-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอาทิตย์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เมืองขุขันธ์ ในอดีต เมื่อ พ.ศ. 2460 นั้นไซร้กว้างใหญ่นักหนา

           หากนับเขตพื้นที่ของเมืองต่าง ๆ ในประเทศไทยแล้ว  จังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบัน หรือ"เมืองขุขันธ์" ในอดีตที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน และมีอาณาเขตที่กว้างใหญ่  และมีมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่คลี่คลายขยายตัวมาตลอด  จากการสัมมนาประวัติศาสตร์เมืองศรีสะเกษ  เมื่อวันที่ 25 – 26 มิถุนายน 2548  ณ  มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ  ได้เกิดข้อโต้แย้งทางประวัติศาสตร์ใหม่หนึ่งประเด็นคือ  เมืองศรีนครลำดวนที่ปรากฏในประวัติเมืองขุขันธ์ หรือ ประวัติศรีสะเกษ นั้น  มิใช่บ้านดวนใหญ่  แต่เป็นบริเวณใกล้เคียงกับเมืองขุขันธ์ทุกวันนี้  แต่ยังถกเถียงกันว่า  บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน  ในประวัติเมืองขุขันธ์ นั้น  อยู่ที่ปราสาทบ้านปราสาท  ตำบลกันทรารมย์  หรือ ปราสาทบ้านปราสาทกวางขาว (ปราสาทกวางเหนื่อย)  ตำบลห้วยใต้  หรือปราสาทสี่เหลี่ยมโบราณที่สร้างด้วยหินทรายและหินศิลาแลง  ที่อยู่ทางด้านทิศเหนือของเขตเทศบาลตำบลเมืองขุขันธ์  อำเภอขุขันธ์ ประมาณ 900 เมตร  กันแน่  จากหลักฐานนี้นับเป็นข้อมูลใหม่ทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนมากขึ้น  หลังจากที่นักศึกษาประวัติเมืองศรีสะเกษบางท่าน ได้เคยเชื่อกันว่า เมืองนครลำดวน คือบ้านดวนใหญ่  อำเภอวังหิน  จังหวัดศรีสะเกษ

             หลักฐานการตั้งเมืองขุขันธ์  ส่วนใหญ่มาจากพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสานบันทึกโดยหม่อมอมรวงศ์วิจิตร (ม.ร.ว.ปฐม  คเนจร)  ปลัดมณฑลอุบลราชธานี  เป็นผู้เรียบเรียงกล่าวว่า เมื่อ จุลศักราช 1121 (พ.ศ. 2302)  ในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์  พระยาช้างเผือกแตกโรงจากกรุงศรีอยุธยา  จึงได้โปรดให้สองพี่น้องคุมไพร่พลกรมช้างออกเที่ยวตามหาพระยาช้างเผือก  และได้รับข่าวพระยาช้างเผือกจากพวกเขมรป่าดง ซึ่งมีผู้นำ คือ ตากะจะและเชียงขันธ์  ซึ่งตั้งอยู่บ้านประสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน เชียงฆะ  บ้านดงยาง  เชียงปุ่มบ้านโคกเมืองที  และเชียงสี  บ้านกุดหวาย  รับอาสาตามพระยาช้างจนได้พระยาช้างเผือกกลับไป  จึงมีความดีความชอบให้มีบรรดาศักดิ์เป็นนายกองปกครองประชาชนเขมรป่าดงในพื้นที่ดูแลที่ตนอยู่นั้น  โดยให้โปรดเกล้าฯให้ตากะจะเป็นหลวงแก้วสุวรรณ  เชียงขันธ์ เป็นหลวงปราบ เป็นต้น  ทำราชการขึ้นอยู่กับเมืองพิมาย ต่อมา  พ.ศ. 2306  นายกองหมู่บ้านเขมรป่าดงทั้งห้านำสิ่งของไปส่งส่วยที่กรุงศรีอยุธยา  ถือว่ามีความดีความชอบ  จึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์และยกหมู่บ้านขึ้นเป็นเมือง  โปรดเกล้าฯ ให้หลวงแก้วสุวรรณ (ตากะจะ) เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ และยกฐานะบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน เป็น เมืองขุขันธ์  ต่อมาทางเมืองขุขันธ์มีความดีความชอบในราชการสงครามกับนครเวียงจันทร์ เมื่อ พ.ศ. 2321 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้หลวงแก้วสุวรรณ (ตากะจะ) เจ้าเมืองขุขันธ์เลื่อนเป็น  พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านแรก ในยุคกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

             พงศาวดารได้กล่าวว่า  ในปี พ.ศ. 2321นั้น พระยาไกรภักดีนครลำดวน (ตากะจะ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก ได้ถึงแก่กรรม จึงโปรดเกล้าฯให้หลวงปราบ (เชียงขันธ์)  เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน  เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ 2  ในยุคนี้ที่ตั้งของเมืองขุขันธ์เดิม ได้ถูกขยับเลื่อนมาตั้งที่บ้านแตระ เป็นเมืองขุขันธ์  ในพงศาวดารเขียนไว้ชัดเจนว่าเป็น  การเลื่อนมิใช่การย้าย  การเลื่อนคือการขยับหรือเคลื่อนออกมาใกล้ ๆ  ดังนั้น ชาวขุขันธ์ส่วนหนึ่งที่ได้รับการบอกเล่ามาแต่ปู่ย่าตายาย  ว่าเมืองขุขันธ์ได้ตั้งอยู่เดิมนั้นตลอดมา
            แม้หลังสงครามเวียงจันทร์  หลวงปราบ (เชียงขันธ์) นำนางคำเวียง  หญิงม่ายชาวลาวพร้อมท้าวบุญจันทร์ บุตรชายมาไว้ที่บ้านบก ก็อยู่ในแถบนั้นเอง ซึ่งในสมัยนั้นรู้จักกันดีแลเรียกกันว่า "คุ้มในวัง" เป็นที่อยู่ของคนลาวที่ต้อนมาจากเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มคนชั้นสูงของราชวงศ์ของลาว ชาวบ้านบกรอบนอกจึงเรียกหมู่บ้านบริเวณนั้นว่า สรก-กนง-เวี็ยง (หมู่บ้านในวัง) และเรียกคนที่อยู่ในหมู่บ้านในวังว่า เนี็ยก-กนง-เวี็ยง (คนในวัง) ซึ่งเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2508 ก็ยังเคยได้ยินชาวบ้านบกสื่อสารกันด้วยคำพูดอย่างนี้อยู่ทั่วไป ด้วยระยะทางจากบ้านดวนใหญ่ไปยังขุขันธ์ไกลเกือบสามสิบกิโลเมตร  จึงไม่เชื่อว่ามีการย้ายเมืองจากบ้านดวนใหญ่ ของอำเภอวังหินปัจจุบัน  ไปอยู่ที่เมืองขุขันธ์  เพราะบ้านดวนใหญ่ ไม่มีปราสาทสี่เหลี่ยมโบราณ  ลักษณะการตั้งชุมชนไม่ใช่แบบเขมร  และไม่มีเชื้อสายคนที่ใช้ภาษาเขมรในบ้านดวนใหญ่แต่อย่างใด 
             ในเอกสารประวัติหมู่บ้านหลายแห่ง  เช่น  บ้านพันทา  บ้านเจียงอี  บ้านยางชุมน้อย  บ้านละทาย เป็นต้น  ระบุว่าบ้านดวนใหญ่ คือแหล่งตั้งถิ่นฐานของชาวลาว  มีศาลเจ้าพะละงุมที่ตั้งทิศเหนือ  ปากทางเข้าวัดบ้านดวนใหญ่  คือหลักฐานความผูกผันระหว่างบ้านดวนใหญ่กับนครจำปาศักดิ์ และเวียงจันทร์  บ้างก็เชื่อว่าบ้านดวนใหญ่ คือเมืองศรีนครเขต  ในยุคที่จำปาศักดิ์ขยายอาณาเขต  สมัยเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร  ขึ้นครองราชสมบัติเป็นกษัตริย์จำปาศักดิ์  ครองลาวใต้พระองค์แรก  บ้างก็เชื่อว่า บ้านดวนใหญ่เป็นที่ตั้งของเมืองใหม่ภายใต้การนำของท้าวราชโภชนัย  นายทหารของพระวอพระตาที่หนีการโจมตีของกองทับเวียงจันทร์จากเมืองหนองบัวลำภู  มาตั้งหลักแหล่งที่บ้านดวนใหญ่  ลักษณะการตั้งบ้านดวนใหญ่ตั้งเป็นวงกลมมิใช่สี่เหลี่ยมเหมือนการตั้งเมืองของเขมร  และก็มีบางท่านสันนิษฐานหรือเข้าใจว่า ท้าวราชโภชนัย คือท้าวอุ่น  หรือพระภักดีภูธรสงคราม  ปลัดเมืองขุขันธ์  ผู้ขอแยกเมืองขุขันธ์มาตั้งเมืองศรีสะเกษ  เมื่อ พ.ศ. 2325  และได้บรรดาศักดิ์เป็นพระรัตนวงษา ในที่สุด

นายศิริพงษ์ ไพศาลสุวรรณ
อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตาอุด 
อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
           หลังการสัมมนาทางประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ประมาณหนึ่งสัปดาห์ อาจารย์ศิริพงษ์ ไพศาลสุวรรณ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านตาอุด อำเภอขุขันธ์ และนักวิชาการชาวขุขันธ์หลายคนได้ไปสำรวจซากปราสาทสี่เหลี่ยมโบราณในบริเวณทิศเหนือขุขันธ์ ห่างจากหนองแตระ ที่ตั้งเมืองขุขันธ์ปัจจุบันประมาณ 1กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดกับลำห้วยเหนือ ด้านตะวันตก เป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่พอสมควร ผ่านการขุดค้นของนักหาของเก่ามานาน แต่ไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน

พิกัดที่ตั้งของปราสาทสี่เหลียมโบราณที่สร้างจากหินทรายและศิลาแลง 
อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ GPSบนGoogle Map : 14.727566, 104.195525
หรือที่พิกัด  14°43'39.2"N 104°11'43.9"E 
สภาพโดยทั่วไปของปราสาทสี่เหลียมโบราณที่สร้างจากหินทรายและศิลาแลง
(ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560 โดยนายสุเพียร  คำวงศ์ )
          แต่เดิมที่แห่งนั้น เป็นป่ามีต้นลำดวนขึ้นมากมายแน่นหนาแห่งหนึ่ง  ชาวบ้านทั่วไป มักเข้าใจผิดและเรียกกันว่า "บัลลังก์" (ซึ่งความจริงไม่ใช่บัลลังก์ แต่เป็น ฐานโยนี คือฐานที่สร้างขึ้น หรือเป็นสัญลักษณ์ของอวัยวะเพศหญิง ซึ่งรองรับศิวลึงค์ เป็นสัญลักษณ์ที่ไม่มีรูปของพระอุมาพระผู้เป็นพลัง(ศักติ) และเป็นชายาของศิวะ(พระอิศวร) นั่นเอง) และมีความน่าเชื่อว่านั่นคือที่ตั้งของ "บ้านโคกลำดวน" หรือ "บ้านปราสาทสี่เลี่ยมโคกลำดวน"เดิม ก่อนที่จะเลื่อนมาที่ตั้ง ณ ที่ตั้งเมืองแห่งใหม่เป็นเมืองขุขันธ์ ในที่สุด  ดังนั้น การเลื่อนที่ตั้งเมืองขุขันธ์จากที่เดิมมาที่หนองแตระ ใกล้บ้านแตระ นั้น จึงมิใช่การย้ายไปจากบ้านดวนใหญ่ 
ฐานโยนี ที่เคยตั้งอยู่ที่ปราสาทปราสาทสี่เหลียมโบราณที่สร้างจากหินทรายและศิลาแลง
ปัจจุบันถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดเจ็กโพธิพฤกษ์
อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ

ก้อนหินศิลาแลงที่ยังคงหลงเหลืออยู่ที่บริเวณปราสาทโบราณแห่งนี้
ก้อนหินทรายและศิลาแลงที่ยังคงหลงเหลืออยู่ที่บริเวณใจกลางปราสาท
             หากเป็นจริงตามที่สันนิษฐานนี้  แสดงว่าประวัติศาสตร์ "เมืองขุขันธ์" ในอดีต หรือจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน  ได้เดินมาสู่มิติใหม่ เพราะที่ผ่านมาประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์เต็มไปด้วยข้อโต้แย้ง  เพราะหลักฐานกับข้อมูลที่ประวัติที่เขียนไว้หลายแห่งโดยท่านเฉพาะผู้รู้หลายท่านขัดแย้งกัน  บางท่านได้มีการสันนิษฐานเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา  การใช้ถ้อยคำและการตีความที่ขัดแข้งกัน  จึงขอเสนอให้มีการศึกษาค้นคว้าเพื่อที่ประวัติศาสตร์ "เมืองขุขันธ์"  หรือจังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบันที่เขียนไว้โดยผู้รู้หลายท่านที่ผ่านการบอกเล่าต่อ ๆ กันมาตามความเชื่อของผู้เฒ่าคนเก่าแก่ และจากหลักฐานแวดล้อมจะได้มีความตรงกันในที่สุด

             อีกสิ่งหนึ่งที่ลูกหลานชาวเมืองขุขันธ์ ควรจะรู้ คือ ความเป็นเมืองขุขันธ์ ในอดีตนั้นกว้างใหญ่ลงไปถึงดินแดนในประเทศกัมพูชาปัจจุบันถึง 3 เมือง ได้แก่เมืองมโนไพร หรือมลูไพร  เมืองอุทุมพรพิสัย(หรือบ้านกันตวด)  และเมืองกันทรรักษ์(ตำบลห้วยลำแสนไพรอาบาล)  ในประวัติเมืองมโนไพร  ซึ่งปรากฏในพงศาวดารว่า  ในปี พ.ศ. 2388  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ตั้งบ้านไพรตระหนัก (หรือบ้านตาสี)  ขึ้นเป็นเมืองมโนไพร  ให้หลวงภักดีจำนง (ทิดพรหม) เสมียนตรา กรมการเมืองขุขันธ์  ซึ่งเป็นบุตรเขยของพระยาเดโช (เม็ง)  เป็นพระมโนจำนง เจ้าเมืองมโนไพร ขึ้นตรงต่อเมืองขุขันธ์

            เมืองมโนไพร หรือ มลูไพร อยูในเขตจังหวัดพระวิหารในปัจจุบัน ขณะนั้นยังไม่มีจังหวัดพระวิหาร บริเวณนี้คือจังหวัดกัมปงธม เมืองขุขันธ์ จึงมีอาณาเขตติดกับจังหวัดกัมปงธม บริเวณเมืองขุขันธ์ในอดีตจึงกว้างใหญ่ไพศาล ชาวขอมในอดีตเรียกดินแดนบริเวณเมืองขุขันธ์ว่า ស្រុកគោកខណ្ឌ (สรก-โคกขัณฑ์) แปลว่า ประเทศโคกขัณฑ์ 

            และในครั้งนั้น ได้โปรดให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์  เป็นข้าหลวงขึ้นไปจัดราชการหัวเมืองตะวันออก และจัดปันเขตแดนเมืองจำปาศักดิ์และเมืองขุขันธ์ให้เป็นเขตแดนเมืองมโนไพร  ซึ่งต่อมาไทยได้ยกเมืองมโนไพรและนครจำปาศักดิ์  ให้แก่ฝรั่งเศส  ตามสนธิสัญญา 7 ตุลาคม 2445  ปัจจุบันเมืองมโนไพรอยู่ในเขตของประเทศกัมพูชา

             ส่วนเมืองอุทุมพรพิสัย  และเมืองกันทรลักษ์  ซึ่งปรากฏในประวัติเมืองกันทรลักษ์และเมืองอุทุมพรพิสัยว่า  เมื่อ พ.ศ. 2410 (จ.ศ.1229)  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๘(ท้าววัง หรือ พระวิชัย - พุทธศักราช ๒๓๙๕ - ๒๔๒๖) ได้มีบอกกราบบังคมทูลพระกรุณาขอตั้งตำบลห้วยลำแสนไพรอาบาล เป็นเมืองกันทรลักษ์  ให้พระแก้วมนตรี (พิมพ์)  ยกกระบัตร เป็นเจ้าเมืองกันทรลักษ์ และตั้งบ้านกันตวด ตำบลห้วยอุทุมพร  เชิงเขาตกเป็นเมืองอุทุมพรพิสัย  ให้ท้าวบุดดี  บุตรของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๘ (ท้าววัง) เป็นเจ้าเมือง  จนเมื่อวันพฤหัสบดี แรม13ค่ำ เดือนห้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตำบลยกห้วยลำแสนไพรอาบาลเป็นเมืองกันทรลักษ์ให้พระแก้วมนตรี (พิมพ์  เป็นพระกันทรลักษณ์บาล เจ้าเมืองกันทรลักษ์  ยกบ้านกันตวด ตำบลห้วยอุทุมพร เป็นเมืองอุทุมพรพิสัย  ให้ท้าวบุดดี เป็นพระอุทุมพรเทศานุรักษ์ เจ้าเมืองอุทุมพรพิสัย ขึ้นตรงต่อเมืองขุขันธ์  พระราชทานถาดหมาก คนโทเงิน 1 สำรับ ประคำทอง 1  สัปทนปัสตู 1 เสื้อเข้มขาบริ้วดอก 1 แพร่สีติดขลิบ 1 ผ้าส่านวิลาศ 1 แพรเพลาะ 1 ผ้าลายเกี้ยว 1 เป็นเครื่องยศเหมือนกันทั้งสองเมือง พื้นที่ตั้งเมืองทั้งสองแห่งปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอจอมกระสานต์ จังหวัดพระวิหาร ประเทศกัมพูชา
             และนอกจากนี้ เขตเมืองขุขันธ์ในอดีต ยังมีพื้นที่กว้างไกลออกไปต่อถึงเขตแดนนครจำปาศักดิ์  กล่าวคือ อาณาเขตของเมืองขุขันธ์ ในอดีต ครอบคลุมถึงเขตอำเภอเดชอุดม อำเภอบุณฑริก ซึ่งรวมพื้นที่ของอำเภอน้ำยืน อำเภอนาจะหลวย และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น  จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบันนี้ด้วย  ดังประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ประกาศเรื่องเปลี่ยนชื่ออำเภอ  เล่ม ๓๔ หน้า ๔๐ และหน้า ๖๓ วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๖๐  ซึ่งลงนามโดยมหาเสวกเอก เจ้าพระยาสุรสีห์ วิสิษฐศักดิ์ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ประกาศมา ณ วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๐  ด้วยเหตุผลว่าเพื่อให้เป็นที่สะดวกในทางราชการและเป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้งแห่งประชุมชนทั่วไปว่าอำเภอใดคงเรียกตามชื่อเดิม อำเภอใดเปลี่ยนชื่อเรียกตามนามตำบล  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ประกาศชื่ออำเภอ ทั้งที่คงชื่อเดิมและเปลี่ยนชื่อใหม่ ดังบัญชีท้ายประกาศนี้ใช้เป็นระเบียบในราชการสืบไป  

             อำเภอเมือง                   เป็น อำเภอห้วยเหนือ
             อำเภอเมืองศีร์ษะเกษ  เป็น อำเภอศีร์ษะเกษ
             อำเภอราษีไสล             เป็น อำเภอคง
             อำเภอกันทรารักษ์       เป็น อำเภอน้ำอ้อม
             กิ่งบัวบุณฑริก              เป็น กิ่งโพนงาม
             อำเภออุทุมพรพิไสย คงเรียก อำเภออุทุมพรพิไสย
             อำเภอกันทรารมย์     คงเรียก อำเภอกันทรารมย์
             อำเภอเดชอุดม          คงเรียก อำเภอเดชอุดม





             มาถึงสมัยปัจจุบันนี้  อำเภอเมือง จังหวัดขุขันธ์ (ก่อนวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2460) หรืออำเภอห้วยเหนือ(ตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2460-10 พฤศจิกายน พ.ศ.2481) จังหวัดขุขันธ์ ในอดีต ก็คือ อำเภอขุขันธ์ ณ ที่ตั้งเดิมในปัจจุบันนั่นเอง  ส่วนอำเภอศีร์ษะเกษ คือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ ปัจจุบัน , อำเภอคง คืออำเภอราษีไศล , อำเภอน้ำอ้อม คืออำเภอกันทรลักษ์  จังหวัดศรีสะเกษ , กิ่งโพนงามคืออำเภอบุณฑริก  จังหวัดอุบลราชธานี  ซึ่งติดเขตแขวงจำปาศักดิ์ ประเทศ สปป.ลาว 
ปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนโบราณที่สร้างด้วยอิฐ ตั้งอยู่ ณ วัดเจ็กโพธิพฤกษ์
อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
             อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้คืออดีต  ที่ไม่มีวันหวนกลับ  แต่ขอให้ชาวจังหวัดศรีสะเกษ หรือ"เมืองขุขันธ์" "จังหวัดขุขันธ์" ในอดีต จงภาคภูมิใจที่บ้านเก่าเมืองแก่ของเราเป็นบ้านเมืองที่มีอารยธรรม  มีปราสาท  มีศิลาจารึกมีความเจริญต่อเนื่องมาอย่างไม่ขาดสาย  และมีพื้นที่อันกว้างใหญ่ไพศาลที่บรรพบุรุษของเราได้ก่อสร้างตัวเพื่อลูกหลายได้สืบทอดต่อๆกันมาจนถึงทุกวันนี้

เอกสารอ้างอิง : ราชกิจจานุเบกษา ประกาศเรื่องเปลี่ยนชื่ออำเภอ เล่ม ๓๔ หน้า ๔๐ และหน้า ๖๓ วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๔๖๐
ขอบพระคุณผู้เรียบเรียง : 
- นายประดิษฐ  ศิลาบุตร,2547.
- ดร.ปริง เพชรล้วน,2547.
ตรวจทาน : นายสุเพียร  คำวงศ์ ,26 มีนาคม 2560.

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย