ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

เมืองขุขันธ์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

         ปี พ.ศ. ๒๓๒๕  เข้าสู่สมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ภายหลังจากสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปราบดาภิเษกขึ้นเถลิงราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรงุรัตนโกสินทร์  พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ( เชียงขันธ์  ) ขอกราบบังคมทูลตั้งท้าวบุญจันทร์  บุตรเลี้ยงจากเมืองเวียงจันทน์   เป็น  "พระไกร"  ตำแหน่งผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์  พระองค์ทรงโปรดเกล้าตามขอและในปีเดียวกันนี้ พระองค์ ได้ โปรดเกล้าฯ  ให้เปลี่ยนราชทินนาม  เจ้าเมืองขุขันธ์จาก "พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน"  เป็น  "พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน"  ซึ่งเป็นบรรดาศักดิ์ในราชทินนามของเจ้าเมืองขุขันธ์ ตั้งแต่ท่านที่ ๒ สืบมาจนถึงท่านที่  ๙  ซึ่งเป็นเจ้าเมืองท่านสุดท้าย

          ในปีเดียวกันนี้เอง  พระภักดีภูธรสงคราม ( ท้าวอุ่น )  ซึ่งเป็นปลัดเมืองขุขันธ์ในขณะนั้น  มีความไม่แน่ใจในความปลอดภัยและไม่สบายใจในตำแหน่งหน้าที่ราชการ  จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ  กราบบังคมทูลขอพระกรุณาในการไม่สมัครใจปฏิบัติหน้าที่ราชการที่เมืองขุขันธ์  โดยขอพระราชทานตั้งบ้านโนนสามขา  ขึ้นเป็นเมือง  โดยขอเป็นเจ้าเมืองเอง  และ ทรงโปรดเกล้าฯ  ตามที่ขอ  โดยใช้ชื่อว่า  "เมืองศีร์ษะเกษ"  และโปรดเกล้าให้พระภักดีภูธรสงคราม ( ท้าวอุ่น )  มีบรรดาศักดิ์เป็น  "พระรัตนวงศา" เจ้าเมืองศีร์ษะเกษคนแรก  ทำให้เมืองศีร์ษะเกษ ได้ตั้งขึ้นหลังการตั้งเมืองขุขันธ์  ๒๓  ปี   

          สำหรับพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( หลวงปราบ )  มีความรักและเอ็นดูบุตรเลี้ยง   คือ  พระไกร ( ท้าวบุญจันทร์ )   ก็มักจะเรียกพระไกรว่า  ลูกเชลย  อยู่ประจำ  เนื่องจากพระไกรเป็นคนหนุ่มเกิดมีความละอายไม่พอใจมีความผูกพยาบาทอาฆาตเก็บความแค้นมาโดยตลอด  เพื่อรอจังหวะและโอกาสเท่านั้น  ต่อมาไม่นานก็สบโอกาสอย่างที่ตั้งใจ เมื่อมีพ่อค้าชาวญวนจำนวน  ๓๐  คน เดินทางมาซื้อโค กระบือ ยังเมืองขุขันธ์  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวนได้ให้การต้อนรับอำนวยความสะดวกเป็นพิเศษ    แม้กระทั่งการเกณฑ์ไพร่พลไปนำทางขึ้นลงที่ช่องโพย เพื่อให้พ่อค้าชาวญวนนำโค กระบือ เดินทางลงสู่ประเทศกัมพูชาโดยสะดวก  พระไกรผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์  ได้โอกาสจึงกราบบังคมทูลกล่าวโทษไปยังกรุงเทพฯ  ว่า  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(เชียงขันธ์ )  คบกับญวนต่างประเทศ  อาจจะเป็นกบฎ  สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดเกล้าฯ  ให้มีสารตราเรียกพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( เชียงขันธ์)  ไปพิจารณาความที่กรุงเทพฯ  และทรงวินิจฉัยว่า  ที่ถูกกล่าวหานั้นมีมูล จึงโปรดเกล้าให้จำคุก  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (เชียงขันธ์)ไว้ที่กรุงเทพฯ

           ปี  พ.ศ.  ๒๓๒๕  ได้โปรดเกล้า ฯ  ให้พระไกร (ท้าวบุญจันทร์)   บุตรเลี้ยงผู้กล่าวหาซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์  ขึ้นเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์  ในบรรดาศักดิ์ราชทินนาม  "พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน"  เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่  ๓  นอกจากนั้นแล้วยังได้แต่งตั้งให้ ท้าวมานะ เป็น  พระภักดีภูธรสงคราม  ให้ท้าวเทศ  เป็น  พระแก้วมนตรี  ยกบัตรเมืองขุขันธ์   พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (เชียงขันธ์)  หลังจากจำคุกอยู่กรุงเทพฯ  ๒ ปี  ได้พ้นโทษและกลับมาอยู่เมืองขุขันธ์  จนถึงแก่อนิจกรรม  ในปี พ.ศ. ๒๓๕๐


           ปี  พ.ศ.  ๒๓๒๖ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวบุญจันทร์)  ตั้งกรมการไปจับราษฎรในกองเจ้าเมืองนัน  เจ้าเมืองนันเกณฑ์กำลังยกมาตีเมืองขุขันธ์  ทำให้เมืองขุขันธ์สู้ไม่ได้  เจ้าเมืองขุขันธ์ได้หนีไปอยู่เมืองสังฆะแล้วบอกลงมากรุงเทพฯ  พระเจ้าอยู่หัวจึงได้โปรดเกล้าฯ  ให้ข้าหลวงคุมกำลังไปจับเจ้าเมืองนันนำตัวลงไปกรุงเทพฯ

           ปี  พ.ศ.  ๒๓๒๘  เมืองศีร์ษะเกษ  พระรัตนวงศา (ท้าวอุ่น)  เจ้าเมืองคนแรกของศีร์ษะเกษ  ถึงแก่อนิจกรรม  จึงโปรดเกล้าฯ  ตั้งท้าวชม   บุตรพระรัตนวงศา (ท้าวอุ่น) เป็นพระวิเศษภักดี(ท้าวชม)  เป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ

           ปี  พ.ศ.  ๒๓๒๙  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าวบุญจันทร์)  เจ้าเมืองขุขันธ์  กับพระวิเศษภักดี (ท้าวชม) เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ มีความขัดแย้งกัน  ในการแบ่งเขตแดนเมืองต่อกัน  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้ปักปันเขตแดนกัน  คือ ทิศใต้ตั้งแต่เขาบรรทัดตั้งแต่ช่องจันทน์หอมมาบ้านหัวดอย  ทุ่งประทายมา บ้านขาม บ้านคันฮ่มถึงบ้านลาวเดิม ไปตามลำห้วยทา ไปบ้านเก่าศาลา  บ้านสำโรง บ้านดอบกองไปวังขี้นาค  ไปบ้านแก่งเก่า  ไปกุดสมอ ไปสระสี่เหลี่ยม หลักหินท่าน้ำลำพาชี๑ ไปตามลำน้ำมูล  ไปบ้านด่าน บ้านหมากเยา ไปบ่อพันขันธ์  ถึงท่าหัวลำพาชีลงไปทางใต้ เป็นพรมแดนเมืองขุขันธ์  ข้างทิศเหนือ เป็นพรมแดนเมืองศีร์ษะเกษ

           ปี  พ.ศ.  ๒๓๔๒  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เกณฑ์กำลัง เมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์  และเมืองสังฆะ    เมืองละ  ๑๐๐  คน  รวมเข้าเป็นกองทัพยกไปตีกองทัพพม่า  ซึ่งได้ยกเข้ามาตั้งทัพในเขตแขวงนครเชียงใหม่  แต่กองทัพไทยยกไปยังไม่ถึงกองทัพพม่ารู้ข่าวได้ยกทัพหนีออกไปเสียก่อน  พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ  ให้ยกทัพกลับเมืองตนเอง

           ปี  พ.ศ.  ๒๓๔๙   โปรดเกล้าฯ  ให้เมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์  และเมืองสังฆะ ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ เพราะทั้งสามเมืองนี้ได้ร่วมกองทัพช่วยประเทศชาติ  ตามเสด็จในราชการสงครามสำคัญ ๆ  หลายครั้ง    มีความชอบและได้รับความไว้วางพระทัยในทางปกครองจึงไม่ต้องขึ้นต่อเมืองพิมาย ทั้งนี้  ทั้งเมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์  และเมืองสังฆะ  ถือเป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอีสานใต้ในขณะนั้น

           ปี  พ.ศ.  ๒๓๖๐  ในสมัยรัชกาลที่  ๒  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เกิดกบฎ สาเกียดโง้งคุมกำลังตีเมืองจำปาศักดิ์  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้ทัพจากนครราชสีมาไปปราบ   โดยมีเมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์  และเมืองสังฆะ ร่วมยกทัพไปด้วย  จนสามารถจับกบฎสาเกียดโง้ง  มาลงโทษได้

           ปี  พ.ศ.  ๒๓๖๘  ในสมัยรัชกาลที่  ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  พระวิเศษภักดี (ชม )  เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ  ถึงแก่อนิจกรรม  จึงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งพระภักดีโยธา(บุญจันทร์) ปลัดเมืองเป็น พระวิเศษภักดี เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ คนที่ ๓  

           ปี  พ.ศ.  ๒๓๖๙  ตรงกับรัชกาลที่  ๓   แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  (ท้าวบุญจันทร์)  เจ้าเมืองขุขันธ์และกรมการเมืองเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรง   ความทราบถึงพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงโปรดเกล้าฯ  ให้เจ้าพระยานครราชสีมา และพระปลัดเมือง ยกกองทัพเดินทางมาระงับความวิวาทที่เมืองขุขันธ์  ทำให้เหตุการณ์สงบเรียบร้อยลงเป็นปกติ  ขณะกองทัพนครราชสีมาเตรียมยกทัพกลับ  ก็ได้ทราบข่าวว่าที่นครราชสีมา  ถูกเจ้าอนุวงศ์ยึดได้  และสามารถกวาดต้อนผู้คนไปเป็นเชลย จำนวนมาก   ในขณะที่เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ยึดเมืองนครราชสีมาอยู่นั้น  เจ้าโย้แห่งเมืองจำปาศักดิ์   ก็ได้ยกทัพมาตีเมืองขุขันธ์   เมืองสังขะ และเมืองสุรินทร์  โดยจับ  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(ท้าวบุญจันทร์)  เจ้าเมืองขุขันธ์ จับพระภักดีภูธรสงคราม (มานะ )จับพระแก้วมนตรี ( เทศ) รวมทั้งกรมการเมืองอื่น ๆ  นำไปประหารที่บ้านส้มป่อย  เพราะไม่ยอมเป็นสมัครพรรคพวกด้วย  ส่วนเจ้าเมืองสุรินทร์  เจ้าเมืองสังขะ  หลบหนีไปได้ กองทัพของเจ้าโย้ ได้กวาดต้อนครอบครัวไทย เขมร กูยหรือกวยไปไว้ที่เมืองจำปาศักดิ์จำนวนมากเช่นกัน (ภายหลังคนเหล่านี้ได้เป็นใส้ศึกให้ตีเมืองจำปาศักดิ์ได้สะดวกยิ่งขึ้น) เหตุการณ์ทราบถึงกรุงเทพฯ  ได้โปรดให้ยกทัพมาปราบจนสำเร็จเรียบร้อย  ทำให้เมืองขุขันธ์ขณะนั้นตำแหน่งเจ้าเมืองว่างลง

           และต่อมาในปลายปี  พ.ศ.  ๒๓๖๙   พระเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ  ตั้งให้ พระสังฆะบุรี (ทองด้วง) บุตรของพระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ(เชียงฆะ  หรือเชียงเกา ) เจ้าเมืองสังขะ มาเป็นเจ้าเมืองขุขันธ์  คนที่  4  ในราชทินนาม  "พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน"  โดยให้ท้าวไชย (ท้าวใน)  บุตรพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ )  เป็น  พระภักดีภูธร  ปลัดเมือง ให้พระสะเทือนภักดี (ท้าวนวน) ผู้น้อง เป็นพระแก้วมนตรี ยกบัตรเมือง และให้ท้าวหล้าบุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  (เชียงขันธ์)  เป็นพระมหาดไทย  ช่วยกันปกครองดูแลเมืองขุขันธ์ต่อไป
          
           ระหว่างปี  พ.ศ.  ๒๓๗๖–๒๓๘๒  เจ้าพระยาบดินทร์เดชา  เป็นแม่ทัพยกจากกรุงเทพฯและรวมทัพจากหัวเมืองชั้นนอกต่าง ๆ  รวม  ๔๐,๐๐๐  คน  ไปรบกับญวนในเขตเมืองกัมพูชา  การทำศึกครั้งนี้เมืองขุขันธ์ได้เกณฑ์ไพร่พลจำนวน  ๑,๕๐๐   คนไปร่วมรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองทัพจากกรุงเทพฯอย่างแข็งขันโดย  หลวงเทพรักษาได้ยกพลมารวม  ณ  ที่ตั้ง  บริเวณวัดไทยเทพนิมิต   และให้เจ้าพระยาบดินทร์เดชา  (สิงห์  สิงหเสนีย์ ) จากกรุงเทพฯ  จัดทำบัญชี  "เขมรป่าดง"  เมืองขุขันธ์   ได้สำรวจชำระบัญชีชายฉกรรจ์ในครัวเรือนด้วย  คือ เป็นการสำรวจสำมโนประชากรครั้งแรกของเมืองขุขันธ์

          ปี  พ.ศ.  ๒๓๘๖   เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับญวน  โปรดเกล้าฯ ให้พระบดินทร์เดชา  จัดกองทัพไปรบกับญวน  โดยมีรับสั่งให้เมืองขุขันธ์เตรียมไพร่พลจำนวน  ๔,๐๐๐   คน  เมืองศีร์ษะเกษ  เตรียมไพร่พล ๓,๐๐๐  คน  เพื่อร่วมกองทัพไปทำศึกกับญวน ในครั้งนี้ด้วย

          ในปีนี้เองที่กรมการเมืองขุขันธ์  คือ  หลวงธิเบศร์   หลวงมหาดไทยและหลวงอภัย  ไม่ประสงค์ที่จะอยู่ภายใต้การปกครองเมืองขุขันธ์  จึงอพยพไพร่พลและครอบครัว  ไปตั้งเมืองใหม่ที่บ้านลำโดมใหญ่  เป็นเมืองเดชอุดม  ให้หลวงธิเบศร์ เป็น หลวงสุระ  เจ้าเมืองเดชอุดม  หลวงมหาดไทย  เป็น หลวงภักดี  ปลัดเมือง  หลวงอภัย  เป็นหลวงพรหมภักดี  ยกบัตรเมืองเดชอุดม

          ปี  พ.ศ.  ๒๓๘๘     พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  (ทองด้วง  หรือพระสังฆะบุรี )  เจ้าเมืองขุขันธ์  ท่านที่ ๔ ได้ ขอตั้งบ้านไพรตระหนัก ขึ้นเป็นเมืองมโนไพร  และขอแต่งตั้งหลวงภักดีจำนงค์    ( พรหม )  เสมียนตรากรมการเมืองขุขันธ์  เป็นพระมโนจำนง เจ้าเมือง  ขึ้นกับเมืองขุขันธ์  เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยในการปกครอง  ได้โปรดเกล้าฯ  ให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์  ซึ่งเป็นข้าหลวงขึ้นไปปักปันเขตแดน  ของเมืองขุขันธ์และเมืองจำปาศักดิ์  ให้เป็นเขตแดนเมืองมโนไพร ( ปัจจุบันเมืองมโนไพรอยู่ในเขตแดนประเทศกัมพูชา )

          ปี  พ.ศ.  ๒๓๙๓   พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( พระสังฆะบุรี หรือ ทองด้วง - พุทธศักราช ๒๓๖๙ - ๒๓๙๓) เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่  ๔  ถึงแก่อนิจกรรม  ทรงโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้พระยาภักดีภูธรสงคราม ( ท้าวใน ) ปลัดเมือง  บุตรพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ )  เป็นพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่  ๕  แล้วแต่งตั้งให้พระมหาดไทย (ท้าวหล้า ) เป็นพระภักดีภูธรสงคราม ปลัดเมือง ต่อมา  พระภักดีภูธ (ท้าวหล้า )  ถึงแก่อนิจกรรม  จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้  ท้าวกิ่ง บุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  (เชียงขันธ์ )  เป็นพระภักดีภูธรสงคราม  ปลัดเมือง  และแต่งตั้งให้  ท้าวศรีเมือง  เป็นพระมหาดไทย

          ในปีเดียวกัน  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  ( ท้าวใน )  ถึงแก่อนิจกรรม  จึงโปรดเกล้าฯ    แต่งตั้งให้  พระแก้วมนตรี  ( ท้าวนวน )  บุตรพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน  (ตากะจะ) ยกบัตรเมือง เป็นพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่  ๖  และโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งให้พระมหาดไทย  ( ท้าวศรีเมือง )  เป็นพระมนตรียกบัตรเมือง

            ปี  พ.ศ.  ๒๓๙๔   พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวนวน)  เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่  ๖  ถึงแก่อนิจกรรม   จึงโปรดเกล้าฯตั้งพระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวกิ่ง)  บุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (เชียงขันธ์)  เป็นพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองคนที่ 7 โปรดเกล้าฯให้พระแก้วมนตรี (ศรีเมือง) ยกบัตรเมือง  เป็นพระภูธรสงคราม  ปลัดเมือง  ให้พระวิเศษ (พิมพ์)  กรมการเมืองเป็นพระแก้วมนตรี  ปลัดเมือง

          ปี  พ.ศ.  ๒๓๙๕  ในสมัยรัชกาลที่ ๔  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวกิ่ง)  เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่  ๗  ถึงแก่อนิจกรรม   จึงโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งพระวิชัย  (ท้าววัง)  กรมการเมือง  บุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน(เชียงขันธ์)  เป็น  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่  ๘

          ปี  พ.ศ.  ๒๔๐๙  มีพ่อค้าคนจีน ไปพักอยู่ริมบ้านเหมือดแอ่ ถูกคนร้ายปล้นและฆ่าตาย  ญาติพี่น้องผู้ตายได้นำความเข้าร้องทุกข์ต่อเจ้าเมืองใด  (ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเมืองสุวรรณภูมิเจ้าเมืองอุบลหรือเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ)  ต่างก็บ่ายเบี่ยงเกี่ยงงอนไม่ยอมรับร้องทุกข์  โดยบอกปัดว่าเหตุเกิดในเขตพื้นที่เมืองอื่น  ดังนั้นผู้เสียหายจึงไปร้องทุกข์ยังเจ้าพระยาเมืองนครราชสีมา  จึงได้เรียกเจ้าเมืองทั้ง  ๓  ไปพร้อมกัน      จึงได้มีบัญชาว่า  เหตุเกิดที่ใกล้เมืองทั้งสามหากหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ให้รับผิดชอบร่วมกัน  หากผู้ใดสืบจับผู้ร้ายได้  จะยกพื้นที่เกิดเหตุทั้งตำบลให้เป็นเขตเมืองนั้นหรือหากจับมิได้ต้องถัวเฉลี่ยเงินชดใช้ส่วนเท่ากัน  หากเจ้าเมืองใดอยากได้ตำบลนั้นให้เสียเงินแก่ญาติผู้เสียหายห้าชั่ง เจ้าเมืองอุบลยอมชดใช้เงินให้ญาติผู้เสียหายแต่ฝ่ายเดียวเพื่อยุติปัญหา   เจ้าพระยาเมืองนครราชสีมา  จึงยกพื้นที่ตำบลที่เกิดเหตุนั้นให้ขึ้นแก่เมืองอุบล  ตั้งแต่นั้นมา.

          ปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ปลายรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง ) เจ้าเมืองขุขันธ์ ได้สั่งจับพระวอ (ท้าวรส) น้องชายโดยไม่ทราบสาเหตุ  นำส่งกรุงเทพฯ  จนถึงอนิจกรรมอยู่ที่กรุงเทพฯ  และยังกล่าวโทษ  พระยาภักดีภูธรสงคราม (ท้าวศรีเมือง)  ปลัดเมือง  ในข้อหาเบียดบังเงินหลวง  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้ส่งตัวพิจารณาความที่กรุงเทพฯ  ได้พิจารณาความแล้วมีมูลความผิดตามข้อกล่าวหาตุลาการจึงตัดสินให้ชดใช้เงินแก่หลวงคืนแล้วให้กลับไปรับราชการตามเดิม   พระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวศรีเมือง)  เดินทางกลับถึงเมืองปราจีนบุรี  ก็เกิดอาการป่วยหนักได้ถึงแก่อนิจกรรมในระหว่างเดินทางในครั้งนี้   ฝ่ายท้าวอ้น  ซึ่งเป็นบุตรพระยาภักดีภูธรสงคราม (ท้าวศรีเมือง)  เกิดความระแวงว่าหากรับราชการที่เมืองขุขันธ์ต่อไปจะเดือดร้อน  อาจจะไม่ปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว    จึงตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ  กราบบังคมทูลขอรับราชการเป็นกองนอก  พระองค์ทรงเห็นใจ  ได้โปรดเกล้าฯ  ให้ท้าวอ้น  เป็น  “พระบริรักษ์ภักดี” นายกองนอกทำราชการขึ้นกับเมืองขุขันธ์  และโปรดเกล้าฯให้ท้าวบุญนาค  บุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  ( ท้าววัง )  เป็น พระอนันต์ภักดี  ผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์  ในปีเดียวกันนี้  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าววัง ) ได้ขอกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ตั้งตำบลห้วยลำแสนไพอาบาล  เป็นเมืองกันทรลักษ์  ให้พระแก้วมนตรี ( ท้าวพิมพ์ ) เป็นพระกันทรลักษ์อาบาล  เจ้าเมือง  และตั้งบ้านกันตวด  ตำบลห้วยอุทุมพร  เป็นเมืองอุทุมพรพิสัย  ให้ท้าวบุตรดี  เป็นพระอุทุมพรเทศานุรักษ์  เจ้าเมือง โดยให้ทั้งสองเมืองขึ้นต่อเมืองขุขันธ์  ในปีเดียวกันนี้  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง)  ได้ขอตั้งพระจำนงค์(แก้ว) เป็นพระภักดีภูธรสงคราม  ปลัดเมืองขุขันธ์และขอตั้งพระบริรักษ์ภักดี(อ้น) นายกองนอกเป็นพระแก้วมนตรี  ยกบัตรเมืองขุขันธ์  ได้รับโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งตามที่ขอ 

          ปี  พ.ศ.  ๒๔๑๑   แอดมิราลผู้สำเร็จราชการฝรั่งเศสแห่งเมืองไซ่ง่อน  แจ้งต่อรัฐบาลสยามว่า  ตามที่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าววัง )  แจ้งไปยังเมืองกัมปงสวาย  ประเทศกัมพูชา  ในบำรุงฝรั่งเศส  ว่าได้รับโปรดเกล้าฯให้ตั้งเมืองกันทรลักษณ์และเมืองอุทุมพรพิสัย ขึ้นนั้นจะรุกล้ำเขตแดนกัมพูชา  ครั้นความทราบถึงใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว  ทรงพระราชดำริสงสัยว่า  เมื่อ  พ.ศ.  ๒๔๑๐ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง )  ขอตั้งตำบลห้วยลำแสนไพอาบาลเป็นเมืองกันทรลักษ์ และบ้านกันตวด  ตำบลห้วยอุทุมพร(อยู่ในฝั่งกัมพูชาตรงข้ามอำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นพื้นที่ชายแดนของจังหวัดพระวิหาร ในปัจจุบัน)  เป็นเมืองอุทุมพรพิสัย   แต่ไม่ได้ความชัดเจนว่า  เขตแขวงเมืองทั้งสองจะขนานคาบเกี่ยวกับเขตแดนกัมพูชาประการใด  จึงโปรดเกล้าฯให้หลวงเดชอัสดา  ขุนอินทร์อนันท์   เป็นข้าหลวงออกไปพร้อมด้วยพระยาทรงพล  เป็นกรมการไต่สวน  และตรวจสอบจัดทำแผนที่ส่งกรุงเทพฯ  เพื่อมิให้เกิดข้อพิพาทกับฝรั่งเศส  จึงให้พระกันทรลักษ์อาบาลย้ายเมืองกันทรลักษ์มาตั้งที่บ้านลาวเดิม  (ปัจุจบันคือบ้านบักดอง บ้านหลักหิน  อำเภอขุนหาญ) และให้พระอุทุมพรเทศานุรักษ์ย้ายเมืองอุทุมพรพิสัยไปตั้งที่บ้านผือ หรือบ้านปรือ (ปัจจุบันคือบ้านผือใหม่ ตำบลเมือง อำเภอกันทรลักษ์) และครั้นถึงข้างขึ้น  ๑๕  ค่ำ  เดือน  ๑๑  ปีมะโรง  พ.ศ.  ๒๔๑๑   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์  พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ  เป็นรัชกาลที่  ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          ปี  พ.ศ.  ๒๔๑๒  โปรดเกล้าฯ  ให้เกณฑ์คนเมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์    เมืองสังฆะ  เมืองเดชอุดม  และเมืองศีร์ษะเกษ  ไปช่วยทำอิฐเพื่อทำการก่อสร้างกำแพงเมืองปราจีนบุรี  และในปีเดียวกันนี้  พระภักดีภูธรสงคราม( แก้ว )  ปลัดเมืองขุขันธ์  ได้ถึงแก่กรรม  จึงโปรดเกล้าฯ  ตั้งให้  พระมหาดไทย( แอก ) เป็นพระภักดีภูธรสงคราม และให้ท้าวแก้ว  เป็นพระบริรักษ์  นายกองนอก   ครั้นยกบัตร ( อ้น ) ถึงแก่กรรม  จึงโปรดเกล้าฯ  ตั้งให้ท้าวบุญจันทร์  บุตรพระปลัด (ศรีเมือง)   เป็นพระแก้วมนตรียกบัตร  และพระบริรักษ์ภักดี (แก้ว)  ถึงแก่กรรม  จึงโปรดเกล้าฯ  ให้ท้าวบุญเรืองบุตรพระปลัด(ศรีเมือง)  เป็น  “พระเจริญรัตนสมบัติ”  นายกองนอกต่อไป   ทางฝ่ายเมืองสังฆะ  พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ  ได้เข้าเฝ้าฯ  กราบบังคมทูลขอพระกรุณาตั้งบ้านกุดไผท  หรือบ้านจารพัดเป็นเมืองของหลวงไชยสุริยา (คำมี)  บุตรหลวงไชยสุริยวงศ์  กองนอก ไปเป็น  พระศรีขรภูมานุรักษ์  เจ้าเมืองให้ขึ้นต่อเมืองสังฆะ
  ส่วนตำแหน่งปลัดและตำแหน่งยกบัตรเมืองสังฆะ  ในขณะนั้นว่าง  จึงตั้งพระสุนทรพิทักษ์  บุตรพระปลัดคนเก่าขึ้นเป็นปลัด และขอหลวงศรีสุราช ผู้หลานเป็นยกบัตรเมืองสังฆะ

          
      ส่วนทางฝ่ายเมืองสุรินทร์  พระยาสุรินทร์ฯ  เห็นว่า  พระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ  ได้ขอบ้านกุดไผทเป็นเมืองศรีขรภูมิแล้ว  ก็เกรงว่าพระยาสังฆะบุรีศรีนครอัจจะ คงจะขอบ้านลำดวนเป็นเขตแขวงด้วย  จึงมีใบบอกทูลขอตั้งบ้านลำดวนขึ้นเป็นเมือง  โดยให้พระไชยณรงค์ภักดี (นาก)  ปลัดเมืองสุรินทร์  เป็นเจ้าเมือง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ทรงโปรดเกล้าฯ  ตามขอ  โดยให้ยกบ้านลำดวน  ขึ้นเป็นเมืองชื่อ  เมืองสุรพินทนิคม ให้พระณรงค์ภักดี (ปลัดนาก) เป็นพระสุรพินทนิคมมานุรักษ์  เจ้าเมืองสุรพินทนิคม  โดยให้ขึ้นต่อเมืองสุรินทร์

          ปี  พ.ศ.  ๒๔๑๕  ได้โปรดเกล้าฯ  ให้มีท้องตราถึงบรรดาหัวเมืองตะวันออกว่า  ได้ยกเลิกการตั้งค่าทำเนียม   กองสักเลขตามหัวเมือง  และทรงอนุญาตให้ราษฏร์ในหัวเมืองต่างๆไปอยู่ตามหัวเมืองใดๆได้ตามความสมัครใจ  เพียงแต่ให้เจ้าเมืองจัดทำสำมะโนครัวตัวเลขราษฏรที่สมัครใจไปอยู่เมืองอื่นส่งกรุงเทพฯ

          ในปีเดียวกันนี้  พระแก้วมนตรี ( ท้าวอ้น )  ถึงแก่กรรม  จึงโปรดเกล้าตั้ง  หลวงรักษมนตรี (ท้าวบุญเรือง )  บุตรพระภักดีภูธรสงคราม (ท้าวศรีเมือง) เป็นพระแก้วมนตรียกบัตรเมืองขุขันธ์

          ฝ่ายเมืองสังฆะ  เจ้าเมืองสังฆะ  ได้มีใบบอกขอตั้ง  บ้านลำพุก  ขึ้นเป็นเมืองกันทรารมย์  และ   ขอให้พระมหาดไทยเป็นพระกันทรานุรักษ์  เจ้าเมืองกันทรารมย์  พระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าตามขอโดยให้เมืองกันทรารมย์ขึ้นต่อเมืองสังฆะ

          ปี  พ.ศ.  ๒๔๑๗  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าววัง)  เจ้าเมืองขุขันธ์  มีใบบอกกราบบังคมทูลขอให้ พระวิเศษสัจจา  ยกบัตรเมืองขุขันธ์  เป็นเจ้าเมืองกันทรลักษ์ เนื่องจากพระกันทรลักษ์อาบาล  (พิมพ์)  ถึงแก่อนิจกรรม และขอให้พระแก้วมนตรี (บุญจันทร์) เป็นยกบัตรเมืองขุขันธ์

            ปี  พ.ศ.๒๔๑๘  เมืองหนองคาย เกิดกบฎโดยกลุ่ม  ฮ่อ  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มหาอำมาตย์เป็นแม่ทัพคุมกองทัพจากนครราชสีมา  กองทัพจากมณฑลอุดร  และมณฑลอีสาน ประกอบด้วย เมืองขุขันธ์  เมืองเดชอุดม   และเมืองศีร์ษะเกษ    ได้นำไพร่พลร่วมกับเมืองอื่น ๆ  ในมณฑลอีสานด้วย  ทำให้ปราบกบฎฮ่อที่หนองคายครั้งนี้  โดยการนำของแม่ทัพมหาอำมาตย์สามารถตีกลุ่มกบฎฮ่อแตกพ่ายยับเยิน  ที่เหลือก็ถูกจับเป็นเชลยทั้งหมด

          ปี ๒๔๑๙  เกิดเหตุการณ์ จากที่นักองค์วรรตถา  พระอนุชาสมเด็จพระนโรดม  พระเจ้ากรุงกัมพูชา  ได้หนีจากกรุงเทพฯ  กลับไปยังกรุงกัมพูชา  เพื่อไปแย่งชิงสมบัติ  ได้หลบหนีไปที่บ้านลำจาก  แขวงเมืองมโนไพร  พระยาเจริญราชไมตรี  ได้กล่าวหา  พระมโนมัยจำนง (พรหม)  เจ้าเมืองมโนไพร  ได้ส่งเสบียงอาหารให้นักองค์วรรตถา  จึงได้ส่งตัวเข้ากรุงเทพฯ  เพื่อพิจารณาและได้ข้อเท็จจริงดังถูกกล่าวหา  จึงได้ลงโทษโบย  ๑  ยก  ๓๐  ที  และจำตรวน  ๓  เดือน  แล้วโปรดเกล้าฯ  ให้ทรงบรรดาศักดิ์เดิม  และให้กลับไปเป็นเจ้าเมืองตามเดิม

          ปี  พ.ศ.  ๒๔๒๔  พระเจริญรัตนสมบัติ (บุญจันทร์)  นายกองนอกเมืองขุขันธ์  เกิดกรณีวิวาทขัดแย้งกับ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าววัง )  เจ้าเมืองขุขันธ์  จึงได้พาสำมะโนครัว  ตัวเลขรวม  ๔,๖๑๑ คน สมัครใจไปขึ้นกับเมืองจำปาศักดิ์    จึงโปรดเกล้าฯ  ให้เมืองขุขันธ์  เมืองจำปาศักดิ์    หักโอนกันตามธรรมเนียม  ซึ่งขณะนั้นเมืองจำปาศักดิ์ยังเป็นเมืองประเทศราชขึ้นต่อกรุงเทพมหานคร

          ในปีเดียวกันนี้  ฝ่ายเมืองศีร์ษะเกษ  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯตั้งให้พระพรหมภักดี (โท )  ยกกระบัตรเมือง เป็น “พระวิเศษภักดี” เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ถือศักดินา ๓,๐๐๐ ให้ท้าวเหง้าบุตรพระวิเศษภักดี (บุญจันทร์) เป็น “พระภักดีโยธา” ปลัดเมืองศีร์ษะเกษ  ถือศักดินา  ๖๐๐ ให้ราชวงศ์ (ปัญญา)บุตรหลวงไชย(สุก)เป็น “พระพรหมภักดี” ยกบัตรเมืองศีร์ษะเกษ ถือศักดินา ๕๐๐ และท้าววิเศษ บุตรพระวิเศษภักดี(โท)  เป็นผู้ช่วยราชการเมือง   และในปีเดียวกันนี้ เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ ได้ขอตั้งบ้านหินกอง 
ให้ยกฐานะ "บ้านโนนหินกอง" อยู่ในเขตเมืองสุวรรณภูมิ ขึ้นเป็นเมือง ชื่อว่า "เมืองราษีไศล"   โดยโปรดเกล้าฯ ให้ พระพล (จันทร์ศรี) บุตรหลวงอภัย เป็น "พระประจนปัจนึก" ตำแหน่งเจ้าเมืองราษีไศล  เป็นท่านแรก ให้หลวงแสง(จันทร์)น้องชายพระประจนปัจนึก เป็น "หลวงหาญศึกนาศ"  เป็นปลัดเมือง ให้ท้าวคำเม๊ก บุตรพระระจนปัจนึก เป็น “หลวงพิฆาตไพรี” เป็นยกบัตรเมืองราษีไศล  ขึ้นกับเมืองศีร์ษะเกษ

          ปี  พ.ศ.  ๒๔๒๕  ฝ่ายเมืองสุรินทร์  ได้มีผู้คนได้พร้อมใจกันสมัครใจอพยพครอบครัวเป็นจำนวนมาก  โดยอพยพข้ามไปตั้งบ้านเรือนอยู่ฟากลำน้ำมูลข้างเหนือ  มีบ้านทัพค่าย  เป็นต้น  เดือดร้อนถึงพระยาสุรินทร์ ฯ  โดยได้มีใบบอกขอตั้งบ้านทัพค่ายเป็นเมืองและขอพระวิเศษราชา (ทองอิน)  เป็นเจ้าเมืองปกครอง  ชื่อว่า  เมืองชุมพลบุรี  โดยให้บรรดาศักดิ์  เจ้าเมืองใหม่ว่า " พระฤทธิรณยุทธ"  แล้วโปรดเกล้าฯ  ให้ท้าวเพชร  เป็นปลัดเมือง  ให้ท้าวกลิ่นเป็นยกบัตรเมือง  ทั้ง 2 คนเป็นพี่ชาย ของพระฤทธิรณยุทธ ( ทองอิน ) และให้ ท้าวนุด บุตรพระฤทธิรณยุทธ ( ทองอิน ) เป็นผู้ช่วยเมืองชุมพลบุรี  พร้อมกับได้โปรดเกล้าฯตั้ง นายปรางค์ บุตรพระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ (ม่วง) เป็น พระสุรพินทนิคมนุรักษ์ เจ้าเมืองสุรพินทนิคมแทนคนเก่า ที่ถึงแก่กรรมที่ตำแหน่งยังว่างอยู่

          ปี พ.ศ. ๒๔๒๖  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  (ท้าววัง) หรือ พระวิชัย เจ้าเมืองขุขันธ์ คนที่ ๘ ได้ถึงแก่อนิจกรรม  ท้าวปานหรือท้าวปัญญา บุตรพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าววัง ) เจ้าเมืองขุขันธ์ คนที่ ๘ กับพระรัตนโกศา (จันดี) ได้นำช้างพังสีประหลาด ๑ เชือก  ช้างพังตาดำ ๑ เชือก  ทูลเกล้าถวายต่อสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕  เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสยามประเทศ  ด้วยความชอบ  จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งให้ท้าวปานหรือท้าวปัญญา  เป็นพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  เจ้าเมืองขุขันธ์  ท่านที่  9  สืบต่อมาด้วยอายุเพียง  ๒๖  ปี   ส่วนพระรัตนโกศา  (จันดี)  ได้รับโปรดเกล้าฯ  ให้เป็นปลัดเมืองขุขันธ์  และในเวลาต่อมาเจ้าเมืองจำปาศักดิ์  ก็ได้ให้พระเจริญรัตนสมบัติ (บุญจันทร์)  นายกองนอกกลับมาขึ้นกับเมืองขุขันธ์ตามเดิม  และในปีนี้ พระอุทุมพรเทศานุรักษ์  เจ้าเมืองอุทุมพิสัยถึงแก่กรรม  จึงโปรดเกล้าให้ยกบัตร(อัต) เป็น  “พระอุทุมพรเทศานุรักษ์ เจ้าเมืองอุทุมพรพิสัย เมื่อวันพฤหัสบดี  แรม ๒ ค่า เดือน ๑๐ ปีพ.ศ.  ๒๔๒๖ และได้พระราชทานถาดหมาก คันโทเงิน ๑ สำรับ สัปทน แพรขลิบแดง ๑ อัน  เสื้อเข้มขาบริ้ว ๑ ผืน  ผ้าขาวห่ม ๑ ผืน ผ้าห่มจีน ๑ ผืน

          ในปีเดียวกันนี้  ได้มีสารตรา โปรดเกล้า ฯ  ไปยังหัวเมืองตะวันออก  ห้ามมิให้จับพวกข่า มาทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนและใช้สอยการงานต่าง ๆ  และส่วนผู้ใดได้ซื้อหามาจากผู้ใดอยู่ก่อนนั้น  ก็ให้อยู่กับผู้นั้นต่อไป  เพราะถ้าจะให้ข้าทาสนั้นหลุดพ้นค่าตัวไปก็จะเป็นเหตุเดือดร้อนแก่มูลนายผู้ซื้อ และแลกเปลี่ยนมาก่อนนั้น (นโยบายการเลิกทาส )

          ปี  พ.ศ.  ๒๔๒๘  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้ตัดทางสายโทรเลขตั้งแต่เมืองจำปาศักดิ์  ไปเมืองขุขันธ์  และจากเมืองขุขันธ์ถึงเมืองเสียมราช โดยพระยาอำมาตย์ข้าหลวงเมืองจำปาศักดิ์  ตั้งให้หลวงเสนีย์พิทักษ์  หลวงเทพนเรนทร์  หลวงโจมพินาศ  หลวงนคร   เป็นข้าหลวงไปเกณฑ์ราษฏรเมืองขุขันธ์  เมืองสังฆะบุรี  ไปตัดทางสายโทรเลข  ณ  เมืองขุขันธ์  เมืองอุทุมพรพิสัย  และเมืองมโนไพร  โดยให้หลวงพิชัยชาญยุทธ  เป็นข้าหลวงประจำ ณ เมืองมโนไพรด้วย ในขณะเดียวกัน  พระมหาอำมาตย์ได้ให้ข้าหลวงศรีคชรินทร์  หลวงทรบริรักษ์  ยกบัตรเมืองมโนไพร  ไปตรวจราชการอาณาเขตติดต่อกับเมือง กำปงสวาย  ในเขตประเทศเขมร  ในการบำรุงฝรั่งเศส  ได้พบออกญาเสนาราชกุญเชน  และออกญาแสนพรมเทพ  ซึ่งได้อพยพครอบครัวมาอยู่ในพระราชอาณาเขตได้  ๗-๘  ปีแล้ว  ทั้งสองร้องขอที่จะสมัครใจอยู่ในขอบขันฑ์สีมาจึงได้นำออกญาทั้งสองไปเมืองมโนไพร  ให้ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา  แล้วพระยาอำมาตย์มีตราจุลราชสีห์  แต่งตั้งให้  ออกญาเสนาราชกุเชน  เป็นพระภักดีสยามรัฐ  นายกอง  ให้ออกญาแสนพรหมเทพ  เป็นหลวงสวัสดิ์จุมพล  ปลัดกอง  คุมญาติพี่น้องและบ่าวไพร่  ทำราชการขึ้นกับเมืองขุขันธ์  จึงทำให้เมืองขุขันธ์มีกองนอกเพิ่มอีกสองกอง  แต่นั้นมา  ในปีนี้ ทูตฝรั่งเศส ณ กรุงเทพ แจ้ง รัฐบาลไทยว่า  ผู้สำเร็จราชการของฝรั่งเศส เมืองไซง่อน  ประเทศญวณ  ได้จัดทหารยกทัพทำศึกกับทัพองค์วรรตถาและองวรรตถาได้แตกหนีข้ามเขต  ทหารฝรั่งเศสไม่ได้ติดตามเข้ามา  จึงโปรดเกล้าฯให้มีท้องตรา
ถึงเมืองขุขันธ์ คอยสืบจับองค์วรรตถา เพื่อมิให้องค์วรรตถาหลบหนีเข้ามา ส้องสุมผู้คนในพระราชอาณาเขต  รัฐบาลฝรั้งเศสแจ้งดั่งนี้ ดูประหนึ่งว่าเจ้าเมือง กรมการเมืองฝ่ายไทย ไม่เอาใจใส่รักษาด่านทาง  ซึ่งจะเป็นเหตุให้มีความบาดหมางต่อทางพระราชไมตรี  เมืองขุขันธ์  และเมืองมโนไพร ให้แต่งกรมการออกลาดตระเวรสืบจับนักองค์วรรตถา  แต่ก็ไม่พบตัวแต่ประการใด  สร้างความอึดอัดใจให้แก่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าวปัญญา) เจ้าเมืองขุขันธ์ และเจ้าเมืองมโนไพรอย่างมาก เพราะเกรงว่านักองค์วรรตถา  อาจจะหลบหนีเข้ามาซ่องสุมผู้คนภายในพระราชอาณาเขต อาจทำให้ฝรั่งเศสเข้าใจผิดได้ ขณะที่หลวงศรีคชรินทร์และหลวงสุนทรบริรักษ์ ข้าหลวงออกตรวจราชการชายแดนเมืองขุขันธ์และเมืองมโนไพร ที่เป็นชายแดนติดต่อกับเมืองกำปงสวายของเขมร  ได้พบออกญาเสนาราชกุเชน กับออกญาแสนพรหมเทพ  อพยพครอบครัวมาอยู่ที่บ้านจอมกระสาน ในเขตไทยเป็นเวลา ๗-๘ ปีแล้ว ออกญาทั้งสองสมัครใจอยู่ภายใต้อำนาจไทย  จึงได้ออกญาทั้งสองไปถือน้ำพิพัฒน์สัตยาที่เมืองมโนไพร จึงโปรดเกล้าฯให้ออกญาเสนาราชกุเชน เป็น “พระภักดีสยามรัฐ” เป็นนายกองและออกญาเสนาพรหมเทพเป็น  “หลวงสวัสดิ์จุมพล” เป็นปลัดกอง ควบคุมบ่าวไพร่ทำราชการขึ้นต่อเมืองขุขันธ์

          ปี  พ.ศ.  ๒๔๓๐   กรมไปรษณีย์โทรเลข  ได้ส่งมิสเตอร์อัสซอนโลแมน  ไปตรวจรักษาสายโทรเลขระหว่างเมืองจำปาศักดิ์  ไปเมืองขุขันธ์  และจากเมืองขุขันธ์ ไปถึงเมืองเสียมราช  ครั้นมาถึงเมืองขุขันธ์  ได้ถึงแก่กรรมด้วยอาการไข้  และในปีนี้เอง  มีตราสารโปรดเกล้าฯ  ไปยังหัวเมืองตะวันออกว่า  บรรดา  ที่ดินที่คนมีตั้งบ้านเรือนไร่สวนอยู่นั้น จะถือเป็นสิทธิมิได้ เพราะมิได้แจ้งต่อกงสุล   ให้ขออนุญาตจากรัฐบาลสยามให้ตกลงตามหนังสือสัญญา และให้เมืองทั้งปวงทำบัญชีที่ดินคนของคนเหล่านั้นว่าได้มาอย่างไร ส่งกรุงเทพมหานคร

          ปี  พ.ศ.  ๒๔๓๐  เช่นเดียวกัน รัฐบาลฝรั่งเศสได้แจ้งต่อรัฐบาลสยามว่า  มองซิเออร์มาเรียน่า ซึ่งตั้งตนเป็นพระเจ้าแผ่นดินชิต้า ได้หนีมาจากปารีสมายังเมืองอาชิต้า ( บริเวณฝั่งโขงตะวันออก )  กับคนยุโรป  ๕  คน  มีปืน    ๔๘  หีบ  ขอให้รัฐบาลสยามช่วยสืบจับและรัฐบาลอังกฤษก็แจ้งว่า  เจ้าแมงกูรบุตรพระเจ้าแผ่นดินดงมิน  เจ้าแผ่นดินพม่าคนเก่า  ซึ่งอังกฤษได้นำตัวไปคุมขังไว้ที่ประเทศอินเดีย    ได้หนีมาทางเมืองไซ่ง่อน  รัฐบาลอังกฤษเกรงว่าจะหนีเข้ามาในเขตราชอาณาจักรสยามทางหัวเมืองตะวันออก  จึงให้รัฐบาลบสยามช่วยจับจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้มีสารตราส่งไปยังหัวเมืองตะวันออก  ให้ช่วยจับบุคคลทั้งสอง  ตามความประสงค์ของรัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลอังกฤษตามทางพระราชไมตรีโดยแข็งขันแต่ก็หาได้มีบุคคลทั้งสองเข้ามาในพระราชอาณาจักรสยามไม่  

          ปี พ.ศ. ๒๔๓๐   ฝ่ายเมืองศีร์ษะเกษ ท้าวนาคทำหนังสือเบิกล่องเดินทางให้แก่นายร้อยคำยี่ คำอ่อน เชียงน้อย ตองซู่   ซึ่งคุมโค กระบือ ไม่มีพิมพ์รูปพรรณไปจำหน่ายผิดพระราชบัญญัติ  จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ลูกขุน  ณ  ศาลาปรึกษาโทษ ท้าวนาค ตัดสินทวน ๕๐  จำคุก  ๓  ปี  และให้ปรับพระวิเศษภักดี ( โท )  เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ  ซึ่งให้การอ้างว่า มีตราพระราชสีห์ อนุญาตว่า  “ถ้าราษฎร จะทำการซื้อขายโค  กระบือ ก็ให้เจ้าเมืองทำเบิกล่องเดินทางได้   ให้ตรวจตำหนิรูปพรรณลงในใบเบิกล่องก็ได้  โดยไม่จริงนั้นเป็นเบี้ยละเมิดจัตุรคูณเป็นเงิน  ๕ ชั่ง ๖ ตำลึง ถึง ๓ สลึง  ๖๐๐ เบี้ย

          ปี พ.ศ. ๒๔๓๑  หลวงเสนีย์พิทักษ์  ข้าหลวงกำกับราชการ เมืองขุขันธ์ คนแรก (พ.ศ. ๒๔๒๘ )  ถึงแก่กรรมในขณะที่เดินทางไปตรวจราชการที่เมืองอุทุมพรพิสัย    พระมหาอำมาตยาธิบดี ( หรุ่น ) ข้าหลวงใหญ่  ได้จัดให้หลวงนครบุรี ปฏิบัติข้าราชการเป็นข้าหลวงกำกับราชการเมืองขุขันธ์แทน ต่อไป

          ในปี เดียวกันนี้ เจ้าเมือง สุวรรณภูมิ  ได้กล่าวโทษ เจ้าเมืองมหาสารคาม   เมืองสุรินทร์ และเมืองศีร์ษะเกษ ในข้อกล่าวหาว่า  ทั้ง  ๓ เมืองได้แย่งชิงดินแดน ของเมืองสุวรรณภูมิ ไปตั้งเป็นเมืองขึ้นโดยเมืองมหาสารคาม ได้เอาบ้านนาเลง  ขอตั้งเป็นเมืองวาปีปทุม  เมืองสุรินทร์ ขอเอาบ้านทับค่ายขอตั้งเป็นเมืองชุมพลบุรี และเมืองศีร์ษะเกษ ขอเอาบ้านโนนหินกอง ขอตั้งเป็นเมืองราษีไศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงเมืองจำปาศักดิ์และข้าหลวงประจำเมืองอุบลราชธานี  ได้ร่วมกัน สอบสวนหาข้อเท็จจริง ผลการสอบสวน ได้ความดังข้อกล่าวหาจริง  แต่เนื่องจากทั้งสามเมืองได้ทำการก่อสร้างเมืองจนเสร็จเรียบร้อย แล้วซึ่งยากต่อการที่รื้อถอน  จึงโปรดเกล้าฯให้ คงไว้เป็นเมืองต่อไป ทำให้เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ ต้องรับใส่เกล้าฯตามที่ทรงโปรดฯ

          ปี พ.ศ. ๒๔๓๒  พระยามหาอำมาตย์ ( หรุ่น )ข้าหลวงใหญ่  เมืองจำปาศักดิ์  ซึ่งมีอำนาจเต็ม ในภาคอีสานทั้งหมด  ได้แต่งตั้งใบประทวนให้  นายเยียบ เป็นพระยาสุรินทร์ภักดีไผทสมันต์ รักษาราชการในตำแหน่งเจ้าเมืองสุรินทร์ ต่อไป แต่อยู่ได้เพียง  2 ปี ก็ถึงแก่อนิจกรรมทำให้ พระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ ( ม่วง ) ต้องกลับจากช่วยราชการที่อุบลฯ  มาเป็นเจ้าเมืองอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ต้องมาถึงแก่อนิจกรรมในปี เดียวกัน

          ปี พ.ศ.  ๒๔๓๓   โปรดเกล้าฯ ให้พระรัตนโกศา (จันดี)  ปลัดเมืองขุขันธ์ ได้รับบรรดาศักดิ์ในราชทินนามใหม่  เป็น พระยาบำรุงบุระประจันต์ ปฏิบัติหน้าที่ เป็นข้าหลวงกำกับราชการ เมืองขุขันธ์ และให้ท้าวทองคำ  กรมการเมืองขุขันธ์ เป็นปลัดเมืองขุขันธ์แทน ต่อมาเมื่อได้ปราบเสือยงได้แล้ว ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระพิไชยสุนทรสงคราม” ปลัดเมืองขุขันธ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๓๗  ส่วนพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ปัญญา ) ก็ยังคงเป็นเจ้าเมือง ขุขันธ์ เช่นเดิม

            ปี พ.ศ.  ๒๔๓๓  ในรัชสมัย รัชกาลที่ ๕ นี้เองเป็นระยะเริ่มจะปฏิรูป การปกครองและเริ่มปรับปรุงการปกครองแผ่นดิน  เพื่อให้หัวเมือง ได้จัดการปกครองแผ่นดิน  อย่างมีระบบสอดคล้องกัน ที่จะนำไปสู่ความมั่นคง ของราชอาณาจักรสยามและเพื่อขยายการปกครองจากส่วนกลางไปสู่ส่วนภูมิภาค  อย่างมีระบบจึงได้ โปรดเกล้าฯให้รวมหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา เข้าด้วยกัน   ในเขตภาคอีสานแบ่งออกเป็น๔  กอง  มีข้าหลวงกำกับราชการกองละ ๑  คน  มีข้าหลวงใหญ่ปกครองต่างพระเนตรพระกรรณ อีก ๑   คน  คือ พระยามหาอำมาตยาธิบดี  (หรุ่น   ศรีเพ็ญ)  ประจำอยู่เมืองจำปาศักดิ์  มีอำนาจบังคับบัญชาหัวเมืองทั้ง  ๔  ตามควรแก่ราชการและโปรดเกล้าพระราชทานตราประจำชาติสำหรับข้าหลวงทั้ง ๔ กอง เป็นรูปตราแผ่นดิน  ใช้ประทับหนังสือราชการเป็นสำคัญด้วย    เมืองที่รวมเข้าเรียกว่า  "หัวเมือง"  เรียกข้าหลวงประจำกองว่า  ข้าหลวงหัวเมือง โดยได้รับแต่งตั้งข้าราชการจากส่วนกลางเป็นข้าหลวงกำกับราชการ  คือ

           ๑.   หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกตั้งที่ทำการข้าหลวงกำกับราชการที่เมืองจำปาศักดิ์  มีเมืองในสังกัดที่เป็นเมืองเอก  ๑๑  เมือง  คือ เมืองจำปาศักดิ์  เมืองเซียงแตง  เมืองแสนปาง เมืองสีทันดร  เมืองอัตปือ  เมืองสาละวัน  เมืองคำทองใหญ่  เมืองสุรินทร์  เมืองสังขะ  เมืองเดชอุดมและเมืองขุขันธ์  นอกจากนี้ยังมีเมืองขึ้นที่แบ่งเป็นเมืองโท  เมืองตรี  และเมืองจัตวา  อีก  26  เมือง  รวมเป็น  ๓๗  เมือง  โดยมีพระวิษณุเทพ (ช่อง )  เป็นข้าหลวง  ( เมืองขุขันธ์   มี  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  ปัญญา  ขุขันธิน   เป็นเจ้าเมือง )

           ๒.หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ  ตั้งที่ทำการข้าหลวงอยู่ที่เมือง  หนองคาย  มีเมืองในสังกัดเป็นเมืองเอก  ๑๖  เมือง  คือ  เมืองหนองคาย  เมืองเชียงขวาง  เมืองบริภัณฑ์นิคม  เมืองโพนพิสัย  เมืองชัยบุรี  เมืองท่าอุเทน  เมืองนครพนม  เมืองสกลนคร  เมืองมุกดาหาร  เมือกุมทาลัย  เมืองหนองหาร  เมืองขอนแก่น  เมืองคำเกิด  เมืองคำม่วน  เมืองหล่มสัก  และเมืองบุรีรัมย์  นอกจากนี้ยังมีเมืองขึ้นที่เป็นเมืองโท  เมืองตรี  เมืองจัตวา  อีก  ๓๖  เมือง  รวม ๕๒  เมือง  โดยมีพระสุรเดชวิเศษฤทธิ์ ( จัน  อินทรกำแหง )  เป็นข้าหลวง

           ๓.หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ  ตั้งที่ทำการข้าหลวงกำกับอยู่ที่  เมืองอุบลราชธานี  มี   เมืองในสังกัดที่เป็นเมืองเอก  ๑๒ เมือง คือ เมืองอุบลราชธานี  เมืองกาฬสินธุ์ เมืองสุวรรณภูมิ  เมืองมหาสารคาม  เมืองร้อยเอ็ด  เมืองภูแล่นช้าง  เมืองกมลาไสย  เมืองเขมราฐ  เมืองยโสธร  เมืองสองดอนดง  เมืองนางรอง  และเมืองศีร์ษะเกษ  นอกจากนี้ยังมีเมืองขึ้นที่เป็นเมืองโท  เมืองตรี  เมืองจัตวา  อีก  ๒๙  เมือง  รวม  ๔๑  เมือง  โดยมีพระยารชเสนา (ทัด ไกรฤกษ์ )  เป็นข้าหลวง

           ๔.หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง  ตั้งที่ทำการข้าหลวงกำกับราชการอยู่ที่เมือง  นครราชสีมา  มีเมืองในสังกัดเป็นเมืองเอก  ๓  เมือง   คือ  เมืองนครราชสีมา  เมืองชนบท  และเมืองภูเขียว  นอกจากนี้ยังมีเมืองขึ้นที่เป็นเมืองโท  เมืองตรี  เมืองจัตวา  อีก  ๑๖  เมือง  รวม  ๑๙  เมือง มีพระพิเรนทรเทพ (ทองคำ  สีหอุไร)  เป็นข้าหลวง

           ในระยะเริ่มการปฏิรูปครั้งนี้  เมืองขุขันธ์ เมืองเดชอุดม   เมืองสังขะ และเมืองสุรินทร์ อยู่ในหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก ส่วนเมืองศีร์ษะเกษ อยู่ในหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ และในปีเดียวกันนี้  ได้โปรดเกล้าฯให้ย้าย  พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น  ศรีเพ็ญ)  ข้าหลวงใหญ่เมืองนครจำปาศักดิ์ไปดำรงตำแหน่งข้าหลวงใหญ่มณฑลเขมร

            ปี  พ.ศ.  ๒๔๓๔  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๕  ทรงมีพระราชดำริว่า  กรุงสยาม  ได้มีพระราชไมตรีกับนานาประเทศมาช้านาน  บ้านเมืองก็ลุความเจริญโดยลำดับ และฝรั่งเศสได้เขมรเป็นอาณานิคมแล้วได้จัดทะนุบำรุงเขตแดนไกล้ชิดกับชายพระราชอาณาเขตด้านทิศใต้โอบไปทางทิศเหนือ   อังกฤษได้จัดเขตแดนพม่า ติดต่อกับเขตแดนไทยทางทิศใต้โอบไปทางทิศตะวันตก  ผู้คนเขมรป่าดง ญวณ ลาว เงี้ยว ซึ่งเป็นข้าขอบขันฑสีมากรุงเทพมหานคร ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ปลายราชอาณาเขตก็ สับสนปะปนกันกับผู้คนที่อาศัยอยู่นอกพระราชอาณาเขต  รัฐบาลฝรั่งเศสและอังกฤษได้ทะนุบำรุงอยู่นั้น จำเป็นที่รัฐบาลไทย ฝรั่งเศและอังกฤษต้องปรึกษาหารือกันเพื่อแบ่งปันเขตแขวงบ้านเมืองให้เป็นที่ตกลงกัน  แต่หัวเมืองในพระราชอาณาเขตที่กำหนดแบ่งปันไว้แต่ก่อนนั้น  ยังหาสมควรแก่กาลไม่  ควรจัดข้าหลวงที่มีคุณวุฒปรีชาสามารถ ออกไปประจำรักษาพระราชอาณาเขตซึ่งติดต่อกับหัวเมืองต่างประเทศ  กำกับดูแลรักษาด่าน ปราบปรามโจรผู้ร้าย  และจัดการบ้านเมืองให้เป็นที่เรียบร้อย  อีกทั้งรักษาพระราชไมตรีกับต่างประเทศให้เจริญยิ่งขึ้น  จึงทรงโปรดเกล้าฯ  ให้กำหนดหัวเมืองต่าง ๆ  ใหม่  ดังนี้

           ๑.  หัวเมืองลาวพวน  ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้น้องยาเธอ  กรมหมื่นประจักรศิลปคม  เป็นข้าหลวงต่างพระองค์  สำเร็จราชการหัวเมืองลาวพวน  ตั้งกองบัญชาการ  ณ  เมืองหนองคาย  มีเมือง  16  เมือง เมืองหนองคาย  เมืองหล่มสัก  เมืองชัยบุรี  เมืองท่าอุเทน  เมืองนครพนม  เมืองมุกดาหาร  เมืองสกลนคร   เมืองกุมุทาลัย  ( หนองบัวลำภู )  เมืองโพนพิสัย  เมืองขอนแก่น   เมืองเชียงรอง  เมืองคำม่วง  เมืองวานรนิวาส  รวมทั้งเมืองขึ้นกับเมืองเหล่านี้

           ๒.   หัวเมืองลาวกาว  โปรดเกล้าฯ  ให้น้องยาเธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร  เป็นข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการหัวเมืองลาวกาว  ตั้งกองบัญชาการอยู่  ณ  เมืองจำปาศักดิ์  ( ประทับอยู่  ณ  เมืองอุบลราชธานี  )  มีเมืองใหม่  23  เมือง  เมืองจำปาศักดิ์  เมืองขุขันธ์  เมืองสังขะ  เมืองสุรินทร์  เมืองศีร์ษะเกษ  เมืองยโสธร  เมืองกาฬสินธุ์  เมืองภูแล่นช้าง  เมืองกมลาสัย  เมืองเขมราฐ  เมืองสุวรรณภูมิ  เมืองเดชอุดม  เมืองร้อยเอ็ด  เมืองมหาสารคาม  เมืองสีทันดร  เมืองสาละวัน  เมืองอัตปือ  เมืองทองคำใหญ่  รวมทั้งเมืองที่เป็นเมืองขึ้นกับเมืองเหล่านี้ด้วย

           ๓.เมืองลาวพุงขาว  พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้พระน้องยาเธอ  กรมหมื่นหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์  เป็นข้าหลวงต่างพระองค์  สำเร็จราชการหัวเมืองลาวพุงขาว  ตั้งกองบัญชาการอยู่  ณ เมืองหลวงพระบางราชธานี  (ประทับอยู่  ณ  เมืองนครราชสีมา เพราะมีราชการติดพันอยู่)  โดยโปรดเกล้าฯ  ให้พระยาฤทธิรณเฉท ( สุข  ชูโต )  ซึ้งอยู่ปฏิบัติราชการอยู่ก่อนแล้ว  ปฏิบัติราชการแทน  มีเมืองหลวงพระบางราชธานี  เมืองสิบสองปันนา  เมืองสิบสองจุไทย เมืองหัวพันทั้งห้า  เมืองหัวพันทั้งหก  และเมืองขึ้นต่อเมืองเหล่านี้

           ๔.หัวเมืองลาวกาว  มีเมืองใหญ่  อยู่  ๖  เมือง    คือ  เมืองนครราชสีมา  เมืองบุรีรัมย์  เมืองภูเขียว  และเมืองขึ้นต่อเมืองเหล่านี้  โดยให้ตั้งกองบัญชาการอยู่  ณ  เมืองนครราชสีมา

           ๕.หัวเมืองลาวเฉียง  มีเมืองใหญ่อยู่  ๔  เมือง  คือ  เมืองนครเชียงใหม่  เมืองแพร่  เมืองนครลำปาง  เมืองเถิน  และที่เป็นเมืองขึ้นกับเมืองเหล่านี้

           ในการปรับปรุงการปกครองครั้งครั้งที่ ๒ นี้  เมืองขุขันธ์  เมืองเดชอุดม  และเมืองศีร์ษะเกษ  พร้อมทั้งเมืองขึ้นที่อยู่ในหัวเมืองลาวกาว  อยู่ในกลุ่มเดียวกัน  ซึ่งเป็นช่วงระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญแห่งการปฏิรูป  ครั้นปรับปรุงหัวเมืองทั้งสองครั้งในระยะติดต่อกัน   ส่งผลให้ความมั่นคงของบ้านเมืองดีขึ้น  และทรงมองเห็นว่า  ควรเร่งปรับปรุงพื้นที่ที่จำเป็นเกี่ยวกับปัญหาทางการเมือง  และปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ต้องเร่งปรับปรุงอย่างยิ่ง  ก่อนตั้งมนฑลเทศาภิบาล   ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกลุ่มหัวเมืองชั้นนอก เป็นมณฑลไว้แล้ว   ๖  มณฑล  คือ

           ๑.  มณฑลลาวเฉียง  คือ  บริเวณหัวเมืองลาวเฉียง  มีพระยาพลเทพ ( พุ่ม  ศรีชัยยันต์ )  เป็นข้าหลวงใหญ่  ณ  เมืองเฉียงใหม่  ต่อมาเปลี่ยนเป็น  มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ  แล้วเปลี่ยนเป็นมณฑลพายัพ  แล้วแบ่งออกเป็นมณฑลมหาราษฎร์อีกมณฑลหนึ่ง

           ๒. มณฑลลาวพวน  คือบริเวณหัวเมืองลาวพวน  มีพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นศรจักร์ศิลปาคม  เป็นข้าหลวงใหญ่  ตั้งกองบัญชาการอยู่  ณ  เมืองหนองคาย  ต่อมาเปลี่ยนมณฑลฝ่ายเหนือแล้วเปลี่ยนเป็นมณฑลอุดร  แล้วย้ายกองบัญชาการมาอยู่ที่บ้านหมากเข้ง  คือ  จังหวัดอุดร  ธานีในปัจจุบัน

           ๓.มณฑลลาวกาว  คือ  บริเวณหัวเมืองลาวกาว  มีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพิชิตปรีชากรเป็นข้าหลวงใหญ่    ตั้งกองบัญชาการอยู่  ณ  เมืองอุบลราชธานี  ต่อมาเปลี่ยนเป็น  มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ  และเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน  แล้วแยกออกเป็น  ๒ มณฑล  คือ  มณฑลอุบลราชธานี  และมณฑลร้อยเอ็ด

           ๔.มณฑลลาวกลาง  คือบริเวณเมืองลาวกลาง  มีพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์  เป็นข้าหลวงใหญ่  ตั้งกองบัญชาการอยู่เมืองนครราชสีมา  ต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลราชสีมา

           ๕. มณฑลเขมร  มีพระยามหาอำมาตยาธิบดี  ( หรุ่น  ศรีเพ็ญ )  เป็นข้าหลวงใหญ่  ตั้งกองบัญชาการอยู่  ณ  เมืองพระตะบอง  มี  ๔  เมือง  คือ  เมืองพระตะบอง เมืองเสียมราช  เมืองศรีโสภณ  เมืองพนมศก  และเมืองขึ้นต่อเมืองเหล่านี้  ต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลตะวันออก  และเปลี่ยนเป็นมณฑลบูรพา

           ๖. มณฑลหัวเมืองฝ่ายตะวันตก  มีพระทิพย์โกษา ( โก  โชตเสถียร )  เป็นข้าหลวงใหญ่   ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่เมืองภูเก็ตในการปรับปรุงการปกครองแบบมณฑลในครั้งนี้  เมืองขุขันธ์  เมืองศีร์ษะเกษ  และเมืองเดชอุดม  อยู่ในมณฑลลาวกาว

           ในการปรับปรุงในครั้งนี้  มีพระราชประสงค์ทรงต้องการโปรดเกล้าฯ  ให้รวมกลุ่มเมืองชั้นนอก  ตั้งเป็นมณฑลและทรงแต่งตั้งข้าราชการส่วนกลางไปเป็นข้าหลวงใหญ่  หรือข้าหลวงใหญ่สำเร็จราชการมณฑล  ตามความเหมาะสมและความไว้วางพระราชหฤทัย  อันเป็นการมุ่งต่อความมั่นคงต่อสยามประเทศเป็นสำคัญ

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๓๕  ฝ่ายเมืองสุรินทร์  หลังจากได้โปรดเกล้าฯ  ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร  ข้าหลวงใหญ่  ซึ่งย้ายมาแทนพระมหาอำมาตยาธิบดี ( หรุ่น   ศรีเพ็ญ)  ได้ทรงแต่งตั้งให้  พระยาไชยณรงค์ภักดี ( บุญนาค )  น้องชายพระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมบัติ ( ม่วง )  ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุรินทร์

           ในสมัยที่พระไชยณรงค์ภักดี  ( บุญนาก )  ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองสุรินทร์  เป็นยุคที่บ้านเมืองกำลังปรับปรุงระบบบริหารใหม่  ข้างหลวงใหญ่  ผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์มณฑลอีสาน  ได้ทรงวางระเบียบให้มีข้าราชการส่วนกลางมาดำรงตำแหน่งข้าหลวงกำกับราชการทุกหัวเมือง  สำหรับเมืองสุรินทร์  หลวงธนสารสุทธารักษ์ ( หว่าง )  เป็นข้าหลวงกำกับราชการ  มีอำนาจเด็ดขาดทัดเทียมเจ้าเมือง  หรือผู้ว่าราชการเมือง  นับเป็นครั้งแรกที่มิใช่เชื้อสายจากบรรพบุรุษเมืองสุรินทร์  ด้วยความไม่เข้าใจในขนบธรรมเนียมประเพณี  และวิถีความเป็นอยู่ของชาวเมืองดีพอ  ทำให้การบริหารบางอย่างเกิดการผิดพลาดมิชอบด้วยหลักการและเหตุผล  แต่ด้วยความที่เห็นแก่บ้านเมือง  และเพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกร้าวฉานขึ้น  พระไชยณรงค์ภักดี ( บุญนาก )  จึงมิอาจจะขัดขวางได้  อันแสดงถึงความสามัคคีในชนชั้นปกครองให้ปรากฏ

           พ.ศ.  ๒๔๓๕  เป็นช่วงระยะเวลาที่พระองค์ทรงมีความประสงค์ที่จะทรงโปรดเกล้าฯ  ให้ส่งข้าราชการจากส่วนกลางไปเป็นข้าหลวงประจำตามหัวเมืองต่าง ๆ  อย่างเช่น  ได้ทรงโปรดเกล้าฯ  ให้พระศรีพิทักษ์เป็นข้าหลวงใหญ่ว่าราชการหัวเมืองที่เรียกว่า  "เขมรป่าดง"  เพราะราษฎรพูดภาษากวย และภาษาเขมร  ประกอบด้วย  เมืองสุรินทร์  เมืองขุขันธ์  เมืองสังขะ  และเมืองศีร์ษะเกษ  และยังได้แต่งตั้งข้าหลวงผู้ช่วยให้กำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง  คือ  ให้หลวงจำนง  ยุทธกิจ (อิ่ม )  ขุนไผทไทยพิทักษ์  ( เกลื่อน )  เป็นข้าหลวงอยู่ในเมืองศีร์ษะเกษ

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๓๖  โปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งหลวงยกบัตรเมืองอุทุมพรพิสัย  ( วัง )  เป็นพระอุทุมพรเทศานุวัตร์  เจ้าเมืองอุทุมพรขึ้นต่อเมืองขุขันธ์  ส่วนปลัดและยกบัตรเมืองให้เจ้าเมืองเป็นผู้แต่งตั้งให้พระศรีพิทักษ์ (หว่าง )  เป็นข้าหลวงเมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์และเมืองสังขะ  ให้ตั้งที่ทำการข้าหลวง  ณ  เมืองขุขันธ์

            ปี  พ.ศ.  ๒๔๓๖  เช่นเดียวกัน กรมไปรษณีย์โทรเลข  ได้ส่งให้มิสเตอร์โทมัสบาเบอร์  มิสเตอร์แมกสมูลเลอร์  และมิสเตอร์วิลเลี่ยม  ไปจัดตั้งไปรษณีย์ในเขตหัวเมืองลาวกาว  รวมทั้งเมืองขุขันธ์  เมืองศีร์ษะเกษด้วย  มาถึงกรุงเทพฯ  กำหนดเดินอาทิตย์ละครั้งเท่านั้น

           ปี  พ.ศ.    ๒๔๓๖ พระกันทรานุรักษ์  เจ้าเมืองกันทรารมย์ถึงแก่กรรม  หลวงสุนทรพิทักษ์  เป็นบุตรกรมการเมือง  ได้ขึ้นรักษาราชการเป็นเจ้าเมืองสืบต่อมาจนเข้าสู่การยุบเมืองเป็นอำเภอ  แล้วโอนจากเมืองสังขะมาขึ้นกับเมืองขุขันธ์

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๓๗ ในรัชสมัยรัชกาลที่  ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ  ให้มีการจัดตั้ง  มณฑลเทศาภิบาลขึ้น  ๕  มณฑล  เป็นมณฑลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ๑  มณฑล  คือ  มณฑลนครราชสีมา  ซึ่งได้ปรับปรุงมาจากมณฑลเดิม  และทรงโปรดเกล้าฯ  แต่งตั้งข้าราชการจากส่วนกลางไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาล  ปกครองมณฑล  ซึ่งมณฑลนครราชสีมาแบ่งออกเป็น  ๓  บริเวณ  บริเวณนครราชสีมา บริเวณนางรอง  และบริเวณชัยภูมิ  มีข้าหลวงบริเวณเป็นผู้ปกครองขึ้นกับข้าหลวงเทศาภิบาล  ( การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ไม่ได้ตั้งพร้อมกันทุกมณฑล  เป็นการจัดตั้งแบบค่อยเป็นค่อยไปตามหลักการปฏิรูป )

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๓๗   เป็นช่วงระยะเวลที่สยามประเทศตกอยู่ในภาวะที่ไม่น่าไว้วางใจในเหตุการณ์บ้านเมืองนัก  โดยเฉพาะหัวเมืองแถบอีสาน  เพราะเป็นยุคสมัยที่ประเทศข้างเคียงอย่างเช่น  ญวน  เขมร ลาว ตกอยู่ในบำรุงของฝรั่งเศสและพยายามทีจะเรียกร้องขอดินแดนบางส่วนมาจากสยามประเทศ  แม้พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่  ๕  ทรงพยายาม  ให้ข้าหลวงกำกับราชการเมืองต่าง ๆ  ให้พยายามหลีกเลี่ยงการ เผชิญหน้ากับฝรั่งเศสโดยให้ใช้หลักประนีประนอมแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย  เพราะเราอยู่ในสถานะเสียเปรียบถึงแม้จะระมัดระวังเพียงใดก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้โดย เมื่อวันที่  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๔๓๗  รัฐบาลฝรั่งเศสได้แต่งตั้งให้เรสิดองปัสถา เป็นแม่ทัพ  พร้อมด้วยนายร้อยเอกโทเรอ  และนายร้อยตรี  โมโซและมองซิเออร์บรุโซ  คุมทหารญวนเมืองไซ่ง่อนจำนวน  ๒๐๐  นาย  และกำลังจากเมืองเขมร  พนมเป็ญสมทบมาอีกเป็นจำนวนมาก  ลงเรือพร้อมด้วยศาสตราวุธยกเป็นกระบวนกองทัพขึ้นมาตามลำน้ำโขงเข้ามาในพระราชอาณาเขต  เข้าขับไล่ทหารที่รักษาด่านบงขลา  แขวงเมืองเซียงแตง  และด่านสามโบก  โดยสามารถยึดเอาด่านทั้งสองได้  และต่อมาสามารถยึดเอาเมืองเชียงแตงได้อีก  เมื่อเป็นเช่นนี้ฝ่ายสยามคงไม่มีทางเลือกอื่น  จึงต้องเกิดสงครามขึ้น  ทั้งนี้โดยมีพระประชาคดีกิจ ( แช่ม )  ข้าหลวงฝ่ายไทยได้คุมกำลังเมืองสีทันดร  คอยปะทะคุมสถานการณ์ไว้  ในขณะเดียวกันนั้นพระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหลวงพิชิตปรีชากร  ข้าหลวงใหญ่หัวเมืองลาวกาว  ซึ่งประทับอยู่  ณ  เมืองอุบลราชธานี  ได้เกณฑ์กำลังจากเมืองขุขันธ์  เมืองสุรินทร์  เมืองศีร์ษะเกษ  เมืองมหาสารคาม  และเมืองร้อยเอ็ด  เมืองละ  800  คน  และเมืองสุวรรณภูมิ  เมืองยโสธร  เมืองละ  ๕๐๐  คน  จัดเป็นกองทัพออกสู้กับฝรั่งเศส

           นอกจากนี้ยังได้เกณฑ์ไพร่พลเมืองขุขันธ์จำนวน  ๕๐๐  คน ให้พระศรีพิทักษ์  ( หว่าง)  ข้าหลวงเมืองขุขันธ์คุมพลไปตั้งรับรักษาอยู่  ณ  เมืองมโนไพรและเมืองเซลำเภา  และโปรดเกล้าฯ  ให้หลวงเทพนรินทร์ ( อ้น )  ซึ่งกลับจากหน้าที่เมืองตะโมน  ไปเป็นข้าหลวงแทนพระพิทักษ์อยู่เมืองขุขันธ์  พร้อมทั้งให้เมืองใหม่ทุกเมืองในมณฑลลาวกาว  เตรียมกำลังพลให้พร้อมอีกเมืองละ  ๑๐๐๐  คน

           ในวันที่  ๒๙  เมษายน  พ.ศ. ๒๔๓๗ นี้  ได้โปรดเกล้าฯให้ราชวงศ์  ราชบุตร เมืองยโสธร คุมไพร่พลเมืองยโสธร  ๕๐๐  คน  และโปรดเกล้าฯ  ให้อุปราช ( บัว )  แห่งเมืองกมลาสัย คุมไพร่พลเมืองศีร์ษะเกษ  ๕๐๐  คน  เป็น  ๑๐๐๐  คน  พร้อมด้วยศาสตราวุธโดยพร้อมไปสมทบกับพระประชาคดีกิจ  และนายสุดจินดา  ตีเมืองสีทันดร  และให้พระไชยผู้ช่วยเมืองศีร์ษะเกษ  คุมไพร่พลเมืองศีร์ษะเกษ ๕๐๐  คน  พร้อมด้วยศาตราวุธ  ยกไปตั้งรักษาอยู่  ณ  ช่องโพย  และด่านพระประสบ  แขวงเมืองขุขันธ์  ต่างก็เสริมกำลังจึงเกิดการต่อสู้กัน  จนเกิดการบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย

           วันที่  ๒๐  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๔๓๗  พระเจ้าน้องยาเธอ  กรมหลวงพิชิตปรีชากร  โปรดเกล้าฯ     ให้ยกกองทัพเมืองสุวรรณภูมิจำนวน  ๕๐๐  เมืองร้อยเอ็ด  จำนวน  ๓๐๐  คน  รวม  ๘๐๐  คน  โดยยกจากเมืองอุบลราชธานีอีกให้ไปช่วยพระประชาคดีกิจ  ณ  ค่ายดอนสาคร  และนำกองกำลังเมืองจัตุรพัตร  ๑๐๕  คน  เมืองร้อยเอ็ด  ๒๑๐  คน  เมืองมหาสารคาม  ๒๑๐  คน  รวม  ๕๒๕  คน  ยกไปตั้งรักษาอยู่  ณ  เมืองมโนไพรและธาราบริวัตรและด่านลำจาก  เปลี่ยนเอาพระศรีพิทักษ์ ( หว่าง )  กลับมาตั้งรักษาอยู่  ณ  ช่องโพย  และให้นายร้อยตรีวาด  ไประดมคนเมืองขุขันธ์  อีก  ๕๐๐  คน  สำหรับส่งไปเพิ่มเติมยังกองพระศรีพิทักษ์( หว่าง )  ให้ขุนไผทพิทักษ์ ( เกลื่อน )  ข้าหลวงเมืองศีร์ษะเกษ  มีหน้าที่ส่งเสบียงอาหารไปยังกองพระศรีพิทักษ์  ส่วนกองกำลังที่ตั้งประจันกันบริเวณลำน้ำโขงได้มีการต่อสู้กันด้วยอาวุธปืนเล็ก  ปืนใหญ่หลายครั้ง  จนมีผู้บาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่ายและในที่สุดก็สามารถยุติศึกลงได้  โดยการเจรจาสงบศึก  ฝ่ายสยามไทยเรียกกำลังพลทุกกองทัพกลับหมด  และมีการตกลงเซ็นสัญญากันเมือวันที่  ๓  ตุลาคม  พ.ศ.  ๒๔๓๗   การศึกสงครามครั้งนี้กินเวลาครึ่งปี  เมืองขุขันธ์ และ เมืองศีร์ษะเกษ ได้มีบทบาทสำคัญ  ในการ รักษาชาติบ้านเมืองอย่างเต็มกำลัง  โดยเฉพาะเกิดศึกสงครามนอกราชอาณาจักรไพร่พลและกองกำลังจากเมืองขุขันธ์  จะมีบทบาทในการทำศึกสงครามป้องกันประเทศชาติด้วยเสมอ  โดยเฉพาะเมืองขุขันธ์  เป็นเมืองใหญ่และสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางการปกครอง  จึงต้องมีที่ทำการหลายหน่วยในเวลาเดียวกันเช่นที่ทำการข้าหลวงบริเวณเมืองที่ทำการข้าหลวงประจำเมือง  ที่ทำการเจ้าเมือง  ตำแหน่งเจ้าเมืองในระยะปฏิรูปปรับปรุงการปกครองจะโปรดเกล้าฯ  ข้าราชการที่วางพระทัยได้จากส่วนกลางออกไปประจำตามภูมิภาค

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๓๗   สมัยพระวิเศษภักดี ( โท )  เป็นเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ  ได้มีผู้กระทำตนเป็นเสือออกปล้นทรัพย์สินของชาวบ้าน  บางครั้งถึงกับฆ่าเจ้าทรัพย์   ซึ่งชาวบ้านเรียกบุคคลผู้นี้ว่า  "เสือยง " หรือ "ตังเคายง"  ต่อมาถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต  แต่ได้รูดโซ่แหกคุกหนีออกมาได้  แล้วรวบรวมพรรคพวกออกเที่ยวปล้นชาวบ้านหนักขึ้น  สร้างความหวาดกลัวแก่ชาวบ้านอย่างยิ่ง จนเจ้าเมืองศีร์ษะเกษ คือ พระวิเศษภักดี(โท) ต้องขอความช่วยเหลือไปยังเมืองขุขันธ์ คือ  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  ท่านที่ ๙ (ท้าวปัญญา ขุขันธิน )  ได้ส่งกองกำลังพร้อมด้วยพระอาจารย์ของ "เสือยง" 
หรือ "ตังเคายง" ที่อยู่ทางเมืองขุขันธ์  ช่วยปราบปรามด้วย  จนสามารถจับตายเสือยงได้ ณ บริเวณทางทิศตะวันตกของบ้านดวนใหญ่  ในเวลาพลบค่ำใกล้จะมืดพอดี  และได้นำศพของ "เสือยง" หรือ "ตังเคายง"  ไปมอบให้เจ้าเมืองศีร์ษะเกษ  ตัดศรีษะแล้วแห่ประจานรอบเมือง และเสียบประจาน ณ สี่แยกไปเมืองขุขันธ์(บริเวณสี่แยกธนาคารกรุงไทย สาขาศีร์ษะเกษ ในปัจจุบัน)

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๓๗  นี้เช่นเดียวกัน   โปรดเกล้าฯให้ย้ายที่ตั้งเมืองราษีไศลเดิมจากบ้านโนนหินกอง  มาตั้ง  ณ  ที่บ้านท่าโพธิ์  เป็นที่ตั้งอำเภอราษีไศลในปัจจุบัน  และต่อมา
บ้านโนนหินกอง เปลี่ยนเป็นชื่อบ้านเมืองเก่า  ในเขตอำเภอศิลาลาดในปัจจุบันนี้ 

           ในปี  พ.ศ.  ๒๔๔๐  ใน รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๕  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองการปกครองของไทยอีกครั้งหนึ่ง  โดยพระองค์ได้โปรดเกล้าฯ  ให้ตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖   ยกเลิกการปกครองแบบอาชญาสี่  และแบบจตุสดมภ์  รูปแบบคณะอาชญาสิทธิ์  คือ

           ๑.รูปแบบการปกครองแบบอาชญาสี่หรือเรียกว่า  คณะอาชญาสี่  ประกอบด้วย  ตำแหน่ง
           -          เจ้าเมือง
           -          อุปฮาด
           -          ราชวงศ์
           -          ราชบุตร

           ๒.รูปแบบจตุสดมภ์  หรือเรียกว่า  คณะอาชญาสิทธิ์  ประกอบด้วยตำแหน่ง
           -          เจ้าเมือง
           -          ปลัดเมือง
           -          ยกบัตรเมือง
           -          ผู้ช่วยราชการเมือง

           พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่  ร.ศ. ๑๑๖ นี้ให้ยกเลิกตำแหน่ง  ทั้ง ๒  ระบบดังกล่าว  ข้างต้น  ให้แบ่งการปกครอง  ออกเป็น  หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เมือง  และมณฑล   เรียกตำแหน่งใหม่ ดังนี้  ตำแหน่งเจ้าเมือง เรียกว่า  " ผู้ว่าราชการเมือง "  ตำแหน่งอุปฮาด เรียกว่า " ปลัดเมือง " ตำแหน่งราชวงศ์  เรียกว่า “ยกบัตรเมือง”  และตำแหน่งราชบุตร  เรียนกว่า “ผู้ช่วยราชการเมือง”    ทั้งนี้ตำแหน่งต่างๆ ที่เจ้าเมืองแต่งตั้ง ให้หมดไปด้วย

           นอกจากนี้  ผู้ปกครองเมืองเล็กๆ ที่ถึงยุบเป็นอำเภอ หรือตำบล บางเมืองยุบรวมเป็นเมืองเดียวกัน  และเป็นที่แน่นอนจะต้องมีนักปกครองบางกลุ่ม ไม่อาจที่จะหาตำแหน่งในระบบปกครองใหม่ได้ ประการสำคัญมีการยกเลิกการปกครองโดยการแต่งตั้งจากผู้สืบสายสกุลเจ้าเมืองด้วย  อีกทั้งบางตำแหน่งหน้าที่ถูกลดความสำคัญลงด้วย ทั้งนี้พระองค์ก็ยังมองการณ์ไกล และเห็นใจผู้ที่เคยมีตำแหน่ง มีอำนาจหน้าที่บางกลุ่ม ที่เคยสร้างคุณงามความดี  รับใช้บ้านเมืองมาโดยตลอด เพื่อเป็นการชดเชย และรักษาเกียรติยศ ชื่อเสียง  วงศ์ตระกูล  ของผู้ปกครองเดิม จึงได้โปรดเกล้า พระราชทาน ศักดินา  เจ้านาย  พระยา  ท้าวแสน  เมืองประเทศราช ในเดือนกรกฎาคม  พ.ศ.  ๒๔๔๒

           จากผลการ เปลี่ยนแปลงตามพระราชบัญญัติดังกล่าว    ทำให้เมืองขุขันธ์   มีทำเนียบผู้รับราชการที่สำคัญ  ในปี  ๒๔๔๐  เป็น ดังนี้

           ๑.พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา  ขุขันธิน)   ตำแหน่ง  ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์
           ๒.พระสุนทรบริรักษ์ (ท้าว)  ตำแหน่ง ปลัดเมืองขุขันธ์
           ๓.หลวงสุระรัตนมัย  (บุญมี  ขุขันธิน)  ตำแหน่ง  ยกบัตรเมืองขุขันธ์
           ๔.พระพิชัย (บุญมี)   ตำแหน่ง  ผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์

           ปี พ.ศ. ๒๔๔๓  ในรัชกาลที่  ๕  พระองค์ยังโปรดเกล้าฯให้  ปรับปรุงแก้ไข  มณฑลลาวกาวให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล  โดยกำหนดจัดหน่วยปกครอง  ตามลำดับ  คือ  บริเวณ  เมือง อำเภอ  ตำบล  หมู่บ้านในมณฑลลาวกาว   เปลี่ยนเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ  และต่อมาเปลี่ยนเป็นมณฑลอีสาน แบ่งเป็น  ๕  บริเวณ ประกอบด้วยบริเวณจำปาศักดิ์ บริเวณอุบลราชธานี  บริเวณสุรินทร์  บริเวณร้อยเอ็ด  และบริเวณขุขันธ์

           สำหรับเขตพื้นที่ บริเวณขุขันธ์ มี  ๓ เมือง ได้แก่  เมืองขุขันธ์  เมืองศีร์ษะเกษ  และเมืองเดชอุดม โดย ได้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาบำรุงบุระประจันต์ ( จันดี )  เป็นข้าหลวงกำกับบริเวณขุขันธ์  เมือง ขุขันธ์ระยะเริ่มแรก  มี ๕  อำเภอ คือ อ.เมืองขุขันธ์  อ.กันทรลักษ์   อ.กันทรารมย์   อ.อุทุมพรพิสัย   และ อ.มโนไพร  โดยโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ปัญญา  ขุขันธิน )  เป็นผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์  ( ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์คนแรก)   เมืองศีร์ษะเกษ  มี  ๔  อำเภอ  อำเภอกลางศีร์ษะเกษ  อำเภอปจิมศีร์ษะเกษ  และอำเภอราษีไศล    มีพระภักดีโยธา  ( เหง้า )  เป็นผู้ว่าราชการเมืองเดชอุดม  มี  ๓  อำเภอ  คือ  อำเภอกลางเดชอุดม  อำเภออุทัยอุดม  อำเภอ ปจิมเดชเดชอุดม  มีพระสุรเดชอุตมานุรักษ์  ( ทอง )  เป็นผู้ว่าราชการเมือง

           ในระยะการปรับปรุง  มณฑลอีสานเป็นรูปแบบมณฑลเทศาภิบาล  การเปลี่ยนแปลงทำให้มีผู้ได้ตำแหน่งได้อำนาจ  และผู้ไม่ได้ตำแหน่ง  และเสียอำนาจ  จึงได้เกิดมีกลุ่มนักบุญ  ถูกกล่าวหาว่ากบฎเกิดขึ้นทั่วไปในแถบหัวเมืองภาคอีสาน  สร้างความไม่สบายใจต่อรัฐบาลสยามเป็นอย่างยิ่ง

           กลุ่มนักบุญที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎแยกเป็นกลุ่ม ๆ คือ

           ๑.   กลุ่มองค์เหล็ก  ตั้งอยู่บ้านหนองซำ  อำเภอเสลภูมิ  ภายหลังยกไปรวมกับองค์มั่น

           ๒.  กลุ่มองค์บุญจันทร์  ตั้งอยู่ภูเขาฝ้ายและภูเขาซำปิต  อำเภอกันทรลักษ์ในขณะนั้น

           ๓.  กลุ่มองค์มั่น  ตั้งอยู่เขตอำเภอโขงเจียม  เขตเมืองเขมราชแล้วยกมาตั้งที่หมู่บ้านสะพือ  อำเภอตระการพืชผล  เตรียมจะยกเข้ามาตีเมืองอุบลราชธานี

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๔๓  นี้ยังอยู่ในระยะปรับปรุงและปฏิรูปการปกครองอย่างต่อเนื่อง  ได้ โปรดเกล้าฯ  ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย  ให้ตรากฎกระทรวงว่าด้วยการเปลี่ยนชื่อมณฑล  เช่น  มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ  เป็นมณฑลอีสาน  มณฑลฝ้ายเหนือ  เป็นมณฑลอุดร   และได้มีการยุบเมืองราษีไศลเป็นอำเภอราษีไศล  ขึ้นกับเมืองศีร์ษะเกษ  ยุบเมืองอุทุมพรพิสัย  เป็นอำเภออุทุมพรพิสัย  ยุบเมืองกันทรลักษ์  เป็นอำเภอกันทรลักษ์  และยุบเมืองมโนไพร  เป็นอำเภอมโนไพร  ทั้ง  ๓ อำเภอนี้ให้ขึ้นกับเมืองขุขันธ์

          ในปีเดียวกันนี้  ได้แบ่งเมืองศีร์ษะเกษ ออกเป็น  ๓  อำเภอ  คือ  อำเภอกลางศีร์ษะเกษ  อำเภออุทัยศีร์ษะเกษ  และอำเภอปจิมศีร์ษะเกษ

          ส่วนเมืองเดชอุดม  แบ่งออกเป็น  ๓  อำเภอ  เช่นกัน  คือ  อำเภอกลางเดชอุดม  อำเภออุทัยเดชอุดม  และอำเภอปจิมเดชอุดม  ตั้งเมืองศีร์ษะเกษ และเมืองเดชอุดมให้มีที่ทำการขึ้นอยู่ในการปกครองของเมืองขุขันธ์  ในปี  พ.ศ.  ๒๔๔๓  

          เพื่อให้เห็นสภาพการบริหารบ้านเมืองในสมัยนั้น  จึงขอคัดรายงานประจำปี  ๒๔๔๓  ของเมืองขุขันธ์  ดังนี้

           ๑.  ตำแหน่งลักษณะปกครอง  ไม่มีการเปลี่ยนแปลง  ในปี ร.ศ.  ๑๑๙  ชายฉกรรจ์ให้ส่งส่วยพระราชทรัพย์ของหลวง  ๑๕๑๐  คน  หญิงฉกรรจ์  ๑๒๕๐๐  คนและเป็นคนพิการอีกรวมทั้งสิ้น  ๕๐๐๐๓   คน  ตำบลบ้าน  ๕๔  ตำบล  
๓๙๙๐ หลังคา  ผู้ร้ายย่องเบา  ๗  ราย  ตัวผู้ร้ายทั้งของกลางทั้ง  ๗  ราย  ได้รับเป็นสัจ   ผู้ร้ายปล้น  ๖  ราย  ได้ตัวผู้ร้ายทั้ง  ๖  ราย  ให้การเป็นสัจ 

           ๒.  ปี  ๑๑๙  นี้  ได้แต่งตั้งให้ พระพิไชยสุนทรสงคราม  เป็นปลัด  พระพิไชยราชวงษา  เป็นผู้ช่วยราชการ  กรมการเมืองขุขันธ์  ออกจับโจรผู้ร้ายบริเวณขุขันธ์  การโจรผู้ร้ายก็สงบเรียบร้อยลง

           ๓.  คนในโรงศาล  ปี  ๑๑๙   ความในศาลอำเภอเปรียบเทียบแล้ว  ๒๐  เรื่อง  ค้างอยู่  ๑๓๑         เรื่อง  ศาลในเมืองชำระความไปแล้ว  ความอาญา  ๗  เรื่อง  ค้างอยู่  ๒๕  เรื่อง

           ๔.การทำนา  ในปี  ๑๑๙  ปกติเดิม  (๑๑๘ )  นาได้ผลเมล็ดข้าว  ๑  ใน  ๓  ส่วนราคาขาย  ๑๐๐ สัด เป็นเงิน    ๒๐   บาท

           ๕.การค้าเกิดในเมืองขุขันธ์จำหน่ายขายไปต่างเมืองเป็นหนัง เขาสัตว์ ประมาณราคา 7,642 บาท  สินค้าต่างเมืองเข้ามาจำหน่ายประมาณ  ๒๔,๘๐๐  บาท

           ๖.ผลประโยชน์แผ่นดิน  ในปี  ๑๑๙  เก็บเงินได้  ๕๓,๑๑๘  บาท  ๔๘  อัฐ

           ๗.การศึกษา  ๑๑๙  พระปลัดวัดจันทร์นครเป็นอาจารย์สอนนักเรียนที่โรงเรียนบำรุงนิมิตรวิทยาคม  มีนักเรียน  ๕๐  คน  ระเบียบวิชาสอน  พระญาณรักขิตผู้อำนวยการศึกษา  มณฑลอีสาน  ส่งแบบเรียนเร็วบทบวกมาให้สอน

           ๘ การศาสนา  ในปี  ๑๑๙  มีพระอาราม  ๑๒๔  แห่ง  มีส่ง  ๑๑๑  แห่ง  ร้าง  ๑๓  แห่ง  จำนวนสงฆ์  ๕๘๕  รูป  สามเณร  ๖๘๐ รูป  ในปี  ๑๑๙  สร้างวัดขึ้น  ๕  อาราม  วัดร้างไม่มี  จำนวนสงฆ์เพิ่ม  ๑๒๙  รูป  สามเณร  ๑๙๖  รูป  รวมสงฆ์เก่าใหม่  ๘๑๔  รูป  สามเณร  ๘๑๖  รูป  วัดโรงสวดศาสนาอื่นไม่มี  สร้างโรงเรียนขึ้น  ๑  แห่ง

           ๙.การโยธา  ทำถนนสี่กั๊ก  ยาว  ๒๐  เส้น

           ๑๐.การโทรเลขได้ทำที่ออฟฟิศ  โทรเลขโดยเรียบร้อย

                           ประทับตรารูปเทวดามาเป็นสำคัญ

                                      พระยาขุขันธ์ ฯ

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๔๓   เป็นระยะที่อยู่ในยุคกำลังปฏิรูปการปกครองให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล       ทำให้ผู้เคยมีตำแหน่งมีอำนาจบางกลุ่มบางคนต้องหมดอำนาจไป  กอร์ปกับเป็นช่วงระยะเวลาที่รัฐบริหารบ้านเมืองที่ประชาชนไม่สู้จะพอใจนัก  เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง  ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน  ทำให้บุคคลที่ทำตัวเป็นผู้มีบุญช่วยเหลือและอยู่ข้างประชาชนส่วนใหญ่  ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ  กล่าวหาเป็นกบฎ  ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  โดยเฉพาะเมืองขุขันธ์  มีท้าวบุญจันทร์  บุตรของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าววัง )  เจ้าเมืองขุขันธ์คนที่  ๘   และเป็นน้องชายของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าวปัญญา  )  ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์  ในขณะนั้น  เกิดความไม่พอใจ   เพราะไม่ได้รับตำแหน่ง  อีกทั้งได้เคยเสนอให้ย้ายอำเภอกันทรลักษ์จากบ้านบักดอง มาตั้งที่บ้านสิ  หรือขอแยกบ้านสิ เป็นอำเภอ  และขอเป็นนายอำเภอด้วยตนเอง  แต่พระยาบำรุงบุระประจันต์  ( จันดี )  ข้าหลวงเมือง ขุขันธ์  ในขณะนั้นไม่เห็นด้วย  ทำให้ท้าวบุญจันทร์ไม่พอใจ      จึงนัดหมายประชาชนให้ไปชุมนุมทำบุญกันที่ภูฝ้าย  เนื่องจากท้าวบุญจันทร์มีเชื้อสายลูกเจ้าเมืองเก่า  ทำให้ประชาชนมีความรักและศรัทธาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก  ได้ซ่องสุมผู้คนฝึกอาวุธที่ภูฝ้าย  ต่อมาได้เคลื่อนย้ายไปตั้ง  ณ  ที่ใหม่  คือ  ที่เขาซำปีกา  ซึ่งมีพื้นที่สมรภูมิที่ดีกว่า  ทำให้มีผู้สมัครเข้าร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

           ในความไม่พอใจของท้าวบุญจันทร์ในครั้งนี้ ทำให้พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา  ขุขันธิน)  พี่ชายซึ่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์  ไม่สบายใจอย่างยิ่ง  เพราะแม้ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการเมืองเมืองขุขันธ์ก็จริง  แต่อำนาจเด็ดขาดมิได้อยู่ที่ผู้ว่าราชการเมืองเพียงผู้เดียวดังแต่ก่อนแล้ว  แต่ยังมี  พระยาบำรุงบุระประจันต์  ( จันดี )  ตำแหน่งข้าหลวงกำกับบริเวณอีกชั้นหนึ่ง  เป็นผู้ใช้อำนาจควบคู่กัน  และ ท้าวบุญจันทร์ก็เคยอยู่ในราชการเป็นกรมการเมืองและเป็นน้องชายของ  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  ส่วนพระยาบำรุงบุระประจันต์  (จันดี )  ใช้อำนาจหน้าที่ความเป็นข้าหลวงกำกับบริเวณขุขันธ์  แล้วยังมีศักดิ์ในฐานะเป็นพ่อตาของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าวปัญญา ขุขันธิน )อีกด้วย  บางครั้ง พระยาบำรุงบุระประจันต์  ( จันดี )ได้สั่งการใด ๆ  โดยไม่ปรึกษาและพยายามปิดบังไม่ให้พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าวปัญญา ขุขันธิน) ผู้เป็นผู้ว่าราชการล่วงรู้ก็เคยมี  การตัดสินใจของพระยาบำรุงบุรประจันต์  ( จันดี )หลายครั้งที่ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าวปัญญา ขุขันธิน)ในฐานะผู้ว่าราชการเมืองไม่เห็นด้วย   กับ  พระยาบำรุงบุระประจันต์  ( จันดี )  ในฐานะข้าหลวงบริเวณขุขันธ์ที่ส่วนกลางมอบหมายโปรดเกล้าฯ  ให้มากำกับดูแล  แม้บางครั้งจะเห็นว่าการตัดสินใจของ  พระยาบำรุงบุรประจันต์( จันดี )  ข้าหลวงบริเวณผิดพลาดไม่ชอบด้วยหลักการ  แต่ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ท้าวปัญญา ขุขันธิน)ในตำแหน่งผู้ว่าราชการเมือง  ก็ไม่อาจขัดขวางได้ เพราะเห็นว่าถ้าขัดขวางแล้วจะก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวฉาน  ขาดความสามัคคี  ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองต้องตัดสินใจเอาราชการบ้านเมืองไว้ก่อน  

           ฝ่ายพระยาบำรุงบุรประจันต์  ( จันดี ) ข้าหลวงกำกับบริเวณเมืองขุขันธ์  เห็นว่ากลุ่มกบฎท้าวบุญจันทร์มีกำลังมากเกินกว่ากองกำลังของเมืองขุขันธ์จะปราบปรามได้  อีกทั้งกองทหารเมืองขุขันธ์  ยังเกรงใจและเกรงกลัวในบารมีของท้าวบุญจันทร์อยู่จึงได้ทูลขอกองกำลังทหารจากส่วนกลาง  พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ  ตามขอกองกำลังจากส่วนกลางจำนวน  ๑๐๐  คน  จากกองทหารนครราชสีมาจำนวน  ๒๐๐  คน  โดยมอบให้ร้อยโทหวั่น  ร้อยตรีเจริญ  และร้อยตรีอิน  คุมกองทหารยกไปยังเมืองขุขันธ์  หยุดพักที่วัดไทยเทพนิมิตร  ร่วมวางแผนการปราบ  รุ่งเช้ายกพลนำกองทหารสู่เขาซำปีกา   ให้หลวงศิริสมบัติ ( คำสิงห์ )  กำนันตำบลกันตวด  ซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยกับท้าวบุญจันทร์ให้ช่วยเหลือเกลี้ยกล่อม  แต่ไม่ได้ผล  เกิดการต่อสู้  ไพร่พลฝ่ายท้าวบุญจันทร์ถูกอาวุธปืนล้มตายเกือบหมดที่เหลือหลบหนีไป  ส่วนท้าวบุญจันทร์ได้เสียชีวิตในป่าที่สู้รบนั้น  กองทหารจึงได้นำศพออกมาแล้วตัดเอาศรีษะท้าวบุญจันทร์นำไปยังเมืองขุขันธ์  แห่ตระเวณรอบเมืองและเสียบศรีษะประจานที่ทางสี่แพร่งหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน

           ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้  เมืองขุขันธ์ได้ให้ท้าวทิต  ท้าวชู  กรมการเมืองออกไปรักษาเหตุการณ์อยู่ที่ด่านประสพเกิดขัดแย้งไม่ฟังการบังคับบัญชาจากเมืองขุขันธ์  เอาใจไปเข้าข้างฝ่ายฝรั่งเศสภายหลังเข้าตีเมืองมโนไพรได้  ในขณะที่ทางการไทยไม่สามารถจะปฏิบัติการใด ๆ ได้เลย

           ในเวลาต่อมาไทยต้องทำสัญญาให้เมืองมโนไพรตกเป็นของฝรั่งเศส  ในปี  พ.ศ.  2446  จากเหตุการณ์ที่ท้าวบุญจันทร์ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎและถูกปราบปรามจนต้องเสียชีวิตและเลือดเนื้อในครั้งนี้  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา ขุขันธิน )  ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจหรือสนับสนุนให้ท้าวบุญจันทร์กระทำการใด ๆ  แล้ว  แต่ยังได้ตักเตือนและห้ามปรามในท่าทีของท้าวบุญจันทร์ที่ได้แสดงออกถึงความไม่พอใจในแนวทางการปกครองของทางการ  โดยเฉพาะพระยาบำรุงบุรประจันต์ ( จันดี)  ข้าหลวงบริเวณขุขันธ์แต่หาทำให้ท้าวบุญจันทร์ล้มเลิกในการกระทำไม่  เพราะท้าวบุญจันทร์เชื่อในความถูกต้องทางความคิดและความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อตนจนทำให้เหตุการณ์ต้องจบลงด้วยเลือดเนื้อและชีวิตดังกล่าวสร้างความเศร้าโศกเสียใจสร้างความสะเทือนใจต่อชาวขุขันธ์อย่างมาก  ดังนั้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงทำให้  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ปัญญา  ขุขันธิน ) ในฐานะผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์และเป็นพี่ชายท้าวบุญจันทร์ต้องถูกเพ่งเล็งจากทางการส่วนกลางเป็นพิเศษ  แต่ก็ไม่ถึงกับกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ความเป็นผู้ว่าราชการเมืองแต่ประการใด  ยังคงได้รับความไว้วางใจ  โปรดเกล้าฯ  ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ต่อไป  จนถึงปี  พ.ศ.  ๒๔๕๐  เพราะทางส่วนกลางเห็นว่า ต้นเหตุของเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างท้าวบุญจันทร์กับพระยาบำรุงบุรประจันต์ ( จันดี )  ข้าหลวงบริเวณขุขันธ์มากกว่า

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๔๗  จากเหตุการณ์ที่กลุ่มท้าวบุญจันทร์ถูกกล่าวหาว่ากบฎ  และถูกปราบลงได้แล้วนั้นก็ยังสร้างความกังวลใจให้แก่ทางการอยู่อย่างมาก  เพราะยังมีกลุ่มท้าวบุญจันทร์หลงเหลืออยู่  ในปีนี้จึงมีการยุบอำเภอกันทรลักษ์ส่วนหนึ่งให้ไปรวมอำเภออุทุมพรพิสัยอีกส่วนหนึ่งให้ไปรวมกับอำเภอห้วยเหนือ

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๔๘  ให้ย้ายที่ทำการอำเภอปจิมศีร์ษะเกษ ไปตั้งที่บ้านสำโรงใหญ่  ตำบลสำโรง  เรียกว่าอำเภอสำโรงใหญ่  และในปลายปีเดียวกันนี้  ได้ย้ายที่ทำการอำเภออุทัยศีร์ษะเกษ ไปตั้งที่บ้านหนองกก  ตำบลยาง

           จากแนวนโยบาย  สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่  ๕  ที่จะปรับปรุงรูปแบบการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลให้สมบูรณ์แบบ   พระองค์เห็นว่าดีและจะเหมาะสมที่สุดในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อเพราะรูปแบบในการใช้อยู่นั้นการใช้อำนาจในการปกครองจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาคยังไม่สมบูรณ์แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  ทำให้การใช้อำนาจในการเก็บภาษีหารายได้เข้ารัฐเพื่อเป็นงบประมาณบริหารและพัฒนาประเทศยังไม่ดีพอ  นับว่าเป็นปัญหาการบริหารภายใน  

           ส่วนอีกเหตุหนึ่งก็คือ  เป็นช่วงระยะที่ฝรั่งเศสมีอำนาจแผ่ขยายครอบคลุม  เขมร  ลาว  และญวน  ประเทศใกล้เคียงหมดแล้ว  อีกทั้งยังมีปัญหาการใช้อำนาจปกครองเหนือเมืองอยู่หลายเมืองที่ฝรั่งเศสต้องการขออำนาจปกครองจากไทย  และอีกเหตุผลประการที่  ๓  ก็คือ  ผลพวงจากการที่กลุ่มท้าวบุญจันทร์ถูกกล่าวหาว่ากบฎและถูกปราบปราม   แต่ยังมีลูกน้องผู้ศรัทธาต่อท้าวบุญจันทร์ยังหลงเหลืออยู่  เพื่อความปลอดภัยในความมั่นคงลดความตึงเครียด  และป้องกันอิทธิพลของฝรั่งเศสที่จะกระทบความมั่นคงของสยามประเทศ

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๔๙  จึงได้มีบัญชาโปรดเกล้าฯ  ให้ย้ายที่ทำการศาลากลางเมืองขุขันธ์  ไปตั้ง ณ  อำเภอกลางศีร์ษะเกษ  แต่ยังใช้ชื่อเดิม  คือ  ศาลากลางเมืองขุขันธ์  ส่วนที่ตั้งเมืองขุขันธ์เดิม ให้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอ เรียกว่า “อำเภอห้วยเหนือ”   ขึ้นกับเมืองขุขันธ์

          ปี  พ.ศ.  ๒๔๕๐  ทรงเห็นว่า  มณฑลอีสานมีอาณาเขตกว้างขวางมาก  เพื่อให้มีการปรับปรุงบ้านเมืองให้คล่องตัวจึงยุบมณฑลอีสานแบ่งเป็น  ๒  มณฑล  คือ  มณฑลอุบลราชธานี  และมณฑลร้อยเอ็ด   ทำให้เมืองขุขันธ์  เมืองเดชอุดม  และเมืองศีร์ษะเกษอยู่ในมณฑลอุบลราชธานี

           ในปี  พ.ศ. ๒๔๕๐ นี้เองได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โดยให้เมืองขุขันธ์  เมืองศีร์ษะเกษ  และเมืองเดชอุดม  รวมเรียกว่า  "บริเวณขุขันธ์ "  มีพระยาบำรุงบุรประจัน  (จันดี ) เป็นข้าหลวงกำกับบริเวณ  โดยให้ยุบรวมทั้ง  ๓  เมืองเป็นเมืองเดียวกัน  ให้เรียกว่า  "เมืองขุขันธ์"  แต่ที่ทำการให้คงตั้งอยู่ที่อำเภอกลางศีร์ษะเกษ  ผลจากการวมเมืองทั้ง ๓  ในครั้งนี้  ทำให้เมืองศีร์ษะเกษ  และเมืองเดชอุดมต้องหมดสภาพความเป็นเมืองไปโดยปริยายแต่นั้นมา  จึงทำให้ยังคงมีชื่อเฉพาะเมือง "ขุขันธ์" เท่านั้นส่วนอำเภอต่าง ๆ ที่เคยขึ้นกับเมืองศีร์ษะเกษและเดชอุดม ก็ให้ขึ้นต่อเมืองขุขันธ์ทั้งหมด  จากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้  เป็นการยกเลิกบริเวณเมืองขุขันธ์  ตำแหน่งข้าหลวงกำกับบริเวณก็ถูกยุบไปด้วย  ทำให้พระยาบำรุงบุระประจันต์  (จันดี )ได้รับโปรดเกล้าฯ  ให้ดำรงตำแหน่ง "ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์" แทน  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน   (ปัญญา  ขุขันธิน )  ซึ่งเป็นผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ต้องสิ้นสุดลง  ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าระหว่างพระยาบำรุงบุรประจันต์ (จันดี )  กับ  พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ท้าวปัญญา ) มีศักดิ์ในฐานะพ่อตากับลูกเขย  เมื่อพระยาบำรุงบุระประจันต์  (จันดี )  ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์  จึงเสนอพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน  (ปัญญา  ขุขันธิน )  ให้ดำรงตำแหน่งกรมการพิเศษเมืองขุขันธ์  และเป็นกรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์ในเวลาต่อมา  ( พ.ศ. ๒๔๕๐–๒๔๖๐)

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๕๖  ถือเป็นปีที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์ประเทศไทยอีกบทหนึ่งเพราะคนในอดีตก่อน  ปี  พ.ศ.  ๒๔๕๖  ยังไม่มีนามสกุลใช้   พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้ออกพระราชบัญญัติขนานนามสกุล  คนไทยขึ้นในปี  พ.ศ.  ๒๔๕๖  จึงพระราชทานชื่อนามสกุลให้แก่ข้าราชบริพาร  เรียกว่า  "นามสกุล  พระราชทาน "

           ปี พ.ศ.  ๒๔๕๖  ได้มีการปรับปรุงหน่วยปกครองทั้งประเทศ คือ ได้โปรดเกล้าฯ  ให้เปลี่ยนนามคำว่า  "เมือง"  เป็น  "จังหวัด"  ตำแหน่ง  "ผู้ว่าราชการเมือง"  เป็นตำแหน่ง  "ผู้ว่าราชการจังหวัด"  เมืองขุขันธ์จึงได้เปลี่ยนเป็น  "จังหวัดขุขันธ์"  แต่ที่ตั้งศาลากลางจังหวัดขุขันธ์ยังคงตั้งอยู่  ณ  อำเภอกลางศีร์ษะเกษ  ตำแหน่ง  "ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์"  เป็นตำแหน่ง  "ผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ "  ดวงตราไปรณียากร และตราประทับใช้ในราชการซึ่งเดิมมีอักษรโดยใช้ชื่อ "ขุขันธ์" (หมายความว่าจังหวัดขุขันธ์ )

           ปี พ.ศ. ๒๔๕๖  นี้ ขณะนั้นเป็นสมัยที่  อ.ต. หม่อมเจ้าถูกถวิล  สุขสวัสดิ์  ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์  มีผู้ดำรงตำแหน่งประจำเมืองขุขันธ์  และจังหวัด ขุขันธ์  ในขณะนั้น ได้ขอพระราชทานนามสกุลพระราชทาน  สำหรับข้าราชบริพารประจำเมืองขุขันธ์  คือ

           ๑.  นามสกุลลำดับที่  ๒๕๕๑   ผู้ขอพระราชทาน  คือ  รองอำมาตย์โท  ขุขันธ์เขต  โกษินทร์ ( เชื้อ)  ขณะที่ขอดำรงตำแหน่ง  พนักงานคลังจังหวัดขุขันธ์ ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า"จุลรังษี"

           ๒.นามสกุลลำดับที่  ๒๖๑๒  ผู้ขอพระราชทานคือ  รองอำมาตย์เอก  กิมเส็ง  ขณะที่ขอดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลจังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า  "กาญจนศิริ"

           ๓.นามสกุลลำดับที่  ๓๕๖๕  ผู้ขอพระราชทานคือ  อำมาตย์ตรีพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน     ( ปัญญา )  เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่  ๙  ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ท่านที่  ๑  ขณะที่ขอท่านดำรงตำแหน่งที่  ๓  คือ กรมการพิเศษเมืองขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า  "ขุขันธิน" 

           ๔.นามสกุลลำดับที่  ๔๓๕๕  ผู้ขอพระราชทานคือ  นายหมู่ลูกเสือเอกสามัญ ( บุญทัน )    กิมเส็ง  ขณะที่ขอดำรงตำแหน่งครูประจำโรงเรียนขุขันธ์ ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า  "ศิลาคุปต์"

           ๕.นามสกุลลำดับที่  ๔๗๘๓  ผู้ขอพระราชทานคือ อำมาตย์โทพระพิไชยราชวงษา ( บุญมี )    ขณะที่ขอดำรงตำแหน่งกรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า   "ศรีอุทุมพร"

           ๖.นามสกุลลำดับที่  ๔๘๗๘  ผู้ขอพระราชทานคือ  รองอำมาตย์ตรี  ขุนเวชการบริรักษ์ ( ศรี )    ขณะที่ขอดำรงตำแหน่งแพทย์จังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า  "วรสุมันต์"

           ๗.นามสกุลลำดับที่  ๕๖๗๒  ผู้ขอพระราชทานคือ  นายร้อยตำรวจโท  ตาษ  ผู้บังคับกองตำรวจภูธร  ๓จังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า          "ถาวรเสถียร"

           ๘.นามสกุลลำดับที่  ๕๖๗๓  ผู้ขอพระราชทานคือ  นายร้อยตำรวจตรี  รุตน์  ตำแหน่งประจำกองตำรวจภูธร  ๓  จังหวัดขุขันธ์  ได้รับพระราชทานนามสกุลว่า  "กิติสัททานนท์"

           นามสกุลพระราชทานที่กล่าวถึงนี้  ปัจจุบันทายาทอาจจะไม่มีแล้วหรือมีอาจจะไปตั้งถิ่นฐานใหม่  ณ  ที่อื่น

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๖๐  อำมาตย์ตรีพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน   (ปัญญา ขุขันธิน) กรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์   สิ้นสุดในตำแหน่งจึงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้  อำมาตย์โทพระพิไชยวงศา  (บุญมี )  ดำรงตำแหน่งกรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์สืบแทน  พระพิไชยวงศา (บุญมี )  เคยมีตำแหน่งเป็นพระพิไชย   ผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์มาก่อน ได้รับพระราชทาน  นามสกุลว่า  "ศรีอุทุมพร" 

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๖๕  มีการปรับปรุงการบริหารราชการส่วนภูมิภาคใหม่  โดยรวมมณฑลหลายมณฑลเข้าเป็นภาค  และโปรดเกล้าฯ  ให้รวมมณฑลอุดร  มณฑลอุบลราชธานี  และมณฑลร้อยเอ็ด  ขึ้นเป็นภาคอีสาน  โดยมีอุปราชทำหน้าที่  ตรวจการบริหาราชการ  มีอำนาจเหนือสมุหเทศาภิบาล  ประจำมณฑล  ณ  ที่ทำการภาคตั้งอยู่ด้วย  ทั้งนี้ให้ขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์  โดยไม่ต้องอยู่ในการปกครองของมหาดไทย  เพื่อความรวดเร็วในการบริหารราชการแผ่นดิน

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๖๘  สมัยที่มี  อ.ต.  พระยามหานครพระราม (สวัสดิ์  มหากายี )  ดำรงตำแหน่ง          ผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์  ได้มีการปรับปรุง  โดยยกเลิกมณฑลอุบลราชธานี  และมณฑลร้อยเอ็ด   ไปขึ้นกับมณฑลราชสีมา  ดังนั้นจังหวัดขุขันธ์จึงได้ขึ้นกับมณฑลนครราชสีมา  แต่นั้นมา

           ปี  พ.ศ. ๒๔๗๐  จึงได้มีคำสั่งออกประกาศทั่วประเทศมีการยุบหน่วยปกครองที่เรียกมณฑลทั่วประเทศ  โดยให้ทุกจังหวัดขึ้นต่อส่วนกลาง  จังหวัดขุขันธ์จึงขึ้นกับส่วนกลางตั้งแต่นั้นมา

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๗๐ หลังจากที่ พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ( ปัญญา ขุขันธิน )สิ้นสุดจากตำแหน่งในราชการตำแหน่งสุดท้าย  คือ  กรมการพิเศษจังหวัดขุขันธ์ ( พ.ศ.  ๒๔๖๐ ) ก็ได้กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่ขุขันธ์จนถึงแก่อนิจกรรม  ในวันที่  ๑  มกราคม  พ.ศ.  ๒๔๗๐  รวมสิริอายุได้  ๗๐  ปี

           ในปี พ.ศ. ๒๔๗๐  นี้เช่นกัน  ได้มีการปรับโอนพื้นที่จังหวัดเขตติดต่อ  โดยได้โอนตำบลต่าง ๆ ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี  ไปขึ้นในการปกครองของจังหวัดขุขันธ์   คือ

           ๑.โอนพื้นที่ส่วนหนึ่งของตำบลโพนค้อ  อำเภอวารินชำราบ  ไปขึ้นกับอำเภอน้ำอ้อม  ต่อมาเป็นตำบลเสียว  ตำบลหนองหว้า  ตำบลท่าคล้อ  และตำบลหนองงูเหลือม  อำเภอเบญจลักษ์

           ๒.โอนพื้นที่ส่วนหนึ่งของตำบลโพนค้อ  อำเภอวารินชำราบ  ไปขึ้นกับอำเภอกันทรารมย์  ต่อมาเป็นตำบลโพนค้อ  และตำบลหนองกุง  ขึ้นกับอำเภอโนนคูน

           ๓.โอนพื้นที่ส่วนหนึ่งของตำบลหนองแก้ว  ตำบลทาม  ตำบลละทายตำบลเมืองน้อย  ไปขึ้นกับอำเภอกันทรารมย์

           ต่อมาในปี  พ.ศ.  ๒๔๗๑  ได้โอนพื้นที่อำเภอเดชอุดม  และกิ่งอำเภอโพนงาม จากจังหวัดขุขันธ์ ไปขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี

           ในปี  พ.ศ.  ๒๔๗๒  นับเป็นความก้าวหน้าอีกก้าวหนึ่งของชาวอีสานที่ทางการเปิดบริการเส้นทางรถไฟจากสถานีกรุงเทพฯ  ถึงสถานีห้วยทับทัน  ในวันที่  ๑  พฤษภาคม  พ.ศ.  ๒๔๗๐  และทำการเปิดบริการเดินรถไฟต่อไปอีกถึงสถานีศีร์ษะเกษ  ในวันที่  ๑ สิงหาคม  พ.ศ.  ๒๔๗๑  จนมาถึงวันที่  ๑  เมษายน  พ.ศ.  ๒๔๗๑  จึงได้ทำการเปิดบริการเดินรถไฟต่อไปถึงสถานีอุบลราชธานี

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๗๕  เป็นสมัยที่จังหวัดขุขันธ์  มี  อ.ท  พระศรีพิชัยบริบาล  ( สวัสดิ์  ปัตมดิลก  )  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ ประเทศไทยมีประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช  มาเป็นปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ประกาศ  ณ  วันที่  ๒๔  มิถุนายน  พ.ศ.  ๒๔๗๕  ทำให้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาจนถึงปัจจุบัน   ซึ่งเป็นระบอบปกครองที่ถือว่า  เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุดในขณะนั้น

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๗๖  ในรัชสมัย  รัชกาลที่  ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. ๒๔๗๖  โดยจัดระเบียบราชการส่วนภูมิภาค  ออกเป็น  จังหวัด  อำเภอ  ตำบล  หมู่บ้าน  ให้จังหวัดมีฐานะเป็น  หน่วยบริหารราชการแผ่นดิน  มีตำแหน่งข้าหลวงประจำจังหวัด  และกรมการจังหวัดเป็นผู้บริหาร  เป็นผลให้ภาคและมณฑลถูกยุบเลิกไป  ในปีเดียวกันนี้ได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีก  โดยแก้ไขส่วนที่เกี่ยวข้องกับจังหวัด  ให้เจ้าหน้าที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลให้อำนาจการบริหารที่อยู่กับกรมการจังหวัด  ให้เปลี่ยนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด  มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว  โดยให้กรมการจังหวัดเป็นที่ปรึกษาเท่านั้น

           ปี  พ.ศ.  ๒๔๗๖  เป็นประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยอีกครั้งหนึ่ง  ที่ในปีนี้มีการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  โดยทางอ้อม  คือ ให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบล  ไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกทอดหนึ่ง  ( ไม่ได้เลือกโดยตรงอย่างในปัจจุบัน )  ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้น  คือวันที่  ๑  ธันวาคม  พ.ศ.  ๒๔๗๖ ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดขุขันธ์  คือ 

ขุนพิเคราะห์คดี ( อินทร์  อินตะนัย )

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย