-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

เหตุการณ์ในเมืองขุขันธ์ ครั้งสยามพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศส

       เนื่องจากสยาม(ชื่อเรียก ประเทศไทย ขณะนั้น)เสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศส ในสมัยรัชกาลที่ 5  สยามเราก็คอยโอกาสที่จะเรียกร้องเอาดินแดนกลับคืนอยู่ตลอดเวลา สยามเราก็ขอปรับปรุงเส้นกั้นพรหมแดนระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศศ  ให้มีความยุติธรรม  เวลาล่วงเลยมาจนถึงต้นปี พ.ศ. 2483  ฝรั่งเศสขอร้องให้เราสัตยาบันแก่สนธิสัญญาไม่รุกรานตามที่สัญญาทำไว้ สยามเราก็ยินดีที่จะให้สัตยาบัน ถ้าฝรั่งเศสปรับปรุงเส้นกั้นพรมแดนด้วยความยุติธรรม และยกดินแดนบางส่วนให้แก่เราเสียก่อน  ฝรั่งเศสไม่ยอม มิหนำซ้ำยังนำทหารรุกรานดินแดนของเราอีกด้วย  ศึกพิพาทระหว่างสยามกับอินโดจีนฝรั่งเศสก็เกิดขึ้น ณ จุดนี้เอง

       สยามเรารู้เค้าว่า สักวันหนึ่งการรุกรานของอินโดจีนฝรั่งเศส  จะรุนแรงตามลำดับ สยามเราก็จัดทัพ โดยมีกองบัญชาการทหารสูงสุดอยู่ที่พระนคร จัดตั้งกองทัพบูรพาที่จังหวัดปราจีนบุรี ให้ดูแลชายแดนภาคตะวันออก  และได้ตั้งกองทัพขึ้นมาอีก  ประจำอยู่จังหวัดนครราชสีมา  มีหน้าที่รับผิดชอบชายแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ซึ่งทั้งกองทัพปราจีนบุรี และกองทัพนครราชสีมา ต่างก็รวบรวมกำลังทหารจากจังหวัดต่าง ๆ เข้าที่ประชุมพลตามชายแดนอย่างแน่นหนา  เครื่องบินฝรั่งเศสมาทิ้งลูกระเบิดที่จังหวัดปราจีนบุรีหลายครั้ง  และที่อำเภออรัญประเทศก็บ่อย ๆ  ส่วนมากจะมาทิ้งระเบิดในเวลากลางคืน  นอกจากนี้  ก็ยังบินไปทิ้งระเบิดที่จังหวัดนครพนม  ไทยเราใช้ปืนต่อสู้อากาศยานซึ่งมีอยู่ไม่กี่กระบอกทั้งไฟฉายส่องดูเครื่องบินประกอบการยิงก็มีจำนวนจำกัด ฝรั่งเศสเขาส่งฝูงบิน  บินลาดตระเวนชายแดน ฝูงบินสยามก็บินลาดตระเวนทั้งกลางวันและกลางคืนเช่นเดียวกัน  วิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณา (กรมประชาสัมพันธ์ ในขณะนั้น)  โดยมีนายมั่นและนายคง เป็นโฆษก  ต่างโฆษณาออกอากาศว่ามีกองทัพต่างชาติล่วงล้ำอธิปไตย  สยามก็ยิงโต้ตอบอย่างหนัก ทำให้ฝ่ายตรงข้ามล้มตายเป็นจำนวนมาก ใช้สงครามจิตวิทยาประกอบด้วย  สถานีวิทยุที่ไซง่อน ซึ่งเป็นของฝรั่งเศสโฆษกมีนามแฝง  นายน้ำมันก๊าด  พูดภาษาไทยไม่ชัดเจน  ประกาศออกข่าวโต้ตอบสยามอยางรุนแรง
    กรณีสยามพิพาทกับอินโดจีนฝรั่งเศสในครั้งนั้น  เดือดร้อนถึงเมืองขุขันธ์อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง  ผู้คนเดือนร้อนไปทั้งเมือง  เคยทำมาหากินตามปกติ  ก็ชะงักลงแบบกระทันหัน  ข้าวในไร่ในนายืนต้น  ชูรวงสุกเหลืองอร่ามเต็มทุ่งนา  หามีเจ้าของไปเก็บเกี่ยวไม่  แต่ละคนสาละวนอยู่กับหาทางหลบหนีภัย  ไม่มีเวลาที่จะเก็บเกี่ยว  วัว  ควาย  หมู  เป็ด  ไก่  ปล่อยทิ้งไว้ตามยถากรรม  บางตัวก็เข้าคอกเอง  เข้าเล้าเอง  ไม่มีโจรผู้ร้าย  กลางวันกลางคืนเงียบสงัดราวกับเป็นป่าช้า  แม้แต่หมาเองก็ไม่มีเวลาเห่าหอน  เพราะมันติดตามเจ้าของไปอยู่ในป่า  ผู้คนขณะนั้นมีการเตรียมตัวหลบภัย  โดยหุงข้าวตากให้แห้งใส่ถุงใส่กะโลง(ลังไม้ฉําฉา/หีบไม้)มากเท่าไรยิ่งดี  เพื่อแบกหามไปกินเอาดาบหน้า เก็บข้าวของมีค่าทั้งหลายทั้งปวงเข้าหีบห่อ  แม้แต่ฝังไว้ใต้ดินก็มี  มอบหมายแต่ละหีบแต่ละห่อให้ลูกหลานรับผิดชอบ  กล่าวคือพร้อมจะหนีได้ทุกเวลาถ้าภัยมาถึงตัว  หนีไปแบบไม่มีจุดหมายปลายทาง แต่ส่วนมากอยู่ในป่าทางทิศตะวันตกบ้านแทรง  และป่าละเมาะริมฝั่งห้วยเหนือ  ทางเหนือและทางทิศใต้
    วิธีหลบภัย  กำนันและผู้ใหญ่บ้านตีกลองตีเกราะบอกลูกบ้านให้ขุดหลุมหลบภัย  ประจำบ้านใครบ้านมัน  ห้ามจุดไฟและก่อไฟในยามค่ำคืน  หลังคาบ้านของใครที่มุงด้วยสังกะสี  ให้ตัดใบมะพร้าวทางมะพร้าวมาปกปิดให้มิดชิด  ฝาผนังตึกรามบ้านช่อง  หรือกำแพงบ้านให้เอาสีดำทาให้หมด  มิฉะนั้นมีความผิด  แม้แต่กำแพงตึกของศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขุขันธ์ ซึ่งเป็นสีขาวก็ถูกทาด้วยสีดำ  ให้หุงข้าวกินแต่หัววัน  สิ่งของที่มีค่าพยายามเก็บไว้ในตัว  หากต้องเกิดบ้านแตกสาแหรกขาด  ต้องอพยพไปไกล ๆ  จะได้เอาของมีค่าพวกนี้ขายเพื่อเลี้ยงครอบครัว  โรงเรียนปิดไม่มีกำหนด  ไม่มีการเรียนการสอนเมื่อเหตุการณ์ปกตินักเรียนทุกคนจะได้เลื่อนชั้นโดยไม่มีการสอบ

        เครื่องบินทิ้งระเบิดของฝรั่งเศส ส่วนมากจะบินมาทิ้งระเบิดในเวลากลางคืน  คืนหนึ่งเวลาประมาณ 4 ทุ่ม  เครื่องบินของฝรั่งเศสบินไปทิ้งลูกระเบิด ซึ่งคนขุขันธ์ สมัยนั้น เรียกว่า "ลูกแตก"(เกรื๊อบ-แบก)  คืนนี้แหละคุณพ่อคุณแม่ลืมปลุกผู้เขียน  คุณพ่อคุณแม่หนีไปถึงป่าละเมาะริมห้วยใกล้บ้านก่อและบ้านแขว  จึงรู้ว่าลืมผู้เขียนอยู่บ้าน  คุณพ่อรีบกลับมาเอาผู้เขียน เมื่อผู้เขียนตื่นขั้นด้วยความตกใจคุณพ่อพาผู้เขียนเดินทางกลับไปยังป่าละเมาะริมห้วยด้วยอาการรีบเร่งเร้าร้อน  ผู้เขียนเห็นหน้าคุณแม่ก็ดีใจใหญ่  สักครู่ใหญ่ ๆ ก็เสียงดังขึ้นเป็นระยะ ๆ แรงระเบิดกระเทือนถึงผู้เขียนขณะนั่งในป่าก้นกระดกขึ้น  ขนาดเมืองขุขันธ์กับศรีสะเกษห่างกัน 49 กิโลเมตร  แรงระเบิดยังกระเทือนถึงกันได้  แสดงว่าลูกระเบิดมีอานุภาพแรงมาก  รุ่งเช้าได้รับฟังสถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาการกระจายเสียงออกอากาศโดยโฆษก นายมั่นและนายคง เรามีเครื่องรับวิทยุจากกรมโฆษณาการอยู่เครื่องหนึ่ง  ซึ่งติดตั้งอยู่ด้านมุมอาคารที่ทำงานของอำเภอขุขันธ์ในครั้งโน้น ว่าลูกระเบิดทิ้งที่เรือนจำและวัดพระโตหลายลูกมีการเสียหายเล็กน้อย  ผู้คนปลอดภัยทุกคนไม่มีการตายและบาดเจ็บ

       ลูกระเบิดถูกทิ้งที่ทุ่งนาบ้านแดง  คืนหนึ่งเดือนหงายพระจันทร์เต็มดวงเวลาประมาณสองทุ่มกว่า ๆ  ขณะนั้นทางอำเภอขุขันธ์ กำลังดูละครร้องประกอบดนตรีไทย  เนื่องในงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ ผู้คนกำลังสนุกสนานเพลิดเพลินกับตัวละคร หนุ่ม ๆ ต่างก็นั่งคุยกับสาว  แม่ค้าข้าวหลาม  ส้มตำ  ถั่วลิสงต้ม  ขนมครก  ขนมเรียงเม็ด  ขนมหูช้าง  อย่างมันปาก  ทันใดนั้น  เครื่องบินบินโฉบมาในระยะต่ำแทบจะชนหลังคาโรงเรียนศรีประชานุกูล  ช่วงพริบตาไฟดับหมดผู้คนรีบหนีสุดชีวิตทุกสิ่งเงียบสงัด  เสียงเครื่องบินบินวนไปมาเหนือเมืองขุขันธ์  ประมาณ 10 นาที  มันบินกลับข้ามภูเขาดงรักไปยังประเทศเขมร  รุ่งเช้าขึ้นมาผู้คนต่างพูดว่า  มีคนพบลูกระเบิดโตเท่ากับปลีกล้วยที่ทุ่งนาบ้านแดง สถานีตำรวจส่งตำรวจจำนวนหนึ่งไปเก็บกู้ระเบิดมาไว้ที่สถานีตำรวจ  ผู้เขียนได้ไปดูกับเขาเห็นโตเท่าปลีกล้วยเป็นสีแดง

        เหตุการณ์ครั้งนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า ด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ และอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อหลักเมืองขุขันธ์พรางตาไม่ให้เห็นเมืองขุขันธ์ ต่างพากันเซ่นบวงสรวงด้วยอาหารคาวหวาน  หมู  เป็ด  ไก่  อธิษฐานให้ลูกหลานปลอดภัยจากศึกสงครามครั้งนั้น  มีแต่ความสุข

ขอบพระคุณผู้เขียน : นายนิติภูมิ  ขุขันธิน,2547.
ผู้ตรวจ/ทาน : นายสุเพียร  คำวงศ์,2556.

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย