-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๓ ( ท้าวบุญจันทร์ - พุทธศักราช ๒๓๒๕ - ๒๓๖๙)

พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๓
ท้าวบุญจันทร์ - พุทธศักราช ๒๓๒๕ - ๒๓๖๙)


“พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 3 เดิมชื่อ ท้าวบุญจันทร์  เป็นบุตรชาย นางคำเวียงตระกูลขุนนางจากเมืองเวียงจันทน์ที่ “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” (หลวงปราบ) รับมาเป็นภรรยาและรับท้าวบุญจันทร์ เป็นบุตรบุญธรรม ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ  ให้ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระไกร” ผู้ช่วยเมืองขุขันธ์และเมื่อ “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน”  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2 (หลวงปราบ) ถูกจำคุกที่กรุงเทพฯ “พระไกร” จึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 3 ในบรรดาศักดิ์ราชทินนาม “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” ในปี  พ.ศ. 2325

จากเหตุการณ์ที่ “พระไกร” ได้กล่าวหา เจ้าเมืองขุขันธ์ ในข้อหากบฏคบคิดร่วมกับญวน  จนเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2 (หลวงปราบ) ถูกปลดออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์  ทำให้พระไกรได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ เป็นท่านที่ 3 แทนนั้น ทำให้ท้าวอุ่น หรือพระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมืองขุขันธ์ ในขณะนั้นไม่พอใจ (ท้าวอุ่น เป็นบุตรตากะจะ มีศักดิ์เป็นหลานของหลวงปราบ หรือเชียงขัน) อีกทั้งเกิดความระแวงเกรงกลัวว่าตัวท่านอาจจะไม่มีความปลอดภัย    ในชีวิตตนเองและครอบครัวในฐานะที่อยู่ในตำแหน่งปลัดเมืองขุขันธ์  จึงต้องตัดสินใจเดินทาง เข้ากรุงเทพฯ เพื่อกราบบังคมทูลขอแยกพื้นที่เมืองขุขันธ์บางส่วนแยกตั้งเป็นเมืองใหม่ โดยกราบบังคมทูลขอแยกบ้านโนนสามขา สระกำแพง และทูลขอเป็นเจ้าเมืองด้วยตนเอง      พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงเห็นใจและเห็นว่ามีความชอบธรรมมีเหตุมีผล จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านโนนสามขา สระกำแพง ขึ้นเป็น “เมืองศีร์ษะเกษ” และโปรดเกล้าฯให้พระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวอุ่น บุตรตากะจะ) ปลัดเมืองขุขันธ์ ขึ้นเป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ เป็นท่านแรก  ในราชทินนามใหม่ว่า “พระรัตนวงศา”  ว่าราชการขึ้นต่อเมืองนครราชสีมา โดยมีเจ้าผู้ปกครองเมืองศีร์ษะเกษ ในตำแหน่งเจ้าเมืองศีร์ษะเกษสืบต่อกันมา จำนวน 5 ท่าน  

•พระรัตนวงศา (ท้าวอุ่น)  พ.ศ. 2325 – 2328
•พระพิเศษภักดี (ท้าวชม ) พ.ศ. 2328 – 2368
•พระวิเศษภักดี  (ท้าวบุญจันทร์ ) พ.ศ. 2368 - 2424
•พระวิเศษภักดี  (ท้าวโท ) พ.ศ. 2424 – 2440
•พระภักดีโยธา (ท้าวเหง้า ) พ.ศ.  2440 –2447

ข้อสังเกต พ.ศ. 2447–2450  ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองศีร์ษะเกษว่างและเมืองบริเวณขุขันธ์ ถูกยุบรวม (เมืองขุขันธ์  เมืองศีร์ษะเกษ  และเมืองเดชอุดม ) ทั้งสามถูกยุบรวมเป็นเมืองเดียวกันรวมเรียกว่า “เมืองขุขันธ์” (พ.ศ.2450)  มีผลทำให้อำเภอทุกอำเภอที่ขึ้นต่อเมืองศีร์ษะเกษ เมืองเดชอุดม และขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ ให้ขึ้นและอยู่ในการปกครองเมืองขุขันธ์ทั้งสิ้น ดังนั้น ชื่อคำว่า เมืองศีร์ษะเกษได้เปลี่ยนและลดฐานะเป็นอำเภอกลางศรีสะเกษ และชื่อคำว่า เมืองเดชอุดมได้เปลี่ยนและลดฐานะเป็นอำเภอกลางเดชอุดม ทำให้ชื่อคำว่าเมืองศีร์ษะเกษ และชื่อคำว่า  เมืองเดชอุดม สิ้นสุดและสิ้นสภาพความเป็นเมืองตั้งแต่บัดนั้นมา  


ทั้งนี้เป็นข้อสังเกตเชิงประวัติศาสตร์เช่นเดียวกันบันทึกประวัติเมืองศีร์ษะเกษ และเมืองเดชอุดม ไม่สามารถทราบได้ว่า มีบุตรหลานสืบเชื้อสายเจ้าเมืองทั้งสอง มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ (กำลังสืบค้น) แต่เมืองขุขันธ์ยังมีผู้สืบเชื้อสายเป็นทายาทและความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับเจ้าเมืองขุขันธ์ที่พอมีข้อมูลปรากฎอยู่  ซึ่งที่คุ้นเคยและเป็นที่รู้จักกันดี ในชื่อสกุล “ขุขันธิน” “Khukhandhin” (นามสกุลพระราชทาน) “ศรีอุทุมพร” (นามสกุลพระราชทาน) “ศรีสุภาพ” “เจริญศรีเมือง” “ศรีเมือง” “รัตนา” “ประดับศรี”  “ศรแก้ว”  “มากนวล”  “พลภักดี”  “กาญจนเสริม”  และยังมีชื่อสกุลอื่นๆ อีกที่มิได้ระบุ/กำลังสืบค้น 


ปี พ.ศ. 2326 “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” (ท้าวบุญจันทร์) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 3  ได้ส่งกองกำลัง ออกไปจับราษฎรตามเขตในกองนอกของเจ้าเมืองนัน  ทำให้เจ้าเมืองนันไม่พอใจอย่างยิ่ง จึงได้ส่งกองกำลังยกมาตีเมืองขุขันธ์  กองกำลังของเมืองขุขันธ์ได้ต่อสู้ป้องกันเมืองอย่างสุดกำลังแต่ก็ไม่สามารถป้องกันกองกำลังจากเมืองนันได้ “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” (ท้าวบุญจันทร์) ต้องหนีออกจากเมืองขุขันธ์ โดยหนีไปอยู่ที่เมืองสังขะ แล้วแจ้งข่าว ลงไปยังกรุงเทพฯ พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงคุมกำลังไปจับเจ้าเมืองนันได้แล้วนำตัว   เข้ากรุงเทพฯ ทรงโปรดเกล้าฯให้เจ้าเมืองขุขันธ์ที่หนีทิ้งเมืองมาอยู่เมืองสังขะให้กลับไปอยู่เมืองขุขันธ์ในตำแหน่งเจ้าเมืองตามเดิม (ที่ตั้งเมืองนัน ยังไม่แน่ชัดว่าตั้งอยู่ที่ใด)

มาในปี พ.ศ. 2328 พระรัตนวงศา (ท้าวอุ่น) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษท่านที่ 1  ถึงแก่อนิจกรรม  พระเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระวิเศษภักดี ( ท้าวชม)  ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ เป็นท่านที่ 2 หลังจากท่านรับตำแหน่งได้ไม่นาน  พระวิเศษภักดี (ท้าวชม) ก็ได้ทำการย้าย ที่ตั้งเมืองศีร์ษะเกษจาก บ้านโนนสามขา สระกำแพง ที่เป็นที่ตั้งเดิมไปตั้ง ณ ที่ตั้งเมืองศีร์ษะเกษในปัจจุบัน


ปี พ.ศ. 2340  ตรงกับรัชสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ขณะที่เมืองขุขันธ์  ยังเป็นสมัยที่เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 3 คือ “พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน” (ท้าวบุญจันทร์) โดยที่เมืองจำปาสัก ในขณะนั้นขึ้นต่อไทยได้มีเหตุการณ์ไม่สงบ โดยมีการก่อการกบฎขึ้นภายในเมือง  เรียกว่า  กบฎสาเกียจโง้ง พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงโปรดเกล้าฯ มีรับสั่งให้เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ จัดกองทัพร่วมสมทบกับกองทัพจากเมืองนครราชสีมา  ไปปราบกบฏในครั้งนี้ด้วย
  

มาในปี พ.ศ. 2342  ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้เกณฑ์กำลังจากเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ เมืองละ100 คน เข้าฝึกการเป็นทหาร เพื่อเตรียมกำลังไว้ช่วยราชการกองทัพจากส่วนกลางในการที่จะยกทัพไปตีพม่า   ที่ได้ยกทัพเข้ามายึดเมืองเชียงใหม่ไว้ได้ทั้งๆ ที่ทัพจากพม่าก็ทราบดีว่า กองทัพจากกรุงเทพฯ และกองทัพจากเมืองบริวารมีพิษสงเพียงใด  ดังนั้นขณะที่กองทัพจากส่วนกลางและกองทัพจากเมืองขุขันธ์ เมืองสังขะ และเมืองสุรินทร์ เดินทางยังไม่ถึงเมืองเชียงใหม่ ความทราบถึงกองทัพพม่าที่มีความเกรงกลัวอยู่ก่อนแล้ว แม่ทัพนายกองพม่าจึงสั่งให้ถอนทัพหนีออกจากเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่ทัพจากกรุงเทพฯจะไปถึง เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบว่า พม่าได้ถอนทัพละทิ้งการยึดครองเมืองเชียงใหม่ไปแล้ว โดยไม่ได้มีกองกำลังพม่าเหลืออยู่แล้ว จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ ยกทัพกลับ
  
ในปี พ.ศ. 2343 ถือเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่งของเมืองขุขันธ์โดยที่พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 1 ทรงดำริถึงเมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะว่า กองทัพจากเมืองทั้งสามได้ร่วมตามเสด็จในราชการสงครามเคียงบ่าเคียงไหล่กับทัพส่วนกลาง เมื่อครั้งที่พระองค์คุมกองทัพออกทำศึกสงครามมาหลายครั้ง โดยเฉพาะทัพจากเมืองขุขันธ์ เมื่อครั้งที่ยกไปตีลาวที่เมืองเวียงจันทน์  มีความชอบที่จะได้รับผลตอบแทนอย่างสมเกียรติในฐานะเมืองหัวเมืองชั้นนอก ดังนั้นพระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะความสำคัญของเมืองทั้งสาม แม้จะเป็นเมืองชั้นนอกห่างไกลและขึ้นอยู่กับบังคับบัญชาของเมืองพิมาย (เมืองโคราช) มาก่อน ให้ยกเลิกโดยให้เมืองทั้งสาม คือ เมืองขุขันธ์ เมืองสุรินทร์ และเมืองสังขะ ปกครองบ้านเมืองโดยมีราชการขึ้นตรงต่อเมืองราชธานีส่วนกลาง คือ กรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นมา  
ส่วนเมืองศีร์ษะเกษ ในขณะนั้นยังถือว่าเป็นเมืองชั้นนอกขนาดเล็ก ที่แยกออกจากเมืองขุขันธ์ มาเป็นเมืองใหม่ จึงยังให้ทำราชการขึ้นตรงต่อการบังคับบัญชา เมืองนครราชสีมาต่อไปเช่นเดิม  


ปี  พ.ศ. 2369  ซึ่งอยู่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  เมืองขุขันธ์ ขณะนั้น ยังอยู่ในสมัยที่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าวบุญจันทร์)  เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 3 ซึ่งท้าวบุญจันทร์ ท่านนี้เป็นคนลาวเวียงจันทน์ ที่เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2 ( หลวงปราบ) ได้รับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม  ต่อมาได้ทูลขอให้โปรดเกล้าฯ ขอราชทินนาม เป็น “พระไกร” ตำแหน่งผู้ช่วยเมืองขุขันธ์ ต่อมาได้กล่าวหาเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 2 คือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (หลวงปราบ) ว่า อาจจะคิดมิดีต่อเมืองราชธานี โดยคบคิดกับญวน อาจก่อการกบฎจนถูกลงโทษจำคุก จนทำให้ตัวเองได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าเมือง ทำให้กรมการเมืองขุขันธ์ส่วนใหญ่ไม่พอใจเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยานครราชสีมาและปลัดเมืองนครราชสีมา ยกทัพมาระงับเหตุ จึงทำให้เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบได้ยุติลง
            และในเวลาเดียวกันนี้  เจ้าผู้ครองนครเวียงจันทน์ คือ เจ้าอนุวงศ์ ได้กระทำตนตั้งตัวแข็งเมือง โดยได้ยกทัพเข้ายึดเมืองนครราชสีมา  และสั่งให้เจ้าอุปราชโย้  เจ้าเมืองจำปาสัก ยกทัพเข้ามายึดเมืองขุขันธ์ ทำให้ข้าราชการพร้อมกรมการเมืองได้ช่วยกองทัพเมืองขุขันธ์ เข้าต่อสู้ขัดขวางกองกำลังของข้าศึกอย่างเต็มกำลัง แต่เนื่องจากกำลังของกองทัพข้าศึกมีจำนวนมากและเข้มแข็งกว่าทำให้กองทัพจากเมืองขุขันธ์รับมือไม่ไหวต้องพ่ายแพ้ต่อข้าศึกในที่สุด จากเหตุการณ์การเข้ายึดเมืองขุขันธ์ในครั้งนี้ ทำให้พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวบุญจันทร์)  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 3 พร้อมด้วยพระภักดีภูธรสงคราม (มานะ) ปลัดเมืองขุขันธ์ และพระแก้วมนตรี (เทศ) ยกบัตรเมืองขุขันธ์ถูกจับตัวได้  แล้วนำไปประหารชีวิตทั้งหมด ที่บ้านส้มป่อย เมื่อปี พ.ศ. 2369 ทำให้เมืองขุขันธ์ในขณะนั้น ต้องขาดผู้ปกครอง
  

สรุปแล้ว พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  คนที่ 3 (ท้าวบุญจันทร์) อยู่ในตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ได้  43  ปี 

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย