-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอังคารที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2556

ความเดิมในการตั้งเมืองขุขันธ์ พ.ศ.2302-2459

ความเดิมในการตั้งเมืองขุขันธ์ 

               ปี พ.ศ. 2302 ในรัชสมัยพระที่นั่งสุริยาอัมรินทร์  หรือพระเจ้าเอกทัศน์ แห่งกรุงศรีอยุธยา  ช้างเผือกแตกโรงหนีมุ่งเข้าป่าไปทางเมืองพิมาย  รัตนบุรี สังขะ ขุขันธ์ พระเจ้าเอกทัศน์ให้ทหารคู่พระทัยตามช้างสำคัญมา โดยให้หัวหน้าชาวเขมรป่าดงร่วมมือช่วยเหลือ เมื่อทำงานสำเร็จได้นำช้างคืนสู่พระนครศรีอยุธยา ต่างได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นบำเหน็จรางวัล คือ
               ตากะจะ เป็นหลวงแก้วสุวรรณ  หัวหน้านายกองหมู่บ้าน “ปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน”
               เชียงขันธ์ เป็นหลวงปราบ ผู้ช่วยหัวหน้าบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน
               เชียงฆะ  เป็นหลวงเพชร  บ้านอัจจะปะนึง (สังขะ)
               เชียงปุ่ม  เป็นหลวงสุรินทร์ภักดี บ้านเมืองที ภายหลังย้ายไปตั้งเมืองที่ “บันเทือยชมาร์”(สุรินทร์)
               เชียงสี (หลวงศรีนครเขต) บ้านหนองกุดหวาย เมืองรัตนบุรี
               เชียงชัย  บ้านจาระพัด (ศรีขรภูมิ)  ไม่ได้รับยศศักดิ์

           ปี พ.ศ. 2306 หัวหน้าชาวเขมรป่าดงและคณะได้พากันไปส่งส่วยยังกรุงศรีอยุธยา  จึงโปรดเกล้าให้ยกฐานะแต่ละบ้านขึ้นเป็นเมืองและพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าเมืองทุกคน  ขึ้นตรงต่อเมืองพิมาย   ตากะจะ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระไกรภักดีศรีนครลำดวน” และยกฐานะ "บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน" ขึ้นเป็น   “เมืองขุขันธ์”   เชียงขันธ์ เป็นหลวงปราบ ให้เป็นผู้ช่วยเจ้าเมืองขุขันธ์

           ระหว่างปี พ.ศ. 2319 - 2321  เกิดศึกระหว่างลาวกับไทยหลายครั้ง  ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ไทยยกทัพไปปราบ โดยมีเจ้าเมือง ขุขันธ์ สุรินทร์ สังขะ รัตนบุรี ร่วมทัพไปด้วยทุกครั้ง  ครั้นเมื่อเสร็จศึกสงคราม หลวงปราบ (เชียงขันธ์) ได้พาหญิงหม้ายชาวลาว ชื่อนางคำเวียงกลับมาด้วย และนำไปอยู่ที่บ้านบกจันทร์นคร ปัจจุบันยังเรียกว่า “คุ้มในวัง” (เขมรเรียก “ซรกกะนงเวียง” มีต้นโพธิ์ใหญ่เป็นสัญญลักษณ์ จนถึงปัจจุบัน ) ลูกที่ติดนางคำเวียงมาคือ “ท้าวบุญจันทร์” ภายหลังได้เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์คนที่สาม

               “เมืองขุขันธ์” มีความเกี่ยวข้องกับลาวและเขมรตลอดมา  ไม่ว่าด้านการศึกสงคราม หรือด้านความสัมพันธ์ระหว่างชนชาติ  มีการอพยพผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ในบริเวณเมืองขุขันธ์หลายครั้ง เกิดหมู่บ้านที่ผู้คนอพยพมาจากลาวและเขมรมากมาย  ทั้งชนเผ่าลาว  กวย  และเขมร   ได้ตั้งหลักแหล่งทำกินตามลุ่มน้ำมูล ห้วยสำราญ ห้วยทา ห้วยคล้า ห้วยแฮด  ห้วยขยุง ห้วยเหนือ ริมบึง ริมหนองน้ำขนาดใหญ่  และอาศัยตามที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์

               การศึกสงครามเป็นวีรกรรมของบรรพบุรุษ  จึงเกิดวีรชนมากมายในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าผู้นำหรือไพร่พล  หลากล้วนที่ลูกหลานต้องรำลึกถึงด้วยความภาคภูมิใจ  “เมืองขุขันธ์” ได้เข้าร่วมกรำศึกมีความชอบมากมาย จนเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน”

               ปี พ.ศ. 2321 พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ถึงแก่กรรม  จึงโปรดเกล้าแต่งตั้ง หลวงปราบ (เชียงขันธ์) เป็นพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ต่อมา และตั้งท้าวอุ่นบุตรพระยาไกรภักดี เป็นพระภักดีภูธรสงคราม ดำรงตำแหน่งปลัดเมือง
               ต่อมาพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ 2 (เชียงขันธ์)  เห็นว่าเมืองขุขันธ์  ที่ "บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนกันดารน้ำ" ไม่เหมาะกับการตั้งเมือง จึงเลื่อนที่ตั้งเมืองลงไปทางทิศใต้  ตั้งภูมิเมืองใหม่ริม “หนองแตระ” เรียกว่า "เมืองขุขันธ์"  สืบต่อประวัติการณ์แต่นั้นมา

               ในดินแดนแถบที่ราบลุ่มเทือกเขาดงรัก  "เมืองขุขันธ์" เป็นภูมิประเทศที่อุดมด้วยแหล่งน้ำและธัญญาหาร  ไม่เคยขาดจากผู้คนพำนักอาศัยเป็นที่ทำกินติดต่อกันมานับพันปี  ชนเผ่าดั้งเดิมน่าจะเป็นชาวพื้นเมืองขอมที่นับถือศาสนาพราห์มนิกายไศวะ  เคารพในพระศิวะและพระอุมา  ตามแบบพหุเทวนิยม(polytheism)  จึงมีการสร้างปราสาทและเทวาลัยเพื่อบวงสรวง  และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และยังมีความเชื่อในคัมภีร์อาถรรพเวท ผู้คนจึงเคารพในเวทย์มนต์  คาถาอาคมเป็นอัตลักษณ์ของชนเผ่าแถบภูมิภาคนี้  ดังนั้นบริเวณรอบเมืองขุขันธ์  จึงมีปราสาทโบราณ  เทวสถาน โบราณวัตถุ ทั้งที่ค้นพบแล้ว และที่ยังไม่พบ ปรากฏในบริเวณใกล้ ๆ ดังนี้

               1.ปราสาทตาเล็ง ตั้งอยู่ที่บ้านปราสาท ตำบลปราสาท อำเภอขุขันธ์  เดิมอยู่ในเขตตำบลกันทรารมย์  ที่ตั้งเมืองกันทรารมย์อยู่ระหว่างเมืองขุขันธ์ กับเมืองสังขะ       
               2.ปราสาททามจาน อยู่ในตำบลสมอ อำเภอปรางค์กู่ เดิมอยู่กับอำเภอขุขันธ์
               3.ปราสาทบ้านปราสาทใต้ ตั้งอยู่ในบ้านปราสาท ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ (ปัจจุบันเหลือเพียงฐานปราสาทและฐานโยนีพระอุมา  เก็บไว้ที่วัดปราสาทใต้)
               4.ปราสาทปรือใหญ่ อยู่ในตำบลปรือใหญ่พบฐานโยนีพระอุมา                 
               5.ปราสาทสี่เหลี่ยมโบราณเมืองขุขันธ์ (สืบค้นพบใหม่) สร้างด้วยศิลาแลง อยู่ในทุ่งนาบ้านเจ็ก ตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยเหนือ ห่างไปทางทิศเหนือบ้านเจ๊ก ประมาณ 1,000 เมตร(เดินด้วยเท้า) ถูกขุดค้นหาวัตถุโบราณพังเกือบหมด  แต่ยังคงมีแต่รูปเหลืออยู่

พิกัดที่ตั้งของปราสาทสี่เหลียมโบราณที่สร้างจากหินทรายและศิลาแลง 
อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ GPSบนGoogle Map : 14.727566, 104.195525
หรือที่พิกัด  14°43'39.2"N 104°11'43.9"E 
สภาพโดยทั่วไปของปราสาทสี่เหลียมโบราณที่สร้างจากหินทรายและศิลาแลง
(ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560 โดยนายสุเพียร  คำวงศ์ )
ก้อนหินศิลาแลงที่ยังคงหลงเหลืออยู่ที่บริเวณปราสาทโบราณแห่งนี้
ก้อนหินทรายและศิลาแลงที่ยังคงหลงเหลืออยู่ที่บริเวณใจกลางปราสาท


         และที่ปราสาทแห่งนี้เอง ก็ยังพบฐานโยนีทำด้วยหินทราย(ฐานโยนี : คือฐานที่สร้างขึ้น หรือเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิง ซึ่งรองรับศิวลึงค์ เป็นสัญลักษณ์ที่ไม่มีรูปของพระอุมาพระผู้เป็นพลัง(ศักติ) และเป็นชายาของศิวะ(พระอิศวร)อยู่ในผังรูปทรงสี่เหลี่ยม สี่เหลี่ยม  สันนิษฐานว่า ปราสาทโบราณแห่งนี้ น่าจะสร้างพร้อมปราสาทสระกำแพงน้อย ที่อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ เพราะเป็นศิลาแลงคล้ายคลึงกันมาก
ฐานโยนี ที่เคยตั้งอยู่ที่ปราสาทปราสาทสี่เหลียมโบราณที่สร้างจากหินทรายและศิลาแลง
ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดเจ็กโพธิพฤกษ์
อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ
               6. ปราสาทกุดวัดบ้านเจ็ก หรือ ปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนโบราณที่สร้างด้วยอิฐ   ตั้งอยู่ในบริเวณวัดเจ็ก อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ  ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ลงทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว
ปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนโบราณที่สร้างด้วยอิฐ  ตั้งอยู่ ณ วัดเจ็กโพธิพฤกษ์
อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ
               7. ปราสาท บ้านปราสาทเยอ ตำบลปราสาทเยอ อำเภอไพรบึง ห่างจากขุขันธ์ประมาณ 30 กิโลเมตร
               8. หลวงพ่อโตวัดเขียน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่เก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง ปัจจุบันประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดเขียนบูรพาราม ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
               9. ปราสาทปรางค์กู่ ปัจจุบันอยู่ในอำเภอปรางค์กู่ เดิมอยู่ในอำเภอขุขันธ์ ห่างจากเมืองขุขันธ์ประมาณ 30 กิโลเมตร

ขอบคุณผู้เรียบเรียง : ศิริพงษ์  ไพศาลสุวรรณ

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย