งานนิคมสร้างตนเองเป็นงานจัดสวัสดิการสังคมรูปแบบหนึ่ง ซึ่งได้ดำเนินการมาพร้อมกับการก่อตั้งกรมประชาสงเคราะห์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๓ (กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการในปัจจุบัน) โดย ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้มีแนวคิดที่จะนำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์ เพื่อช่วยเหลือคนยากจนให้มีที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในลักษณะชุมชนที่เป็นระเบียบ พัฒนาให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้วให้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้น ชุมชนที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า “นิคมสร้างตนเอง” และราษฎรที่ได้รับการจัดสรรที่ดินเรียกว่า “สมาชิกนิคม” นิคมสร้างตนเองแห่งแรกที่ได้รับจัดตั้งขึ้นคือ “นิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรีและจังหวัดสระบุรี”
จอมพล ป.พิบูลสงคราม
ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพขึ้น เพื่อให้กรมประชา สงเคราะห์ได้จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๔ และครั้งสุดท้ายได้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๔๘๕ และ พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยใช้พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ มาจนถึงปัจจุบัน
การจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในระยะแรกมีจุดมุ่งหมายหลัก เพื่อช่วยเหลือราษฎรยากจนที่ขาดแคลนที่ดินทำกิน และเพื่อแก้ไขปัญหาการอพยพเข้ามาหางานทำในเมืองจนเกิดปัญหาสังคมเมือง แต่หลังจากได้มีการรปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจซึ่งปรากฎรูปแบบชัดเจน เมื่อมีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับ ที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๔-๒๕๐๙) เป็นต้นมา การจัดนิคมสร้างตนเองได้ถูกนำมาใช้เป็นกลไกหรือเครื่องมือของรัฐในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครองและความมั่นคงของชาติ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกในการเข้าพัฒนาชนบท และแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน
การมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบในการแก้ไขตามมาหลายประการ เช่น การอพยพราษฎรเขตน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อน ปัญหาความมั่นคงในเขตพื้นที่กองทัพภาคต่าง ๆ และปัญหาชนกลุ่มน้อยในเขตชานแดนภาคใต้ เป็นต้น นอกจากนี้การมุ่งที่จะเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้ได้ตามเป้าหมาย จำเป็นต้องอาศัยหน่วยผลิตขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งกลไกสำคัญที่รัฐบาลนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนา คือ "งานนิคมสร้างตนเอง"
วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
๑. เพื่อจัดสรรที่ดินให้ราษฎรกลุ่มเป้าหมายอพยพครอบครัวเข้าไปตั้งถิ่นฐานประกอบอาชีพและอยู่อาศัยในนิคมสร้างตนเองอย่างเป็นระเบียบและถาวร พร้อมทั้งส่งเสริมให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนั้นเป็นของตนเองและเป็นมรดกตกทอดไปสู่ลูกหลาน
๒. เพื่อพัฒนานิคมสร้างตนเองในด้านต่างๆให้สมาชิกนิคมมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถช่วยเหลือตนเอง ครอบครัวและชุมชนได้
๓. เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในลักษณะโครงการพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและการปกครอง
การจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
มีการดำเนินงานและวิธีการดังนี้
๑. การสำรวจและเลือกที่ดิน
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะดำเนินการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง หรือคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองขึ้นในท้องที่ใด กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะต้องขอความร่วมมือ กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องเพื่อตั้งคณะกรรมการสำรวจและเลือกที่ดินที่จะกำหนดในการตั้งนิคมฯเพื่อให้ทราบข้อมูลต่างๆ โดยมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่า ที่ดินที่จะจัดตั้งนิคมสร้างตนเองต้องมีเนื้อที่อย่างต่ำ ๕,๐๐๐ ไร่ บริเวณที่ดินจะต้องมีอาณาเขตติดต่อหรือย่านชุมชนเพียงใด (หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ หรือจังหวัด) ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ในบริเวณที่ดินมีแหล่งน้ำตลอดปีหรือไม่ เกิดภัยธรรมชาติหรือไม่ เป็นต้น
๒. จัดทำโครงการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะจัดทำโครงการเสนอหน่วยงานราชการต่างๆที่เกี่ยวข้องพิจารณาโครงการประกอบด้วย แผนผังการจัดที่ดิน หลักเกณฑ์การจัดที่ดิน วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
๓. การจำแนกประเภทที่ดิน
ข้อมูลที่ได้คณะกรรมการสำรวจและเลือกที่ดินจะนำเสนอคณะอนุกรรมการจำแนกประเภทที่ดิน พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้วนำเสนอคณะกรรมการจำแนกประเภทที่ดินพิจารณาว่าพื้นที่ใดเหมาะสมกับการเกษตรพื้นที่ส่วนใดควรกำหนดเป็นเขตพื้นที่ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ป่าและความชุ่มชื้นของดิน(ป่าไม้ส่วนกลาง๒๐%) แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติจำแนกออกจากพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แล้วเสนอคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติพิจารณาให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการนำพื้นที่ไปดำเนินการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
๔. การขอใช้พื้นที่จัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะต้องขออนุญาตใช้ที่ดินต่อหน่วยราชการที่เป็นผู้มีอำนาจดูแลที่ดินนั้น เพื่อให้คณะเจ้าหน้าที่นิคมสร้างตนเองเข้าไปดำเนินการสำรวจรังวัด จัดทำแผนที่ และดำเนินงานในเบื้องต้นในระหว่างที่ยังไม่ได้ออกพระราชกฤษฎีกา
ประเภทของนิคมสร้างตนเอง
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการได้รับมอบให้จัดตั้งนิคมสร้างตนเองในรูปแบบและลักษณะต่างๆ จนถึงปัจจุบันรวมทั้งสิ้น ๕๙ นิคม ใน ๔๑ จังหวัด แต่ปัจจุบันคงเหลือนิคมสร้างตนเองที่อยู่ในความรับผิดชอบ ๔๔ นิคม ใน ๓๕ จังหวัด จำแนกออกได้เป็น ๕ ประเภท คือ
๑. นิคมสร้างตนเองในลักษณะช่วยเหลือราษฎรโดยทั่วไป
จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาราษฎรไม่มีที่ดินทำกินและยากจน เช่น ราษฎรจากแหล่งเสื่อมโทรม ราษฎรที่ถูกทางราชการสั่งยกเลิกอาชีพ ราษฎรที่ถูกขับไล่จากการใช้ที่ดินของทางราชการ เป็นต้น นิคมสร้างตนเองลักษณะนี้มีจำนวน ๑๕ นิคม ใน ๑๔ จังหวัด ได้แก่
๑) นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
๒) นิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี จังหวัดลพบุรี
๓) นิคมสร้างตนเองตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์
๔) นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
๕) นิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง จังหวัดระยอง
๖) นิคมสร้างตนเองท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
๗) นิคมสร้างตนเองพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
๘) นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จังหวัดอุดรธานี
๙) นิคมสร้างตนเองห้วยคล้า จังหวัดศรีสะเกษ (อยู่ระหว่างการถอนสภาพ)
๑๐) นิคมสร้างตนเองขุนทะเล จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๑๑) นิคมสร้างตนเองเทพา จังหวัดสงขลา
๑๒) นิคมสร้างตนเองรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
๑๓) นิคมสร้างตนเองธารโต จังหวัดยะลา
๑๔) นิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
๑๕) นิคมสร้างตนเองทุ่งโพธิ์ทะเล จังหวัดกำแพงเพชร
๒.นิคมสร้างตนเองในลักษณะช่วยเหลืออพยพราษฎรจากเขตน้ำท่วม
จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนชลประทาน เขื่อนพลังงานไฟฟ้า และเขื่อนเอนกประสงค์ทุกแห่ง นิคมสร้างตนเองลักษณะนี้มีจำนวน ๑๑ นิคม ใน ๑๑ จังหวัด ได้แก่
๑) นิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล จังหวัดเชียงใหม่
๒) นิคมสร้างตนเองกิ่วลม จังหวัดลำปาง
๓) นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์
๔) นิคมสร้างตนเองกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี
๕) นิคมสร้างตนเองลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์
๖) นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี
๗) นิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน จังหวัดสกลนคร
๘) นิคมสร้างตนเองโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู
๙) นิคมสร้างตนเองลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา
๑๐) นิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
๑๑) นิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย จังหวัดอุบลราชธานี
๓. นิคมสร้างตนเองในลักษณะช่วยเหลือราษฎรในเขตจังหวัดชายแดนและเขตแทรกซึมของ
ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์
จัดตั้งขึ้นเพื่อความมั่นคงของประเทศ และให้การบำรุงขวัญราษฎรที่อยู่ห่างไกลตามแนวชายแดน และอยู่ในเขตปฏิบัติการของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โดยให้ความช่วยเหลือในด้านการประกอบอาชีพการศึกษา สาธารณสุข สาธารณูปโภคต่างๆ และจัดกำลังป้องกันรักษาความสงบ นิคมสร้างตนเองลักษณะนี้มีจำนวน ๙ นิคม ใน ๙ จังหวัด ได้แก่
๑) นิคมสร้างตนเองโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
๒) นิคมสร้างตนเองคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร
๓) นิคมสร้างตนเองปราสาท จังหวัดสุรินทร์
๔) นิคมสร้างตนเองบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
๕) นิคมสร้างตนเองกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
๖) นิคมสร้างตนเองคลองน้ำใส จังหวัดสระแก้ว
๗) นิคมสร้างตนเองควนขนุน จังหวัดพัทลุง
๘) นิคมสร้างตนเองพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๙) นิคมสร้างตนเองลำโดมใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี
๔. นิคมสร้างตนเองในลักษณะช่วยเหลือราษฎรเพื่อเป้าหมายทางการเมืองและเศรษฐกิจ
จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๐๔ เพื่อความมั่นคงและปลอดภัยของประเทศใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่การปกครองเข้าไปไม่ถึง โดยการอพยพราษฎรไทยพุทธไปอยู่ร่วมกับราษฎรไทยมุสลิม โดยส่งเสริมการพัฒนาทั้งทางด้านสาธารณูปโภคและอาชีพ นิคมสร้างตนเองลักษณะนี้มีจำนวน ๕ นิคม ใน ๓ จังหวัด คือ
๑) นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดยะลา
๒) นิคมสร้างตนเองสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
๓) นิคมสร้างตนเองศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
๔) นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล
๕) นิคมสร้างตนเองเบตง จังหวัดยะลา
๕. นิคมสร้างตนเองในลักษณะพิเศษเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาทางการปกครอง
จัดตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมให้ราษฎรได้รู้จักอาชีพใหม่ๆ ที่คนไทยไม่คุ้นเคยซึ่งสามารถยึดเป็นพื้นฐานที่มั่นคงในทางเศรษฐกิจและขยายให้เพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคตได้ และเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกับราษฎร และระหว่างราษฎรกับราษฎร นิคมสร้างตนเองในลักษณะนี้มีจำนวน ๔ นิคม ใน ๖ จังหวัด คือ
๑) นิคมสร้างตนเองปากจั่น จังหวัดระนอง
๒) นิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหม จังหวัดสุรินทร์
๓) นิคมสร้างตนเองทุ่งสาน จังหวัดพิษณุโลก
๔) นิคมสร้างตนเองบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
นิคมสร้างตนเองที่ประกาศสิ้นสภาพนิคมฯ
กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ได้ดำเนินการประกาศสิ้นสภาพนิคมฯ ในราชกิจนานุเบกษาแล้ว ๑๔ นิคมฯ และอยู่ระหว่างการประกาศสิ้นสภาพนิคม ดังนี้
๑) นิคมสร้างตนเองบ้านโตก จังหวัดเพชรบูรณ์
๒) นิคมสร้างตนเองสาริกา จังหวัดนครนายก
๓) นิคมสร้างตนเองเขื่อนเพชร จังหวัดเพชรบุรี
๔) นิคมสร้างตนเองบึงพาด จังหวัดอุตรดิตถ์
๕) นิคมสร้างตนเองทับกวาง จังหวัดสระบุรี
๖) นิคมสร้างตนเองเขาบ่อแก้ว จังหวัดนครสวรรค์
๗) นิคมสร้างตนเองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
๘) นิคมสร้างตนเองร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
๙) นิคมสร้างตนเองถลาง จังหวัดภูเก็ต
๑๐) นิคมสร้างตนเองห้วยทับทัน จังหวัดสุรินทร์
๑๑) นิคมสร้างตนเองบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
๑๒) นิคมสร้างตนเองเลี้ยงโคนม จังหวัดสระบุรี
๑๓) นิคมสร้างตนเองปรือใหญ่ จังหวัดศรีสะเกษ
๑๔) นิคมสร้างตนเองแว้ง จังหวัดนราธิวาส
การบรรลุความมุ่งหวังของการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง
มติคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ครั้งที่ ๒/๒๕๓๑ เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ หลักเกณฑ์การบรรลุผลตามความมุ่งหมายของการจัดที่ดินนิคมสร้างตนเอง คณะอนุกรรมการเห็นว่าจะต้องพิจารณาจากพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๖ และมาตรา ๑๑ ซึ่งสรุปได้ว่า ในการจัดนิคมนั้น รัฐได้ดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งได้แก่
๑. ได้มีการวางผัง แบ่งแปลงที่ดิน และจัดคนเข้าครอบครองทำกินครบถ้วนตามสภาพของที่ดินที่จัดแล้ว
๒. จัดสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเสร็จสมบูรณ์ตามผังที่สร้างไว้ หรือ ตามสมควรสภาพท้องถิ่นนั้นๆ หรือเพียงพอที่จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการครองชีพ
๓. ประชาชนได้ตั้งเคหสถาน ซึ่งมีมาตราไม่ต่ำกว่ามาตราทั่วไปของเกษตรกร ในท้องถิ่นใกล้เคียงเป็นหลักแหล่ง และประกอบอาชีพมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีไม่น้อยกว่ารายได้เฉลี่ยของเกษตรกรในท้องที่ใกล้เคียง
๔. ได้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.๓) ให้แก่สมาชิกนิคมครบถ้วน
การพัฒนานิคมสร้างตนเอง
งานนิคมสร้างตนเองดำเนินการในลักษณะเชิงบูรณาการ เน้นให้สมาชิกนิคมมีส่วนร่วม โดยร่วมคิด ร่วมตัดสิน ร่วมปฏิบัติ และร่วมติดตามผล
๑. การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่ชุมชน ได้แก่ การสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้านภายในเขตนิคมฯ การเพิ่มเส้นทางคมนาคมและเส้นทางลำเลียงนำผลผลิตไปจำหน่าย การจัดหาแหล่งน้ำบริโภคใช้สอยเพื่อให้มีน้ำใช้สอยอย่างพอเพียงตลอดปี เช่น การขุดบ่อผิวดิน การขุดบ่อบาดาล และระบบประปา การจัดสร้างระบบชลประทานขนาดเล็ก หรือ การพัฒนาแหล่งน้ำต่างๆ เช่น อ่างเก็บน้ำ ฝายน้ำล้น สระน้ำ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้สมาชิกนิคมสามารถประกอบอาชีพการเกษตรได้ตลอดปี การขยายเขตไฟฟ้า และจัดบริการสาธารณะอื่นๆ เช่น โรงเรียน สถานีอนามัย ตลาด และย่านการค้าของชุมชนในนิคมฯ
๒. การพัฒนาอาชีพ พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ มาตรา ๙ กำหนดให้สมาชิกนิคมต้องใช้ที่ดินได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์เฉพาะเพื่อการเกษตร ดังนั้น กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจึงได้ดำเนินการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมในลักษณะครบวงจร เพื่อทำให้สมาชิกนิคมมีรายได้สูงขึ้นอย่างมั่นคงจนสามารถช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้
๓. การพัฒนาสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกนิคม ครอบครัวและชุมชนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หรือได้รับการตอบสนองความต้องการตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรจะได้รับ
๔. การพัฒนาการเมืองการปกครอง ได้กำหนดรูปแบบการปกครองในนิคมสร้างตนเองโดยแบ่งพื้นที่เป็นเขต มีหัวหน้าเขตซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกนิคมและคณะกรรมการส่งเสริมเขตรับผิดชอบการปกครองภายใต้การส่งเสริมสนับสนุนของเจ้าหน้าที่นิคมฯ เพื่อให้สมาชิกนิคมได้เรียนรู้ระบบการปกครองตนเองตามแนวทางประชาธิปไตย และเน้นการวางรากฐานก่อนที่จะมอบให้จังหวัดรับไปดำเนินงานในรูปการปกครองท้องถิ่นต่อไป
๕. การออกเอกสารสิทธิที่ดิน เมื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินให้กับราษฎรตามวัตถุประสงค์ของการจัดนิคมสร้างตนเองแล้ว ยังต้องดำเนินการให้สมาชิกนิคมได้รับกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเป็นมรดกตกทอดไปยังลูกหลาน โดยสมาชิกนิคมจะต้องปฏิบัติตามมาตรา ๑๑ และ ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขว่า “เมื่อสมาชิกนิคมได้รับประโยชน์ในที่ดินแล้วและได้เป็นสมาชิกนิคมเกินกว่า ๕ ปี ทั้งได้ชำระเงินทุนที่รัฐบาลได้ลงไปและชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการเรียบร้อยแล้ว ให้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.๓) ให้แก่ผู้นั้น ซึ่งผู้ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.๓) แล้ว ให้นำไปขอออกโฉนดที่ดิน หรือ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ แต่ภายใน ๕ ปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดก
ประเภทราษฎรที่อาศัยทำกินในนิคมสร้างตนเอง
๑. สมาชิกนิคม หมายถึง ราษฎรยากจนไม่มีที่อยู่อาศัยและทำกินได้รับการคัดเลือกให้อพยพตนเองและครอบครัว เข้าไปตั้งถิ่นฐานตามแปลงที่ดินที่ได้จัดทำผังแปลงไว้แล้ว โดยทั่วไปจะจัดให้ครอบครัวละ ๒๕ ไร่ แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย ๒ ไร่ และที่ดินทำกิน ๒๓ ไร่ สำหรับนิคมสร้างตนเองบริเวณภาคใต้หรือนิคมสร้างตนเองที่มีการอพยพออกจากเขตน้ำท่วม ได้จัดสรรให้ครอบครัวละ ๑๘ ไร่ ราษฎรที่เข้าเป็นสมาชิกนิคมเมื่อเข้าอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ แล้ว กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการจะออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.๓) เพื่อนำไปขอออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินต่อไป
๒. ราษฎรที่เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินก่อนที่จะมีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองราษฎรประเภทนี้หากมีหลักฐานแสดงการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินมาก่อนการจัดตั้งนิคมฯ เช่น ส.ค.๑ หรือ น.ส.๓ ให้ถือว่าที่ดินนั้นมิใช่ที่ดินของรัฐที่จะนำมาจัดสรรให้ราษฎรทั่วไปได้ แต่ถ้าราษฎรที่เข้าครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนการจัดตั้งนิคมสร้างตนเอง ไม่มีเอกสารใดๆมาแสดงสิทธิแล้ว จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. ๒๕๑๑ โดยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมก่อน
๓. ราษฎรที่เข้ามาครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินหลังการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองในระยะบุกเบิกป่าเพื่อจัดผังแปลง ทำให้ที่ดินเกิดข้อจำกัดในด้านการบริหารจัดการที่ดินทำให้การจัดสรรที่ดินไม่ทันความต้องการของราษฎร จึงมีราษฎรบางส่วนเข้าครอบครองที่ดินในเขตนิคมโดยไม่ถูกต้อง แต่ต่อมาต้องยอมรับราษฎรเหล่านี้ว่าเขาเป็นราษฎรที่จะต้องให้การพัฒนาเช่นกัน โดยให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคม และดำเนินการออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ในที่ดินต่อไป
ประเภทหนังสือแสดงสิทธิที่ดินที่ออกให้สมาชิกนิคม
๑. หนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (น.ค.๑) ออกให้เมื่อสมาชิกนิคมได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ตามมาตรา ๘
๒. หนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.๓) ออกให้เมื่อสมาชิกของนิคมมีคุณสมบัติครบถ้วน ตามมาตรา ๑๑
ปัจจุบันทั่วประเทศ มีนิคมสร้างตนเอง ทั้งหมด ๔๔ แห่ง ดังนี้
๑) นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
๒) นิคมสร้างตนเองจังหวัดลพบุรี จังหวัดลพบุรี
๓) นิคมสร้างตนเองตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์
๔) นิคมสร้างตนเองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
๕) นิคมสร้างตนเองจังหวัดระยอง จังหวัดระยอง
๖) นิคมสร้างตนเองท้ายเหมือง จังหวัดพังงา
๗) นิคมสร้างตนเองพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
๘) นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ จังหวัดอุดรธานี
๙) นิคมสร้างตนเองห้วยคล้า จังหวัดศรีสะเกษ (อยู่ระหว่างการถอนสถาพ)
๑๐) นิคมสร้างตนเองขุนทะเล จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๑๑) นิคมสร้างตนเองเทพา จังหวัดสงขลา
๑๒) นิคมสร้างตนเองรัตภูมิ จังหวัดสงขลา
๑๓) นิคมสร้างตนเองธารโต จังหวัดยะลา
๑๔) นิคมสร้างตนเองโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
๑๕) นิคมสร้างตนเองทุ่งโพธิ์ทะเล จังหวัดกำแพงเพชร
๑๖) นิคมสร้างตนเองเขื่อนภูมิพล จังหวัดเชียงใหม่
๑๗) นิคมสร้างตนเองกิ่วลม จังหวัดลำปาง
๑๘) นิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์
๑๙) นิคมสร้างตนเองกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี
๒๐) นิคมสร้างตนเองลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์
๒๑) นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี
๒๒)นิคมสร้างตนเองลำน้ำอูน จังหวัดสกลนคร
๒๓)นิคมสร้างตนเองโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู
๒๔)นิคมสร้างตนเองลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา
๒๕)นิคมสร้างตนเองเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น
๒๖) นิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย จังหวัดอุบลราชธานี
๒๗)นิคมสร้างตนเองโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
๒๘)นิคมสร้างตนเองคำสร้อย จังหวัดมุกดาหาร
๒๙) นิคมสร้างตนเองปราสาท จังหวัดสุรินทร์
๓๐) นิคมสร้างตนเองบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์
๓๑) นิคมสร้างตนเองกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
๓๒)นิคมสร้างตนเองคลองน้ำใส จังหวัดสระแก้ว
๓๓) นิคมสร้างตนเองควนขนุน จังหวัดพัทลุง
๓๔) นิคมสร้างตนเองพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
๓๕) นิคมสร้างตนเองลำโดมใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี
๓๖) นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดยะลา
๓๗) นิคมสร้างตนเองสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
๓๘) นิคมสร้างตนเองศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส
๓๙) นิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล
๔๐) นิคมสร้างตนเองเบตง จังหวัดยะลา
๔๑) นิคมสร้างตนเองปากจั่น จังหวัดระนอง
๔๒)นิคมสร้างตนเองเลี้ยงไหม จังหวัดสุรินทร์
๔๓) นิคมสร้างตนเองทุ่งสาน จังหวัดพิษณุโลก
๔๔) นิคมสร้างตนเองบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก
ขอบคุณที่มา : กองพัฒนาสังคมและกลุ่มเป้าหมายพิเศษ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงขอมนุษย์ ที่ลิงก์ http://www.bsd.dsdw.go.th/index.php/2016-05-11-03-02-03/2016-05-11-03-02-19