฆ์  ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับมตกภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย  เพื่อประโยชน์และความสุข  แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย  แก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลายมีมารดาเป็นต้น  ผู้ทำกาละล่วงลับไปแล้วด้วย  สิ้นกาลนานเทอญ ฯ  

หมายเหตุ 
- ถ้ามีภัตตาหารอยู่ใกล้ ต่อหน้าพระสงฆ์ใช้คำว่า อิมานิ  , มะยัง   ภันเต...
- ถ้ามีภัตตาหารอยู่ไกล/ที่โต๊ะอาหาร ใช้คำว่า เอตานิ  , มะยัง   ภันเต...
- มีภัตตาหารอยู่ จะยกหรือไม่ยกก็ได้


ที่มา : คัดลอกเนื้อหามาจาก คู่มือพิธีการ การจัดกิจกรรมวันรวมพลังสรรค์สร้างเขตสุจริต ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาศรีสะเกษ เขต ๓ ปีพระพุทธศักราช ๒๕๕๗.

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย