-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ความเป็นมาของอำเภอขุขันธ์

" อำเภอขุขันธ์ " ปัจจุบัน เป็นอำเภอหนึ่งที่ขึ้นต่อจังหวัดศรีสะเกษ  เป็นอำเภอเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน และเป็นที่ตั้งของ  “เมืองขุขันธ์” ในอดีต มีอาณาเขตกว้างขวางครอบคลุมพื้นที่ที่เป็นอำเภอต่างๆหลายอำเภอของจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน โดยก่อนปีพ.ศ.๒๔๘๑ ใช้นามว่า “อำเภอห้วยเหนือ” ขึ้นต่อการปกครองของเมืองขุขันธ์  ดังได้กล่าวในประวัติเมืองขุขันธ์แล้ว  จึงขอกล่าวถึงเพียงเล็กน้อย 


"ต้นตาล ๙ ยอด ๙ พระยาแห่งเมืองขุขันธ์" เป็นต้นตาลที่มีความแปลก  เพราะลำต้นเดียว  แต่แตกแขนงลำต้นออกเป็น ๙ แขนง ๙ ยอด เคยมีชีวิตและยืนต้นตระหง่านมาตั้งแต่กำเนิดเมืองขุขันธ์  ณ   หมู่บ้านตาดม   หมู่ที่ ๘  ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์   จังหวัดศรีสะเกษ ได้ล้มตายลง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ปัจจุบันยังคงเหลือแต่เพียงร่องรอยภาพถ่ายแห่งอดีตมาถึงปัจจุบัน...
ในปี  พ.ศ. ๒๓๐๖ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ตรงกับรัชสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์  พระองค์ได้ทรงโปรดเกล้าฯตั้ง "บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน" ขึ้นเป็น “เมืองขุขันธ์” ในระยะแรก ปกครองแบบจตุสดมภ์  มีเจ้าเมืองปกครอง  ถือเป็นหัวเมืองชั้นนอก  โดยแบ่งการปกครองที่ย่อยขั้นต่ำลงไปจากเมืองเป็น ๓ ระดับ ได้แก่
  ๑. เมือง  มีเจ้าเมือง  มีบรรดาศักดิ์ระดับ  “พระ” “พระยา”หรือ “เจ้าพระยา”  ปกครองเมือง
  ๒. แขวง  มีนายแขวง  บรรดาศักดิ์ระดับ “หมื่น” “ขุน” หรือ “หลวง”  เป็นผู้ปกครอง
  ๓.ตำบล  มีกำนัน  มีบรรดาศักดิ์ระดับ  “หมื่น” “ขุน”  เป็นผู้ปกครอง
๔.หมู่บ้าน  มีผู้ใหญ่บ้าน  มีบรรดาศักดิ์ระดับ  “พัน” หรือ  “หมื่น” เป็นผู้ปกครอง

พ.ศ. ๒๔๔๓  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิรูปการปกครองบ้านเมืองให้เป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล  ได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหน่วยการปกครองใหม่จากเดิม  เป็น  “เมือง”  “อำเภอ”  “ตำบล”  และหมู่บ้าน    จากผลการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ทำให้เกิดหน่วยการปกครองที่เรียกว่า “อำเภอ”ขึ้น คือ “อำเภอห้วยเหนือ” ขึ้นต่อเมืองขุขันธ์  

จวนผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ ตำแหน่งที่ตั้งเดิมอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของ สนง.ปศุสัตว์อำเภอขุขันธ์ ปัจจุบันถูกโรงฆ่าสัตว์(เก่า)ของเทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์สร้างทับโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์...ถ้าย้ายโรงฆ่าสัตว์(เก่า)ออกก็น่าจะดีเพราะเชื่อว่าน่าจะช่วยเสริมให้ดวงเมืองขุขันธ์ ดีขึ้น...และเมืองขุขันธ์ของเราจะเจริญรุ่งเรือง...ตลอดไปในภายภาคหน้า...

              มาจนถึงปลายปีพ.ศ.  ๒๔๔๙  ได้มีการย่ายที่มำการศาลากลางเมืองขุขันธ์ไปตั้งอยู่ที่อำเภอกลางศรีสะเกษและยังคงใช้นามว่า “ศาลากลางเมืองขุขันธ์” ส่วนอำเภอห้วยเหนือยังคงตั้งอยู่ที่เดิม
  
พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้มีการเปลี่ยนแปลงนามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ เป็น “จังหวัด” ดังนั้น เมืองขุขันธ์ จึงมีนามว่า “จังหวัดขุขันธ์”  ส่วนอำเภอห้วยเหนือยังคงใช้นามเดิมและขึ้นต่อจังหวัดขุขันธ์
    
              พ.ศ.๒๔๘๑  ได้มีการออกพระราชกฤษฏีกาเปลี่ยนนาม  “จังหวัดขุขันธ์” เป็นนามจังหวัดศรีสะเกษ  และเพื่อรักษาเกียรติประวัติของเมืองขุขันธ์  อันเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอีสานใต้  จึงได้เปลี่ยนนาม  “อำเภอห้วยเหนือ” เป็น “อำเภอขุขันธ์” ขึ้นต่อจังหวัดศรีสะเกษ มาจนถึงปัจจุบัน  และเนื่องจากพื้นที่การปกครองของอำเภอขุขันธ์กว้างขวางมาก  จึงได้มีการแบ่งหรือแยกพื้นที่บางส่วนที่เป็นตำบล รวมตั้งเป็นกิ่งอำเภอ และได้ยกฐานะเป็นอำเภอต่างๆ  อาทิ

             พ.ศ. ๒๔๙๘  แยกตำบลในเขตอำเภอขุขันธ์ คือ ตำบลขุนหาร สิ บักดอง กระหวัน กันทรอม ไปรวมกับ 2 ตำบล  ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ คือ  ตำบลพราน และตำบลไพร และบางหมู่บ้านในเขตตำบลละลายตั้งเป็น “กิ่งอำเภอขุนหาญ” และยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ 
   
พ.ศ. ๒๕๐๔  แยกตำบลกู่ พิมาย หนองเชียงทูนและสมอ  รวมตั้งเป็นกิ่งอำเภอปรางค์กู่และยกฐานะเป็นอำเภอปรางค์กู่  เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๐๖
   
พ.ศ. ๒๕๑๑  แยกตำบลไพรบึง ปราสาทเยอ ดินแดง และสำโรงพลัน  ตั้งเป็น“กิ่งอำเภอไพรบึง” และยกฐานะเป็นอำเภอไพรบึง   เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๑๘

พ.ศ. ๒๕๓๔ แยกตำบลโคกตาล  ละลม  ตะเคียนราม  ห้วยตามอญ และไพรพัฒนา ตั้งเป็น “กิ่งอำเภอภูสิงห์” และยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย