ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อำมาตย์ตรีพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปาน หรือ ท้าวปัญญา ขุขันธิน ) เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่ 9

พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๙
(ท้าวปัญญา หรือ ท้าวปาน - พุทธศักราช ๒๔๒๖- ๒๔๔๐ 
ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๔๕๐)
ได้รับโปรดเกล้าพระราชทานนามสกุล "ขุขันธิน")


             พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 เดิมชื่อ “ท้าวปาน หรือ ท้าวปัญญา” เป็นบุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่  8 (ท้าววัง) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 5 ท่าน ประกอบด้วย  
              1. ท้าวพิมพ์ หรือ พระแก้วมนตรี ภายหลังได้บรรดาศักดิ์ในราชทินนามว่า พระกันทรลักษ์ภิบาล โดยได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น  เจ้าเมืองกันทรลักษ์  เป็นท่านแรก 
              2. ท้าวบุตรดี หรือ พระอุทุมพรเทศานุรักษ์  เจ้าเมืองอุทุมพรพิสัย  ท่านแรก 
              3. ท้าวบุญนาค  หรือ  พระอนันต์ภักดี  ผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์  
              4. ท้าวปัญญา  หรือปัญญา  ขุขันธิน  คือ  "พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่  9"
              5. ท้าวบุญจันทร์  กรมการเมืองขุขันธ์ (ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ )


             ในปี พ.ศ. 2426  เมื่อบิดาคือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 8 (ท้าววัง) ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว ท้าวปัญญา กับพระรัตนโกษา (จันดี) ได้นำช้างพังสีประหลาดและช้างพังตาสีดำ  เป็นบรรณาการทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 5 ณ กรุงเทพฯ  เป็นการแสดงถึงความจงรักภักดีต่อราชธานีส่วนกลาง ตามประเพณีเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ  มีความชอบจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวปัญญา มีบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็น  เจ้าเมืองขุขันธ์เป็นท่านที่ 9  ต่อจากบิดา (เป็นเจ้าเมืองที่มีอายุน้อยที่สุดคือ  อายุ  26  ปีเท่านั้น)  ส่วนพระรัตนโกษา (จันดี ) ทรงโปรดเกล้าฯให้รับตำแหน่งเป็นปลัดเมืองขุขันธ์ บริหารราชการเมืองต่อไป

             ปี พ.ศ. 2426 ภายหลังจาก ท้าวปัญญา  ได้รับโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 แล้ว ก็ได้ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้พระเจริญราชสมบัติ (บุญจันทร์) นายกองนอกเมืองขุขันธ์ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้สมัครใจไปขึ้นกับเขตการปกครองของเมืองจำปาสัก  ซึ่งเจ้านครจำปาสัก ก็ให้การสนับสนุน  พระเจริญราชสมบัติให้กลับเข้ามาขึ้นต่อการปกครองเมืองขุขันธ์  คืนดังเดิม

             และในปี พ.ศ. 2426 เดียวกันนี้เอง  เจ้าเมืองอุทุมพรพิสัยท่านแรกได้พ้นจากตำแหน่ง   ดังนั้น เจ้าเมืองขุขันธ์ในขณะนั้นคือพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ 9 (ท้าวปัญญา) ได้ขอกราบบังคมทูลขอให้โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งพระยกบัตร (วัด) เมืองอุทุมพรพิสัย  เป็น พระอุทุมพรเทศานุรักษ์ ตำแหน่งเจ้าเมืองอุทุมพรพิสัยเป็นท่านที่  2 ให้บริหารราชการเมืองต่อไป 

           พ.ศ.  2428  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯให้ตัดทางโทรเลข จากนครจำปาศักดิ์ไปเมืองขุขันธ์  แต่เมืองขุขันธ์ไปเมืองเสียมราช  โดยเกณฑ์เมืองขุขันธ์  เมืองสังขะ ตรวจตัดทางโทรเลข  อยู่  ณ เมืองขุขันธ์  อุทุมพรพิสัย และมโนไพร

           ปี  พ.ศ.  2433  ได้มีการเปลี่ยนแปลงราชการบริหารแผ่นดินเป็นจำนวนมาก  เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์  ข้าหลวงใหญ่มีอำนาจเต็มในภาคอีสานให้ทำการแทนพระเนตรพระกรรณ   โปรดฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร  เป็นข้าหลวงใหญ่  ประทับ ณ เมืองอุบลราชธานี เรียก "หัวเมืองลาวกาว"

           ปี พ.ศ.  2438  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง) เป็นข้าหลวงเมืองขุขันธ์  (ในปี พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสยกกองทัพขึ้นทางเมืองเชียงแตง  สีทันดร  สามโคกซึ่งเป็นราชอาณาจักรไทย) เกณฑ์เมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์ เมืองศรีสะเกษ เมืองมหาสารคาม และเมืองร้อยเอ็ด  เมืองละ  800 คน และเมืองสุวรรณภูมิ เมืองยโสธร  เมืองละ  500  คน ให้ฝึกการรบดีแล้ว  ให้ส่งกำลังเข้าตรึงการรุกรานของฝรั่งเศส   และในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2438  เหตุการณ์จึงสงบโดยต่างฝ่ายต่างถอนกำลังทหารออก

           ปี พ.ศ.  2436  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์แทน
           ปี พ.ศ.  2437  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนมณฑลเทศาภิบาล  มณฑลลาวกาวเดิมเป็นมณฑลอีสาน

           ปี พ.ศ.  2443  ทางราชการได้ยุบเมืองเล็กลงเป็นอำเภอ และแบ่งเมืองใหญ่ออกเป็นหลายอำเภอ  พร้อมกับแต่งตั้งตำแหน่งผู้ปกครองเมืองและผู้ปกครองอำเภอขึ้นใหม่  และในปีนี้เองที่  ท้าวบุญจันทร์  ท้าวทัน  และหลวงรัตนะ กรมการเมืองที่หมดอำนาจ  ไม่ได้รับแต่งตั้งใด ๆ เกิดความไม่พอใจได้มีปฏิกิริยาต่อต้านทางการ  จนถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏผีบุญจึงถูกปราบปรามและเหตุการณ์ได้สงบลง

           ปี  พ.ศ.  2449  ได้ย้ายที่ทำการเมืองขุขันธ์  มาตั้งที่อำเภอกลางศรีสะเกษ  และยังคงมาใช้ชื่อเดิมว่า  "เมืองขุขันธ์"  และต่อมาเปลี่ยนฐานะเมืองขุขันธ์  เป็นอำเภอ  ชื่ออำเภอ "ห้วยเหนือ"
           
           ปี  พ.ศ.  2450  มณฑลอีสานแบ่งออกเป็น  4  บริเวณ  คือ  บริเวณอุบลราชธานี  บริเวณร้อยเอ็ด  บริเวณสุรินทร์   บริเวณขุขันธ์  และบริเวณขุขันธ์  
           รัชกาลที่ 5 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ปรับปรุงการปกครองอีกครั้ง โดยได้ทรงโปรดให้มีการปรับระบบเมืองบริเวณให้รวมกัน  โดยรวมเมืองขุขันธ์  เมืองศรีสะเกษ และเมืองเดชอุดม ซึ่งขณะนั้นรวมเรียกว่า  "บริเวณขุขันธ์"  รวมกันเข้าเป็นเมืองเดียวกัน  เรียกว่า  "เมืองขุขันธ์ " มีศาลากลางอยู่ที่อำเภอกลางศรีสะเกษ  เปลี่ยนชื่ออำเภอขุขันธ์  เป็นชื่อ อำเภอห้วยเหนือ  และได้โปรดเกล้าฯเปลี่ยนตำแหน่ง "เจ้าเมือง" เป็นตำแหน่ง "ผู้ว่าราชการเมือง"  จึงทำให้พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ 9 ( ปัญญา  ขุขันธิน ) สิ้นสุดตำแหน่งเจ้าเมือง  โดยได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์  เป็นคนแรก   โดยทำเนียบผู้ปกครอง เมืองขุขันธ์ในสมัยนั้นประกอบด้วย
             1. ท้าวปาน  ( ปัญญา  ขุขันธิน )  เป็นพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์
             2.ท้าวทองคำ  ดำรงตำแหน่ง  พระสุนทรบริรักษ์  เป็นปลัดเมืองขุขันธ์
             3. ท้าวบุญมี  ( บุญมี  ขุขันธิน )  เป็นหลวงสุรัตนามัย  ยกบัตรเมืองขุขันธ์
             4. ท้าวบุญมี  เป็นพระพิชัย  ผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์

             สำหรับส่วนของ "บริเวณขุขันธ์" สมัยนั้น แบ่งออกเป็น  3  เมือง ได้แก่
              1. เมืองขุขันธ์  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา  ขุขันธิน) เป็นผู้ว่าราชการเมือง  มี  3  อำเภอ  อำเภอขุขันธ์  อำเภออุทุมพรพิสัย  อำเภอกันทรลักษ์  
              2. เมืองศรีสะเกษ  พระยาภักดีโยธา (เหง้า) เป็นผู้ว่าราชการเมือง  มี  4  อำเภอ
              3. เมืองเดชอุดม  พระสุรเดช  อุตมาภิรักษ์ (ทอง  ปัญญา) เป็นผู้ว่าราชการเมือง  มี  3  อำเภอ


             ปี  พ.ศ.  2455  ในรัชกาลที่  6  แยกมณฑลอีสานออกเป็น  2 มณฑล  คือ  มณฑลร้อยเอ็ด  และมณฑลอุบลราชธานี      สำหรับมณฑลอุบลราชธานี  มีเมืองในสังกัด  3  เมือง  คือ
              1. เมืองอุบลราชธานี
              2. เมืองขุขันธ์
              3. เมืองสุรินทร์

             ปี  พ.ศ.  2459  รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  6  กระทรวงมหาดไทยประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองทุกเมือง เป็นจังหวัด ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง  เป็น  ตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เมืองขุขันธ์  เปลี่ยนเป็น   จังหวัดขุขันธ์  เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม  2459 ซึ่งพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา  ขุขันธิน)  ก็ยังได้ดำรงตำแหน่ง  กรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์  เช่นเดิม  


อนึ่งมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า...
             เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 คือ ท้าวปัญญา ได้ดำรงตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์ เมื่ออายุยังน้อย คือ อายุเพียง 26 ปี ดังจะเห็นว่า ท่านยังไม่มีบรรดาศักดิ์ในราชทินนามอื่นใดเลย  ก่อนที่จะได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์ในราชทินนามชั้น “พระยา” คือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน อยู่ในตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์  เป็นเวลา 14  ปี (พ.ศ. 2426 – 2440 ) 

             ปี พ.ศ. 2440 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มีการเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์  เป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ โดยให้ใช้บรรดาศักดิ์ราชทินนามเดิม คือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน จนถึงปี พ.ศ. 2450 รวมเวลา อยู่ในตำแหน่ง  ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์   เป็นเวลา 10  ปี ( พ.ศ. 2440 – 2450 )

             ต่อมาในปี  พ.ศ. 2450  ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ยุบเมืองศรีสะเกษ  เมืองเดชอุดม ให้รวมกับเมืองขุขันธ์  เป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า “เมืองขุขันธ์” โดยทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระยาบำรุงบุระประจันต์จางวาง (จันดี  กาญจนเสริม) ข้าหลวงกำกับเมืองบริเวณขุขันธ์  เป็นผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 2 (ทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ที่บันทึกว่าเป็นผู้ว่าราชการคนที่ 1 ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริง) ส่วนพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  (ท้าวปาน หรือ ท้าวปัญญา  ขุขันธิน) เมื่อได้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์แล้ว ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง กรมการพิเศษเมืองขุขันธ์ และกรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์ ในเวลาต่อมา (พ.ศ. 2450–2460) รวมอยู่ในตำแหน่ง  3 ตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่ง “เจ้าเมืองขุขันธ์” ตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์” และตำแหน่ง  “กรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์” ทั้งนี้รวมอยู่ในราชการทั้งสิ้น 34 ปี ได้ถึงแก่อนิจกรรม ปี พ.ศ. 2470  รวมสิริอายุได้ 70 ปี

           อำมาตย์ตรี  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  ( ปัญญา  ขุขันธิน ) ตำแหน่งเดิมเจ้าเมืองขุขันธ์  คนที่  9  ( สุดท้าย )  ของการปกครอง  บังคับบัญชาสิทธิ์ขาดในตำแหน่ง "เจ้าเมือง " ยกบัตรเมือง กรมการเมือง  ราษฎรในเมือง  และรวมทั้งบังคับบัญชาเมืองที่ขึ้นต่อการปกครองของเมืองขุขันธ์อีกด้วย

             พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 เป็นต้นตระกูล   นามสกุล “ขุขันธิน”  โดยได้รับพระราชทานนามสกุลในลำดับที่ 3565 ขณะที่ขอรับพระราชทานนามสกุล ได้ขอในบรรดาศักดิ์ราชทินนาม อำมาตย์ตรี พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา) กรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์ มณฑลอุบลราชธานี พระราชทานนามสกุลว่า “ขุขันธิน” (Khukhandhin ) ทำให้ผู้สืบเชื้อสายเจ้าเมืองขุขันธ์ได้ใช้นามสกุล ขุขันธิน ที่ได้รับพระราชทานมาจนถึงปัจจุบัน 

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย