ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2561

แผนที่ประเทศสยามเกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2436 พร้อมกับการเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 อันเป็นช่วงที่สยามสูญเสียประเทศราชของตนให้แก่ฝรั่งเศส

          การเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของลัทธิอาณานิคมตะวันตก ก่อให้เกิดผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่สําคัญต่อภูมิภาคนี้ คือ การก่อกําเนิดของรัฐแบบใหม่ ซึ่งลัทธิอาณานิคมในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เกิดขึ้นในภาวะหรือยุคสมัยที่เรียกว่า “สมัยใหม่” (Modern)ความเป็นสมัยใหม่ของโลกตะวันตก ทําให้ลัทธิอาณานิคมกระทบต่อดินแดนที่ต้องตกเป็นอาณานิคมอย่างมาก โดยสร้างหรือปกครองอาณานิคมบนฐานคติของรัฐแบบใหม่ที่เป็นแบบทางโลก รัฐแบบใหม่หรือรัฐสมัยใหม่ จึงเป็นรัฐที่มีอํานาจเหนือดินแดนที่มีเขตแดนชัดเจน ใช้เขตแดนธรรมชาติเพื่อกําหนดเป็นเขตแดนอํานาจของรัฐ ในขณะเดียวกัน ก็สถาปนาอํานาจการปกครองจากอํานาจที่ศูนย์กลางเหนือพื้นที่หรือดินแดนนั้น(1)

          รัฐสมัยใหม่ (Modern States) จึงถือกําเนิดขึ้นจากเงื่อนไขสําคัญ 2 ประการ ซึ่งช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกันอย่างแยกขาดออกจากกันไม่ได้ คือ ประการแรก เมื่อมองจากภายในรัฐสมัยใหม่ต้องอาศัยพื้นฐานการรวมศูนยอํานาจปกครองของรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ และประการที่สอง เมื่อมองจากภายนอก หรือมองในแง่ความสัมพันธ์ระหวางรัฐในสังคมโลก รัฐสมัยใหม่ตองอาศัยระบบระหว่างรัฐ (The interstate system) เป็นพื้นฐานรับรองการดํารงอยู่ของรัฐ ซึ่งเดวิด เฮลด์(David Held) เสนอวา รัฐสมัยใหม่ทั้งปวงคือรัฐชาติ และนิยามชัดเจนว่า รัฐสมัยใหม่เป็นกลไกทางการเมืองที่แยกหลุดออกจากทั้งผู้ปกครองและผู้อยู่ใต้ปกครอง กลไกทางการเมืองดังกลาวนี้มีอํานาจสูงสุดโดยนิตินัยเหนือประชาชนในอาณาบริเวณที่มีขอบเขตชัดเจน กลไกนี้อ้างว่าตนผูกขาดอํานาจบังคับและตนได้รับความสนับสนุนหรือความภักดีจากพลเมืองด้วย(2)  โดยรัฐสมัยใหม่จะต้องมีแบบแผนอุดมคติ (Ideal Type) หรือคุณสมบัติพื้นฐาน 4 ประการคือ 1.ต้องมีประชากรจํานวนหนึ่ง 2.มีดินแดน อาณาเขต เป็นหลักแหล่งแน่นอน 3.มีรัฐบาล หรือองค์กรที่ทําหน้าที่ควบคุมดูแลความสงบเรียบร้อยภายในรัฐ 4.มีอํานาจอธิปไตยเป็นอํานาจสูงสุดของตนอย่างอิสระไม่ขึ้นต่อผู้อื่น(3)



          ความสํานึกในคําว่า “รัฐ” (State) ตามจารีตทางภูมิปัญญาของสังคมตะวันตก เริ่มแพร่เข้าสู่ประเทศสยามในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นายโจเซฟ บัลเลสเตียร์ (Joseph  Ballestier) ทูตชาวอเมริกันเข้ามายังพระนครเมื่อปี พ.ศ. 2393 โดยจดหมายเหตุทางฝ่ายไทยจดไว้ว่าเขาผู้นี้เป็น “ราชทูตรับใช้แต่เจ้าแผ่นดิน อเมริกันทั้ง 30 เมืองที่เข้ากันเปน เมืองเดียว จะได้ถือราชสาส์นมาถึงเมืองต่างๆ ที่อยู่ส่วนพิภพอาเซียตะวันออกเฉียงใต้มีมหานครศรีอยุธยาเปนต้น”(4)  คําว่า “STATES” ในชื่อประเทศสหรัฐฯ ได้รับการถ่ายทอด หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า “เมือง” ซึ่งในขณะนั้นสยามยังไม่เกิดความคิดที่จะถ่าย คําว่า “STATE” ด้วย

          คำว่า “รัฐ” จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คำว่า “STATE” จึงเริ่มเขามามีบทบาทอย่างเป็นทางการในชีวิตทางการเมืองของสยามเป็นครั้งแรก ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการตรา “พระราชบัญญัติเคานซิลออฟสเตต” ขึ้นในปี พ.ศ. 2417 แต่พระราชบัญญัติดังกล่าวก็บอกคําแปลไว้ดวยในตัวเองที่เรียกว่า “สเตต“ นั้น หมายถึง “แผนดิน” นั่นเอง(5) แต่ก็ตองรอเวลาอีก 20 ปีที่คำว่า “รัฐ” จึงจะเข้ามาเป็นคําแปลของคําว่า “STATE” กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2437 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรา “พระราชบัญญัติรัฐมนตรี” ออกมา ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติเคานซิลออฟสเตตให้สมบูรณ์ขึ้นนั่นเอง(6) และจากจุดนี้เป็นต้นมา คำว่า รัฐ” ที่เราพูดถึงกันเสมอในปัจจุบันจึงเป็นรัฐที่มีพื้นฐานมาจากมรดกทางการเมืองของสังคมตะวันตก(7)

         ในขณะที่ความคิดเรื่อง “รัฐ” กําลังเริ่มก่อตัวขึ้นในสังคมสยามนั้น แนวคิดเรื่องเส้นเขตแดนก็ถือเป็นสํานึกของรัฐแบบสมัยใหม่อีกอย่างหนึ่ง ที่เริ่มปรากฏขึ้นในความคิดของชนชั้นนําด้วยเช่นกัน โดยพบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความคิดและพยายามที่จะแสดงตัวตน และรูปร่างของสยามในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงด้วยการว่าจ้างชาวอังกฤษให้เข้ามาสํารวจและทําแผนที่ ไปพร้อมๆ กับที่ฝรั่งเศสกําลังสํารวจตามลําแม่น้ำโขงในขณะนั้นด้วย(8) ใน
ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงพยายามค้นหาพระราชอาณาเขตสยามในเชิงดินแดนตามระบบภูมิศาสตร์แบบตะวันตก ด้วยการระบุที่ตั้งอันแน่นอน ซึ่งเป็นลักษณะความคิดที่ไม่เคยปรากฏขึ้นในรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน นั่นคือความคิดในเรื่องการกําหนดเส้นแบ่งแดนที่มีความชัดเจนในระดับองศาลิบดาบนพื้นดินทะลุขึ้นไปเหนือห้วงอวกาศ(9)

           “พระนครศรีอยุธยาตั้งอยู่ละติจุด 14 องศา 19 ลิปดาเหนือ และลองจิจูด 100 องศา 37 ลิปดา ทางตะวันออกของเมืองกรีนิช ยังมีนครอื่นๆ อีกไม่ไกลนักที่ชาวกัมพูชาได้ครอบครองด้วยเช่นกัน แต่สถานที่ตั้งแน่นอนหรือ ประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ของ
นครเหล่านี้ยังไม่ทราบได้”(10)

          ความพยายามของชนชั้นนํา ที่จะแสดงตําแหน่งที่ตั้งของสยามบนโลกแห่งความเป็นจริงตามแนวความคิดเรื่องเขตแดนของการเมืองแบบตะวันตก ที่นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากับลัทธิอาณานิคมแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของสยามอันเป็นผลจากการติดต่อแลกเปลี่ยนวิทยาการกับชาติตะวันตกที่มีมากขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย  แม้ในช่วงก่อนหน้านี้ ชนชั้นนําสยามจะมีความพยายามที่จะแสดงตัวตนของตนผ่านการทําแผนที่ แต่ความพยายามดังกล่าวกลับไม่เป็นผล จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2436 เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 อันเป็นช่วงที่สยามสูญเสียประเทศราชของตนให้แก่ฝรั่งเศสและในขณะเดียวกันก็เป็นเวลาที่ภูมิกายา หรือตัวตนทางกายภาพของสยามอุบัติขึ้น แม้ในช่วงเวลาดังกล่าว สยามเองก็กําลังอยู่ในกระบวนการทําให้ทันสมัย แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า สยามหลังปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) มิได้เหมือนกับสยามก่อนหน้านั้นอีกต่อไป แม้กระทั่งในความคิดของผู้ปกครองสยามเอง พวกเขาดําเนินภารกิจของตนต่อ แต่เป็นไปในสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม(11) ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้ชนชั้นนําสยามต้องเสียดินแดนที่เคยเชื่อว่าเป็นมรดกของตนที่สืบมาจากรัฐจารีตไปด้วย

           กรณีพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ในปี ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) เกิดขึ้นจากการที่ฝรั่งเศสอ้างว่า ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นของญวนและเขมรมาก่อน เมื่อญวนและเขมรตกไป เป็นของฝรั่งเศสแล้ว ดินแดนดังกล่าวก็จะต้องตกเป็นของญวนและเขมรด้วย  ฝ่ายไทยไม่ยอม เพราะถือว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ไทยปกครองมาช้านาหลายแผ่นดินแล้ว ทางฝรั่งเศสก็จะเอาให้ได้ จึงเกิดการสู้รบกันขึ้น โดยฝรั่งเศสได้ส่งกําลังทหารทั้งฝรั่งเศสปนแขกมอรอคโค และทหารญวน ทหารเขมรบุกรุกขึ้นมาตามลําแม่น้ำโขง และรบกันหนักที่แก่งหลี่ผี กรณีพิพาทดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงนี้ ยุติลงตามสัญญาสงบศึกไทยกับฝรั่งเศสฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม ร.ศ.112 คือไทยยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศส ทําให้หัวเมืองขึ้นจําปาศักดิ์ทั้งหมดที่อยู่บนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตะวันออกก็ตกไปอยู่ในการบํารุงของฝรั่งเศส คงเหลือแต่ตัวเมืองนครจําปาศักดิ์และเมืองขึ้นนครจําปาศักดิ์ที่อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงเท่านั้น(12)

         การเผชิญหน้ากันระหว่างสยามกับฝรั่งเศสในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 จบลงด้วยการทําสนธิสัญญาในปี ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) และต่อมาสยามก็ได้ทําสนธิสัญญากับฝรั่งเศสอีกหลายครั้งในครั้งสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ. 1907 (พ.ศ.2450) ทําให้สยามต้องยอมสละอํานาจเหนือดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ําโขงทั้งหมด รวมทั้งหลวงพระบางและจําปาศักดิ์(13) ซึ่งการเข้ามาของลัทธิอาณานิคมดังกล่าวได้นําไปสู่แนวพระราชดําริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อลักษณะการปกครองว่า “...เมื่อมีอยู่ก็ต้องปกครองรักษาให้ได้สิทธิขาดจริงๆ ถ้าปกครองไม่ได้สิทธิขาดแล้ว ไม่มีเสียดีกว่า”(14) ซึ่งพระราชดำริดังกล่าวของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มีต่อสภาพของรัฐสยามที่เกิดขึ้น ได้ก่อให้เกิดความมุ่งหวังที่จะรวบอํานาจเข้าสู่ศูนย์กลางเพื่อความเบ็ดเสร็จ และเด็ดขาดทางอํานาจของสยามในการปกครอง โดยมีจุดมุ่งหมายในการควบคุมดินแดนหัวเมืองต่างๆ ให้อยู่ภายใต้การควบคุมของสยามโดยตรง พร้อมๆ กับการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินและการกําหนดเขตแดนประเทศลาวและสยามตามสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1893 (พ.ศ. 2436) และ 1904 (พ.ศ. 2447) นับแต่นั้นมา ชะตากรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ตกอยู่กับประเทศสยามโดยสิ้นเชิง หลังจากเหตุการณ์เหล่านี้ การแสวงหาอัตลักษณ์ร่วมของคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงต้องพิจารณาอยู่ในบริบทของรัฐไทยเท่านั้น(15)

FOOTNOTE :

(1) ฉลอง สุนทราวาณิชย์, “รัชกาลที่ 5 กับลัทธิอาณานิคมและสยาม,” ใน รัชกาลที่ 5 : สยามกับอุษาคเนย์และชมพูทวีป:เอกสารสรุปการสัมมนาวิชาการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสที่วันพระบรมราชสมภพครบ 150 ปี (พ.ศ. 2369-2546), ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อรอนงค์ ทิพย์พิมล,บรรณาธิการ.(กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2547), หน์า 271.


(2) David Held, “The Development of the Modern State” in Formations of Modernity, eds. Hall Stuart and Gieben Bram (Cambridge: Polity, 1992), p. 87. อางถึงใน สมเกียรติ วันทะนะ, “กําเนิดรัฐสมัยใหม,” วารสารสังคมศาสตรและ มนุษยศาสตร34,1 (มกราคม-มิถุนายน 2551): 167.

(3) สมบัติ จันทรวงศ์, “ศาสนากับการเมือง : ข้อสังเกตเบื้องต้นว่าด้วยอุดมการณ์และวิเทโศบายของพระบาทสมเด็จพระพุทธ ยอดฟ้าจุฬาโลกฯ” ,รัฐศาสตร์สาร 14,3-15,1 (กันยายน 2531-เมษายน 2532): 22; สมเกียรติ วันทะนะ, “เมืองไทยยุคใหม่: สัมพันธภาพระหว่างรัฐกับประวัติศาสตร์สํานึก” ใน อยู่เมืองไทย, สมบัติ จันทรวงศ์ และชัยวัฒน์ สถาอานันท์,บรรณาธิการ. (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530), หน้า 72-73.


(4) จดหมายเหตุเรื่องทูตอเมริกันเข้ามาในรัชกาลที่ 3 เมื่อปีจอ พ.ศ. 2393 (พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2466),หน้า 19. อ้างถึงใน สมเกียรติ วันทะนะ, “รัฐไทย : นามธรรมและรูปธรรม ” รัฐศาสตร์สาร 14,3 (กันยายน 2531-เมษายน 2532): หน้า 193.


(5) ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ: โครงการตํารา

สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518), หน้า 20-27. อ้างถึงใน สมเกียรติ วันทะนะ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 193.

(6) เสถียร ลายลักษณ์, ประชุมกฎหมายประจําศก เล่ม 14 กฎหมาย ร.ศ. 112-113 (พระนคร, 2478), หน้า 213-220. อ้างถึง
ใน สมเกียรติ วันทะนะ, เรื่องเดียวกัน, หน้า 193-194.

(7) เรื่องเดียวกัน, หน้า 194.

(8) เจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี, พระราชพงศาวดารรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 4,พิมพ์ครั้งที่ 6(กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง
แอนด์พับลิชชิ่ง จํากัด, 2548), หน้า 231.

(9) ทวีศักดิ์ เผือกสม, อินโดนีเซีย รายา: รัฐจารีต สู่ “ชาติ” ในจินตนาการ (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2547), หน้า 17.

(10) พงศาวดารสยามอย่างย่อ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ,แปลโดย วินัย พงศ์ศรีเพียร ใน ความยอกย้อนของอดีต พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติ พลตรีหม่อมราชวงศ์ ศุภวัฒย์ เกษมศรี(กรุงเทพฯ: ม.ป.ท., 2537), หน้า 74. อ้างถึง
ใน โดม ไกรปกรณ์, “ตําราพระราชพิธีสมัยรัชกาลที่ 4-5 (พ.ศ. 2394-2453),” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2542), หน้า 117.

(11) Thongchai Winichakul, Siam Mapped : A History of the Geo-body of A Nation(Honolulu: University of Hawaii
Press, 1994), p. 142.

(12) เติม วิภาคพจนกิจ,ประวัติศาสตร์อีสาน,พิมพ์ครั้งที่ 4(กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตําราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,
2546), หน้า 74.

(13) พงศาวดารเมืองเวียงจันท์” , ปริวรรตโดย จารุวรรณ ธรรมวัตร ใน แลลอดพงศาวดารลาว(มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ม.ป.ป.), หน้า 25.

(14) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, “พระราชดํารัสทรงในที่ประชุมเสนาบดีเรื่องทําหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี
กับอังกฤษ ร.ศ. 128” , ศิลปากร 3 (กันยายน 2519): 69. อ้างถึงใน เตือนใจ ไชยศิลป์, “ล้านนาในการรับรู้ของชนชั้นปกครอง
สยาม พ.ศ. 2435-2475,” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
2536), หน้า 102.

(15) ชาร์ลส์ เอฟ คายส์, แนวคิดท้องถิ่นภาคอีสานนิยมในประเทศไทย, แปลโดย รัตนา โตสกุล (กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยสังคม
อนุภาคลุ่มน้ำโขง, 2546), หน้า 53.

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย