-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2566

สาระน่ารู้เกี่ยวกับพระไตรปิฏกฉบับย่อ (โดยมูลนิธิพระไตรปิฏกเพื่อประชาชน )

       พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ ประทับ ณ โคนไม้โพธิริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลา พระองค์ประทับนั่งเสวยวิมุติสุข ณ โคนไม้โพธิตลอด ๗ วัน

       ในเวลาปฐมยามแห่งราตรี ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท (ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะอาศัย เหตุปัจจัย) สายเกิด แล้วทรงเปล่งอุทานความว่า เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่ง อยู่ เขาย่อมสิ้นความสงสัย เพราะรู้ธรรมพร้อมทั้งต้นเหตุ

       ในเวลามัชฌิมยามแห่งราตรี ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาทสายดับ แล้วทรงเปล่งอุทาน ความว่า เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่ เขาย่อมสิ้นความสงสัย เพราะได้ ทราบถึงความสิ้นไปแห่งปัจจัย

       ในเวลาปัจฉิมยามแห่งราตรี ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ทั้งโดยอนุโลม (ตามลำดับ) และ โดยปฏิโลม (ย้อนลำดับ) แล้วทรงเปล่งอุทานความว่า เมื่อธรรมปรากฏแก่พราหมณ์ผู้มีความเพียร เพ่งอยู่ พราหมณ์นั้นย่อมกำจัดมารพร้อมทั้งเสนาเสียได้ ดั่งดวงอาทิตย์ทำท้องฟ้าให้สว่างฉะนั้น

ปฏิทินเผยแผ่ธรรมและวินัย

       เมื่อกล่าวถึงความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก และกล่าวถึงการที่ พระพุทธเจ้าทรงแนะให้ทำสังคายนาก็ดี ถ้าไม่กล่าวถึงพระจุนทเถระ ก็ดูเหมือน จะมองไม่เห็นความริเริ่มเอาใจใส่ และความปรารถนาดีของท่าน ในเมื่อรู้เห็น เหตุการณ์ที่สาวกของนิครนถนาฏบุตรแตกกัน จากข้อความที่ปรากฏใน พระไตรปิฎก ท่านได้เข้าพบพระอานนท์ถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกพระอานนท์ชวน เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกันพระพุทธเจ้าก็ตรัสแนะให้ทำสังคายนา ครั้งหลังเมื่อ สาวกนิครนถนาฏบุตรแตกกันยิ่งขึ้น ท่านก็เข้าหาพระอานนท์อีก ขอให้กราบทูล พระพุทธเจ้าเพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์ทำนองนั้นเกิดขึ้นในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าจึงแสดงธรรมแก่พระอานนท์ โดยแสดงโพธิปักขิยธรรมอันเป็นหลัก ของพระพุทธศาสนา แล้วทรงแสดงมูลเหตุแห่งการทะเลาะวิวาท 5 ประการ อธิกรณ์ ๔ ประการ วิธีระงับอธิกรณ์ ๗ ประการ กับประการสุดท้ายได้ทรงแสดง หลักธรรมสำหรับอยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก ๖ ประการ ที่เรียกว่า สาราณียธรรม อันเป็นไปในทางสงเคราะห์อนุเคราะห์ และมีเมตตาต่อกัน มีความประพฤติและ ความเห็นในทางที่ดีงามร่วมกัน เรื่องนี้ปรากฏในสามคามสูตร พระสุตตันตปิฎก (ม.อุ. ๑๔/๕๑/๔๒) ซึ่งควรบันทึกไว้ในที่นี้ เพื่อบูชาคุณ คือความปรารถนาดีของ พระจุนทเถระ ผู้แสดงความห่วงใยในความตั้งมั่นยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา

พระไตรปิฎกคืออะไร 

พระไตรปิฎก หรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า ติปิฏก หรือ เตปิฏก เป็นคัมภีร์หรือตำราทางพระพุทธศาสนา

ไตร แปลว่า ๓, ปิฏก แปลว่า คัมภีร์ ตำรา หรือกระจาด ตะกร้า  ที่แปลว่า กระจาดหรือตะกร้า หมายความว่า เป็นที่รวบรวมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ไว้เป็นหมวดหมู่ ไม่ให้กระจัดกระจาย คล้ายกระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะใส่ของ ฉะนั้น

พระไตรปิฎก แบ่งออกเป็นอะไรบ้าง 
       พระไตรปิฎก แปลว่า ๓ คัมภีร์ หรือ ๓ ปิฎก แบ่งออกเป็น
          ๑. วินัยปิฎก ว่าด้วยวินัย หรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี 
          ๒. สุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมเทศนาทั่ว ๆ ไป มีประวัติและท้องเรื่องประกอบ 
          ๓. อภิธัมมปิฎก ว่าด้วยธรรมะล้วน ๆ หรือธรรมะสำคัญ
       พระไตรปิฎก (ฉบับสยามรัฐ) มีจำนวน ๔๕ เล่ม เป็นตัวอักษรประมาณ ๒๔,๓๐๐,๐๐๐ ตัว 
       อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ย่อพระไตรปิฎกบาลี ๔๕ เล่ม ให้ลงเป็นเล่มเดียว และแปลให้อ่านง่ายด้วยภาษาปัจจุบัน คือ พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน

ความเป็นมาของพระไตรปิฎก
       พระสาวก ๔ รูป ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับประวัติความเป็นมาแห่งประไตรปิฎก คือ
       ๑. พระอานนท์ ผู้เป็นพระอนุชา (ลูกผู้พี่ผู้น้อง) และเป็นผู้อุปฐากรับใช้ใกล้ชิดของพระพุทธเจ้า ในฐานะที่ทรงจำพระพุทธวจนะไว้ได้มาก
       ๒. พระอุบาลี ผู้เชี่ยวชาญทางวินัย ในฐานะที่ทรงจำวินัยปิฎก
       ๓. พระโสณกุฏิกัณณะ ผู้เคยท่องจำบางส่วนแห่งพระสุตตันตปิฎก และกล่าวข้อความนั้นปากเปล่าในที่ เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า เป็นตัวอย่างแห่งการท่องจำในสมัยที่ยังไม่มีการจารึกพระไตรปิฎกเป็นตัวหนังสือ 
       ๔. พระมหากัสสป ในฐานะเป็นผู้ริเริ่มให้มีการสังคายนา จัดระเบียบพระพุทธวจนให้เป็นหมวดหมู่

พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย
       พระจุนทเถระ ผู้แสดงความห่วงใยในความตั้งมั่นยั่งยืนแห่งพระพุทธศาสนา ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคตรัสแนะนำให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์ และทำการสังคายนา จัดระเบียบ ทั้งโดยอรรถ และพยัญชนะ เพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นยั่งยืนสืบไป

       ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมจบแล้ว มอบหมายให้พระสารีบุตรแสดงธรรมแทน ท่านได้แนะนำให้รวบรวมร้อยกรองพระธรรมวินัย โดยแสดงตัวอย่างการจัดหมวดหมู่ธรรมเป็นข้อ ๆ ตั้งแต่ข้อ ๑ ถึงข้อ ๑๐ ว่ามีธรรมอะไรบ้างอยู่ในหมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ ... ..จนถึงหมวด ๑๐ ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงรับรองว่าข้อคิดและธรรมที่แสดงนั้นถูกต้อง รวมความแล้ว ทั้งพระพุทธเจ้าและพระสารีบุตร ได้เห็นความสำคัญของการรวบรวมพระพุทธวจนะ ร้อยกรองให้เป็นหมวดเป็นหมู่มาแล้วตั้งแต่ยังไม่ได้ทำสังคายนาครั้งที่ ๑

การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิดพระไตรปิฎก

       การสังคายนา นั้นแปลตามรูปศัพท์ว่า ร้อยกรอง คือ ประชุมสงฆ์จัดระเบียบหมวดหมู่พระพุทธวจนะ แล้วรับทราบทั่วกันในที่ประชุมนั้นว่าตกลงกันอย่างนี้ แล้วจึงใช้ท่องจำสืบต่อ ๆ มา เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสป ได้เป็นหัวหน้าชักชวนพระสงฆ์ให้ทำสังคายนา นับว่าท่านเป็นผู้มีส่วนสำคัญยิ่งในการทําให้เกิดพระไตรปิฎก อนึ่ง ในการทำสังคายนาครั้งที่ ๑ ซึ่งท่านชักชวนให้ทำขึ้นนั้น ท่านเองเป็นผู้ถามทั้งพระวินัยและพระธรรม ท่านพระอุบาลี เป็นผู้ตอบเกี่ยวกับพระวินัย ท่านพระอานนท์ เป็นผู้ตอบเกี่ยวกับพระธรรม

การสวดปาฏิโมกข์ต่างจากการสังคายนาอย่างไร 

       การสวดปาฏิโมกข์ คือการ “ว่าปากเปล่า” หรือการสวดข้อบัญญัติทางพระวินัย ๑๕๐ ข้อในเบื้องแรก และ ๒๒๗ ข้อในกาลต่อมา ทุก ๆ กึ่งเดือน หรือ ๑๕ วัน พระภิกษุทั้งหลายต้องลงฟังการกล่าวทบทวนข้อบัญญัติทางพระวินัยนี้ทุก ๑๕ วัน ถ้าขาดโดยไม่มีเหตุผลสมควรต้องปรับอาบัติ การสวดมีผู้สวดรูปเดียว รูปที่เหลือต้องตั้งใจฟัง และช่วยทักท้วงเมื่อผิด การสังคายนา ไม่มีกำหนดว่าต้องทำเมื่อไร

       โดยปกติเมื่อรู้สึกว่าควรจัดระเบียบข้อถือผิด เข้าใจผิดได้แล้ว ก็ลงมือทำตามโอกาสอันสมควร แม้เมื่อรู้สึกว่าไม่มีการถือผิด เข้าใจผิด แต่เห็นสมควรตรวจสอบชำระพระไตรปิฎก แก้ตัวอักษร หรือข้อความที่วิปลาสคลาดเคลื่อน ก็ถือกันว่าเป็นการสังคายนา

ลำดับอาจารย์ผู้ทรงจำพระไตรปิฎก

       สมัยที่ยังมิได้มีการจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลานนั้น ใช้วิธีการท่องจำ แบ่งงานกันท่องจำพระไตรปิฎก แต่ละสาขามีศิษย์ของแต่ละสำนักท่องจำตามที่อาจารย์สั่งสอน และเป็นที่มาแห่งพระไตรปิฎกทุกวันนี้ 

       สายวินัยปิฎก : พระอุบาลี พระทาสกะ พระโสณกะ พระสิคควะ พระโมคคลีบุตร ติสสะ 

       สายสุตตันตปิฎก : ไม่ได้ระบุการสืบสาย แต่ได้กล่าวถึงการมอบหน้าที่ในการท่องจำ คือ พระอานนท์ท่องจำสั่งสอนทีฆนิกาย นิสิตพระสารีบุตรท่องจำมัชฌิมนิกาย พระมหากัสสปท่องจำสังยุตตนิกาย พระอนุรุทธ์ท่องจําอังคุตตรนิกาย ส่วนขุททกนิกายไม่ได้กล่าวไว้

       สายอภิธัมมปิฎก : พระสารีบุตร พระภัททชิ พระโสภิตะ พระปิยชาลี ฯลฯ

การชำระและการจารึก กับการพิมพ์พระไตรปิฎกในประเทศไทย 
       การชำระ การเขียน การพิมพ์ พระไตรปิฎกในประเทศไทย แบ่งออกเป็น ๔ สมัย ดังนี้ คือ 

       สมัยที่ ๑ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่เมืองเชียงใหม่ สมัยพระเจ้าติโลกราช ประมาณ พ.ศ. ๒๐๒๐ 

       สมัยที่ ๒ ชำระและจารลงในใบลาน กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ พ.ศ. ๒๓๓๑

       สมัยที่ ๓ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๓๑ ถึง พ.ศ. ๒๔๓๖

       สมัยที่ ๔ ชำระและพิมพ์เป็นเล่ม กระทำที่กรุงเทพฯ สมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชการที่ ๗ พ.ศ. ๒๔๖๘ ถึง พ.ศ. ๒๔๗๓

ลักษณะการจัดหมวดหมู่ของแต่ละปิฎก 

       พระไตรปิฎก ตำราทางพระพุทธศาสนาที่มี ๓ คัมภีร์ หรือ ๓ ปิฎก แต่ละปิฎกมีจำนวนหัวข้อสำคัญ ดังนี้คือ วินัยปิฎกมี ๕ หัวข้อ สุตตันตปิฎกมี ๕ หัวข้อ และอภิธัมมปิฎกมี ๗ หัวข้อ พระโบราณจารย์ฝ่ายไทยได้ใช้วิธีย่อหัวข้อสำคัญในแต่ละปิฎก เพื่อให้จำง่ายเป็น 

อา ปา ม จุ            ป ที ม สัง อัง ขุ               สัง วิ ธา ปุ ก ย ป

และให้หลักการจำ จำนวนหัวข้อ คือ ๕ - ๕ - ๗
(ดูคำอธิบายเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน ที่หน้า ๒๙ - ๓๕)

ลำดับขั้นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา 

       ลำดับขั้นคัมภีร์อื่นที่เกี่ยวข้องทางพระพุทธศาสนา มีดังนี้คือ

       ๑. พระไตรปิฎก เป็นหลักฐานขั้น ๑ เรียกว่า บาลี

       ๒. คำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานขั้น ๒ เรียกว่า อรรถกถา หรือวัณณนา

       ๓. คำอธิบายอรรถกถา เป็นหลักฐานขั้น ๓ เรียกว่า ฎีกา

       ๔. คำอธิบายฎีกา เป็นหลักฐานขั้น ๔ เรียกว่า อนุฎีกา

       นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์ที่แต่งขึ้น ว่าด้วยไวยกรณ์ภาษาบาลีฉบับต่าง ๆ และอธิบายศัพท์ต่าง ๆ เรียกรวมกันว่า สัททาวิเสส

คําอธิบายพระไตรปิฎกย่อ ๆ ของพระอรรถกถาจารย์

       วินัยปิฎก คือ ถ้อยคำที่ว่าด้วยความสำรวม หรือไม่สำรวม
                       คือ เครื่องละกิเลสอย่างหยาบ ที่เป็นเหตุให้ล่วงละเมิดศีล

       สุตตันตปิฎก คือ การสอนโดยอนุโลมแก่จริตอัธยาศัยของผู้ฟัง ซึ่งมีต่าง ๆ กัน

       อภิธัมมปิฎก คือ การสอนตามเนื้อหาแท้ ๆ ของธรรมะ
                              คือ ถ้อยคำที่สอนให้ผ่อนคลายทิฏฐิ คือความเห็นผิด คือ ถ้อยคำที่สอนให้กำหนดนามแลรูป คือ ร่างกาย จิตใจ

       นอกจากนี้ยังได้อธิบายโดยใช้ศัพท์ ปหานะ ในรูปอื่นอีก
(ดูคำอธิบายเพิ่มเติมในพระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน หน้า ๓๖ - ๓๗)

       ในสมัยของพระพุทธเจ้า ยังไม่มีคำว่า พระไตรปิฎก มีแต่คำว่า ธรรมวินัย คำว่า พระไตรปิฎก หรือติปิฏก ในภาษาบาลีนั้น มาเกิดขึ้นภายหลังการทำสังคายนาแล้ว ปฏิทินเผยแผ่ธรรมและวินัย  จึงกล่าวได้ว่าเป็นปฏิทินเผยแผ่พระไตรปิฎก

       ปฏิทินปี ๒๕๖๖ นี้ มูลนิธิฯ จึงขอนำเสนอ ความรู้เรื่องพระไตรปิฎก เพื่อให้ พุทธศาสนิกชนได้เข้าถึงพระพุทธศาสนาโดยตรงจากพระไตรปิฎก เริ่มด้วย พระไตรปิฎกคืออะไร พระไตรปิฎกแบ่งออกเป็นอะไรบ้าง ความเป็นมาของ พระไตรปิฎก (ที่กล่าวถึงพระสาวกสำคัญ ๔ รูป ก่อนการสังคายนาครั้งที่ ๑) พระพุทธเจ้าทรงแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย การสังคายนาเป็นเหตุให้เกิด พระไตรปิฎก ตลอดลำดับอาจารย์ผู้ทรงจำพระไตรปิฎกด้วย มุขปาฐะ หรือการทรง จำและท่องคัมภีร์ด้วยปากเปล่า รวมถึงหมวดหมู่ของแต่ละปิฎก และลำดับชั้นคัมภีร์ ทางพระพุทธศาสนา

       อนึ่ง ปฏิทินปี ๒๕๖๖ นี้ มูลนิธิฯ ได้นำปฏิทินปักขคณนา พุทธศักราช ๒๕๖๖ ปีเถาะ อธิกมาส ปกติวาร ปกติสุรทิน จ.ศ.๑๓๘๕ มหามกุฏราชวิทยาลัย มาพิมพ์ลงไว้ด้วย เพื่อความสะดวกแต่ทั้งพระภิกษุสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และ ฝ่ายมหานิกาย จะได้ใช้ปฏิทินฉบับเดียวกันได้ โดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติภารกิจ อยู่ต่างประเทศ สำหรับท่านที่ใช้คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ สามารถเปิดดู ปฏิทินทางออนไลน์ได้ที่เวปไซต์ calendar.ptipitaka.org

       จึงขอกราบเรียนและเรียนมา เพื่อกำนัลแด่ทุกท่านในโอกาสปีใหม่นี้ และ ขอให้มีความสุข สวัสดี ในปีใหม่ ๒๕๖๖ นี้ด้วย เทอญ

ที่มา : มูลนิธิพระไตรปิฏกเพื่อประชาชน.ปฏิทินเผยแผ่ธรรมและวินัย2566


ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย