ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วัดบกจันทร์นคร

          วัดบกจันทร์นคร    ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองขุขันธ์  (บริเวณบ้านบก  ตำบลห้วยเหนือ  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน)  สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  รัชกาลที่ ๑  โดยพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (บุญจันทร์)  เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่ ๓  ได้ย้ายที่ทำการเมืองไปตั้งบริเวณดังกล่าว  เพราะบ้านบก ในสมัยนั้นเป็นบ้านที่ชาวเวียงจันทน์อพยพมาอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๒ ได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นตั้งชื่อว่า "วัดบกจันทรนคร" เพื่อเป็นอนุสรณ์ของชาวเวียงจันทน์ และกำหนดให้เป็นวัดประจำเมือง เป็นที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาและประกอบศาสนพิธีอื่น ๆในช่วงสมัยนั้น





           วัดบกจันทร์นคร  เดิมมีเนื้อที่ ๙ ไร่เศษ  ต่อมาขุนศรีสุภาพพงษ์  (บุญนาค  ศรีสุภาพ)  บุตรเขยของพระยาขุขันธ์ท่านที่ ๙  (ท้าวปัญญา  ขุขันธิน พ.ศ. ๒๔๒๖ - ๒๔๕๐)  ได้ถวายที่ดินทางทิศตะวันออกให้วัดจำนวนประมาณ ๕ ไร่


            สมัยก่อนอุโบสถวัดบ้านบกหลังคามุงด้วยกระเบื้องไม้ไม่มีผนังทั้งสี่ด้านภายในอุโบสถ  มีพระพุทธรูปโบราณสององค์และพระไม้หนึ่งองค์เป็นพระประธาน ลักษณะศิลปะลาวล้านช้าง  (หรือลาวช้าง)  พระพุทธรูปสององค์นี้  คงจะนำมาจากประเทศลาว  เมื่อครั้งหลวงปราบ(เชียงขันธ์)ร่วมทัพไปตีกรุงศรีสัตนคนหุต (เวียงจันทน์)  พ.ศ. ๒๓๒๑  โดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกพระยศในขณะนั้น  ทรงเป็นแม่ทัพ  และโบราณวัตถุอีกหลายชิ้นล้วนฝีมือลาวล้านช้างทั้งสิ้น  ต่อมาภายหลังสิ่งของโบราณเหล่านี้ได้สูญหายไปเกือบทั้งหมดสิ้น หน้าอุโบสถมีเจดีย์เก่าแก่หนึ่งองค์มีมาแต่โบราณ เรียกว่า  "เจดีย์สิม" เป็นเจดีย์เก่าแก่คู่มากับวัด  และชาวบ้านเล่าลือกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก
   
           ในช่วงกลางปี  พ.ศ. ๒๕๑๔  วัดบ้านบกไม่มีเจ้าอาวาสปกครอง  คณะกรรมการวัดจึงแต่งตั้งให้พระวิฑูรย์ศิษย์ท่านพระครูประกาศธรรมวัตรหลวงพ่อสาย  วัดตะเคียนราม  อ.ภูสิงห์  รักษาการอาวาส   ภายหลังอุโบสถ ซึ่งได้บูรณะใหม่เรียบร้อยแล้ว  ได้สร้างพระพุทธรูป  ขนาดใหญ่เป็นโลหะสัมฤทธิ์หน้าตักกว้างขนาดหนึ่งเมตรครอบพระพุทธรูปองค์เดิม (พระไม้)เป็นพระประธานในอุโบสถ ต่อมานายบุญถึง ขุขันธินและนายสวาท ไชยโพธิ์  และชาวบ้านบก   ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูป  พระประธานองค์ใหม่ในอุโบสถขนาดใหญ่  ดังที่ท่านได้เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้  ประชาชนชาวอำเภอขุขันธ์ ได้ร่วมบริจาคทรัพย์ในการครั้งนี้ด้วย  พระประธานองค์ใหม่นี้เมื่อสร้างเสร็จได้ให้ประชาชนนำของมีค่าหรือวัตถุมงคล  ไปบรรจุในช่องอก (พระอุระ)  เมื่อพิธีบรรจุเสร็จสิ้นแล้ว  ช่างทำการปิดพระอุระอย่างถาวร
           เมื่อมีการสร้างพระประธานองค์ใหม่ภายในอุโบสถ  พระพุทธรูปโบราณสององค์  ก็ถูกขโมยถอดพระเศียรไป  เนื่องจากสามารถถอดออกได้  ของเก่าหล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ฝีมืองดงามมาก    ต่อมาช่างได้ทำของใหม่สวมไว้แทนของเก่าที่ถูกขโมยไปแต่ฝีมือทำได้ไม่เหมือนนัก  จึงดูไม่เข้ากับยุคสมัยเท่าที่ควร  ต่อมาทางวัดได้ทาสีพระพุทธรูปโบราณทั้งสององค์  ซึ่งถ้าหากไม่รู้ก็จะดูเป็นของใหม่   ที่วัดบ้านบกมีพระพุทธรูปโบราณ  อายุไม่ต่ำกว่า  ๓๐๐–๔๐๐ ปี  ฝีมือชาวล้านช้าง  เป็นมรดกตกทอดมาให้เห็นดังเช่นทุกวันนี้

ชุมชนวัดจันทร์นครในอดีต มีชุมชนอยู่  ๒ ชุมชนซึ่งอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน  ได้แก่

             ๑. ชุมชนที่ประกอบด้วย  บ้านบกและบ้านแดงจะมีภาษาพูดเป็นภาษาลาว  มีวัฒนธรรมคล้าย ๆ  ชาวลาว  เนื่องจากเป็นกลุ่มชนที่ เมื่อครั้งที่ไทยชนะศึกสงครามที่    เวียงจันทน์  แล้วหลวงปราบได้กวาดต้อนเอาพลเมืองชาวลาวกลับมาด้วย  โดยเฉพาะได้นางคำเวียง  หญิงหม้ายตระกูลสูงพร้อมบริวารให้มาพำนักตั้งหลักแหล่งอยู่  ณ  บ้านบก  โดยท่านได้นางคำเวียง  เป็นภรรยา   ซึ่งลูกชายติดนางคำเวียงมาด้วยก็คือ  "พระไกร "  หรือ  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  เจ้าเมืองคนที่  ๓  นั่นเอง  ซึ่งยังมีทายาทเชื้อสายชาวลาวปรากฏอยู่  ณ  ชุมชนบ้านบกและบ้านแดงจนทุกวันนี้
                         
             ๒. ชุมชนที่อยู่คุ้มทิศตะวันตกของวัดจันทร์นคร  เป็นชนเผ่าที่พูดภาษาเขมร  เรียกคุ้มบ้านนี้ว่าคุ้มบ้านวัง  หรือบ้านเวียง ( ซรกกะนงเวียง )  เป็นบ้านที่อยู่ของเจ้าเมืองขุขันธ์เดิม  



ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย