-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

ศาลหลักเมืองโบราณของเมืองขุขันธ์

ศาลหลักเมืองโบราณของเมืองขุขันธ์ ตั้งอยู่มุมสี่แยกตลาดขุขันธ์ และอยู่มุมตะวันตกเฉียงใต้ของวัดกลาง  วัดอัมรินทราวาส  ในเขตเทศบาลตำบลห้วยเหนือ  ส่วนจะสร้างสมัยเจ้าเมืองท่านใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด  แต่ประเพณีการสร้างศาลหลักเมืองมักนิยมตั้งพร้อมการสร้างเมือง  เนื่องจากจวนเจ้าเมืองและที่ทำการต่าง ๆ มีการย้ายบ่อยตามคุ้ม หรือตามถิ่นฐานของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง  แม้แต่การตั้งเมืองขุขันธ์ครั้งแรกพงศาวดารตอนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ตากะจะเป็นหลวงแก้วสุวรรณ  ยก "บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน" ขึ้นเป็นเมือง ชื่อว่า "เมืองขุขันธ์ "

 

หลักเมืองขุขันธ์  เดิมทีชาวบ้านเรียกว่า  “อารักษ์กลางมืง” หรือ "ตากลางเมือง" (ภาษาเขมรท้องถิ่นอำเภอขุขันธ์) แปลเป็นภาษาไทยได้ความว่า  “เทพารักษ์กลางเมือง”  ต่อมาเรียกว่า “หลักเมือง”  ภายในศาลมีเสาหลักเมืองโบราณ  สูงจากพื้นถึงยอดเสาประมาณ 140 ซม.  และมีก้อนหินเก่าแก่สองก้อนตั้งอยู่ข้างๆ  แต่เดิมเป็นศาลไม้หลังเล็ก ๆ ประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา  ชาวจีนตลาดขุขันธ์ได้ร่วมกันสร้างอาคารครอบศาลขึ้นมาใหม่  ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้  และมีการซ่อมแซมมาโดยตลอด   
แต่เดิมในเดือนธันวาคมของทุกๆปี  ชาวอำเภอขุขันธ์จะประกอบพิธีเซ่นไหว้บูชาหลักเมือง และต่อมาในปัจจุบัน ชาวอำเภอขุขันธ์ได้มีการประกอบพิธีบูชาหลักเมืองร่วมด้วยในงานเทศกาลแซนโฎนตาของเมืองขุขันธ์เป็นประจำทุกปี 

                  สมัยก่อนข้าราชการที่เดินทางมารับตำแหน่งต่าง ๆ  ของเมืองขุขันธ์ โดยเฉพาะนายอำเภอ  จะต้องมาเซ่นไหว้บอกกล่าวทุกคน ข้าราชการที่ย้ายมาจากภาคกลางกลัวมากเรื่องไข้ป่า  บางคนย้ายมาอยู่จนกระทั่งได้ย้ายกลับจะไม่ยอมให้ครอบครัวมาด้วยเลยเนื่องจากกลัวไข้ป่าจะเอาชีวิตนั่นเอง  ปัจจุบันทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปตามความเจริญของบ้านเมือง  เรื่องราวในอดีตจึงเป็นเพียงคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาเท่านั้น

การแก้บนหลักเมือง  นอกจากการแก้บนด้วยหัวหมู  สุรา  บุหรี่  อาหารคาวหวานแล้ว  สมัยก่อนมีการแก้บนด้วย  ลิเก  และภาพยนตร์  เมื่อประมาณ ๔๐ ปีที่แล้ว คุณยายทองนาค  กองทอง  คุ้มบ้านภูมิใต้  เคยนำลิเกมารำถวายหลักเมืองหลายครั้ง

การแก้บน คือ การบนบานศาลกล่าวในสิ่งที่มีความทุกข์ร้อน  หรือต้องการให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์บันดาลให้  เมื่อสำเร็จแล้วก็มีการแก้บนตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ ทุกวันนี้การแก้บนด้วยภาพยนต์  และลิเกไม่มีให้เห็นอีกแล้ว  และศาลหลักเมืองก็ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลาและอยู่บริเวณสถานที่คับแคบ รอการบูรณะใหม่จากชาวขุขันธ์เพื่อให้เป็นที่เชิดหน้าชูตาของบ้านเมืองซึ่งกำลังเจริญขึ้นตามยุคสมัย  ให้สมกับเป็นสถานที่ยึดเหนี่ยวติดใจ  อันเก่าแก่ที่ทรงคุณค่าคู่เมืองขุขันธ์อีกด้วย

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย