หม้อปั้นดินเผา ที่นำมาประดับโดยรอบกำแพงวัด
บ้านกระโพธิ์ช่างหม้อ หมู่ที่ 6 ตำบลดองกำเม็ด
อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้อาวุโสในหมู่บ้านเล่าว่า “หมู่บ้านกระโพธิ์ช่างหม้อ” เป็นชุมชนโบราณที่มีมาพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของเมืองขุขันธ์ในอดีต และเป็นที่อาศัยของบรรพชนเผ่ากวย หรือชาวกูยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปั้นหม้อดิน ซึ่งในภาษาขแมร์เรียกชนกลุ่มนี้ว่า កួយឆ្នាំងដី/กวย*-ชนัง-เด็ย*/ หรือ កួយឆ្នាំង/กวย*-ชนัง/ ซึ่งปัจจุบันลูกหลานชาวกวยกลุ่มนี้ก็ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านนี้ของบรรพบุรุษมาจนถึงปัจจุบัน
คำว่า กระโพ(ក្រៈពោ)หรือในปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น กระโพธิ์ เป็นคำในภาษากวยถิ่นไทย ที่ชาวบ้านใช้เรียกชื่อของต้นไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่งที่ มีผลสามารถเก็บมาทานได้ รสชาดเปรี้ยวพอประมาณถึงเปรียวมาก ตรงกับคำภาษาไทย คือต้นตะคร้อ หรือต้นค้อ(Ceylon oak) ตรงกับภาษาขแมร์ในกัมพูชาว่า ពង្រ ( ន. ) อ่านว่า /ปง-โร/ ภาษาเขมรถิ่นไทยแถบอีสานใต้ เรียก ប៉ាន់រួ อ่านว่า /ปัน-รัว/
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่ง คือ หมู่บ้าน ตำบลที่มีชื่อขึ้นต้นหรือลงท้ายด้วยคำว่า "กระโพ" "กระโพธิ์" ในพื้นที่แถบจังหวัดอีสานใต้ สันนิษฐานว่า ส่วนใหญอาจจะเป็นหมู่บ้านที่เคยมีชนเผ่ากูยอาศัยอยู่มาก่อน แล้วตอนหลังได้อพยพออกไปในภายหลัง หรือมีชนเผ่ากวย อาศัยร่วมกันเป็นจำนวนมาก หรือพื้นที่ตรงนั้นเคยมีต้นไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่งที่ชาวกูยเรียกว่า "ต้นกระโพธิ์" ขึ้นชุกชุมเป็นจำนวนมาก...เช่น หมู่บ้านกระโพธิ์ช่างหม้อ ตำบลดองกำเม็ด อำเภอขุขันธ์ ,หมู่บ้านเกาะกระโพธิ์ หมู่บ้านบึงกระโพธิ์ ในอำเภอปรางค์กู่ , ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ , กวยบ้านปรือคันเรียกบ้านนาค้อ ตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ว่า "ซรก-ซแร-กระโพ" เป็นต้น
สำหรับสรรพคุณของตะคร้อ ต้นค้อ ปงโร ปันรัว กระโพ หรือกระโพธิ์ นั้นเขาว่ามีหลายข้อให้ตามไปดูที่เวปฯนี้เลยครับ http://frynn.com/ตะคร้อ/
ขอบคุณข้อมูลภาพจาก เวปฯ http://frynn.com/