-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

เสือยง หรือ ตังเคายง-ชุมโจรแห่งเมืองศรีสะเกษ

             ปี พ.ศ. 2437  ซึ่งตรงกับเมืองศรีสะเกษที่มีเจ้าเมืองชื่อ พระวิเศษภักดี (ท้าวโท)  ซึ่งเป็นเจ้าเมืองศรีสะเกษท่านที่ 4 ซึ่งตรงกับสมัยเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9  อำมาตย์ตรี พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา หรือ ปัญญา  ขุขันธิน) โดยมีคณะอาญาสิทธิ์ ผู้ปกครองเมืองขุขันธ์ ในขณะนั้นประกอบด้วย
              1.  ท้าวปัญญา หรือ ปัญญา  ขุขันธิน  ซึ่งมีบรรดาศักดิ์ในราชทินนาม  อำมาตย์ตรี  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์  
              2.  ท้าวทองคำ  มีบรรดาศักดิ์ราชทินนาม  พระสุนทรบริรักษ์  ตำแหน่งปลัด เมืองขุขันธ์  
              3.  ท้าวบุญมี  หรือ  บุญมี  ขุขันธิน  มีบรรดาศักดิ์ ราชทินนาม  หลวงสุรัตนามัย  ดำรงตำแหน่งยกบัตรเมืองขุขันธ์ (ต่อมาได้เป็นนายอำเภอขุขันธ์  เป็นท่านแรก)
              4.  ท้าวบุญมี มีบรรดาศักดิ์ราชทินนาม  พระพิไชย  ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์
  
             ทั้งนี้แม้อำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองอยู่ที่เจ้าเมืองขุขันธ์ก็จริงแต่ในยุคสมัยนั้น ยังมีตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการประจำเมืองขุขันธ์อยู่ด้วย คือ พระยาบำรุงบุรประจันต์จางวาง   (จันดี หรือ จันดี  กาญจนเสริม)  กำกับดูแลเมืองขุขันธ์และเมืองบริเวณ   ตลอดจนกองนอก มีอำนาจปกครองที่สูงกว่าอีกชั้นหนึ่งด้วย (ทำให้การบันทึกประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์  สลับสับสน  ในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งที่เจตนาเบี่ยงเบนและความเข้าใจคลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง ) 

             สำหรับเรื่องราวเกี่ยวกับเสือยง ขุนโจรแห่งเมืองศรีสะเกษนั้น ได้มีการเล่าขานสืบต่อกันมาว่า “เสือยง” เป็นขุนโจรแห่งเมืองศรีสะเกษหรือในนามหนึ่งที่ภาษาเขมรเรียกคือ “ตังเคายง”  เป็นหลานของพระวิเศษภักดี (ท้าวโท)  เจ้าเมืองศรีสะเกษ  เคยรับราชการ แต่ถูกให้ออกจากราชการ จึงได้ไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์เรียนเวทย์มนต์คาถาอาคมทางไสยศาสตร์จากอาจารย์ ในเขตพื้นที่เมืองขุขันธ์ ทั้งอาจารย์ที่เป็นพระภิกษุ ทั้งอาจารย์ที่เป็นฆราวาส ต่างก็ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้เสือยงอย่างเต็มภูมิ  เนื่องจากเห็นว่าเสือยงเป็นบุตรหลาน เจ้าเมืองศรีสะเกษ  อาจารย์ที่พอจะกล่าวถึงก็มี  ตาเถื่อน  บ้านเจ็ก หลวงทิพย์โภชน์ บ้านสะอาง เป็นต้น เมื่อมีเวทย์มนต์คาถาแก่กล้าแล้วก็ได้ตั้งตัวเป็นหัวหน้าโจรซ่องสุม ผู้คนมีบริวารมากมาย มีช้าง ม้า  เป็นพาหนะออกปล้นฆ่า จนถูกจับในคดีฆ่าคนตาย  ถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต โดยส่งไปจำคุกอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี  แต่จำคุกได้ไม่นานก็ได้ใช้วิชาเวทย์มนต์ทางไสยศาสตร์สามารถรูดโซ่แหกคุกหนีออกมาจากเมืองอุบลได้แล้วก็มารวบรวมสมัครพรรคพวกออกปล้นฆ่าชาวบ้านอย่างหนักขึ้นกว่าเดิม สร้างความเกรงกลัวให้กับชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง ทำให้เจ้าหน้าที่ของเมืองศรีสะเกษและเจ้าหน้าที่จากเมืองอุบลต้องร่วมมือช่วยกันปราบปรามแต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งและจับเสือยงได้ ทำให้เสือยงและสมุนเหิมเกริมหนักขึ้นออกปล้นจี้แย่งชิงเอาทรัพย์สิน ชาวบ้านในท้องที่เมืองศรีสะเกษไม่พอ  ยังได้ออกกระทำการในหมู่ชาวบ้านในเขตแดนเมืองขุขันธ์อีกด้วย ซึ่งยากที่จะปราบได้ เจ้าเมืองศรีสะเกษ จึงได้มีหนังสือถึงอำมาตย์ตรี พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าวปาน หรือ ปัญญา  ขุขันธิน)  เจ้าเมืองขุขันธ์ในขณะนั้นให้ช่วยปราบเสือยง  เพราะเจ้าเมืองศรีสะเกษทราบดีว่าผู้ที่มีวิชาอาคมเก่งกล้าเหนือกว่าพอที่จะต่อกรกับเสือยงได้ คงไม่มีใครนอกจากเจ้าเมืองขุขันธ์ เมื่อมีการร้องขอ  เจ้าเมืองขุขันธ์  จึงตอบรับที่จะช่วยเพราะเสือยงปล้นฆ่าข้าม  เข้ามาในเขตแดนเมืองขุขันธ์เช่นกัน โดยเจ้าเมืองขุขันธ์ได้เชิญเหล่าบรรดาพระอาจารย์จากเมือง ขุขันธ์ช่วยอีกแรงหนึ่ง เพราะเจ้าเมืองขุขันธ์ก็พอทราบกิตติศัพท์ความเก่งกล้าทางวิชาอาคมของเสือยงเป็นอย่างดี แต่จำเป็นต้องปราบให้ได้ เพื่อความไม่ประมาท เจ้าเมืองขุขันธ์ได้เชิญอาจารย์ทางไสยศาสตร์ของเมืองขุขันธ์ รวมทั้งอาจารย์ที่เสือยงเคยเป็นศิษย์ด้วย โดยได้กระทำกรรมพิธี  คัดเรียกวิชาอาคมออกจากร่างของเสือยงเป็นเวลา 7 วัน 7  คืน  เมื่อเหล่าอาจารย์ผู้ร่วมกรรมพิธีมีความแน่ใจแล้วว่าวิชาอาคมถูกคัดออกจากร่างเสือยงจนหมดสิ้นแล้ว เจ้าเมืองขุขันธ์จึงให้อาจารย์หาฤกษ์ยามเพื่อออกไปปราบเสือยงทันที
  
             โดยเจ้าเมืองขุขันธ์  อำมาตย์ตรี พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 (ท้าวปัญญา) ได้ใช้ช้างเป็นพาหนะ ใช้ปืนคาบศิลาเป็นอาวุธในการออกไปปราบเสือยงในครั้งนี้  โดยมีการแต่งช้างศึกที่มีการผูกเครื่องรางของขลัง ประเจียด ตะกรุด  พิสมรที่คอช้าง  เมื่อได้เวลาอันเป็นฤกษ์ยามดีแล้ว  เจ้าเมืองขุขันธ์ก็ได้นำคณะออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่สู่เขตเมืองศรีสะเกษทันที โดยที่เจ้าเมืองขุขันธ์ ได้ทราบข่าวจากชาวบ้านว่า กลุ่มเสือยงกำลังออกปล้นชาวบ้านอยู่พอดี จึงสั่งให้คณะได้เร่งเดินทาง เพื่อให้ทันเหตุการณ์ ในที่สุดกองกำลังเจ้าเมืองขุขันธ์ เดินทางเข้าเขตแดนเมืองศรีสะเกษก็ได้เกิดการเผชิญหน้ากับกองโจรเสือยง ณ ทางทิศตะวันตกของบ้านดวนใหญ่  ในเวลาพลบค่ำใกล้จะมืดพอดี ( ปัจจุบันเป็นที่ตั้งอำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ )  เจ้าเมืองขุขันธ์ได้ร้องบอกให้  เสือยงมอบตัว โทษหนักก็จะได้เบาลง แต่เสือยงไม่ฟังเสียงได้สั่งสมุนโจรยิงเข้าใส่พระยาขุขันธ์ฯ ทันที เสียงปืนดังกึกก้องไปทั่วบริเวณแถบนั้นเป็นเวลาไม่นานนักเสียงปืนก็เงียบสงบลง  โดยที่ฝ่ายเจ้าเมืองขุขันธ์และกำลังพลไม่มีใครได้รับบาดเจ็บและอันตรายใด ๆ  เลย

             เมื่อเสียงปืนจากกลุ่มโจรเสือยงสงบลงแล้ว พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9  จึงร้องบอกเสือยงอีกครั้งว่า  ยิงพอแล้วหรือยัง  ถ้ายิงพอแล้วก็ให้มอบตัว แต่ก็ไม่มีเสียงตอบจากกลุ่มเสือยง พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนเกรงว่าเสือยง จะหลบหนีไปได้ จึงตัดสินใจใช้อาวุธปืนคู่กายชื่อ ปืนคาบศิลายิงใส่เสือยง  พร้อมทั้งสั่งกองกำลังระดมยิงอาวุธใส่กลุ่มเสือยงทันที พอสิ้นเสียงปืนคาบศิลาของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนแล้ว ร่างของเสือยงก็ร่วงตกจากคอช้างเสียชีวิตทันที ทำให้สมุนโจรของเสือยงที่ยังมีรอดชีวิตอยู่ตกตะลึงแตกตื่นวิ่งหนีเอาตัวรอดไปคนละทิศละทางอย่างไม่คิดชีวิต เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้เรื่องราวและความโหดร้ายของเสือยงผู้มากด้วยเวทย์มนต์คาถาอาคมของขลังแห่งเมืองศรีสะเกษ  ต้องจบชีวิตลงด้วยฝีมือ  เจ้าเมืองขุขันธ์  อำมาตย์ตรี  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา  ขุขันธิน)  เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 9 นี้เอง และได้นำศพเสือยงไปมอบให้เจ้าเมืองศรีสะเกษ  ตัดศรีษะแล้วแห่ประจานรอบเมืองและเสียบประจาน ณ สี่แยกไปเมืองขุขันธ์

             ดังนั้น  เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้ระลึกถึงเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านนี้ที่มีบารมีและสร้างคุณงามความดีให้แก่ชาวขุขันธ์ โดยเฉพาะท่านเป็นผู้อุปถัมภ์ในการสร้างวัดกลางมาในอดีตอีกทั้งเป็นผู้ปราบเสือยงได้ โดยเมื่อพระครูโสภิตธรรมขันธ์ (หลวงตาเอี้ยง) เป็นเจ้าอาวาสวัดกลาง (อัมรินทราวาส)  ท่านได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น (หลังที่เห็นในปัจจุบัน) ท่านจึงได้ให้ปั้นรูปหุ่น อำมาตย์ตรี  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา หรือ ปัญญา  ขุขันธิน)  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9       ในท่านั่งบนหลังช้างถือปืนคาบศิลาขนาดเท่าตัวจริง ที่คอช้าง ผูกเครื่องรางของขลัง โดยหุ่นปั้น  ได้ตั้งอยู่ ณ หน้าอุโบสถหลังใหม่  แต่ฝีมือในการปั้นไม่ค่อยจะเหมือนตัวจริงและไม่ประณีตนัก  แต่รูปปั้นนี้กลับมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์อย่างยิ่งสำหรับลูกหลานชาวเมืองขุขันธ์  

             อนึ่ง วัดกลางนี้ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2429 โดยขณะนั้น พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา หรือ ปัญญา ขุขันธิน ) เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์  โดยการสนับสนุนของพระยารัตนโกศา (จันดี)  ปลัดเมืองขุขันธ์  (พ่อตา) พร้อมทั้งกรมการเมืองและราษฎรได้พร้อมใจกันและให้ถือเป็นวัดประจำเมือง เป็นที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาแทนวัดจันทร์นคร (วัดบก) จึงทำให้วัดกลางอัมรินทราวาสนี้  เป็นวัดใหญ่และเจริญรุ่งเรืองตราบเท่าทุกวันนี้

ขอบพระคุณผู้เรียบเรียง : นายนพคุณ  ภักดีทวนทอง และนายนิติภูมิ ขุขันธิน(2547) 



ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย