เริ่มต้นที่ยุคเมืองมหานคร (Angkor អង្គរ) คลิก
ณ ที่นี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา - รัตนโกสินทร์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณที่เป็นเขตจังหวัดศรีสะเกษและสุรินทร์ ในปัจจุบันนี้ เดิมเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าต่างๆ หลายชนเผ่าอาศัยอยู่รวมกัน ได้แก่ชนเผ่าเขมร กวย ลาว ฯลฯซึ่งเรียกโดยรวมว่า เขมรป่าดง มีชุมชนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็น เมืองขุขันธ์
"ปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน" ในอดีต ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ปราสาทกุด" เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคม |
ปีพุทธศักราช ๒๓๐๒ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ แห่งกรุงศรีอยุธยา พญาช้างเผือกได้แตกโรงไปอยู่รวมกับโขลงช้างป่าในเขตภูเขาพนมดงเร็ก จึงโปรดเกล้าฯให้ทหารเอกคู่พระทัย ( ทองด้วงและบุญมา) นำไพร่พลออกติดตามโดยได้รับการช่วยเหลือจาก ตากะจะ หรือตาไกร หัวหน้ากลุ่มชนบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนและเชียงขันธ์ ร่วมกับหัวหน้ากลุ่มชนชาวเขมรป่าดงที่ชำนาญการจับช้างคือ เชียงปุม แห่งบ้านเมืองที เชียงสี แห่งบ้านกุดหวาย เชียงฆะ แห่งบ้านอัจจะปะนึง และเชียงไชย แห่งบ้านจาระพัด ออกติดตามจนพบ สามารถจับพญาช้างเผือกได้ และตามคณะนำส่งถึงกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ ตากะจะหรือพระยาไกร เป็นหลวงแก้วสุวรรณ ตำแหน่งนายกองหัวหน้าหมู่บ้านและเชียงขันธ์ เป็นหลวงปราบผู้ช่วย
ปีพุทธศักราช ๒๓๐๖ โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ขึ้นเป็น เมืองขุขันธ์ โดย หลวงแก้วสุวรรณ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก
ปีพุทธศักราช ๒๓๒๑ พระไกรภักดีศรีนครลำดวน ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เมืองขุขันธ์ในอดีตมีผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง ๙ คน ดังนี้
๑. พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน หรือ ตากะจะ หรือหลวงแก้วสุวรรณ เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก (ตากะจะ - พุทธศักราช ๒๓๐๒ - ๒๓๒๑)๒. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๒(เชียงขันธ์ - พุทธศักราช ๒๓๒๑ - ๒๓๒๕)
๓. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๓( ท้าวบุญจันทร์ - พุทธศักราช ๒๓๒๕ - ๒๓๖๙)
๔. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๔( พระสังฆะบุรี หรือ ทองด้วง - พุทธศักราช ๒๓๗๑ - ๒๓๙๓)
๕. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๕( ท้าวใน - พุทธศักราช ๒๓๙๓)
๖. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๖( ท้าวนวน - พุทธศักราช ๒๓๙๓)
๗. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๗(ท้าวกิ่ง หรือ หลวงภักดีภูธรสงคราม พุทธศักราช ๒๓๙๔ - ๒๓๙๕)
๘. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๘(ท้าววัง - พุทธศักราช ๒๓๙๕ - ๒๔๒๖)
๙. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๙(ท้าวปัญญา ขุขันธิน - พุทธศักราช ๒๔๒๖- ๒๔๔๐/ ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๔๕๐)ได้รับโปรดเกล้าพระราชทานนามสกุล "ขุขันธิน")
- ปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์ เป็นตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์
- ปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ยุบเมืองศรีสะเกษและเมืองเดชอุดม โดยให้อำเภอที่ขึ้นกับเมืองทั้งสองไปขึ้นกับเมืองขุขันธ์
- ปลายปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ ย้ายเฉพาะศาลากลางเมืองขุขันธ์ จากที่ตั้งเดิม(อำเภอเมืองขุขันธ์) ไปตั้งบริเวณศาลากลางเมืองศีร์ษะเกษ แต่ยังคงใช้ชื่อ ศาลากลางเมืองขุขันธ์ ส่วนพื้นที่อำเภอเมืองขุขันธ์ยังอยู่ที่ตั้งเดิม
- ปี พุทธศักราช ๒๔๕๙ โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อเมืองขุขันธ์ เป็นชื่อจังหวัดขุขันธ์
- ปี พุทธศักราช ๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองขุขันธ์ เป็น อำเภอห้วยเหนือ
- ปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็นชื่อจังหวัดศีร์ษะเกษ เปลี่ยนชื่อ อำเภอห้วยเหนือ เป็นชื่อ อำเภอขุขันธ์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
- ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ ประเทศของเราเดิมชื่อ ประเทศสยาม(Siam)
เปลี่ยนชื่อมาเป็น ประเทศไทย (Thailand )
วีดิทัศน์ประวัติเมืองขุขันธ์โดยสังเขปที่กล่าวถึงเริ่มต้นจากวีรกรรมการตามจับช้าง
ในช่วงตอนปลายกรุงศรีอยุธยา สำหรับเวอร์ชั่นที่เริ่มต้นจาก พ.ศ. 1580
ยุคเมืองมหานคร อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ...ครับ
ในช่วงตอนปลายกรุงศรีอยุธยา สำหรับเวอร์ชั่นที่เริ่มต้นจาก พ.ศ. 1580
ยุคเมืองมหานคร อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ...ครับ