-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557

การแยกพื้นที่เมืองขุขันธ์บางส่วนตั้งเป็นเมืองเดชอุดม

ในปี พ.ศ. 2388  ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงครองราชย์ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 - 2 เมษายน พ.ศ. 2394 (26 ปี 8 เดือน 13 วัน) และตรงกับเจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 3 คือ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๓ ( ท้าวบุญจันทร์ หรือพระไกร - พุทธศักราช ๒๓๒๕ - ๒๓๖๙) ในห้วงระยะเวลาเดียวกันนี้  หลวงธิเบศร์ หลวงมหาดไทย และหลวงอภัย กรมการเมืองศีร์ษะเกษ  เห็นว่า เมืองขุขันธ์  ยังมีอาณาเขตที่กว้างขวางอยู่มาก  อีกทั้งหลวงธิเบศร์ และคณะกรมการเมืองไม่ประสงค์ที่จะอยู่ภายใต้การปกครองของเมืองขุขันธ์ในขณะนั้น  จึงได้ร้องไม่สมัครที่จะทำราชการกับเจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 3  และได้ทูลขอพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอแยกพื้นที่เมืองขุขันธ์บางส่วนขอตั้งเป็นเมืองใหม่ โดยได้ขออพยพครอบครัว และไพร่พลไปอยู่บ้านโดมใหญ่ ซึ่งเป็นพรมแดนระหว่างเมืองจำปาศักดิ์  เมืองอุบล เมืองขุข้นธ์ และเมืองศีรษะเกษ ต่อกัน  โดยมีจำนวนเลขฉกรรจ์ 606 คน และสัมโนครัว 2,150 คน 

              ครั้นเมื่อถึงปีมะเส็ง สัปตศก จุลศักราช 1207(พ.ศ.2388) รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยก บ้านโดมใหญ่ขึ้นเป็นเมืองเดชอุดม และโปรดเกล้าฯ ให้หลวงธิเบศร์  เป็นพระศรีสุระ ตำแหน่งเจ้าเมืองเดชอุดม ทำราชการขึ้นต่อเมืองนครราชสีมา เช่นเดียวกับเมืองศีร์ษะเกษ และทรงโปรดเกล้าฯให้หลวงมหาดไทยเป็นหลวงปลัด ให้หลวงอภัยเป็นหลวงยกกระบัตรรักษาราชการแขวง เมืองเดชอุดม  

            ทิศเหนือตั้งแต่ลำห้วยเท้าสารฝั่งใต้   ทิศตะวันตกตั้งแต่ลำห้วยเท้าสารไปถึงเชิงเขาเพียงลำนํ้าซอง(ฤๅซอม) โอบตามเชิงเขาไปถึงโดมน้อย  ทิศตะวันออกตั้งแต่ลำโดมน้อย   และฟากทิศตะวันตกไปจนถึงลำนํ้ามูล 

            สำหรับเจ้าเมืองเดชอุดมนั้น มีตำแหน่งเป็นพระศรีสุระทุกคน แต่เมื่อถึงสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบเทศาภิบาล ร.ศ.* 126 (พ.ศ. 2450) เมืองเดชอุดมขึ้นกับมณฑลอีสาน พระสุรเดชอุดมมาภิรักษ์ (ทองปัญญา) เป็นผู้ว่าราชการเมือง จึงแบ่ง เมืองเดชอุดมออกเป็น 3 อำเภอ คือ 
            1. อำเภอปจิมเดชอุดม ตั้งที่ว่าการที่บ้านเมืองเก่า (บ้านเมืองเก่า) ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดมในปัจจุบัน)

            2. อำเภอกลางเดชอุดม ตงที่ว่าการบ้านกลาง (บ้านกลาง ตำบลยาง อำเภอ นํ้ายืนในปัจจุบัน)

            3. อำเภออุทัยเดชอุดม ตงที่ว่าการที่บ้านยางใหญ่ (บ้านยางใหญ่ ตำบลยาง อำเภอนํ้ายืนในปัจจุบัน)

            ต่อมาในปี พ.ศ. 2455 ให้ยุบเมืองเดชอุดม และอำเภอต่างๆ รวมเรียกว่า "อำเภอเดชอุดม"  ขึ้นต่อจังหวัดขุขันธ์ และต่อมาก็ได้โอนมาขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2471 ในที่สุด (ประกาศ โอนอำเภอเดชอุดมและกิ่งอำเภอโพนงาม จังหวัดขุขันธ์ไปขึ้นจังหวัดอุบลราชธานี ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๑)

            สำหรับ คณะกรมการเมืองก่อนหน้านี้ ประกอบด้วยเจ้าเมืองอุปฮาด ราชบุตร และราชวงศ์ เมื่อยุบเมืองมาเป็นอำเภอ จึงเทียบตำแหน่ง คล้ายคลึงกัน ดังนี้ " เจ้าเมือง (นายอำเภอ) อุปฮาด (ปล้ด ขวา) ราชวงศ์ (ปล้ดซ้าย) และราชบุตร (สมุห์บัญชี) "
            แรกเริ่มนั้น ที่ว่าการอำเภอเดชอุดม ตั้งอยู่บ้านเมืองเก่า มีฐานะเป็นเมืองและอำเภอมาหลายปี  ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของบ้านเมืองเก่าส่วนใหญ่พื้นที่ลุ่ม  เมื่อถึงเวลานํ้าโดมไหลหลากมาจากทาง เหนือก็มักจะเกิดนํ้าท่วมบ้านเรือนของราษฎรอยู่เสมอ และมักจะเกิดนํ้าท่วม กะทันหันได้บ่อยๆ จนบางครั้งราษฎรก็ตั้งตัวเตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมไม่ทัน  ส่วนข้าราชการที่ว่าการอำเภอเดชอุดมในขณะนั้นก็ต้องพากันขนหนังสือราชการไปเก็บไว้บนขื่อ

            พระยาศรีธรรมศกราช (ปิ่ว บุนนาค) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุบลราชธานี เคยได้รับเรื่อง นํ้าท่วมจากหนังสือราชการของเจ้าเมือง(ในยุคแรกที่ยังคงมีเจ้าเมือง) และนายอำเภอหลายท่าน จึงสั่งว่า "ควรจะย้ายที่ว่าการอำเภอเดชอุดม จากบ้านเมืองเก่าไปตั้งที่ใหม่ ที่เป็นพื้นที่ที่นํ้าท่วมไม่ถึง"  นายอำเภอเดชอุดมหลายท่านก็ได้พยายามดำเนินการแต่ไม่สำเร็จ เพราะราษฎรไม่อยากย้ายออกจากที่เดิม จนกระทั่งในสมัยหลวงประชากร เกษม(เป้ย ส่งศรี) เป็นนายอำเภอสมุหเทศาภิบาล จึงได้สั่งการให้ย้ายที่ตั้งอำเภอใหม่ และดำเนินการได้สำเร็จ  โดยหลวงประชากร เกษม(เป้ย ส่งศรี) ได้ปรึกษาคณะข้าราชการ ราษฎร พ่อค้าและประชาชนทั้งหลาย แล้วเห็นพ้องต้องกันว่า "บริเวณโนนขามป้อม" เป็นพื้นที่สูง มีนํ้าท่าบริบูรณ์และมีความเหมาะสมที่จะเป็นที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่ จึงได้ทำพิธีย้ายที่ว่าการอำเภอมาตั้งที่ "โนนขามป้อม" เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2464 เวลา 10.45 น. โดยมีขบวนแห่อันเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6  ในขบวนแห่ประกอบด้วย ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และนักเรียน ประมาณ 100 คนเศษ  ขบวนแห่ถึงที่ว่าการอำเภอหลังใหม่ (อาคารชัวคราว) ในเวลา 11.00 น. ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอแห่งใหม่มาจนถึงปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง : 
- ประวัติความเป็นมาอำเภอเดชอุดม พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน เรียบเรียงโดย หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร)
- ราชกิจจานุเบกษา.ประกาศ โอนอำเภอเดชอุดมและกิ่งอำเภอโพนงาม จังหวัดขุขันธ์ไปขึ้นจังหวัดอุบลราชธานี.เวปไซต์ราชกิจจานุเบกษา.แหล่งที่มา : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2471/A/235.PDF .สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2563.
------------------------------------------------------------------------------------------------------------
* หนังสือโบราณที่เขียนถึง จุลศักราช หรือรัตนโกสินทร์ศก ว่าคนที่จะสอบประวัติศาสตร์จะได้รู้ศักราชของเหตุการณ์นั้นๆ ถ้าต้องการทราบจุลศักราชให้เอา 1181 ลบออกจากพุทธศักราช และถ้าต้องการทราบรัตนโกสินทร์ศกให้เอา 2324 ลบจากพุทธศักราช

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย