ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๒ (เชียงขันธ์ - พุทธศักราช ๒๓๒๑ - ๒๓๒๕)

พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ ๒
(เชียงขันธ์ - พุทธศักราช ๒๓๒๑ - ๒๓๒๕)


“พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ 2 ” หรือพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ ๒   (เชียงขันธ์ หรือหลวงปราบ) เดิมชื่อ  “เชียงขันธ์” เป็นน้องชาย  “ตากะจะ” เมื่อครั้งยังเป็นผู้ช่วยนายกองหมู่บ้านคู่บารมีตากะจะ เมื่อครั้งปี พ.ศ. 2302 ก็เป็นผู้ร่วมคณะช่วยจับพญาช้างเผือกมงคลร่วมกับกับหัวหน้าเขมรป่าดงคนอื่น ๆ มีความชอบได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ได้รับบรรดาศักดิ์ให้เป็น “หลวงปราบ” ผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์ เมื่อครั้งเมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์และเมืองสังขะ ได้จัดทัพร่วมกับทัพส่วนกลาง ยกไปตีเมืองเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2319  หลวงปราบได้แสดงความสามารถในเชิงการรบจนได้รับการยกย่องว่าเป็นทหารเอกแห่งทัพเมืองขุขันธ์ หลังจากยกทัพกลับยังได้นำนางคำเวียง หญิงหม้ายตระกูลขุนนางจากเวียงจันทน์   และยกย่องให้เป็นภรรยาอีกด้วย  อย่างไรก็ตาม นางคำเวียง ยังมีบุตรชายติดมาด้วยชื่อ ท้าวบุญจันทร์ หลวงปราบได้รับเป็นบุตรบุญธรรม ภายหลังท้าวบุญจันทร์ บุตรบุญธรรมผู้นี้ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่  3 หลวงปราบ  มีบุตรที่เกิดจากภรรยาคนแรก ได้แก่  ท้าวกิ่ง   ท้าววัง และท้าวรส

ในปี พ.ศ. 2321 ปีเดียวกันนี้เอง หลังจาก “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” (ตากะจะ)  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 1 ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว หลวงปราบ หรือ เชียงขันธ์ ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ได้รับบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” ตำแหน่ง  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2  ปกครองเมืองขุขันธ์สืบต่อต่อมา  อีกทั้งยังทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวอุ่นซึ่งเป็นบุตร “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน”(ตากะจะ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 1 ดำรงตำแหน่งปลัดเมืองขุขันธ์  

ในเวลาเดียวกันเมื่อ “หลวงปราบ” ได้รับโปรดเกล้าฯ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ได้ไม่นาน ได้พิจารณาเห็นว่าบริเวณจุดที่ตั้งหลักเมืองและเมืองขุขันธ์เดิมไม่เหมาะที่จะพัฒนาให้รุ่งเรืองได้  อีกทั้งเพื่อให้เป็นไปตามที่เจ้าเมืองท่านที่ 1 คือ หลวงแก้วสุวรรณ หรือตากะจะได้ตั้งปณิธานเอาไว้เมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ว่าต้องการที่จะเลื่อนจุดที่ตั้งหลักเมืองและเมืองขุขันธ์อยู่ก่อนแล้ว
ดังนั้น “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ ๒ ” (หลวงปราบ หรือ เชียงขันธ์ ) จึงได้ทำพิธีดำเนินการเลื่อนที่ตั้งเมืองขุขันธ์และหลักเมืองจากที่ตั้งเดิม คือ เลื่อนจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังที่ตั้งแห่งใหม่บริเวณหนองแตระ มีหลักฐานคือ การฝังหลักเมือง  ณ  มุมวัดกลาง อำเภอขุขันธ์ ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ ในปัจจุบัน

ข้อสังเกต การเลื่อนที่ตั้งเมืองขุขันธ์จากที่ตั้งเดิมกับที่ตั้งเมืองขุขันธ์ใหม่จะอยู่ไม่ไกลนักกับบ้านบก  ที่หลวงปราบ หรือ เชียงขันธ์  นำหญิงหม้ายชื่อ นางคำเวียง  จากเวียงจันทน์  พร้อมบริวารมาพำนักและยกย่องให้เป็นภรรยา (บ้านบก หมู่ที่ 13 ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ  ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้เขียน  นั่นเอง) 

ปี พ.ศ. 2324 ยังอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน)    ทางประเทศกัมพูชาเกิดความขัดแย้งจนเกิดเหตุการณ์จลาจลขึ้นในประเทศ พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงธนบุรี  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  และเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ  ยกทัพไปปราบ  การยกทัพไปปราบจลาจลที่กัมพูชาในครั้งนี้ได้มีบัญชาให้ทัพจากเมืองขุขันธ์ร่วมยกทัพไปปราบด้วยในขณะที่กำลังทำการปราบปรามระงับศึกการจลาจลอยู่นั้น ได้รับแจ้งข่าวว่าที่กรุงธนบุรี      กำลังเกิดการจลาจลสร้างความไม่สงบขึ้นเช่นเดียวกัน ส่งผลให้การปราบจลาจลในกัมพูชา       ยังไม่สำเร็จแต่ก็ต้องเสด็จยกทัพกลับ
ส่วนกองทัพจากเมืองขุขันธ์ ที่ได้ยกทัพไปช่วยปราบจลาจลในครั้งนี้ เมื่อยกทัพกลับ  ได้กวาดต้อนเอาชาวกัมพูชาบางส่วนมาอยู่ที่เมืองขุขันธ์ ด้วยหลายครอบครัว

ปี พ.ศ. 2325 เป็นสมัยที่รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี ในปีนี้นับว่าเป็นปีที่สำคัญและมีความหมายต่อประวัติศาสตร์ของเมืองขุขันธ์ อีกวาระหนึ่งที่เจ้าเมืองขุขันธ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ จากราชทินนามเดิม “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ” เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 2 (หลวงปราบ)  ในราชทินนามใหม่ว่า “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2
  
ดังนั้นจึงทำให้  “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” (เชียงขันธ์ หรือ หลวงปราบ) ได้ใช้  ราชทินนามใหม่ว่า “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 2 ตั้งแต่บัดนั้นมา  และเนื่องจากเป็นราชทินนามที่โปรดเกล้าฯ ให้เป็นราชทินนามประจำตำแหน่ง “เจ้าเมืองขุขันธ์”  จึงทำให้เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2 ถึงท่านที่ 9 ได้ใช้ราชทินนาม “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน”  เป็นราชทินนามประจำตำแหน่งและประจำตัว แม้จะได้เปลี่ยนตำแหน่งเจ้าเมืองมาเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองแล้วก็ตาม 

ในปีเดียวกันนี้ คือ ปี พ.ศ. 2325 หลังจาก “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 2 (หลวงปราบ)  ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานราชทินนามใหม่เป็น “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” แล้วก็ได้ขอให้ทรงโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้ง  “ท้าวบุญจันทร์” บุตรบุญธรรม ซึ่งเป็นบุตรชายติดมากับหญิงหม้ายตระกูลขุนนางจากเวียงจันทน์ (ภรรยาใหม่) ให้มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระไกร” ตำแหน่งผู้ช่วยเมืองขุขันธ์ ต่อมา พระไกร มีความโกรธแค้นไม่พอใจเจ้าเมือง ขุขันธ์ฐานะบิดาบุญธรรม ซึ่งมักจะกล่าวเรียก พระไกร ด้วยความเอ็นดูว่า “ลูกเชลย” ต่อหน้าผู้คนเสมอ ๆ ทำให้พระไกร เกิดความอับอายกลายเป็นความแค้น มีอคติผูกพยาบาทอาฆาตแค้นต่อเจ้าเมืองผู้เป็นบิดาบุญธรรมมากขึ้นโดยลำดับจึงคิดที่จะกำจัด ซึ่งก็มิได้บอกกล่าวหรือแพร่งพรายให้ผู้ใดรู้และทราบเรื่องมาก่อนแม้แต่น้อย

ต่อมาความคิดดังกล่าวของ “พระไกร” ที่มีต่อบิดาบุญธรรมผู้เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์  ก็สบโอกาสเมื่อมีชาวญวน จำนวน 30 คน ได้เดินทางข้ามมาในเขตเมืองขุขันธ์ โดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริง ทราบเพียงแต่ว่าชาวญวนคณะนี้มีอาชีพเป็นพ่อค้าเดินทางเข้ามาในเขตเมืองขุขันธ์เพื่อมาหาซื้อวัว ควาย (โค กระบือ) โดยที่ “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2(หลวงปราบ) เจ้าเมืองขุขันธ์ได้อำนวยความสะดวกและให้การต้อนรับคณะชาวญวนคณะนี้เป็นอย่างดี  อย่างผิดสังเกต โดยได้ทำการจัดที่พักให้ที่ศาลาว่าการเมืองขุขันธ์  แล้วยังได้เกณฑ์ผู้คนเมืองขุขันธ์ตัดถนน เป็นเส้นทางให้กลุ่มคณะพ่อค้าได้เดินทางไป-กลับได้อย่างสะดวกโดยทำผ่านช่องโพย

เหตุการณ์ครั้งนี้ฝ่าย “พระไกร” ผู้ช่วยเมืองขุขันธ์ทราบดี เห็นว่าเป็นโอกาสเหมาะที่จะกำจัดชำระแค้นที่มีอยู่  จึงได้มีหนังสือแจ้งเรื่องราวกล่าวโทษ “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” เจ้าเมืองขุขันธ์ ไปยังราชการส่วนกลางคือ กรุงเทพฯว่า “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” (หลวงปราบ) เจ้าเมืองขุขันธ์ว่า ได้ทำการร่วมคบคิดกับญวนชาวต่างแดนที่น่าจะส่อไปในทาง เป็นกบฏต่อสยามประเทศพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ รับสั่งให้ “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน”(หลวงปราบ)  เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อให้พิจารณาความ  ผลการพิจารณาความ ได้ความว่า เป็นความสัตย์จริงและเชื่อตามที่ “พระไกร”กล่าวหา จึงทำให้เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2 (หลวงปราบ) ถูกสั่งจำคุกอยู่ที่กรุงเทพฯ  และเป็นไปตามความคาดหมายของพระไกร พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดไว้วางใจ  จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ “พระไกร” ผู้ช่วยเจ้าเมืองขุขันธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 3 ในราชทินนาม “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” ซึ่งถือเป็นชาวต่างชาติเพียงคนเดียวที่ได้รับแต่งตั้ง ให้เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ตรงกับ  พ.ศ. 2325 

ส่วนเจ้าเมืองขุขันธ์  “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” (หลวงปราบ)  เมื่อได้ถูกจำคุกอยู่ที่กรุงเทพฯ ครบ 2 ปี  ถึงแม้ท่านจะถูกจำคุก แต่ก็ถือว่าเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์คนที่  2  ที่สร้างคุณประโยชน์อย่างยิ่งแม้จะอยู่ในตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ ได้เพียงประมาณ  4  ปี  และเมื่อพ้นโทษแล้วได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาอยู่ใช้ชีวิต  ที่เมืองขุขันธ์ จนถึงแก่อนิจกรรม

ขอบพระคุณผู้เขียน : นายนิติภูมิ ขุขันธิน,2547.

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย