|
เมื่อกล่าวถึง "ต้นตาลเก้ายอดแห่งเมืองขุขันธ์" ยากนักที่วัยรุ่นในสมัยนี้จะรู้จัก แต่สำหรับคนวัยอายุประมาณ ๕๐ ปีขึ้นไปแถบชานเมืองขุขันธ์ ก็จะรู้จักกันดีเป็นส่วนใหญ่ "ต้นตาล ๙ ยอด ๙ พระยาแห่งเมืองขุขันธ์" เป็นต้นตาลที่มีความแปลก เพราะลำต้นเดียว แต่แตกแขนงลำต้นออกเป็น ๙ แขนง ๙ ยอด เคยมีชีวิตและยืนต้นตระหง่านร่วมสมัยมาตั้งแต่่กำเนิดเมืองขุขันธ์ ณ หมู่บ้านตาดม หมู่ที่ ๘ ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ |
เจ้าของที่ในอดีตเมื่อสมัยที่ต้นตาลเก้ายอดยังคงยืนต้นมีชีวิตอยู่ คือ นางเภา เกษหอม ช่วงนั้นมีนักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศแวะเวียนมาเที่ยวชมต้นตาลเก้ายอดเมืองขุขันธ์อย่างไม่ขาดสาย ผู้มาแวะชมต่างบริจาคค่าชมต้นตาลเก้ายอดคนละ 50 สตางค์ เพื่อเป็นค่าดูแลบำรุงรักษาตาลเก้ายอดให้คงอยู่ยืนต้นนานๆ
|
คุณพงษ์เทพ สุวรรณแสงศรี เคยได้มาเที่ยวชม ต้นตาล 9 ยอด เมื่อปี พ.ศ. 2508 |
|
นายอัน เกษหอม อายุ ๕๙ ปี(ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ นี้) ชาวบ้านตาดม หมู่ที่ ๘ ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ให้คงามอนุเคราะห์ช่วยชี้จุด และยืนบอกพิกัดของต้นตาลเก้ายอดที่เคยยืนต้นมีชีวิตอยู่ ในช่วงที่ท่านอายุประมาณ ๘ - ๑๐ ขวบ |
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ขณะที่ นายอัน เกษหอม(เกิด พ.ศ. ๒๔๙๘) มีอายุได้ ๘ ขวบ ท่านบอกว่าเคยได้ช่วยกันไปตักน้ำโดยใช้ครุไม้ไผ่ที่ยาด้วยชันและหาบน้ำมาทำพิธีขอฝนกับต้นตาลเก้ายอดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งชาวบ้านตาดมและหมู่บ้านละแวกใกล้เคียงต่างมาร่วมกันทำพิธีนี้ทุกปี โดยชาวบ้านจะนิมนต์พระมาเจริญนำพระพุทธมนต์ ณ ศาลากลางหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านทุกครัวเรือนได้อยู่เย็นเป็นสุข เสร็จพิธีแล้วจะพากันหาบน้ำที่ผ่านการทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์กลางหมู่บ้านนำมารดที่โคนต้นตาลเก้ายอดในยามหน้าแล้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อให้ต้นตาลได้รับความชุ่มชื้นจากน้ำและยังคงอยู่ได้นานคู่กับหมู่บ้านตลอดไป
|
นายสวี บุญขาว อายุ ๕๗ ปี(ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ นี้) ชาวบ้านตาดม หมู่ที่ ๘ ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ กำลังโชว์ภาพถ่ายแห่งประวัติศาสตร์ของต้นตาลเก้ายอดเมืองขุขันธ์ที่เคยยืนต้นมีชีวิตอยู่ มีช่างจากต่างถิ่นถ่ายไว้ ขณะที่ท่านอายุประมาณ ๖ ขวบ |
|
ภาพนี้เป็นภาพถ่ายของ นายอินทร์ แก้วประภา ถ่ายคู่กับต้นตาลเก้ายอดแห่งเมืองขุขันธ์ ณ บ้านตาดม ปัจจุบัน นายอินทร์ แก้วประภาได้ย้ายครอบครัวมาอาศัย อยู่ที่บ้านนิคมซอย ๖ หมู่ที่ ๕ ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ และท่านได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว... |
แต่อนิจจาเอ๋ย...อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา : สรรพสิ่งไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน ซึ่งก็คือหลัก "ไตรลักษณ์" ในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง ลักษณะสามัญ ๓ ประการของสรรพสิ่งทั้งปวงซึ่งเป็นเหมือนกฎธรรมชาติ ครอบงำสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตทุกชนิดที่เกิดมีอยู่ในสังสารวัฏนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามัญลักษณะ ประกอบด้วย ๓ ประการ คือ อนิจจา ทุกขตา และอนัตตตา อธิบายให้เข้าใจง่ายดังนี้
๑. อนิจจา คือ ความไม่คงที่ ไม่ถาวร หมายความว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่มีอะไรเที่ยงแท้
๒. ทุกขตา คือ ความเป็นทุกข์ของสิ่งทั้งปวง คือ ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้
๓. อนัตตตา คือ ความเป็นของไม่ใช่ตัวตน ไม่มีอะไรที่เป็นตัวเรา และไม่มีอะไรที่เป็นของเรา
|
ภาพนี้เป็นภาพถ่ายของต้นตาลเก้ายอดเมืองขุขันธ์ ซึ่งสมัยนั้น ชาวบ้านที่มีฐานะทางการเงินแถบเมืองขุขันธ์บางท่าน ได้จ้างให้ช่างถ่ายภาพถ่ายไว้และจัดทำเป็น ส.ค.ส. ส่งมอบให้กันในช่วงเทศกาลปีใหม่ของทุกปี |
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๘ หลังเทศกาลสงกรานต์ประจำปีของหมู่บ้านตาดมได้ไม่นาน ได้มีเหตุพายุสลาตัน(พัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ ช่วงเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ) พัดรุนแรงมาก ผ่านมาถล่มหมู่บ้านตาดมจนได้รับความเสียหายกว่า ๕๐ หลังคาเรือน(ขณะนั้นบ้านตาดม มีบ้านเรือนของชาวบ้านทั้งหมู่บ้านประมาณ ๖๐ หลังคาเรือน) ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนกันโดยถ้วนหน้ากัน รวมทั้งต้นตาลเก้ายอดก็ได้รับความเสียหายที่แขนง ๓ ยอดทางทิศใต้ได้ถูกลมพัดแรงและฉีกขาดตกลงมาข้างโคนต้น ตั้งแต่นั้นมา ต้นตาลเก้ายอดก็ประดุจดั่งคนเราในวัยชราที่กำลังเจ็บป่วยหนัก และแล้วต้นตาลเก้ายอดของเมืองขุขันธ์ก็ได้ล้มตายลงไปโดยสิ้นเชิงในช่วงต้นปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ในที่สุด ยังคงเหลือไว้แต่เพียงภาพถ่ายแห่งอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ขอบคุณที่มาของข้อมูล : นายอัน เกษหอม อายุ ๕๙ ปี และนายสวี บุญขาว อายุ ๕๗ ปี(ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ นี้) ชาวบ้านตาดม หมู่ที่ ๘ ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ผู้เรียบเรียงเนื้อเรื่อง : นายสุเพียร คำวงศ์ สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ (๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๗)