ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

กรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส

          ในปี  พ.ศ.  2505  สมัยที่ นายรังสรรค์  รังสิกุล  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ  ศาลโลกได้ตัดสินให้ประเทศไทยยกปราสาทเขาพระวิหาร  ที่อยู่ในเขตตำบลบึงมะลู  อำเภอกันทรลักษ์  จังหวัดศรีสะเกษ  ตกเป็นของกัมพูชา  นับเป็นการเสียดินแดนครั้งสุดท้ายของประเทศไทย  การเสียเขาพระวิหารนั้นเป็นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของโลกเหตุการณ์หนึ่ง  เนื่องจากเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลโลก   ซึ่งขณะนั้น มีเหตุการณ์ดังกล่าวไม่มากนัก  และเป็นเหตุการณ์เดียวในประเทศไทย มีลำดับความเป็นมาโดยสรุป  ดังนี้ 
          วันที่  11  สิงหาคม  พ.ศ.  2506  สมเด็จพระเจ้านโรดมสีหนุ  กษัตริย์แห่งประทศกัมพูชา  ทำสัญญายกเขมรให้เป็นของฝรั่งเศส
          วันที่  7  ธันวาคม  พ.ศ.  2406  มีการทำสนธิสัญญาลับระหว่าง  ราชอาณาจักรสยาม  กับสหราชอาณาจักรกัมพูชา  ยืนยันว่า  กัมพูชาเป็นเมืองขึ้นของราชอาณาจักรสยาม 
          วันที่  15  กรกฎาคม  พ.ศ.  2410  มีการทำสัญญาระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศส    โดยพระเจ้าแห่งกรุงสยาม  ยอมรับว่ากรุงกัมพูชาเมืองในอารักขาของฝรั่งเศส
          วันที่  10  ตุลาคม  พ.ศ.  2436  ราชอาณาจักรสยาม  ทำสนธิสัญญายกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง และเกาะแก่งต่างๆ  ให้แก่ฝรั่งเศส
          พ.ศ.  2442  พระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์  เสด็จเขาพระวิหาร  ทรงขนานนามว่า "ปราสาทพรหมวิหาร" ซึ่งต่อมาเรียกกันทั่วไปว่า "ปราสาทพระวิหาร" ซึ่งพระองค์ได้จารึก ร.ศ. และพระนามไว้ที่บริเวณชะง่อนผาเป้ยตาดีว่า "118 สรรพสิทธิ" 
          วันที่  13  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2447  ฝรั่งเศสทำสนธิสัญญากับราชอาณาจักรสยาม  ยอมยกเมืองหลวงพระบาง  บนฝั่งขวาแม่น้ำโขง  และเมืองมโนไพร  ดินแดนทางใต้ของภูเขาพนมดงเร็ก  ให้แก่ฝรั่งเศส  แลกกับจันทบุรี  ( จันทบูร )  ที่ฝรั่งเศสยึดไว้ 
          วันที่  29  มิถุนายน  พ.ศ.  2447  มีการทำสนธิสัญยาเพิ่มเติม  โดยราชอาณาจักรสยามเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส ระหว่างทะเลสาบและทะเลหลวง 
          วันที่  23  มีนาคม  พ.ศ.  2450  มีการทำสนธิสัญญาระหว่าง  ราชอาณาจักรสยาม  กับฝรั่งเศส  โดยราชอาณาจักรสยามยอมยกดินแดน พระตะบอง เสียมราช และศรีโสภณ  ให้แก่ฝรั่งเศส  เพื่อแลกกับเมืองด่านซ้าย  และเมืองตราด  และเกาะทั้งหลายที่อยู่ภายใต้แหลมลิง  ไปจนถึงเกาะกูดให้แก่สยาม 
          วันที่    30  มกราคม  พ.ศ.  2472  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  นายกบัณฑิตสภา  ได้เสด็จปราสาทเขาพระวิหาร  มี  เรสิดัง  กำปงธม  แต่งเครื่องแบบเต็มยศมาคอยรับที่บันไดขึ้นเขาพระวิหาร  มีการชักธงฝรั่งเศส  ในกลางเขาพระวิหารด้วย  จึงสร้างความไม่พอใจแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพอย่างยิ่ง 
          วันที่  11  ตุลาคม พ.ศ.  2483  กรมศิลปากรของราชอาณาจักรไทยได้ประกาศขึ้นทะเบียน  ปราสาทเขาพระวิหาร  เป็นโบราณสถาน  ในราชกิจจานุเบกษา
          ปี  พ.ศ.  2484  ญี่ปุ่นซึ่งทำสงครามอินโดจีน  ชนะฝรั่งเศสได้ยกดินแดนบางส่วนรวมทั้งปราสาทเขาพระวิหารคืนให้แก่ไทย  เป็นผลให้เกิดจังหวัดจำปาศักดิ์  จังหวัดพระตะบอง  จังหวัดพิบูลสงคราม  ดินแดนเขาพระวิหารไม่ต้องสงสัยว่าอยู่ในดินแดนของกัมพูชา  และสมเด็จพระเจ้านโรดมสีหนุ  เริ่มมีบทบาทในการเมืองในกัมพูชา  หลังสงครามโลกครั้งที่  2
          พ.ศ.  2492  ฝรั่งเศสและกัมพูชาคัดค้านอำนาจอธิปไตยของไทยเหนือปราสาทเขาพระวิหารอย่างเปิดเผย   และประท้วงไทยไม่ให้ส่งคนไปรักษาเขาพระวิหาร  หลังจากที่ไทยไม่ยอมรับคำแนะนำของคณะกรรมการประนีประนอม   ณ  กรุงวอชิงตัน  ณ  สหรัฐอเมริกา  เมื่อ  ปี  พ.ศ.  2450  ทำให้สัมพันธภาพระหว่างไทยกับกัมพูชาเสื่อมทรามลงตลอดเวลา 
          ปี  พ.ศ.  2501  กระทรวงโฆษณาการของกัมพูชาพิมพ์เผยแพร่บทความ  สรุปว่า  ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา  ตามอนุสัญญาฉบับวันที่  13  กุมภาพันธ์  พ.ศ.  2447  อันได้รับการยืนยันจากสนธิสัญญา    ฉบับลงวันที่  23  มีนาคม  พ.ศ.  2450  สนธิสัญญานี้กลับบังคับใช้อีกตามข้อตกลงที่  กรุงวอชิงตัน  เมื่อ  พ.ศ.  2479
          วันที่  4  สิงหาคม  พ.ศ.  2501  ประเทศไทยประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน  ทางชายแดนด้านกัมพูชา  รวม  6  จังหวัด  ได้แก่  จังหวัดจันทบุรี  จังหวัดสุรินทร์  จังหวัดบุรีรัมย์  จังหวัดศรีสะเกษ  จังหวัดเดชอุดม  และจังหวัดอุบลราชธานี  สื่อมวลชนทั้งสองประเทศมีการโจมตีกันอย่างกว้างขวางและรุนแรงขึ้น 
          วันที่  1  ธันวาคม  พ.ศ.  2501  รัฐบาลกัมพูชาประกาศตัดความสัมพันธไมตรีทางการฑูตกับ สหราชอาณาจักรไทย  หลังจากที่การเจรจาด้วยสันติวิธีไม่ได้ผล 
          วันที่  6  ตุลาคม  พ.ศ.  2502  รัฐบาลกัมพูชาได้ยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ   โดยขอให้ศาลวินิจฉัย  ให้ราชอาณาจักรไทยถอนกำลังและอาวุธจากบริเวณเขาพระวิหาร  ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า  อธิปไตยเหนือเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา 
          วันที่  4  ธันวาคม  พ.ศ.  2502  ราชอาณาจักรไทยประกาศขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานแห่งชาติอีกครั้งหนึ่ง  ตามประกาศฉบับที่  2  ลงวันที่  4  ธันวาคม  พ.ศ.  2502  ทั้งมีแผนที่แสดงเขาพระวิหารแนบท้ายด้วย 
          โดยรัฐบาลไทยออกแถลงการณ์  อ้างข้อกำหนดในสนธิสัญญา  พ.ศ.  2447  ต้องใช้สันกันน้ำอันเป็นเขตแดนธรรมชาติซึ่งจะทำให้เขาพระวิหารเป็นของไทย  แต่กัมพูชาอ้างแผนที่ที่ได้จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการผสมตามสนธิสัญญา  พ.ศ.  2447  ซึ่งมีพลเอกหม่อมชาติเดชอุดม  เป็นประธานกรรมการฝ่ายไทย  และพันโทแบร์  นารถ  เป็นกรรมการฝ่ายฝรั่งเศส  แล้วส่งให้ฝ่ายไทย  50  ฉบับ  สมเด็จน้องยาเธอสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย   ทรงตอบรับเมื่อ  พ.ศ.  2451  และทรงขอแผนที่ฉบับนี้เพิ่มอีก  15  ฉบับ  เพื่อแจกเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นฝ่ายไทย  แสดงว่าไทยยอมรับแผนที่นี้
ม.ร.ว.  เสนีย์  ปราโมช  เป็นทนายแก้ต่างให้ฝ่ายไทย  ในกรณีพิพาทเป็นคดีขึ้นสู่ศาลโลก 
          วันที่  15  มิถุนายน    พ.ศ.  2505  ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก  ได้พิจารณาลงความเห็นด้วยคะแนนเสียง  9  ต่อ  3  ว่า  ซากปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา  ทั้งนี้เป็นไปตามแผนที่  ซึ่งฝรั่งเศสทำตามสนธิสัญญา  พ.ศ.  2447  และ  พ.ศ.  2450         โดยอาศัยเหตุผลว่า  ราชอาณาจักรไทย  เพิกเฉยมิได้ประท้วงแผนที่ดังกล่าวนั้น  ส่วนฝ่ายไทยยืนยันตลอดมาว่า  รัฐบาลไทยถือสันปันน้ำเป็นเขตแดนตามข้อกำหนด  ในสนธิสัญญาทุกฉบับ 
          วันที่  15  กรกฎาคม  พ.ศ.  2505  รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย  ( พลเอกประพาส  จารุเสถียร )  ได้กล่าวคำปราศรัยที่จำต้องสละอธิปไตยเหนือเขาพระวิหาร  และทำการรื้อถอนทุกสิ่งออกนอกเขตรวมทั้งเคลื่อนย้ายเสาธง  รวมทั้งธงชาติ  จากหน้าผาเป้ยตาดี  นำลงโดยไม่มีการลดธงลงจากยอดเสาแต่อย่างใด  พื้นที่บริเวณเขาพระวิหารที่ได้เสียไปเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู  พื้นที่ประมาณ   50  ไร่  เพื่อให้เข้าใจกรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร   จึงขอนำคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีเขาพระวิหารให้ได้ใหทราบ ดังนี้

กรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร  พิจารณาเชิงกฎหมายโดยศาลโลก 

    คดีเขาพระวิหารซึ่งกัมพูชาเป็นโจทย์ยื่นฟ้องไทยต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ  หรือศาลโลกเป็นเรื่องของการอ้างอธิปไตยของคู่กรณีเหนือดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของซากปราสาทเขาพระวิหารนี้
สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่  10  ตั้งอยู่บนเหลี่ยมเขา  ซึ่งเป็นผืนดินที่ต่อเนื่องออกไปจากแผ่นดิน  ของประเทศไทย  ในบริเวณเทือกเขาดงรัก  และหักลงสู่พื้นที่ราบลุ่มในกัมพูชาซึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับเขาพระวิหารมาก 
    ก่อนหน้าที่กัมพูชาจะเสนอข้อพิพาทให้ศาลโลกพิจารณา  สนธิสัญญาลงวันที่  15  กรกฎาคม  ค.ศ.  1867  ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสได้ แบ่งเส้นเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน  ให้อยู่ต่ำลงไปทางทิศใต้ของเทือกเขาดงรัก   กล่าวคือเป็นเขตแดนที่อยู่ต่ำกว่าบริเวณซากปราสาทเขาพระวิหาร  ต่อมาฝรั่งเศสเห็นว่าการปักปันเส้นเขตแดนตามสนธิสัญญา  ปี  ค.ศ.  1867  นี้ยังดีพอ  ประกอบกับขณะนั้นอังกฤษและฝรั่งเศสสามารถตกลงแบ่งเส้นอิทธิพลของกันและกันในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้  ตามคำแถลงการณ์ร่วมลงวันที่  15  กรกฎาคม  ค.ศ.  1896  ฝรั่งเศสจึงหยิบยกเรื่องขึ้นขอเปิดการเจรจากับสยามเพื่อขอเลื่อนเส้นเขตแดนให้ขึ้นมาทางเหนือของเทือกเขาดงรัก  โดยฝ่ายสยามยอมสละดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสตามอนุสัญญา  ฉบับวันที่  13  กุมภาพันธ์  ค.ศ.  1904  และสละอธิปไตยเหนือดินแดนหลวงพระบาง  เสียมราฐ  และศรีโสภณ  ให้ฝรั่งเศสอีกครั้งหนึ่งตามอนุสัญญา  ฉบับลงวันที่  23  มีนาคม  ค.ศ.  1907  เพื่อแลกเปลี่ยนกับการสิ้นสุดของสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและรับตราดกับปราจีนบุรีคืนจากฝรั่งเศส
    อนุสัญญาฉบับปี  ค.ศ.  1904  มิได้กำหนดเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนไว้อย่างละเอียดภาคีคู่สัญญาเพียงแต่ระบุให้ใช้แนวเส้นสันปันน้ำเป็นหลักในการแบ่งเส้นเขตแดนลงบนแผนที่  ดังข้อความที่ปรากฏอยู่ในข้อ  1  และข้อ  3  ของอนุสัญญาว่า 
    "ข้อ  1  เขตแดนระหว่างประเทศสยามกับประเทศกัมพูชาเริ่มต้นบนฝั่งซ้ายของทะเลสาบจากปากแม่น้ำสะตุง  โรลูโอส ……..ฯลฯ…….จนกระทั่งถึงทิวเขาดงรัก  จากที่นั้นเส้นแบ่งเขตแดนคือ  สันปันน้ำระหว่างลุ่มน้ำของแม่น้ำเสน  และแม่น้ำโขง  กับแม่น้ำมูล  อีกด้านหนึ่ง………." 
   
     "ข้อ  3  ให้มีการปักปันเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรสยามกับดินแดนที่ประกอบเป็นอินโดจีนฝรั่งเศสการปักปันนี้ให้กระทำโดยคณะกรรมการผสม  ประกอบด้วยพนักงานซึ่งประเทศภาคีทั้งสองแต่งตั้ง  งานของคณะกรรมการจะเกี่ยวข้องกับเขตแดนส่วนที่กำหนดไว้ในข้อ  1  และ  ข้อ  2……….
    คณะกรรมการผสมฯ  จึงได้ดำเนินงานปักปันเส้นจนเกือบจะเสร็จสยามกับฝรั่งเศสได้ชิงลงนามอนุสัญญาปี  ค.ศ.  1907  จึงยังมิได้ทำแผนที่สมบูรณ์ให้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายลงนามรับรองแต่อย่างใด  ต่อมา  ฝรั่งเศสได้ดำเนินการตีพิมพ์แผนที่ซึ่งรัฐบาลสยามยังมิได้รับรองอย่างเป็นทางการนั้น  โดยได้จัดพิมพ์แต่เพียงฝ่ายเดียวที่กรุงปารีสแล้วจึงส่งแผนที่จำนวน  11 ท่อนมาให้รัฐบาลสยามในจำนวนนี้มีแผนที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับดินแดนบริเวณเขาพระวิหารด้วยฉบับหนึ่ง  รัฐบาลสยามมิได้รับรองแผนที่ดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษร   เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น  กัมพูชาจึงนำแผนที่มาประกอบคำฟ้องในภาคผนวก  1  ของตนต่อศาลโลก  จึงเรียกกันโดยทั่วไปว่า    "แผนที่ภาคผนวกฉบับที่  1"  แผนที่ฉบับนี้คลาดเคลื่อนจากบทบัญญัติในข้อ  1  ของอนุสัญญาปี  ค.ศ.  1904  ดังปรากฏในผลการพิสูจน์  จากผู้เชี่ยวชาญแผนที่ของคู่พิพาท  ดังนี้      ประเด็นสำคัญของศาลโลกจะต้องพิจารณาก็ คือ  การจัดพิมพ์แผนที่ดังกล่าวโดยการกระทำฝ่ายเดียวของฝรั่งเศสมีผลผูกพันทางกฎหมายต่อรัฐภาคีหรือไม่  ศาลยุติธรรมได้ลงความเห็นว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งเขาพระวิหาร  โดยอาศัยหลักเหตุผลสองประการดังต่อไปนี้  คือ  ผลผูกมัดของแผนที่ภาคผนวกที่  1  ต่อฝ่ายไทยและท่าทีที่ขัดแย้งต่อคำให้การในชั้นศาลของฝ่ายไทย 
    เหตุผลหลักที่สนับสนุนอธิปไตยของกัมพูชา  ผลผูกมัดของแผนที่ภาคผนวกที่ 1  เหตุผลหลักที่สนับสนุนอธิปไตยของกัมพูชา ได้แก่คุณค่าของตัวเองในแผนที่  ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในแผนที่ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐภาคี 
         1)  คุณค่าของแผนที่ในตัวเอง  อนุสัญญาฉบับปีที่  ค.ศ.  1907  กำหนดให้คู่ภาคีตั้งคณะกรรมการปักปันเขตแดนในเทือกเขาดงรักด้านตะวันออก  รวมทั้งเขาพระวิหารด้วย  แต่ปรากฏว่า  คณะกรรมการชุดที่  2ไม่เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องปักปันเส้นเขตแดนในบริเวณเขาพระวิหารอีก  การกระทำนี้อาจจะตีความในทางกลับกันได้ว่า  คณะกรรมการผสมชุดที่  2  เห็นว่าเส้นเขตแดนที่ถูกปักปันตามอนุสัญญาปี  ค.ศ.  1904  นั้นมีความชัดเจนอยู่แล้วจึงไม่จำเป็นต้องมาปักปันซ้ำอีก  ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าการปักปันเส้นเขตแดนในสมัยของคณะกรรมการผสมชุดที่  1  นั้นถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ 
         ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเห็นของศาลโลกเองนั้น  ศาลเห็นว่าในลักษณะที่มองเห็นได้ในระยะแรก  แผนที่ของภาคผนวกที่  1  เป็นเพียงผลการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคซึ่งไม่ได้รับการรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรจากคณะกรรมการผสมชุดที่  1  และไม่มีเอกสารทางราชอื่นใดที่พิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า  แผนที่ภาคผนวกที่  1  นั้น  เป็นผลงานโดยชอบของคณะกรรมการผสมชุดที่  1  ดังนั้นศาลจึงต้อง  "สรุปว่าในระยะเริ่มแรกและในขณะที่แผนที่ถูกจัดทำขึ้น  ( ค.ศ. 1907 )  แผนที่นั้นไม่มีลักษณะที่จะผูกมัดรัฐภาคี"            
         2)  ความผิดพลาด ( error )  ที่เกิดขึ้นในแผนที่  ศาลโลกยอมรับว่า  แผนที่ภาคผนวกที่  1  คลาดเคลื่อนไปจากแนวสันปันน้ำที่อนุสัญญา  ค.ศ.  1904  กำหนดเอาไว้  อย่างไรก็ดี  ถึงแม้นว่ามีการปักปันเส้นเขตแดนแผนที่ภาคผนวกที่  1  จะมิได้เป็นผลงานของคณะกรรมผสมชุดที่  1  ก็ตาม  แต่ข้อเท็จจริงก็คือ  " รัฐบาลมีอำนาจที่จะรับรองผลการปักปันเส้นเขตแดนที่คลาดเคลื่อนจากแนวสันปันน้ำ ( ซึ่งอนุสัญญาปี  ค.ศ.  1904  บัญญัติไว้ )  กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ  การรับรองแผนที่ภาคผนวกที่  1  โดยรัฐบาลคู่พิพาทเป็นความตกลงระหว่างประเทศคู่สัญญาปี  ค.ศ.  1904  นั่นเอง "            
          3)  โดยที่รัฐบาลมิได้ทำการทักท้วงข้อผิดพลาดดังกล่าวขณะที่  และภายหลังจากที่ฝรั่งเศสได้ส่งแผนที่ภาคผนวกที่  1  มาให้สยามพิจารณา  ฝ่ายไทยจึงมิอาจอ้างเรื่องการทำแผนที่ผิดพลาดจากข้อความในอนุสัญญา  เพื่อกำจัดผลผูกมัดของแผนที่ฉบับนี้  กล่าวคือ นัยหนึ่งก็คือ เมื่อรัฐบาลสยามและรัฐบาลไทยในสมัยต่อมานิ่งเฉยไม่แสดงท่าทีคัดค้านเส้นเขตแดนที่ฝรั่งเศสตีพิมพ์ขึ้นทั้งที่ฝ่ายไทยสามารถจะหลีกเลี่ยงได้  หรือเมื่อฝ่ายไทยอยู่ในสถานการณ์ที่จะสามารถรับรู้ได้ว่าอาจจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น  การนิ่งเฉยของฝ่ายไทยนั้นเป็นการกระทำที่มีส่วนก่อให่เกิดความผิดพลาด  ( error )   นี้ขึ้นมา            
          4)  คุณค่าของแผนที่ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐภาคี  ศาลโลกได้วิเคราะห์ว่าข้ออ้างที่ฝ่ายไทยว่า  ฝ่ายไทยมิได้เคยให้คำรับรองเป็นลายลักษณ์อักษรแก่แผนที่ภาคีภาคผนวก  1  นั้น  เป็นข้ออ้างที่ไม่สามารถรับฟังได้  เพราะตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า  ฝ่ายไทยได้รับเอาแผนที่ดังกล่าวจากฝรั่งเศสจำนวน  50  ชุด  และยังได้ขอเพิ่มจากรัฐบาลฝรั่งเศส  15  ชุด  เพื่อจะนำไปแจกจ่ายให้กับข้าหลวงประจำจังหวัดอีกด้วย  ต่อมาในเดือนมีนาคม ค.ศ.  1909  คณะกรรมการจัดทำแผนที่ประเทศสยามก็ยังได้ประชุมกันที่กรุงเทพฯ เพื่อจัดทำแผนที่ประเทศสยามฉบับย่อโดยใช้แผนที่ภาคผนวกที่  1  นี้เป็นแม่แบบ  ฯลฯ  ดังนั้น  ถึงแม้ว่าฝ่ายไทยจะไม่ได้ให้คำรับรองเป็นลายลักษณ์อักษร  แต่การประพฤติปฏิบัติของฝ่ายไทยก็ส่อเจตนาที่จะยอมรับโดยพฤตินัยต่อเส้นเขตแดนในบริเวณเขาพระวิหารที่ตีพิมพ์ลงในแผนที่ฉบับนั้นมาโดยตลอดฝ่ายไทย "ได้ให้ความยินยอมโดยการนิ่งเฉยแล้ว  ดังภาษิตลาติน ที่ว่า  ผู้ที่เงียบเฉยอยู่ย่อมถือเสมือนได้ว่ายินยอม  ถ้าเขามีหน้าที่จะพูด  ( Qui  tacet  consentire  videtur  si  logui  debsset  ac  pothisset )    ศาลโลกได้ยึดท่าทีของฝ่ายไทยเป็นเกณฑ์ในการตัดสินคดีนั้น  เพราะสภาพของสังคมระหว่างประเทศมีลักษณะค่อนข้างจะเป็นอนาธิปไตย  ปราศจากการปกครองตามลำดับ  ( hierarchie )  ที่พบได้เฉพาะในโครงสร้างของสังคมภายในประเทศ  ดังนั้นศาลโลกจึงไม่มีหน้าที่จะต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องแบบฟอร์มของการให้ความยินยอมหรือตกลงใจ( Consent )  ของรัฐระดับเดียวกับที่ศาลภายในให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ตามระบบของกฎหมายภายใน          
           นอกจากเหตุผลหลักคือ  การยอมรับแผนที่ภาคผนวกที่  1  โดยพฤตินัยของฝ่ายไทยมีเหตุทำให้ฝ้ายไทยแพ้คดีไปแล้ว  ศาลโลกก็ได้ให้เหตุผลสำรองไว้เพื่อยืนยันว่า  ประเทศไทยไม่มีอธิปไตยเหนือดินแดนในบริเวณนี้
    เหตุผลอันดับรองที่สนับสนุนอธิปไตยของฝ่ายกัมพูชาต่อท่าทีของฝ่ายไทย  นอกจากเหตุผลดังกล่าว  ซึ่งทำให้ฝ่ายไทยต้องผูกพันกับแผนที่แล้ว  ศาลโลกยังได้ให้เหตุผลสนับสนุนอันดับรองลงมาอีกประการหนึ่ง  คือ ท่าทีที่ขัดแย้งกันเองในข้อต่อสู้ของฝ่ายไทย   ศาลโลกได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับท่าทีของประเทศไทยระหว่างปี  ค.ศ.  1909  ถึง  ค.ศ.  1954  เพื่อลงความเห็นว่าประเทศไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลงท่าทีดังกล่าวจึงเป็นการยอมรับสภาพเดิม  ( Status  quo )  ของเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก  1  มาโดยตลอด  เช่น  ในปี  ค.ศ.  1934  เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของไทยได้ค้นพบว่ามีความผิดพลาดในเรื่องการเขียนตำแหน่งของลำน้ำเสน ( O'Tasem)  ลงในแผนที่  แต่ก็มิได้ทำการประท้วงในระดับระหว่างประเทศแต่อย่างใดในทำนองเดียวกัน  ความตกลงฉบับลงวันที่  17 พฤศจิกายน ค.ศ.1934 ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสก็ได้จัดตั้งคณะกรรมการประนีประนอมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้  ของการทบทวนเส้นเขตแดนไทย - อินโดจีน  ประเทศไทยได้ขอให้ทบทวนเส้นเขตแดนหลายจุด  ยกเว้นส่วนที่เป็นข้อพิพาทนี้อีกประการหนึ่งเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของฝ่ายไทย  คือ  สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จไปสำรวจทางโบราณคดีของเขพระวิหาร  ฝรั่งเศสได้ตั้งกองทัพรับเสด็จ  แต่ฝ่ายไทยมิได้มีปฏิกิริยาโต้ตอบเพื่อคัดค้านอธิปไตยของฝรั่งเศสเหนือเขาพระวิหาร         ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะอ้างว่า  รัฐบาลของตนมิได้ทำการประท้วงเพราะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นได้ครอบครองดินแดนส่วนนี้อย่างบริสุทธิ์ใจ ( bona  fide )  คือ  การปกครองโดยการเชื่อมั่นว่า  ดินแดนนี้อยู่ภายใต้อธิปไตยของตนมาโดยตลอด  แต่ศาลโลกก็เห็นว่า  " เป็นการยากที่ศาลจะยอมรับว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจะสามารถลบล้างท่าทีของรัฐบาลไทยซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลง "    ดังนั้นจะเห็นได้ว่า  คำพิพากษาของศาลโลกได้นำเอาหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความของกลุ่มประเทศแองโกล - แซกซอน ( Anglo - Szxon  )  มาปรับใช้กับคดีนี้  หลักดังกล่าวได้แก่  หลักกฎหมายปิดปาก  หรือที่เรียกว่า  เอสตอปเปิล ( Estopple )  ซึ่งเป็นวิธีพิจารณาความที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความบริสุทธิ์ใจ  เปิดโอกาสให้คู่ความใช้วิธีการนี้ปิดปากฝ่ายตรงข้าม  เมื่อฝ่ายหลังให้การขัดแย้งกันเองศาลโลกไม่ได้ใช้สำนวนเอสตอปเปิลนี้โดยตรง  แต่กลับหลีกเลี่ยงไปใช้คำว่า  " preclusion "  แทน คำพิพากษาของศาลโลกฉบับนี้ตัดสินใจให้เขาพระวิหารอยู่ในดินแดนใต้อธิปไตยของกัมพูชา  ด้วยคะแนนเสียง  9  ต่อ 3  นับเป็นคำพิพากษาที่เอนเอียงไปทางอนุรักษ์นิยมอีกฉบับหนึ่งของศาลโลก 
          นอกจากเหตุผลทางกฎหมายข้างต้นแล้ว    คำพิพากษานี้ยังแฝงไว้ด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างประเทศเอาไว้อีกด้วย  ศาลยอมรับว่าแผนที่ภาคผนวกที่  1  มีผลผูกมัดประเทศไทย โดยการยอมรับของฝ่ายไทยเองทั้ง ๆ  ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านแผนที่ของรัฐคู่พิพาทต่างยอมรับว่าแผนที่ดังกล่าวผิดพลาดไปจากตัวบทของอนุสัญญาปี  ค.ศ.  1904  แต่ศาลก็พิพากษาให้คงเส้นเขตแดนตามแผนที่นั้นไว้  เพราะเกรงว่าคำพิพากษาในแนวตรงข้ามจะเป็นคดีบรรทัดฐานสำหรับประเทศอื่น ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปี  ค.ศ.  1960  เป็นระยะที่มีบรรดารัฐเอกราชเกิดใหม่จากดินแดนภายใต้อาณานิคมเป็นจำนวนมาก    โดยเฉพาะทวีปในแอฟริกา  ท่าทีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจึงมีความสำคัญยิ่งในอันที่จะรักษาเสถียรภาพและความปลอดภัยระหว่างประเทศไว้  โดยการรักษาสถานภาพเดิมของเส้นเขตแดน 

ขอบพระคุณผู้เขียน : นายนิติภูมิ  ขุขันธิน,2547.
ผู้ตรวจ/ทาน : นายสุเพียร  คำวงศ์,2556.


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย