ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ก่อนที่จะยกฐานะมาเป็นเมืองขุขันธ์ อยู่ที่ไหน?

          จากการชำระประวัติศาสตร์ของจังหวัดศรีสะเกษ  ได้มีการเสนอหลักฐานทางโบราณคดี หลักฐานทางนิรุกติศาสตร์  และหลักฐานทางสังคมขึ้นมาใหม่  เพื่อประกอบการศึกษาหาข้อเท็จจริงว่า “ปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนแท้จริงอยู่ที่ไหน?”  ได้มีการหยิบยกและวิพากษ์เป็นแนวทางเพื่อการศึกษาและเผชิญการสืบค้นตามหลักวิชาการทางประวัติศาสตร์  อันจะนำเข้าสู่วิวัฒนาการทางการศึกษาแบบรอบด้าน     หลักฐานนำเสนอใหม่ที่มีความขัดแย้งที่น่าสนใจ “นำสู่การเผชิญการสืบค้นและศึกษา” อาศัยหลักวิชาการทางประวัติศาสตร์ โดยยึดแนวทาง คือ
                    1.  หลักทางนิรุกติศาสตร์
                    2.  หลักทางโบราณคดี
                    3. หลักทางวัฒนธรรมประเพณี
                    4.  หลักทางสังคมและมานุษยวิทยา

          จากการสืบค้นแล้วพบหลักฐานทางโบราณคดีที่ยังมิได้ศึกษา  ปรากฏว่า  ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือหนองแตระ (ภูมิบ้านเจ็ก) ระยะทางประมาณ 1,500 เมตร ที่ริมฝั่งลำห้วยเหนือ ที่ GPSบนGoogle Map : 14.727566, 104.195525 หรือที่พิกัด14°43'39.2"N 104°11'43.9"E  มีปราสาทซึ่งเป็นเทวสถานโบราณ  รูปร่างสัณฐานประสาทโดยรวม เป็นลักษณะสี่เหลี่ยม ด้านในกว้าง 5 x 5 เมตร สร้างจากหินทรายและศิลาแลง ส่วนด้านนอกเป็นกำแพงศิลาแลง  แต่ถูกทำลายลงเพราะถูกขุดหาวัตถุโบราณ ทำให้ปราสาทได้รับความเสียหายและศิลาแลงตกกระจัดกระจาย  ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงมีหินทรายและศิลาแลงปรากฏยังคงเหลืออยู่จำนวนหนึ่ง

พิกัดที่ตั้งของปราสาทสี่เหลียมโบราณ(ตวลตวาย หรือ กัลตวลตวาย หรือ โตลศวาย)ที่สร้างจากหินทรายและศิลาแลง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ GPSบนGoogle Map : 14.727566, 104.195525 หรือที่พิกัด  14°43'39.2"N 104°11'43.9"E 
สภาพโดยทั่วไปของปราสาทสี่เหลียมโบราณ(ตวลตวาย หรือ กัลตวลตวาย หรือ โตลศวาย)ที่สร้างจากหินทรายและศิลาแลง
(ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560 โดยนายสุเพียร  คำวงศ์ )
ก้อนหินศิลาแลงที่ยังคงหลงเหลืออยู่ที่บริเวณปราสาทโบราณแห่งนี้
ก้อนหินทรายและศิลาแลงที่ยังคงหลงเหลืออยู่ที่บริเวณใจกลางปราสาท
คันคูน้ำที่ยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ด้านที่เหนือของตัวประสาท
         และที่ปราสาทแห่งนี้เอง ก็ยังพบฐานโยนีทำด้วยหินทราย(ฐานโยนี : คือฐานที่สร้างขึ้น หรือเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิง ซึ่งรองรับศิวลึงค์ เป็นสัญลักษณ์ที่ไม่มีรูปของพระอุมาพระผู้เป็นพลัง(ศักติ) และเป็นชายาของศิวะ(พระอิศวร)อยู่ในผังรูปทรงสี่เหลี่ยม สี่เหลี่ยม  สันนิษฐานว่า ปราสาทโบราณแห่งนี้ น่าจะสร้างพร้อมปราสาทสระกำแพงน้อย ที่อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เพราะเป็นศิลาแลงคล้ายคลึงกันมาก
ฐานโยนี ที่เคยตั้งอยู่ที่ปราสาทปราสาทสี่เหลียมโบราณ(ตวลตวาย หรือ กัลตวลตวาย หรือ โตลศวาย)ที่สร้างจากหินทรายและศิลาแลง  ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดเจ็กโพธิพฤกษ์อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ

          ฐานโยนี สร้างขึ้นมาเพื่อบูชาเทพเจ้าตามลัทธิศาสนาพราห์ม(ฮินดู)ในอดีต  รอบตัวปราสาท มีคันคูน้ำล้อมรอบขนาดใหญ่ลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าขวางตะวัน และพื้นที่ของหนองสะอางทั้งหมดเป็นบารายเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ของชุมชนเมืองโบราญยุคนั้น  ซึ่งเมื่อก่อนปี พ.ศ. 2500 ปราสาทโบราณแห่งนี้ ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์มาก สภาพป่าโดยรอบตัวปราสาทรกมาก ทำผู้คนไม่กล้าเข้าไปใกล้  เพราะมีความศักดิ์สิทธิ์มาก แต่ต่อมาประมาณปลายปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา มีการลักขุดวัตถุโบราณเพื่อนำไปขายต่อให้ต่างชาติ  ทำให้ปราสาทแห่งนี้ มีสภาพชำรุดทรุดโทรมลงมาก  ประกอบกับชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงในยุคนั้นก็ต่างพากันไปขนเอาหินทรายมาทำหันลับมีดเพื่อใช้ในครัวเรือน และต่อมาเจ้าของที่นาใกล้ ๆ ก็บุกเข้าไปทำนา จนกลายสภาพโล่งเตียน  แต่ก็ยังคงมีร่องรอยหลักฐานความเป็นปราสาทหินโบราณปรากฏอยู่ให้เห็นได้ถึงปัจจุบัน
สภาพที่นาบริวณใกล้ๆปราสาทสี่เหลียมโบราณ ถูกไถจนโล่งเตียนมากในปัจจุบัน
(ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560 โดยนายสุเพียร  คำวงศ์ )
           และห่างออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทโบราณ เป็นระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร มีภูมิบ้านเก่าในภาษากวยเรียกว่า "กัลตวลตะวาย"ในภาษาเขมร เรียกว่า “ภูมิตวลตวาย” (ตวล ออกเสียงว่า ​/tuəl/ เป็นคำภาษาเขมร แปลว่า เนิน หรือที่ดอน , ตวาย เป็นคำที่ปู่ย่าตายายในอดีตออกเสียงเพี้ยนมาจากคำภาษาเขมรโบราณว่า ศวฺาย ออกเสียงว่า /svaay/​ เป็นคำภาษาเขมรแปลว่า มะม่วง เพราะมองอักษร ศ โบราณในจารึกโบราณ โดยเข้าใจผิดว่าเป็นตัว ต ที่ได้จารึกไว้ในแผ่นหิน(ปัจจุบันหายไปแล้ว)ว่า

อ่านว่า ภูมิโตลศวาย ซึ่งเมื่อเราแปลรวมความก็จะได้ว่า "ดอนมะม่วง" นั่นเอง ) ตั้งอยู่ริมร่องน้ำแขนงห้วยเหนือ ที่แยกจากห้วยเหนือบริเวณบ้านบก (ผ่านสะพานตาอุ่น บ้านแทรง) ไหลผ่านภูมิบ้านเก่านี้ และไหลลงห้วยเหนือ สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเส้นทางพายเรือของหลวงปราบ(พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ 2 หรือเชียงขันธ์)ในอดีต เพื่อไปหานางคำเวียงที่บ้านบกได้ง่าย ซึ่งมีระยะทางโดยประมาณ 3 กิโลเมตร


ข้อสันนิษฐานจากหลักฐานโบราณคดี
               "ภูมิตวลตวาย"(ภาษาเขมร) หรือ "กัลตวลตะวาย"(ภาษากวย) หรือ ภูมิโตลศวาย(ตามจารึกบนแผ่นหินที่มีผู้เคยพบ)จึงน่าจะเป็น บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน เป็นภูมิบ้านเก่าแก่ เคยพบอิฐและหินโบราณอยู่ลักษณะเป็นเนินสูงตั้งอยู่ริมร่องน้ำเล็กๆแขนงลำห้วยเหนือ มีพื้นที่ของหนองสะอางทั้งหมดเป็นบารายเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ของชุมชนเมืองโบราญยุคนั้น และมีพื้นที่กว้างใหญ่สามารถตั้งเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ได้ เดิมบริเวณเมืองขุขันธ์เต็มไปด้วยป่าลำดวน ชาวบ้านมักใช้ไม้ลำดวนมากรองทำเป็นหญ้าคา ใช้มุงหลังคาบ้านเรือน ตอนหลังลำดวนลดน้อยลงเกือบสูญพันธุ์ แต่ยังคงปรากฏมีอยู่ในป่าวัดบ้านสะอางบ้างเล็กน้อย ทุกวันนี้ ภูมิตวลตวาย กลายสภาพเป็นที่ทำนาและสวนของชาวบ้านเจ๊กอยู่หลายครอบครัว 


เหตุผลสำคัญที่มีความขัดแย้งทางวิชาการ       

      
1. เมืองขุขันธ์ดั้งเดิมประกอบด้วยชนชาติพันธ์เขมรเป็นหลัก รองลงมาเป็นชนชาติพันธุ์กวย  ชาวบ้านในสมัยพระยาขุขันธ์ในยุคต้น ๆ ล้วนใช้ภาษาเขมรในการสื่อสาร  และมีจารีตประเพณีละเอียดอ่อนแบบเขมรโบราณ และได้สืบทอดติดต่อกันมาถึงทุกวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 250 ปี(นับจาก พ.ศ.2302) ภาษาเขมรยังคงไม่สูญหายไปจากเมืองขุขันธ์  แม้ทุกวันนี้จะมีภาษาที่สองเข้ามาเป็นจำนวนมากก็ตาม  จึงเป็นเหตุผลที่ชัดเจนว่า เมืองขุขันธ์ หรือบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนในอดีต น่าจะอยู่ในบริเวณ “ภูมิตวลตาวาย” มิได้ย้ายมาจาก “บ้านดวนใหญ่” ตามที่นักประวัติศาสตร์บางท่านสรุป  เพราะบ้านดวนใหญ่มีแต่คนลาว  ไม่มีคุ้มใดในละแวกใกล้เคียงใช้ภาษาเขมรอยู่เลย  แม้โดยทั่วไปบ้านดวนใหญ่มีลักษณะคล้ายเป็นเมืองเก่าที่สมบูรณ์ ตั้งอยู่ริมห้วยคล้า(ไม่น่ากันดารน้ำ) สันนิษฐานได้ว่า “บ้านดวนใหญ่” น่าจะเป็นเมืองเก่าของชาวลาวที่อพยพเข้ามาจากจำปาศักดิ์  หรือเวียงจันทร์ในตอนปลายกรุงธนบุรีและตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์     และประการสำคัญคือ  “บ้านดวนใหญ่” ไม่มีปราสาทเก่าแก่อยู่ในย่านนั้นเลย  นอกจากสระน้ำที่ดูคล้ายว่าจะมีมาแต่โบราณ และมีลักษณะคล้ายคูเมืองสองชั้นแบบเมืองโบราณเท่านั้นเอง

         2. เหตุผลด้านการครองเรือนของหลวงปราบ (พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ 2 หรือเชียงขันธ์)  คือ ในปี 2319 หลวงปราบ ได้ร่วมทัพไปทำสงครามเวียงจันทน์ ได้รับชัยชนะ  และเมื่อกลับมาได้หญิงหม้ายชาวลาวผู้สูงศักดิ์มาเป็นภรรยา   ชื่อนางคำเวียง และมีลูกติดแม่ชื่อ “ท้าวบุญจันทร์” มาด้วย  ครั้นมาถึงเมืองขุขันธ์  ก็ได้นำภรรยาชาวลาวไปไว้ที่บ้านบก (ปัจจุบันคือคุ้มในวัง บ้านบก  มีต้นโพธิ์ใหญ่เป็นสัญลักษณ์ และมีวัดที่ตั้งขึ้นโดยคนลาวกลุ่มนี้ชือว่าวัดบกจันทนคร เป็นอนุสรณ์ของชาวเวียงจันทน์) และขณะนั้นยังไม่ได้ย้ายเมือง  เพราะพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ) ท่านยังคงมีชีวิตอยู่  ดังนั้น ข้อสันนิษฐาน การที่หลวงปราบได้ภรรยาใหม่มา โดยธรรมชาติน่าจะซ่อนภรรยาไว้ไม่ห่างไกลจากบ้านนัก หากว่าตัวเองยังอยู่ที่บ้านดวนใหญ่ ให้ภรรยามาอยู่บ้านบกซึ่งมีระยะห่างกันประมาณ 30 กิโลเมตร ต้องเดินทางข้ามวันข้ามคืนจึงจะมาหาภรรยาได้ แต่ถ้ามีบ้านอยู่ที่ “ภูมิตวลตาวาย” ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านบก โดยประมาณ 3 กิโลเมตรนั้น ก็จะสามารถมาหาภรรยาใหม่ได้ง่าย จึงเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากกว่า ซึ่งถ้ากล้าวกันตรงๆแล้ว "บ้านบก" ในอดีต กับ"บ้านดวนใหญ่" ไม่มีสายใยญาติผูกพันกันเลยจริงๆ

         3. สภาพเมืองขุขันธ์ โดยทั่วไปมีคูเมืองและแหล่งน้ำล้อมรอบ ด้านตะวันตกจะเป็นลำห้วยเหนือซึ่งมีน้ำอุดมสมบูรณ์ ด้านตะวันออกจะเป็นหนองแตระและหนองสะอาง ซึ่งเป็นหนองขนาดใหญ่เหมาะแก่การตั้งเมือง

          4. มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เก่าแก่ปรากฎมากมายในเมืองขุขันธ์  เช่น หลวงพ่อโต วัดเขียน ซึ่งเกิดก่อนตั้งเมืองขุขันธ์ วัดไทยเทพนิมิตร เคยเป็นที่พักกองทัพไทยคราวศึกสงคราม และปราสาทกุด วัดเจ๊ก หรือ ปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนโบราณที่สร้างด้วยอิฐ ที่วัดเจ็ก 
ปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนโบราณที่สร้างด้วยอิฐ  ตั้งอยู่ ณ วัดเจ็กโพธิพฤกษ์
อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ
        5. มีหลักฐานและแหล่งเลี้ยงช้างของพระยาขุขันธ์หลายแห่ง เช่นที่บ้านจันลม บ้านพะเยียวตาสุ และป่าบ้านแทรง มีผู้เลี้ยงช้างของพระยาขุขันธ์ เคยได้อาศัยอยู่ที่นั่น เป็นต้น

เหตุผลการย้ายเมือง

           ชัยภูมิที่ตั้งเมืองเดิมไม่เหมาะสม  มีแหล่งน้ำขนาดเล็กตื้นเขิน เพราะเป็นเพียงร่องน้ำ(แขนงของห้วยเหนือ)  และค่ายคูเมืองไม่เหมาะแก่การตั้งเมืองใหญ่  เลื่อนออกมาตั้งเมืองใหม่ที่บริเวณใกล้ๆปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนโบราณที่สร้างด้วยอิฐ ของภูมิบ้านเจ็กในอดีต (ชื่อบ้านเจ๊กนี้เรียกขึ้นภายหลัง) ถึงบ้านภูมิ  ซึ่งมีชัยภูมิเป็นเนินสูง ตั้งอยู่ริมหนองแตระซึ่งเป็นหนองขนาดใหญ่  อยู่ห่างจากที่ตั้งเดิมประมาณ 2,500 เมตร โดยเป็นการย้ายข้ามจากฝั่งทิศตะวันตกของลำห้วยเหนือมาอยู่ด้านฝั่งทิศตะวันออก  และเหตุผลสำคัญประการหนึ่ง  คือ เจ้าเมืองคนเดิมคือ พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ) ถึงแก่อนิจกรรมลง จึงเลื่อนที่ตั้งเมืองใหม่มาตั้งในที่เหมาะสมกว่า  

สภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์ ขอกราบขอบพระคุณผู้ให้ความร่วมมือด้านข้อมูลในการสืบค้น ดังนี้
    1.  นายเผด็จ  เจริญศรีเมือง 
ข้าราชการบำนาญ อายุ 63 ปี
    2. นายชุบ  จันทรชิต  ข้าราชการบำนาญ 
        ที่ปรึกษาเทศบาลตำบลห้วยเหนือ อายุ 70 ปี
    3. นายนุช  ไชยโพธิ์  
อดีตผู้ใหญ่บ้านเจ็ก อายุ 80 ปี
    4. นายขวัญชัย  ไชยโพธิ์  อดีต ผอ.ร.ร.นิคม 4 
        ชาวบ้านเจ็ก อายุ 54 ปี
    5. พระภิกษุตึ๋ง เจริญศรีเมือง
 วัดบ้านเจ็ก  อายุ 60 ปี
    6. พระแก้ว  ศรีสุพรรณ พุทธสถานที่พักสงฆ์พิหารภูมิตราง
ตรวจ/ทาน : นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ ,26 มีนาคม 2560.

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย