-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ประวัติความเป็นมาการสร้าง "อนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์ "

            อนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์ "พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ)”  สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงประวัติศาสตร์ในอดีตอันแสดงถึงคุณงามความดีที่บรรพบุรุษของเมืองขุขันธ์ ได้ก่อตั้งชุมชน สร้างบ้านแปลงเมือง พัฒนามาสู่ความเป็น  “เมืองขุขันธ์” สมควรที่จะได้รับการยกย่องและสร้างเป็นอนุสรณ์สถานเพื่อให้ชาวเมืองขุขันธ์  และสาธารณชนทั่วไปได้กราบไหว้บูชา โดยความคิดริเริ่มของ นายสิทธิพงษ์  ผิวงาม ชาวขุขันธ์ โดยกำเนิด  เป็นผู้สนใจประวัติศาสตร์และมีความรู้ด้านศิลปกรรม(ออกแบบประยุกต์ศิลป์)  ซึ่งจบการศึกษาคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์   จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  ได้นำแนวคิดในการจัดสร้างอนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์  ในฐานะที่เมืองขุขันธ์เป็นเมืองเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์ที่น่าภาคภูมิใจ  เพื่อเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง ไปนำเสนอต่อนายกเทศมนตรีตำบลห้วยเหนือ  คือ นายสืบสวัสดิ์  สืบสายพรหม  และรองนายกเทศมนตรี  นายเทอดศักดิ์  เสริมศรี   ซึ่งเป็นแนวคิดที่ตรงกับแนวนโยบายของคณะผู้บริหารเทศบาลที่มีอยู่ก่อนแล้ว  คณะผู้บริหารจึงรับข้อเสนอและหาแนวทางในการดำเนินการก่อสร้าง  ตามขั้นตอน  ดังนี้  
            ในปีพุทธศักราช 2547 เทศบาลตำบลห้วยเหนือได้เสนอแนวคิดในการสร้างอนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์เข้ารับการพิจารณาต่อที่ประชุมผู้บริหารและสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์ได้  จึงได้ตราเป็นเทศบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม  ฉบับที่  1  ประจำปี  พ.ศ.  2547   เสนอต่อสภาเทศบาลตำบลห้วยเหนือเพื่อพิจารณา สภาเทศบาลตำบลห้วยเหนือได้ให้ความเห็นชอบโครงการก่อสร้างอนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์ โดยใช้งบประมาณอุดหนุนทั่วไปตามยุทธศาสตร์และพัฒนาจังหวัด  ประจำปี  2547  ทั้งสิ้น  จำนวน  815,000.- บาท  และส่งโครงการเพื่อขออนุมัติจาก  ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  (นายถนอม  ส่งเสริม)  เพื่อประกาศใช้และดำเนินการต่อไป 
             เมื่อวันที่ 15  สิงหาคม  2547   เทศบาลตำบลห้วยเหนือได้เชิญประชุม   คณะกรรมการเพื่อดำเนินการหาแนวทางในการก่อสร้างอนุสาวรีย์  ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ  ส่วนราชการ  สมาชิกสภาเทศบาล  และฝ่ายบริหารของเทศบาล  โดยนายเทอดศักดิ์  เสริมศรี  รองนายกเทศมนตรี  เป็นประธานในที่ประชุม  ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบให้สร้างอนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก คือ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน  (ตากะจะ)  ที่บริเวณด้านทิศตะวันออกของสนามหน้าที่ว่าการอำเภอขุขันธ์ 
            เมื่อวันที่  28  กันยายน  2547  ได้มีการประชุมครั้งที่  2  โดยมีนายกเทศมนตรี  ตำบลห้วยเหนือ  นายสืบสวัสดิ์  สืบสายพรหม  เป็นประธาน  มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด  23  ท่าน โดยมีนายกิตติชัย  ตรีรัตน์วิชา  อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา  ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร  มีความชำนาญในการปั้นรูปหล่อและประสบการณ์ในการทำงานมามากมาย  ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงขนาดรูปหล่อว่าควรจะมีขนาด  ตั้งแต่  2  เมตร  ขึ้นไป  เนื่องจากจะต้องประดิษฐ์ในที่สูง  ซึ่งที่ประชุมให้มีมติให้อาจารย์กิตติชัย ตรีรัตน์วิชา   เป็นผู้ดำเนินการออกแบบและดำเนินการปั้นอนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์

            เมื่อวันที่  5  พฤศจิกายน  2547  ได้มีการประชุมครั้งที่  3  โดยมีนายสืบสวัสดิ์     สืบสายพรหม  เป็นประธานมีผู้เข้าร่วมประชุม  36  ท่าน  ที่ประชุมได้เสนอให้มีการขออนุญาตรื้อถอนสังคีตศาลาบริเวณที่จะสร้างอนุสาวรีย์  และกำหนดวันวางศิลาฤกษ์  ในวันที่  26  พฤศจิกายน  2547  ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการขออนุญาตรื้อถอนสังคีตศาลา  โดยมีอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  นายสวัสดิ์  สืบสายพรหม  ซึ่งท่านเป็นผู้ที่จัดสรรงบประมาณมา   ก่อสร้างสังคีตศาลาให้ความเห็นชอบด้วย  และที่ประชุมได้กำหนดให้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ ในวันที่  26  พฤศจิกายน  2547
            เมื่อวันที่  26  พฤศจิกายน  2547  ได้มีการทำพิธีวางศิลาฤกษ์  ซึ่งประกอบพิธีการทั้งทางสงฆ์และพิธีการทางพราหมณ์  โดยมี  นายรังสรรค์  เพียรรอดวงศ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  เป็นประธานในพิธี  มีเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษพระเทพวรมุณี  เป็นประธานฝ่ายสงฆ์  ณ  บริเวณฐานที่จัดสร้างอนุสาวรีย์  ร่วมกับนายอำเภอขุขันธ์  นายกเทศมนตรีตำบลห้วยเหนือ  รองนายกเทศมนตรี  สมาชิกสภาเทศบาล  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และข้าราชการ  พ่อค้า  ประชาชน  ในอำเภอขุขันธ์  เข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก
พิธีวางศิลาฤกษ์ "อนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ)"
เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก
           วันที่  15  กุมภาพันธ์  2548  ได้มีการประชุมคณะกรรมการ/ผู้ทรงคุณวุฒิ/หัวหน้าส่วนราชการ  เป็นการประชุมครั้งที่  4  ที่ห้องประชุมอำเภอขุขันธ์  โดยมี  นายกฤช  รังสิเสนา  ณ  อยุธยา  นายอำเภอขุขันธ์  เป็นประธานในการประชุม  มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น  จำนวน  40  คน  ซึ่งนายเทอดศักดิ์  เสริมศรี  รองนายกเทศมนตรี  ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงการก่อสร้างอนุสาวรีย์  ซึ่งในส่วนของการก่อสร้างและรูปหล่อของเจ้าเมืองขุขันธ์ได้เสร็จแล้ว  ยังคงเหลือในส่วนของภูมิทัศน์ซึ่งจะต้องหางบประมาณมาดำเนินการต่อไป  และที่ประชุมได้มีมติให้มีการฉลองสมโภชน์  ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ดำเนินการในช่วงเทศกาลแซนโฎนตา ในวันที่  1  ตุลาคม  2548  และเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อชำระประวัติศาสตร์ของเมืองขุขันธ์และเจ้าเมืองขุขันธ์  เพื่อจารึกในแผ่นศิลาจารึกไว้ที่ใต้ฐานอนุสาวรีย์  พร้อมทำเป็นรูปเล่มต่อไปสืบเนื่องจากการประชุมผู้ทรงคุณวุฒิ/สมาชิกสภาเทศบาล/หัวหน้าส่วนราชการ/ผู้นำชุมชน  เมื่อวันที่  ๑๕  กุมภาพันธ์  ๒๕๔๘  ณ  ห้องประชุมเล็กที่ว่าการอำเภอขุขันธ์   เรื่อง  การจัดงานฉลอง/สมโภชน์อนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์   โดยมีนายกฤช  รังสิเสนา ณ อยุธยา  นายอำเภอขุขันธ์เป็นประธานที่ประชุม  
            ที่ประชุมมีมติให้จัดงานฉลอง/สมโภชน์องค์อนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์ในวันที่  ๑  ตุลาคม  ๒๕๔๘  พร้อมกับการจัดงานเทศกาลกล้วยแสนหวี  ประเพณีแซนโฎนตา  บูชาหลักเมือง  ประจำปี  ๒๕๔๘  และกำหนดให้มีการจารึกชื่ออนุสาวรีย์   ประวัติเมืองขุขันธ์และประวัติการสร้างอนุสาวรีย์    นายอำเภอขุขันธ์   ได้ให้ที่ประชุมอภิปรายและเสนอแต่งตั้งคณะทำงานชำระประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์  ตามคำสั่งอำเภอขุขันธ์ที่         /๒๕๔๘   ลงวันที่       กุมภาพันธ์  ๒๕๔๘    โดยขอความร่วมมือจากเทศบาลตำบลห้วยเหนือได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนเป็นค่าใช้จ่ายตามสมควร  คณะทำงานที่ได้รับแต่งตั้ง  ได้ร่วมกัน ค้นคว้า รวบรวม วิเคราะห์ สังเคราะห์ จำนวน   ๖  ครั้ง  ดังนี้
            ประชุมครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่  ๑๒  เมษายน  ๒๕๔๘   เวลา  ๐๙.๐๐  น ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลห้วยเหนือ    มีผู้เข้าร่วมประชุม  จำนวน  ๑๒  คน โดยนายสุเทพ ขันทอง ประธานคณะทำงาน  ได้ให้คณะทำงานระดมความคิด เสนอแนวทางในการปฏิบัติ กำหนดกรอบเนื้อหาในการศึกษา  คณะทำงานได้แบ่งหน้าที่กันไปศึกษา ค้นคว้า หาเอกสารหลักฐานทั้งที่เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์  จากคำบอกเล่าและบันทึก/สิ่งพิมพ์ของผู้รู้ เนื่องในโอกาสต่างๆ นำมาจัดทำฉบับร่าง 
             ประชุมครั้งที่  ๒  เมื่อวันที่   ๓  พฤษภาคม  ๒๕๔๘    ๒๕๔๘   เวลา  ๐๙.๐๐  น.  ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลห้วยเหนือ มีผู้เข้าร่วมประชุม  จำนวน ๑๓ คน  นายเทอดศักดิ์  เสริมศรี  รองนายกเทศมนตรีตำบลห้วยเหนือ  ได้นำเสนอที่ประชุม เรื่องรูปแบบการจารึกตัวหนังสือลงในแผ่นศิลาจารึกที่ฐานอนุสาวรีย์เป็น  ๓  ลักษณะ คือ  
                    ๑.ตรงกลางจารึกชื่ออนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์  
                    ๒.ด้านซ้ายจารึกประวัติเจ้าเมือง  
                    ๓.ด้านขวา จารึกประวัติเจ้าเมืองและประวัติการสร้าง 
              ประชุมครั้งที่  ๓  เมื่อวันที่   ๑๐  พฤษภาคม  ๒๕๔๘    ๒๕๔๘   เวลา  ๐๙.๐๐ น.  ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลห้วยเหนือ    มีผู้เข้าร่วมประชุม  จำนวน  ๑๐  คน  ที่ประชุมร่วมกันพิจารณา เนื้อหาประวัติเมืองขุขันธ์  และประวัติเจ้าเมือง  ฉบับที่ อาจารย์นิติภูมิ  ขุขันธิน  ร่างมานำเสนอ แก้ไข  ขัดเกลา   ศึกษาเพิ่มเติม และให้มีเอกสารอ้างอิง    
               ประชุมครั้งที่  ๔   เมื่อวันที่   ๓  มิถุนายน   ๒๕๔๘    ๒๕๔๘   เวลา  ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลห้วยเหนือ    มีผู้เข้าร่วมประชุม  จำนวน  ๑๒  คน ได้ประชุมพิจารณาร่างประวัติเมือง  ประวัติเจ้าเมืองและประวัติการสร้างที่มอบหมาย  โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านภาษาไทย  เข้าร่วมประชุมพิจารณา ปรับปรุง แก้ไข  การใช้สำนวนทางภาษาให้สละสลวย  ถูกต้องตามหลักภาษา  ก่อนนำเสนอนายอำเภอขุขันธ์พิจารณาอนุญาตให้นำไปบันทึกลงในแผ่นจารึก
                ประชุมครั้งที่  ๕  เมื่อวันที่   ๑๕  กรกฎาคม    ๒๕๔๘    ๒๕๔๘   เวลา  ๐๙.๐๐ น.  ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลห้วยเหนือ    มีผู้เข้าร่วมประชุม  จำนวน  ๑๕  คน   ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิผู้รู้และผู้สนใจเกี่ยวกับประวัติเมืองขุขันธ์มาร่วมประชุมพิจารณา ทบทวน ปรับปรุงแก้ไข เอกสารฉบับร่างที่คณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาไทย ร่วมกันประชุมพิจารณา ครั้งที่ ๔/๒๕๔๘  และสรุปผลการประชุมพิจารณาและนำเสนอนายอำเภอเพื่อขออนุญาตจารึกลงในแผ่นศิลาจารึกบริเวณฐานอนุสาวรีย์ 
               ประชุมครั้งที่  ๖  เมื่อวันที่   ๑๕  สิงหาคม    ๒๕๔๘    ๒๕๔๘  เวลา  ๐๙.๐๐ น.  ณ ห้องประชุมเล็กที่ว่าการอำเภอขุขันธ์   มีผู้เข้าร่วมประชุม  จำนวน  ๑๙  คน มีนายอำเภอขุขันธ์ เป็นประธานที่ประชุม   ประธาน เสนอให้ที่ประชุม ทบทวน ปรับปรุงเนื้อหา ประวัติเจ้าเมืองให้ชัดเจนขึ้น

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย