-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

การประหารชีวิตนักโทษ

เมืองขุขันธ์  มีเจ้าเมืองระดับ "พระยา" มาถึง 9 ท่าน ตำแหน่ง "พระยา"​ใช้ธรรมเนียมแบบเขมร   ตำแหน่ง "ออกญา" ที่เรียกว่า "สดาจ่กราญ่" "ออกญา" หรือ "พระยา"  มีอำนาจเด็ดขาด  สามารถสั่งประหารชีวิต  คนที่มีโทษถึงประหารได้   และมีดาบประจำตำแหน่งสำหรับใช้ประหารชีวิตนักโทษด้วย    เจ้าเมืองขุขันธ์ทุกท่านต่างก็ได้รับดาบประจำตำแหน่งเล่มนี้ทุกคน
         
สถานที่ประหารชีวิตนักโทษในบริเวณเมืองโคกขัณฑ์ (ขุขันธ์)  อยู่ที่บริเวณโรงเรียนอนุบาลศรีประชานุกูล  และอยู่ระหว่างบ้านบกกับโรงเรียนขุขันธ์วิทยา  ซึ่งชาวเมืองโคกขัณฑ์(ขุขันธ์)เรียกบริเวณนี้ว่า    "เวียลตาย"  



             เวียล  เป็นภาษาเขมร แปลว่า ทุ่ง   ท้องทุ่ง   ที่ราบโล่ง   ส่วนคำว่า  ตาย   เป็นภาษาไทย   แปลว่า สิ้นใจ  สิ้นชีวิต  สิ้นสภาพของการมีชีวิต    "เวียลตาย"    ก็คือบริเวณที่ใช้ประหารชีวิตนักโทษ  หรือ  ทุ่งที่ใช้ประหารนักโทษ   บางครั้งชาวบ้านก็ยังเรียกบริเวณนี้ว่า "บุหลวง "   คำว่า  "บุ " (บุะ)  เป็นภาษาเขมร  หมายถึง  ไร่ที่ถูกทิ้งร้างไป  ป่าละมาะที่ถูกทิ้งร้างหลังจากที่ชาวบ้านทำไร่เลื่อนลอย   "หลวง"  เป็นคำไทย  หมายถึง  เป็นของรัฐบาล เป็นของทางราชการ  เขมรใช้คำนี้โดยเขียนตามไทย  ว่า "หลวง"  อ่านว่า   "หลวง"  ความหมายก็ตรงกับภาษาไทย    คำว่า  "บุหลวง "    ก็คือ   ป่าละเมาะของทางราชการ  หรือ  ที่ดินหลวง  นั่นเอง

   
            "พระยาขุขันธ์ฯ  หรือเจ้าเมืองขุขันธ์ทั้ง 9 ท่าน  ได้ใช้บริเวณ   "เวียลตาย"  หรือ  "บุหลวง "  เป็นสถานที่สำหรับใช้ประหารนักโทษที่ต้องโทษถึงประหารในบริเวณป่าละเมาะแห่งนี้ตลอดมา   ในธรรมเนียมของเขมร   ผู้ที่ได้ตำแหน่ง  "ออกญา"  ที่เรียกว่า "สดาจ่ กราญ่"  หรือ "พระยา" จะได้รับศาสตราวุธ และยุทโธปกรณ์  ดังต่อไปนี้

ศาสตราวุธ     คือ     
               (1)พระขรรค์
               (2)ธนู
               (3) หน้าไม้
               (4) โนน  คล้ายหอก  แต่ปลายด้ามมีพู่
               (5) ดาบสั้น  ดาบยาว
               (6) พร้าด้ามยาว
               (7) หอกสั้น หอกยาว
               (8)พลอง
               (9)เขน
               (10)กริช
               (11)ปืนสั้น  ปืนยาว

ยุทโธปกรณ์  คือ
               (1)เสื้อเกราะ
               (2)เสื้อยันต์
               (3)ผ้ายันต์
               (4)ธงชาติ
               (5)ธงมหาราช
               (6)ธงชัย
               (7)กลองชัย
               (8)ฆ้องชัย
               (9)กลองแขก 

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย