ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

ปฏิทินจันทรคติไทย และปีนักษัตรไทย

เดือนจันทรคติไทย : เดือนอ้าย(๑) , เดือนยี่(๒) , เดือนสาม(๓) , เดือนสี่(๔) , เดือนห้า(๕) , เดือนหก(๖) , เดือนเจ็ด(๗) , เดือนแปด(๘) , เดือนแปดหลัง(๘๘) , เดือนเก้า(๙) , เดือนสิบ(๑๐) , เดือนสิบเอ็ด(๑๑) , เดือนสิบสอง(๑๒) และในปีอธิกมาส จะมีเดือนแปดหลัง(๘๘) , 

ปกติมาส ปกติวาร : เป็นปีปกติ เดือนคู่(เดือน ๒, ๔, ๖, ๘, ๑๐, ๑๒) มีข้างขึ้นและข้างแรม 15 วัน และเดือนคี่(เดือน ๑, ๓, ๕, ๗, ๙, ๑๑) มีข้างขึ้น 15 วัน ส่วนข้างแรมมี 14 วัน (รอบปีจันทรคติรวม 354 วัน)

ปกติมาส อธิกวาร : เป็นปีปกติ แต่เดือนเจ็ด(๗) จะมีข้างแรม 15 วัน (รอบปีจันทรคติรวม 355 วัน) 

อธิกมาส ปกติวาร : เป็นปีปกติ แต่เพิ่มเดือนแปดสองหน(๘๘) เพิ่มวัน 30 วัน (รอบปีจันทรคติรวม 384 วัน) 

ปกติสุรทิน จำนวนวันใน 1 ปี มี 365 วัน ตามรอบสุริยคติ (เดือนกุมภาพันธ์มี 28 วัน) 

อธิกสุรทิน จำนวนวันใน 1 ปี มี 366 วัน ตามรอบสุริยคติ(เดือนกุมภาพันธ์มี 29 วัน) 

วันพระ : ขึ้น ๘ ค่ำ , ขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ) , แรม ๘ ค่ำ , แรม ๑๕ ค่ำ หากเดือนใดเป็นเดือนขาด หรือเดือนคี่ (เดือน ๑, ๓, ๕, ๗, ๙, ๑๑) ให้ถือเอาแรม ๑๔ ค่ำ เป็นวันพระ 

รอบวันทางจันทรคติไทย นับตามเวลาดวงอาทิตย์ขึ้นจริง หรือประมาณ เวลา 06:00น. ถึง 05:59น.

หมายเหตุ
   1) ก่อนปี พ.ศ.2456 ประเทศไทยยังใช้ปฏิทินจันทรคติเป็นหลัก ชื่อเดือน มกราคม-ธันวาคม ยังไม่มีใช้ ผู้คนยุคนั้นจะรู้จักปฏิทินวันแรมค่ำ เดือนอ้ายยี่ ปีชวด ฉลู ฯ หรือจดจำวันเกิดตามปฏิทินจันทรคติ เช่น เกิดวันศุกร์ เดือนยี่ ปีกุน เท่านั้น  หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงเริ่มใช้วันเดือนปีสุริยคติตามสากล ปฏิทินจันทรคติไทยก็ลดบทบาทลงจนเกือบจะหายไป ยังคงเหลือใช้เฉพาะกลุ่ม เช่น ทางโหราศาสตร์ พิธีกรรม ศาสนา วัฒนธรรม ส่วนอื่นๆ จะใช้ปฏิทินสุริยคติแบบสากลเกือบทั้งหมด ดังนั้น หากจะใช้ปฏิทินในทางโหราศาสตร์ พิธีกรรม หรือ วันสำคัญทางพุทธศาสนา ก็ควรเข้าใจหลักปฏิทินจันทรคติแบบเก่า เปรียบเทียบวันเวลาที่ถูกต้องก่อนใช้

   2) วันขึ้นปีใหม่ ตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กำหนดวันขึ้นปีใหม่ใน วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ตามคติพราหมณ์-ฮินดู และใช้จนถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) พ.ศ.2432 ซึ่งตรงพอดีกับวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2432 (รัตนโกสินทร์ศก. 108) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ เป็น วันที่ 1 เมษายน แทน และใช้จนถึง พ.ศ.2483 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ไทยตามสากลประเทศ จากวันที่ 1 เมษายน เป็น วันที่ 1 มกราคม โดยเริ่มใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2484 เป็นต้นมา , ในปี พ.ศ.2483 ถ้านับถึงเปลี่ยนปีใหม่ เลือนวันจาก 1 เมษายน เป็นวันที่ 1 มกราคม ปรับปีใหม่เร็วขึ้น จำนวนเดือนในปฏิทินไทยจึงหายไป 3 เดือน ดังนั้นในปี พ.ศ.2483 หากนับช่วงเวลาจะมี 9 เดือน โดยวันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม พ.ศ.2483 ไม่มีอยู่ในปฏิทินไทยที่ใช้จริง แต่ตามปฏิทินสากล ซึ่งตรงกับปี ค.ศ.1940 ช่วงเวลาในปฏิทินดังกล่าวใช้ตามปรกติ 

3) ปีนักษัตรไทย การเปลี่ยนปีนักษัตรไทยมีหลายแบบ เช่น เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) ตามปฏิทินหลวง เป็นแบบที่ใช้ในการบันทึกสูติบัตรปัจจุบัน (แนวทางปฏิบัติตาม หนังสือเวียนกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0310.1/ว4 ออกเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2539) , เปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) ตามคติพราหมณ์-ฮินดู , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันเถลิงศก ช่วงวันที่ 15-17 เมษายน , เปลี่ยนปีนักษัตรใน วันสังขารล่อง หรือ วันสงกรานต์ ตามแบบทางภาคเหนือ , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันที่ 1 มกราคม ตามปฏิทินของ อ.ทองเจือ อ่างแก้ว , เปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ในวันที่ 1 เมษายน ตามปฏิทินของ อ.เทพย์ สาริกบุตร , ปีนักษัตรจีน โหราศาสตร์จีนจะเปลี่ยนปีนักษัตรในวันสารทลิบชุน(立春) ซึ่งเป็นสารทแรกของปีเริ่มต้นนักษัตรใหม่ ขวบปีใหม่ ตามกฎเกณฑ์ปฏิทินโหราศาสตร์จีนโบราณ ก่อนที่คณะปฏิวัติปกครองสถาปนาสาธารณรัฐจีน (พ.ศ.2455) มีประกาศเปลี่ยนแปลงปฏิทินใหม่ ดู ปฏิทินโหราศาสตร์จีน และบางตำราใช้วันตรุษจีนเป็นวันเปลี่ยนปีนักษัตร

จะใช้ปีนักษัตรแบบใดนั้น ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ทำอะไร เช่น บันทึกสูติบัตร จะใช้ปีนักษัตรตามปฏิทินหลวง เปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนอ้าย(๑) , พยากรณ์ทางโหราศาสตร์ต่างๆของไทย จะใช้ปีนักษัตรตามคติพราหมณ์-ฮินดู เปลี่ยนปีนักษัตรในวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนห้า(๕) , พยากรณ์โหราศาสตร์จีน ดูดวงจีนโป๊ยหยี่สี่เถี่ยว(八字四柱) ดูหลักปี ปีชง ปีฮะ จะใช้ปีนักษัตรจีนตามปฏิทินโหราศาสตร์จีน เป็นต้น

Reference : มายโหรา.คอม.2561.แปลง/เปรียบเทียบ ปฏิทินสุริยคติ - จันทรคติ. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.myhora.com/ปฏิทิน/ตรวจสอบวันเดือนปี-สุริยคติ-จันทรคติ.aspx .(24 กันยายน 2561)

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย