ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

ดาบประจำตำแหน่งเมืองขุขันธ์


           คำว่า “ดาบประจำตำแหน่ง”  ไม่ทราบว่าเรียกถูกหรือผิด  แตผู้เขียนเองเข้าใจว่าคงเป็นเครื่องประดับอย่างหนึ่งของเจ้าเมืองสมัยก่อน  ที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้เป็นเครื่องประดับยศหรือ  มีความดีความชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง  ผู้เขียนเคยเห็นดาบฝักเงินหนึ่งเล่ม  และกระบี่หนึ่งเล่มที่บ้านนาย  เสงี่ยม  ศรีสุภาพ  (ท่านมีศักดิ์เป็นลุงของผู้เขียน)  ท่านบอกผู้เขียนว่าอีกหนึ่งเล่มคือ  ฝักทอง  ดาบฝักทองนั้นผู้เขียนไม่เห็นเนื่องจากอยู่ในครอบครองของ   นายเมธี  ศ. ศรีสุภาพ  อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก   ดาบฝักเงินฝักทองชุดนี้ตกทอดมาทาง  ขุนศรีสุภาพพงษ์  (บุญนาค  ศรีสุภาพ)  ซึ่งเป็นบุตรเขยพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา)

              ดาบโบราณอีกหนึ่งชุดซึ่งปัจจุบันคงตกทอดอยู่กับทายาทของท่านกำนันพิมพ์สวรร์ค์ ขุขันธิน อดีตกำนันตำบลห้วยเหนือ  ผู้เรืองวิชาไสยศาสตร์  สามารถเลี้ยงดูกุมารทองได้  ท่านกำนันพิมพ์สวรรค์  เป็นบุตรของ หลวงสุระรัตนมัย  (บุญมี  ขุขันธิน)  อดีตนายอำเภอคนแรกของเมืองขุขันธ์   

 

               และที่จะขอกล่าวถึงดาบสำคัญอีกเล่มหนึ่ง  คือ  ดาบพระพิชัย  ราชวงษา (บุญมี  ศรีอุทุมพร)  ท่านเป็นอดีตนายอำเภอคนหนึ่งของเมืองขุขันธ์  ผู้เขียนได้รับรู้เรื่องดาบพระพิชัยจากญาติผู้ใหญ่ของผู้เขียนท่านเคยได้รับฝากดาบเล่มนี้ไว้จาก  คุณยายบัว  แก้วศรีอุทุมพร  ต่อมาลูกชายของคุณยายบัวแก้วคือ  นายซ่อนกลิ่นได้มาขอรับดาบเล่มนี้กลับคืนไป  เมื่อนายซ่อนกลิ่นถึงแก่กรรมแล้ว  เรื่องดาบพระพิชัยก็ไม่มีใครกล่าวถึงอีกเลยเรื่องดาบโบราณที่ผู้เขียนกล่าวถึงทั้งหมดนี้  ล้วนเป็นดาบอาถรรพ์ผู้มีอำนาจและบารมีเท่านั้นจึงจะครอบครองได้  ผู้เขียนได้รับรู้เรื่องดาบจากญาติผู้ใหญ่และโดยเฉพาะจากปู่ของผู้เขียนเอง  ซึ่งท่านเป็นน้องชาย  ขุนศรีสุภาพพงษ์  ก่อนจบเรื่องดาบ  ผู้เขียนขอนำพระราชประวัติบางตอนของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ  สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 1  เกี่ยวกับเรื่องดาบดังนี้

              กล่าวกันว่า  พระแสงดาบที่พระองค์ทรงใช้ฆ่าฟันข้าศึกศัตรูในยามมีศึกสงครามอย่างโชกโชนนั้น  พระแสงดาบซึ่งเคยได้ดื่มเลือดข้าศึก  บางครั้งจะร้อนจนไม่อาจจับต้องได้  เจ้าพนักงานต้องอันเชิญลงสรงในน้ำจึงจะคลายความร้อนลงได้  ต่อมาเมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วพระองค์ได้ถวายพระแสงดาบเป็นราวเทียน  เพื่อเป็นพุทธบูชาในพระพุทธศาสนา    เนื่องจากผู้เขียนได้ค้นคว้าเรื่องของพระพิมพ์พระโคนสมอที่มีการพบเมื่อคราวซ่อมแซมบูรณะพระราชวังบวรสถานมงคล  ในโอกาสครบรอบ 150 ปี  ของกรุงรัตนโกสินทร์  และได้กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ด้วย

               ปัจจุบันทางรัฐบาลได้หล่อรูปพระองค์ท่านในท่ายืนพนมมือ  ถือดาบเป็นพุทธบูชา  (พระราชวังบวรสถานมงคลก็ คือพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติในปัจจุบัน)



               คุณยายบุษบา  ศรีเมือง  อาศัยอยู่บ้านเลขที่  140 หมู่ 12  ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์  เล่าให้ฟัง ว่า ดาบที่ท่านเก็บรักษาอยู่  มี  2  เล่ม  คือ ดาบตัวผู้และดาบตัวเมีย ดาบตัวผู้ใช้ประหาร    ส่วนดาบตัวเมียไม่ทราบ  (ลักษณะตัวผู้ยาวกว่าดาบตัวเมีย) เป็นดาบประจำตำแหน่งเจ้าเมืองขุขันธ์ (ท่านที่ 9)  มีหอก  ด้ามยาว 1  เล่ม (ไว้ใช้รบบนหลังช้าง)  และมีดาบสั้น  1  ตัว เป็นดาบประจำตัวท่าน   คุณยายบอกว่า เดิมที ด้านทิศตะวันตกบ้านบกไปจดลำห้วยเหนือ  เป็นวังของเจ้าเมืองขุขันธ์ แต่ปัจจุบันเป็นที่มีเจ้าของครอบครองหมดแล้ว  ทิศใต้ติดถนนไปบ้านแดง  มีต้นไทรที่ขึ้นจากยอดเสาโอบครอบเสาเอกของบ้านเจ้าเมืองปัจจุบันยังคงอยู่



ขอบพระคุณผู้เขียน
:
นายนพคุณ  ภักดีทวนทองและนายเผด็จ  ศรีเมือง,2547.

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย