-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2561

การพ่ายแพ้สงครามครั้งแรกของพม่า ใน พ.ศ. 2368

          จากความสําเร็จของการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายพุทธศตวรรษที่ 23 ทําให้การค้าและอุตสาหกรรมเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประเทศต่างๆ ในยุโรปจึงได้ขยายตลาดการค้าของตนออกไป และเพื่อความมั่นคงของตลาดการค้าและแหล่งวัตถุดิบจึงได้เข้าครอบครองดินแดนต่างๆ เป็นอาณานิคม จักรวรรดินิยมตะวันตกได้เริ่มเข้าคุกคามเอเชียตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 24 หรือในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์จักรี  การพ่ายแพ้สงครามกับอังกฤษครั้งแรกของพม่า ใน พ.ศ. 2368 เป็นเสมือนสัญญาณเตือนภัยให้แก่สยาม เพราะพม่าและสยามมียุทธวิธีในการรบแบบเดียวกัน การพ่ายแพ้ของพม่าทําให้ชนชั้นนําสยามตระหนักถึงประสิทธิภาพของกองทัพอังกฤษมากขึ้น ดังนั้น เมื่ออังกฤษส่งเฮนรี เบอร์นี (Henry Burney) มาทําสัญญาในปี พ.ศ. 2369 จึงได้รับความร่วมมือจากสยามเป็นอย่างดี

          สืบเนื่องจากการพยายามขยายอำนาจของอังกฤษ กองทัพอังกฤษได้เข้าทำสงครามกับพม่าในปี พ.ศ. 2367 สงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่หนึ่ง (พ.ศ. 2367–2369) ยุติลงโดยอังกฤษเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ ฝ่ายพม่าจำต้องทำสนธิสัญญายันดาโบกับอังกฤษ ทำให้พม่าต้องสูญเสียดินแดนอัสสัม, มณีปุระ, ยะไข่ และตะนาวศรีไป ซึ่งอังกฤษก็เริ่มต้นตักตวงทรัพยากรต่าง ๆ ของพม่านับแต่นั้นเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับวัตถุดิบที่จะป้อนสู่สิงคโปร์ สร้างความแค้นเคืองให้กับทางพม่าเป็นอย่างมาก
          
           กษัตริย์องค์ต่อมาจึงทรงยกเลิกสนธิสัญญายันดาโบ และทำการโจมตีผลประโยชน์ของฝ่ายอังกฤษทั้งต่อบุคคลและเรือ เป็นต้นเหตุให้เกิดสงครามระหว่างพม่าและอังกฤษครั้งที่สอง ซึ่งก็จบลงโดยชัยชนะเป็นของอังกฤษอีกครั้ง หลังสิ้นสุดสงครามครั้งนี้อังกฤษได้ผนวกดินแดนทางใต้เข้าไว้กับตน โดยเรียกดินแดนดังกล่าวใหม่ว่า พม่าตอนล่าง สงครามครั้งนี้ก่อให้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในพม่า เริ่มต้นด้วยการเข้ายึดอำนาจโดยพระเจ้ามินดง (ครองราชย์ พ.ศ. 2396–2421) จากพระเจ้าพุกามแมง (ครองราชย์ พ.ศ. 2389–2396) ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระชนนี พระเจ้ามินดงพยายามพัฒนาประเทศพม่าเพื่อต่อต้านการรุกรานของอังกฤษ พระองค์ได้สถาปนามัณฑะเลย์ ซึ่งยากต่อการรุกรานจากภายนอกขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการรุกรานจากอังกฤษได้
       
           
รัชสมัยต่อมา พระเจ้าธีบอ (ครองราชย์ พ.ศ. 2421–2428) ซึ่งเป็นพระโอรสของพระเจ้ามินดง ทรงมีบารมีไม่พอพระทัย และไม่สามารถควบคุมราชอาณาจักรได้ จึงทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นไปทั่วในบริเวณชายแดน ในที่สุดพระองค์ได้ตัดสินพระทัยยกเลิกสนธิสัญญากับอังกฤษที่พระเจ้ามินดงได้ทรงกระทำไว้ และได้ประกาศสงครามกับอังกฤษเป็นครั้งที่สามในปี พ.ศ. 2428 ผลของสงครามครั้งนี้ทำให้อังกฤษสามารถเข้าครอบครองดินแดนประเทศพม่าส่วนที่เหลือเอาไว้ได้ทั้งหมด  และทำให้พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในปี พ.ศ. 2429 และระยะก่อนการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย และต่อมาประเทศพม่าได้รับเอกราชใน พ.ศ.2491(หรือตรงกับค.ศ. 1948) ช่วงต้นปกครองแบบชาติประชาธิปไตย และหลังรัฐประหารใน พ.ศ.2505 (หรือตรงกับค.ศ. 1962) เป็นการปกครองแบบเผด็จการทหาร แม้เผด็จการทหารสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการใน พ.ศ.2554 (หรือตรงกับ ค.ศ. 2011) แต่ผู้นำพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังเป็นอดีตนายทหาร

เอกสารอ้างอิง : 
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.2561.ประเทศพม่า. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/ประเทศพม่า#cite_ref-34.(28 กันยายน 2561).

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย