-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๘ (ท้าววัง - พุทธศักราช ๒๓๙๕ - ๒๔๒๖)

พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๘
(ท้าววัง - พุทธศักราช ๒๓๙๕ - ๒๔๒๖)


พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เดิมชื่อ “ท้าววัง” เป็นบุตร “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” (เชียงขัน หรือหลวงปราบ ) เป็นน้องชายเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 7 (ท้าวกิ่ง) และเป็นบิดาของท้าวปัญญา เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 (ปัญญา ขุขันธิน) เมื่อครั้งอยู่ในตำแหน่งยกบัตรเมืองขุขันธ์ มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระวิชัย” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4    ได้โปรดเกล้าฯ ให้ได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 8 ในราชทินนาม “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” 
  
ปี พ.ศ. 2410 ได้เกิดความไม่ปกติขึ้นภายในเมืองขุขันธ์ กล่าวคือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง) ได้จับ “พระพล” ซึ่งเป็นน้องชายส่งจำคุกที่กรุงเทพฯ จนถึงแก่อนิจกรรม  นอกจากนี้ยังได้กล่าวหา พระภักดีภูธรสงคราม (ศรีเมือง) ตำแหน่งปลัดเมือง ขุขันธ์ ว่า  ได้เบียดบังเงินหลวงจนถูกส่งตัวเข้าไปพิจารณาที่กรุงเทพฯ ได้ความตามที่กล่าวหาจริง จึงต้องชดใช้ให้แก่หลวงคืน แล้วทรงโปรดเกล้าฯ อนุญาตให้กลับมารับราชการที่เมืองขุขันธ์ตามเดิม แต่เมื่อเดินทางกลับยังไม่ถึงเมืองขุขันธ์ ได้ล้มป่วยลงและถึงแก่อนิจกรรมที่เมืองปราจีนบุรี
  
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงกับต้องทำให้พระภักดีภูธรสงคราม (ศรีเมือง) ต้องถึงแก่อนิจกรรมในครั้งนี้  ทำให้ท้าวอ้น ซึ่งเป็นบุตรพระภักดีภูธรสงคราม (ศรีเมือง) มีความคิดวิตกกังวลว่า หากตนจะรับราชการอยู่  ณ  เมืองขุขันธ์ต่อไป  ก็เกรงว่าจะได้รับความเดือดร้อนไม่ได้รับการคุ้มครองในหน้าที่ราชการและความปลอดภัยของครอบครัวจึงต้องตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ขอกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ขอตั้งตนเป็น รับราชการเป็นกองนอก พระองค์ทรงเห็นใจ จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ท้าวอ้น  มีบรรดาศักดิ์ราชทินนามเป็น  พระบริรักษ์ภักดี นายกองนอก  ทำราชการขึ้นกับเมืองขุขันธ์  แล้วทรงโปรดเกล้าฯ ให้ ท้าวบุญนาค บุตร พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง) เป็น “พระอนันต์ภักดี  ผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์  

การขอตั้งเมืองกันทรลักษ์และเมืองอุทุมพรพิสัย

  ปี พ.ศ. 2410 ในปีนี้เองที่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง)  ได้ขอกราบบังคมทูลขอตั้งบ้านลำแสนไพรอาบาล และบ้านกันตวดให้ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง   พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงโปรดเกล้าฯ ตามที่ทูลขอ โดยทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านลำแสนไพรอาบาล  ขึ้นเป็นเมืองชื่อว่า เมืองกันทรลักษ์ พร้อมกับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระแก้วมนตรี (ท้าวพิมพ์  บุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน หรือท้าววัง เจ้าเมือง ขุขันธ์ท่านที่ 8) ให้มีบรรดาศักดิ์  ในราชทินนาม “พระกันทรรักษ์ภิบาล” ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองกันทรลักษ์เป็นท่านแรก  แล้วยังทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ยกฐานะบ้านกันตวด  ขึ้นเป็นเมืองอีกเมืองหนึ่งให้ชื่อว่า เมืองอุทุมพรพิสัย  โดยทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ ท้าวบุตรดี (บุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน หรือท้าววัง  เจ้าเมือง ขุขันธ์ท่านที่ 8) ให้มีบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม  “พระอุทุมพรเทศานุรักษ์” ในตำแหน่งเจ้าเมืองอุทุมพรพิสัยเป็นท่านแรกเช่นกัน โดยให้การปกครองของทั้งสองเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ขึ้นต่อเมืองขุขันธ์  ทั้งนี้ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง)  ยังได้ถือโอกาสนี้ทูลเกล้าฯ ขอแต่งตั้ง  พระจำนงค์ (ท้าวแก้ว) เป็น “พระภักดีภูธรสงคราม  ตำแหน่งปลัดเมืองขุขันธ์ และขอตั้งพระบริรักษ์ภักดี (ท้าวอ้น) นายกองนอก  เป็นพระแก้วมนตรี  ตำแหน่งยกบัตรเมืองขุขันธ์   พระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงโปรดเกล้าฯ  ตามที่ทูลขอ

  มาในปี พ.ศ. 2411 ผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศส  แห่งเมืองไซ่ง่อน ได้แจ้งต่อรัฐบาลไทยในการจัดตั้งเมืองทั้งสอง ว่ามีมูลเหตุให้เป็นที่สงสัยว่า  การตั้งเมืองอุทุมพรพิสัย  และเมืองกันทรลักษ์ อาจมีการรุกล้ำเขตแดนของเขมร พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงเดชอัสดร และขุนอินทร์อนันต์  ซึ่งเป็นข้าหลวง  พร้อมด้วยพระยาทรงพล ออกไปทำการไต่สวนและตรวจสอบหลักฐานแล้วจัดทำแผนที่เพื่อนำส่งให้ราชการกรุงเทพฯ ทราบ
  
อย่างไรก็ตาม  เพื่อไม่ให้เหตุการณ์เลวร้ายและบานปลายไปมากกว่านี้ อีกทั้ง เป็นการตัดปัญหาแต่เบื้องต้นอันอาจจะเกิด จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระกันทรลักษ์ภิบาล เจ้าเมืองกันทรลักษ์  ทำการย้ายเมืองออกไปตั้ง ณ ที่ใหม่ คือ ตั้งที่บ้านเมืองลาวเดิม (ปัจจุบัน คือบ้านหลักหิน  ตำบลบักดอง  อำเภอขุนหาญ  จังหวัดศรีสะเกษ) และทรงโปรดเกล้าฯให้เจ้าเมืองอุทุมพรพิสัย คือ พระอุทุมพรเทศานุรักษ์  ทำการย้ายเมืองอุทุมพรพิสัย ไปตั้ง ณ ที่ใหม่ คือ ไปตั้ง ณ บ้านผือ (ปัจจุบัน คือบ้านผือใหม่  ตำบลเมือง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ) 

ปี พ.ศ. 2412 พระจำนงค์ (ท้าวแก้ว) หรือ พระภักดีภูธรสงคราม  ปลัดเมืองขุขันธ์ ได้ถึงแก่อนิจกรรม จึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลแทนตำแหน่งต่าง ๆ คือ แต่งตั้งให้ พระมหาดไทย  เป็นพระภักดีภูธรสงคราม  ตำแหน่งปลัดเมืองขุขันธ์  แต่งตั้งท้าวแก้ว  เป็นพระบริรักษ์กองนอก และในเวลาต่อมา  พระบริรักษ์ภักดี (ท้าวอ้น) หรือ พระแก้วมนตรี  ยกบัตรเมืองขุขันธ์  ได้ถึงแก่อนิจกรรม  จึงทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ท้าวบุญจันทร์  บุตรปลัดเมืองขุขันธ์ (ศรีเมือง) เป็นพระแก้วมนตรี  ยกบัตรเมืองขุขันธ์ เมื่อพระบริรักษ์ (ท้าวแก้ว)  ถึงแก่อนิจกรรมได้ทรงโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้    ท้าวบุญเรือง บุตรปลัดเมืองขุขันธ์ (ศรีเมือง) เป็นพระเจริญ นายกองนอกทำราชการต่อไป และก็เช่นเดียวกันในปีเดียวกันนี้ได้มีตราพระราชสีห์ โปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์ไพร่พลจากเมืองขุขันธ์  เมืองสังขะ และเมืองสุรินทร์ รวมทั้งเมืองศรีสะเกษ เมืองเดชอุดม ไปช่วยทำอิฐเพื่อไปก่อสร้างกำแพงเมืองปราจีนบุรี  

ขอตั้งเมืองอีกเมือง  คือ  เมืองกันทรารมย์

ในปี พ.ศ. 2415 พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง) ได้กราบทูลขอยกฐานะบ้านลำพุก ขึ้นเป็น เมืองกันทรารมย์  พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นชอบ  และได้ทรงโปรดเกล้าฯให้  พระมหาดไทย จากเมืองสังขะ ไปรับตำแหน่งเจ้าเมืองกันทรารมย์ในบรรดาศักดิ์ราชทินนาม “พระกันทรานุรักษ์”  โดยให้ทำราชการปกครองขึ้นต่อเมืองสังขะ (ปัจจุบัน คือบ้านลำพุก  ตำบลกันทรารมย์  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ )

มาในปี พ.ศ. 2417  เมื่อพระกันทรลักษ์ภิบาล (ท้าวพิมพ์)  เจ้าเมืองกันทรลักษ์  ได้ป่วยและถึงแก่อนิจกรรม พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที 8  ได้มีใบบอกขอแต่งตั้ง พระวิเศษสัจจะ ขึ้นตำแหน่งยกบัตรเมืองขุขันธ์ พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ และให้บรรดาศักดิ์เป็น “พระแก้วมนตรี”  

ปี พ.ศ. 2421 พระยาวิเศษภักดี (บุญจันทร์)  เจ้าเมืองศรีสะเกษ ท่านที่ 3 ได้จมน้ำ  ถึงแก่อนิจกรรม ขณะลงอาบน้ำที่ห้วยสำราญ ต่อหน้าบุตรภรรยาและบ่าวไพร่แต่ไม่มีใครสามารถ  ช่วยเหลือได้  

ปี พ.ศ. 2424  พระเจริญรัตนสมบัติ (บุญจันทร์) นายกองนอกเมืองขุขันธ์ เกิดมีความบาดหมางใจถึงกับก่อการวิวาทกับเจ้าเมืองขุขันธ์ คือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  ท่านที่ 8 จนไม่สามารถจะอยู่ปฏิบัติราชการร่วมกับเจ้าเมืองขุขันธ์ได้ จึงต้องพาสำมโนครัว รวม 4,611 คน ไปสมัครขออยู่ร่วมกับเมืองจำปาสัก พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้เมืองขุขันธ์ และเมืองจำปาสัก หักโอนทะเบียนกันตามธรรมเนียมปฏิบัติให้เรียบร้อย  

ขอตั้งเมืองใหม่อีก  คือ  เมืองราษีไศล

มาในปี พ.ศ. 2424 ปีเดียวกันนี้ เมื่อเจ้าเมืองศรีสะเกษได้ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว    ทรงโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้พระยาภักดี (ท้าวโท)  เป็นเจ้าเมืองศรีสะเกษ เป็นท่านที่ 4  และหลังจากได้เข้ารับตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองศรีสะเกษแล้ว ได้ทูลขอตั้งเมืองใหม่ขึ้นอีก พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ตามที่ทูลขอ คือ ให้ยกฐานะบ้านหินกองขึ้นเป็นเมือง ชื่อว่า เมืองราษีไศล  โดยโปรดเกล้าฯ ให้ พระราชวงษา (จันดี)  มีตำแหน่งเป็น พระประจนปัจนึก  ตำแหน่งเจ้าเมืองราษีไศล  เป็นท่านแรก 

ปี พ.ศ. 2426 พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง) หลังจากได้รับการแต่งตั้งตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2395  จนถึงปี พ.ศ. 2426  เวลาที่อยู่ในตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์  ท่านที่ 8 รวม 30 ปี จึงได้ถึงแก่อนิจกรรม พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ ท้าวปัญญา (ปัญญา ขุขันธิน) ซึ่งเป็นบุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง) ท่านที่ 8  ขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9  ในบรรดาศักดิ์ราชทินนาม “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” (ท่านปู่ของผู้เขียน )

พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ 8 อยู่ในตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ ได้ 30 ปี ถึงแก่อนิจกรรมปี พ.ศ. 2426

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย