-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วัดเทพทวารา(บ้านแทรง)

วัดเทพทวารา (วัดบ้านแทรง) ตั้งอยู่บ้านแทรง หมู่ที่ ๑  ตำบลห้วยสำราญ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ  ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเมือปี พ.ศ.  ๒๓๙๐  ในสมัยตอนปลายราชการของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๔ ( พระสังฆะบุรี หรือ ทองด้วง - พุทธศักราช ๒๓๗๑ - ๒๓๙๓) มีผู้อาวุโสเล่าว่า  ในสมัยโบราณ  การเดินทางไปเมืองสังขะ เมืองสุรินทร์  เมืองบุรีรัมย์ และเมืองนครราชสีมา  ของเจ้าเมือง  กรมการเมืองต่างๆ  ทหาร พ่อค้าคหบดีและราษฏร  ก็ต้องเดินทางผ่านเส้นทางบ้านแทรง เท่านั้น  ดังนั้น ที่ตั้งชื่อว่า “วัดเทพทวารา” หมายถึงประตูทางเข้าของเทพเจ้า ในที่นี้ก็คือเจ้าขุนมูลนายที่จะผ่านเข้า-ออกจากเมืองขุขันธ์ทางด้านทิศตะวันตก นั่นเอง 



ภายในบริเวณวัด มีพระอุโบสถเก่าแก่  และได้รับการบูรณะปฏิสังขรมาแล้ว สองครั้ง  ทางด้านทิศตะวันออกของพระอุโบสถจะมีองค์เจดีย์เก่าแก่(ลักษณะรูปทรงคล้ายองค์เจดีย์ที่ตั้งอยู่บริเวณทิศตะวันออกของโรงเรียนบ้านแทรง) ปรากฏอยู่สององค์ 


            
             ใกล้องค์พระเจดีย์ มีสระน้ำเก่าแก่ทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ๑ แห่ง  อยู่ด้านตะวันออกมีมาแต่เมื่อใดไม่มีใครบอกได้  แต่เป็นที่ประหลาดใจแก่ชาวบ้านมาถึงทุกวันนี้ ก็คือ สระน้ำดังกล่าว น้ำไม่เคยเหือดแห้งเลย เพียงแต่ตื้นเขินไปตามกาลเวลา ส่วนในปัจจุบัน เจ้าอาวาสวัดบ้านแทรงได้ขุดลอกให้ลึกมากขึ้น  แต่ก็ยังคงอนุรักษ์ลักษณะสภาพรูปทรงเดิมของสระน้ำไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น และแวะเวียนมาศึกษาเผชิญสืบตลอดไป

หมายเหตุ
สำหรับ คำว่า "แทรง" นั้น น่าจะออกเสียงเพี้ยนมาจากรากศัพท์เดิมเป็นคำภาษาเขมร  2 คำ ได้แก่ ទ្រាំង​ อ่านว่า เตรียง กับคำว่า ត្រែង​ อ่านว่า แตรง สำหรับรายละเอียดดังนี้

1. น่าจะมาจากคำว่า ទ្រាំង​ อ่านว่า เตรียง แปลว่า ต้นลาน เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งอายุหลายปี กาบใบ เรียงซ้อนกันรอบต้น ใบเดี่ยว แผ่นใบรูปพัด เส้นใบออกจากจุดเดียวกัน ก้านใบเป็นราง ยาว 1-3 เมตร ขอบมีหนามแหลมคม เรียงกันคล้ายฟันเลื่อย ช่อดอก แบบช่อแยกแขนงออกที่ปลายยอด ชูตั้งขึ้น  เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่อยู่ในตระกูลปาล์ม เป็นพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์  มีถิ่นกำเนิดในอเมริกาและแถบเมดิเตอร์เรเนียน ส่วนใหญ่จะชอบขึ้นอยู่ในที่มีอากาศชื้นเย็น มีฝนตกมาก ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด ในดินที่มีความชื้นสูง ดินมีการระบายน้ำได้ดี ไม่ชอบน้ำขัง ต้นลานมีความคงทนต่อภัยธรรมชาติเป็นอย่างดี ต้นเล็กถึงแม้จะถูกไฟไหม้ก็จะงอกขึ้นได้ในโอกาสต่อไป เพราะรากของต้นลาน ฝังลงในดินลึกมาก

ต้นลาน หรือ /เดิม*-เตรียง/   ถือได้ว่าเป็นไม้เศรษฐกิจประเภทหนึ่งชาวเมืองขุขันธ์ในอดีต ซึ่งในสมัยนั้นพบขึ้นกันอย่างหนาแน่นในบริเวณพื้นที่บ้านแทรง  และคนแถบบ้านแทรง ในสมัยนั้นยามว่างจากฤดูกาลทำนา นิยมการจักสานงานฝีมือ(จากใบของต้นตาลโตนด และใบลาน) ซึ่งได้ถ่ายทอดฝีมือด้านงานจักสาน และความงดงามของผลิตภัณฑ์มาถึงลูกหลานรุ่นปัจจุบัน
           โดยผลผลิตที่ได้จากต้นลาน นำมาใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงชีวิต ทั้งด้านอุปโภคและบริโภค  ส่วนต่าง ๆ ของต้นลาน สามารถนำมาใช้ประโยชน์หลากหลาย ได้แก่ 
          1) ยอดลานอ่อน (ใบลานอ่อน) เป็นที่จารึก หนังสือพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา โดยการใช้เหล็กแหลมจารบนใบลานแล้วใช้ยางรักทา เอาทรายลบยางรักจะแทรกในตัวหนังสือที่จารเป็นเส้นดำ หรือจะใช้เขม่าไฟแทนก็ได้ เรียกหนังสือใบลานเหล่านี้ว่า "คัมภีร์ใบลาน" นอกจากนี้ ยังนิยมนำมาใช้จักสานทำผลิตภัณฑ์ของใช้ อาทิ เช่น หมวก งอบ พัด กระเป๋า เสื่อ ภาชนะในครัวเรือน เครื่องประดับตกแต่งบ้าน เช่น โมบายรูปสัตว์ ปลาตะเพียน ฯลฯ 
          2) ใบลานแก่ ใช้มุงหลังคาและทำผนังหรือฝาบ้าน บางแห่งใช้ใบลานเผาไฟเป็นยาดับพิษอักเสบฟกช้ำบวมได้เป็นอย่างดี ซึ่งเรียกทั่วไปว่า "ยามหานิล" 
          3) ก้านใบ ใช้ทำโครงสร้าง ไม้ขื่อ ไม้แป และผนัง บางแห่งใช้มัดสิ่งของแทนเชือกเหนียวมาก ส่วนกระดูกลาน (ใกล้กับบริเวณหนามแหลม) มีความแข็ง และเหนียวมากกว่าส่วนอื่นของก้านใบ ใช้ทำคันกลดพระธุดงค์ นอกจากนี้ยังใช้ทำขอบภาชนะจักสานทั่วไป เช่น ขอบกระด้ง ตะแกรง กระบุง ตะกร้า เป็นต้น 
          4) ลำต้น นำมาตัดเป็นท่อน ๆ สำหรับนั่งเล่นหรือใช้ตกแต่งประดับสวน ทำฟืนเป็นเชื้อเพลิงหุงต้ม 
          5) ผล ลูกตาลอ่อนนำเนื้อในมารับประทานแบบลุกชิดหรือลูกจาก ส่วนเปลือกรับประทานเป็นยาขับระบายดี บางแห่งใช้ลูกลานทุบทั้งเปลือก โยนลงน้ำทำให้ปลาเมา แต่ไม่ถึงตาย สะดวกแก่การจับปลา
         6) ราก ใช้ฝนรับประทานแก้ร้อน ขับเหงื่อ แก้ไข้หวัด เป็นต้น

         2. น่าจะมาจากคำว่า  ត្រែង​ อ่านว่า แตรง  ต้น “ แตรง ” หรือตรงกับภาษาไทยคือ ต้นอ้อ ขึ้นมากมายบริเวณทางเข้าหมู่บ้าน โดยเฉพาะทางทิศตะวันตกของโรงเรียนบ้านแทรงบริเวณทางแยกไปบ้านใจดีในปัจจุบัน หรือทางหลวงชนบทสาย ศรีสะเกษ ก็เลยเรียกตามชื่อพืชชนิดดังกล่าวก็อาจจะเป็นได้

ชื่อเรียกโดยทั่วไป ต้นอ้อ  
ชื่ออื่น ๆ หญ้าอ้อ ดอกอ้อ ในภาคเหนือบางทีเรียกกันว่า อ้อหลวง ส่วนภาคกลางเรียก อ้อใหญ่  
ชื่อสามัญ
Reed grass} Giant reed} Great reed
ชื่อวิทยาศาสตร์
Arundo donax L.
ชื่อวงศ์
POACEAE (GRAMINEAE)

ลักษณะของต้นอ้อ
          ต้นอ้อ เป็นไม้ล้มลุก จำพวกหญ้า มีอายุหลายปี มักขึ้นเป็นกอ สูง 2-8 เมตร ลำต้นเป็นปล้องตั้ง ตรง ภายในกลวง แตกกิ่งก้านบ้างเล็กน้อย ลำต้นกว้าง 1.5-3 ซม. ปล้องสั้น กาบหุ้มลำต้น ยาว 10-15 ซม. ยาวกว่าปล้องมาก มีลายตามยาว สีออกนวล เกลี้ยง หรือมีขนยาว ที่รอยต่อของกาบ ใบและตัวใบมีลิ้นใบ (ligule) ยาว 2-3 มม. ขอบจักหรือเป็นชายครุย
          ใบอ้อ ยาวประมาณ 45-60 ซม. โคนใบ กว้าง 4-6 ซม. มีลายตามยาว เนื้อใบหนา ปลายเรียวแหลมเป็นหางยาว มักจะพับลง เกลี้ยง ขอบใบสา
          ดอกต้นอ้อ   ออกดอกที่ยอดเป็นช่อใหญ่กระจาย ยาว 30-75 ซม. ดอกหนาแน่น ช่อดอกแตกกิ่งมากมาย ยาวประมาณ 15-30 ซม. มีขนยาวคล้ายขนนก ช่อดอกย่อย (spikelet) ยาว 13-17 มม. ประกอบด้วยดอก 4-5 ดอก กาบช่อย่อยกาบล่าง ยาว 11-14 มม. มีเส้นตามยาว 5 เล้น กาบบน รูปแคบ ๆ ยาว 11-14 มม. มีเส้นดามยาว 3 เส้น ปลายแหลมบาง กาบล่างของดอก รูปใข่แกมรูปหอก ยาว 10-15 มม. มีขนยาวและหนาแน่นใกล้โคน ขนยาวประมาณ 10 มม. บาง ปลายแหลม ที่โคนมีเส้นตามยาว 7-8 เส้น กาบบนของดอก ยาว 6-11 มม. เป็นเยื่อบางใส กว้าง ปลายมน หรือ ตัด ขอบมีทั้งขนธรรมดา และขนแข็ง ๆ เกสรเพศผู้มี 3 อัน อับเรณูยาว 2-2.2 มม. เรียวเล็ก สีเหลือง รังไข่เกลี้ยง ก้านเกสรเพศเมียสั้น ๆ 2 อัน ปลายเกสรเพศเมียยาวประมาณ 1 มม. มีขนสี นํ้าตาลแกมเหลือง ยาวคล้ายขนนก
         ต้นอ้อ  ชอบขึ้นตามที่ราบลุ่มชื้นแฉะทั่วไป

ประโยชน์ของต้นอ้อ คือ 
1. ด้านสมุนไพร นํ้าต้มรากกินเป็นยาขับปัสสาวะ,นํ้าต้มเหง้าต้นอ้อเป็นยาระบาย ขับ ระดู และห้ามการหลั่งนํ้านมของสตรี ต้นอ้อเป็นชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไป 
2. ดอกหญ้า (ดอกอ้อ)สามารถนำไปทำไม้กวาดได้
3.ลำต้นที่แข็ง สามารถนำมาทำลูกธนูได้

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย