ศาลาสหทัยสมาคม
หอพระสมุดวชิรญาณนั้น เดิมพระราชโอรสธิดา ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมพระหฤทัยกันตั้งขึ้นเฉลิมพระเกียรติยศสมเด็จพระบรมชนกนาถ เมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๔๒๖ แต่แรกอาศรัยตั้งที่ห้องชั้นต่ำมุขกระสันพระที่นั่งจักรีมหาปราสาททางตวันตก แล้วมาตั้งที่ตึกทิมดาบตรงหน้าพระที่นั่งจักรี เมื่อปีกุญ พ.ศ. ๒๔๓๐ แล้วย้ายออกมาตั้งที่ตึกอันเปนหอสหทัยสมาคมบัดนี้ เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๓๔ หอพระสมุด วชิรญาณเปนหอสมุดของสโมสรสมาชิกอยู่ตลอดสมัยที่กล่าวมา รวมเวลา ๒๑ ปี
ครั้นถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๔๗ ในปีนั้นถึงอภิลักขิตสมัย นับแต่ปีพระบรมราชสมภพแห่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาครบ ๑๐๐ ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงสถาปนาอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรดิสมเด็จพระบรมชนกนาถให้เปนของถาวรสักอย่างหนึ่ง ทรงพระราชดำริห์ว่า ในประเทศสยามนี้ยังไม่มีหอสมุดสำหรับพระนคร จึงทรงชักชวนพระราชภาดาแลภคินีให้ทรงอุทิศถวายหอพระสมุดวชิรญาณเป็นหอพระสมุดสำหรับพระนคร อยู้ในความบำรุงรักษาของรัฐบาลต่อไป ทุกพระองค์ก็ทรงพระดำริห์เห็นชอบด้วยพระราชบริหาร จึงโปรด ฯ ให้รวมหอพระสมุดวชิรญาณกับหอสมุดมณเฑียรธรรม แลหอสมุดพุทธสาสนสังคหจัดตั้งเปนหอพระสมุดสำหรับพระนคร โดยประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม ปีมะเสง พ.ศ. ๒๔๔๘ แลทรงพระกรุณาโปรด ฯ ให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเสด็จดำรงพระยศเปนสมเด็จพระยุพราช ทรงดำรงตำแหน่งเป็นสภานายกเปนต้นมา
อาคารถาวรวัตถุ
ถึงรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด ฯ ให้ซ่อมแซมตึก "ถาวรวัตถุ" ซึ่งสร้างค้างอยู่ที่วัดมหาธาตุให้สำเร็จแล้ว พระราชทานให้ใช้เปนหอพระสมุดสำหรับพระนคร ได้เสด็จพระราชดำเนิรไปเปิดเมื่อวันที่ ๖ มกราคม เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๕๙
ครั้นถึงรัชกาลปัจจุบันนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานหนังสือในห้องพระสมุดส่วนพระองคึของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เปนมฤดกแก่หอพระสมุดสำหรับพระนคร แลได้เสด็จไปทอดพระเนตรถึงหอพระสมุด ฯ ทรงพระราชดำริห์ว่าตึกที่หน้าวัดมหาธาตุนั้น แม้แต่เก็บหนังสือของหอพระสมุดวชิรญาณก็ต้องตั้งตู้ยัดเยียดอยู่แล้ว จะรวมสมุดพระราชทานใหม่เข้าไว้ด้วยกันกับหนังสือเดิม ที่หาพอไม่ จึงโปรด ฯ ให้จัดหอพระสมุดสำหรับพระนครแยกออกเปน ๒ หอ หอหนึ่งให้คงเรียกว่า "หอพระสมุดวชิรญาณ" สำหรับเก็บหนังสือแลจดหมายเหตุของเก่า อันเปนหนังสือเขียนแลจานเป็นพื้น สำหรับราชบัณฑิตแลนักเรียนผู้แสวงหาความรู้จะสอบสวน แลให้เปนสถานที่จัดการพิมพ์หนังสือของหอพระสมุด ฯ ด้วย อีกหอหนึ่งให้เรียกว่า "หอพระสมุดวชิราวุธ" เปนที่เก็บรักษาหนังสือฉบับพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ กับทั้งรูปฉายาลักษณ์แลหนังสือพิมพ์ข่าวต่าง ๆ สำหรับมหาชนจะได้ไปมาอ่านได้ตามประสงค์ หอพระสมุดวชิราวุธให้จัดตั้งณตึกหน้าวัดมหาธาตุ ส่วนหอพระสมุดวชิรญาณนั้น เพราะหนังสือเก็บรักษาไว้ในตู้ลายทองของ โบราณเปนพื้น แลมีศิลาจารึกของโบราณอยู่มากด้วยอีกอย่าง ๑ ถ้าจัดตั้งในตึกแบบโบราณย่อมจะสมกัน จึงโปรด ฯ ให้ย้ายหอพระสมุดวชิรญาณมาตั้งอยู่ณพระที่นั่งศิวโมกขพิมานด้วยประการฉนี้
หอสมุดแห่งชาติในปัจจุบัน
หอพระสมุดวชิรญาณก็ดี พิพิธภัณฑสถานก็ดี ในชั้นนี้พึ่งย้ายแลขยายการที่จัดออกไปใหม่ยังไม่บริบูรณ์ ในหนังสือจะพรรณนาว่า ด้วยสิ่งของซึ่งควรดูควรชมรายสิ่งไปให้ถ้วนถี่ ยังไม่สามารถจะทำใด้ เพราะฉนั้นจะกล่าวถึงแต่สิ่งสำคัญแลอธิบายพอเป็นเลาความสิ่งสำคัญในหอพระสมุดวชิรญาณ
๑. พระบรมรูปเท่าพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเขียนสีน้ำมัน ประดิษฐานอยู่ในประธานด้านตวันตก เปนของพระราชโอรสธิดาทรงสร้างแต่เมื่อตั้งหอพระสมุดวชิรญาณ
๒. โต๊ะศิลากระดานชนวน ที่ตั้งอยู่หน้าพระบรมรูปนั้น เปนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สำหรับทรงคำนวณเลข เดิมตั้งอยู่ในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานมารักษาไว้ในหอพระสมุด ฯ
ของทั้ง ๒ สิ่งที่กล่าวมาเปนของประจำอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ สืบมาแต่แรกตั้ง นับเวลาจนบัดนี้ได้ ๔๒ ปี
๓. ตู้ลายทองของโบราณ ที่ใช้ใส่หนังสือในหอพระสมุดวชิรญาณ เปนฝีมือสร้างแต่สมัยครั้งกรุงศรีอยุธยามีมาก สร้างในสมัยครั้งกรุงธนบุรีก็มี ที่สร้างในสมัยกรุงรัตน โกสินทรเพียงในรัชกาลที่ ๔ ถ้าว่าโดยอายุมีตั้งแต่ ๒๕๐ ปี ลงมาถึง ๖๐ ปีเศษ ตู้เหล่านี้เดิมสร้างสำหรับใส่คัมภีร์พระไตรปิฏก มีแยกย้ายอยู่ตามวัดทั้งในกรุง ฯ แลหัวเมือง เมื่อแรกตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร ต้องการตู้ใส่หนังสือซึ่งได้เพิ่มเติมมาก กรรมการปรึกษากันเห็นว่าตู้ลายทองของโบราณซึ่งมีอยู่ตามพระอาราม มีหนังสือเก็บอยู่ก็มี ว่างเปล่าอยู่ก็มาก มักชำรุดแลเป็นอันตรายไปเสีย ตู้ชนิดนี้เปนของสร้างโดยฝีมืออันประณีต แลมีแต่ในประเทศสยามประเทศเดียว สมควรจะรักษาไว้ให้อยู่ถาวร จึงไปขอตู้โบราณที่ว่างอยู่ตามพระอารามมาใช้ใส่หนังสือในหอพระสมุด ฯ ครั้นพระสงฆ์มาชมหอพระสมุดฯเห็นว่าตบแต่งตั้งรักษาตู้ไว้งดงาม ก็พากันนิยมยินดียอมอนุญาตถวายตู้โบราณแก่หอพระสมุด ฯ มากขึ้นโดยอันดับมา เห็นจะกล่าวได้ว่า ตู้โบราณอย่างนี้ที่เปนฝีมือดีอย่างเอกแลเก่าที่สุด เดี๋ยวนี้มาอยู่ในหอพระสมุด ฯ แทบทั้งนั้น ถ้าชอบชมฝีมือแลแบบอย่างช่างเขียนไทยแตโบราณ ก็อาจดูได้แทบทุกใบ
๔. หีบโบราณสำหรับใส่พระไตรปิฏก เดิมก็อยู่ตามพระอารามอย่างเดียวกับตู้ที่กล่าวมาแล้ว เปนของสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาแทบทั้งนั้น เลือกมารักษาไว้ในหอพระสมุด ฯ แต่ที่ลวดลายงาม
๕. ศิลาจารึกของโบราณ เก็บรวบรวมมาแต่ที่ต่าง ๆ ในประเทศสยามนี้ ที่จัดตั้งไว้ทางเฉลียงด้านเหนือล้วนจารึกภาษาไทย แต่สมัยพระมหากษัตริย์ราชวงศพระร่วงกรุงสุโขทัยเปนราชธานี
๖. ตัวอย่างผ้าลายอย่างต่าง ๆ ซึ่งใส่กรอบกระจกทำลับแลตั้งไว้ ล้วนเปนของโบราณซึ่งแบบอย่างลวดลายเลิกสูญไปเสียแล้ว เหลืออยู่แต่ที่เปนผ้าห่อคัมภีร์พระไตรปิกฏของโบราณ หอพระสมุด ฯ ได้มา จึงเลือกออกทำเป็นลับแลไว้เพื่อจะให้เห็นตัวอย่างลวดลายของโบราณ
ที่มา : หนังสือ "อธิบายว่าด้วยหอพระสมุดวชิรญาณ แล พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร"