-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันจันทร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2561

พ.ศ. 2433 เมืองขุขันธ์ เป็นหัวเมืองเอก ถูกจัดอยู่ในหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก

...เมื่อฝรั่งเศสสามารถเข้ายึดเวียดนามทั้งหมดได้ใน ปี พ.ศ. 2427 ทําให้หัวเมืองอีสานที่มีอาณาเขตทางทิศตะวันออกและทิศใต้กับเวียดนาม อยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงต่อการเข้าแทรกแซงและเข้ายึดครองดินแดนในภาคเหนือและอีสาน(1) ส่งผลให้ในปี พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดําริว่า การปกครองดินแดนหัวเมืองอีสานเท่าที่เป็นอยู่ยังห่างพระเนตรพระกรรณอยู่มาก ทั้งยังอยู่ห่างไกลความเจริญ และการปกครอง จึงต้องมีการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ คือ แบ่งหัวเมืองภาคอีสาน ออกเป็นกองๆ แล้วรวมหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา เข้าด้วยกันแบ่งออกเป็น 4 กองใหญ่มีข้าหลวงปกครองกองละ 1 คน โดยมีข้าหลวงใหญ่กํากับราชการอยู่ที่เมืองนครจําปาศักดิ์ 1 คน เพื่อทํานุบํารุงดูแลหัวเมืองให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น หัวเมืองที่แบ่งเป็น 4 กองใหญ่ มีดังนี้(2)

1. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก มีพระพิศณุเทพ (ช่วง) เป็นข้าหลวงเรียกว่าข้าหลวงประจําหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองนครจําปาศักดิ์ หัวเมืองนี้ประกอบด้วย เมืองเอก 11 เมือง และหัวเมืองโท ตรี จัตวา 26 เมืองที่ขึ้นกับหัวเมืองเอก โดยหัวเมืองเหล่านั้น ได้แก่ นครจําปาศักดิ์ เชียงแตง แสนปาง สีทันดร อัตปือ สารวัน คําทองใหญ่ สุรินทร์ สังขะ ขุขันธ์ และเดชอุดม โดยหัวเมืองเอกเหล่านี้ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ

2. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ มีพระยาราชเสนา (ทัด ไกรฤกษ์) เป็นข้าหลวงเรียกว่า ข้าหลวงประจําหัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองอุบลราชธานี ประกอบด้วยหัวเมืองเอก 12 เมืองขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และหัวเมืองโท ตรี จัตวา 29 เมืองขึ้นกับหัวเมืองเอก โดยหัวเมืองเอกประกอบด้วย อุบลราชธานี กาฬสินธุ์ สุวรรณภูมิ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ภูแล่นช้าง กมลาสัย เขมราฐ สองคอน ดอนดง ยโสธร นอง ศรีสะเกษ

3. หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ มีพระยาสุริยเดชวิเศษฤทธิ (จันทร์ อินทรกําแหง) เป็นข้าหลวง เรียกว่า ข้าหลวงประจําหัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองหนองคาย ประกอบด้วยหัวเมืองเอก 16 หัวเมือง ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และหัวเมืองโท ตรี จัตวา 38 หัวเมือง ขึ้นกับหัวเมืองเอก โดยหัวเมืองเอกประกอบด้วย หนองคาย เชียงขวาง บริคัณฑนิคม ชัยบุรี โพนพิสัย ท่าอุเทน นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กุมุทาสัย บุรีรัมย์ หนองหาร ขอนแก่น คําเกิด คําม่วน และหล่มศักดิ์

4. หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง มีพระพิเรนทรเทพ เป็นข้าหลวง เรียกว่า ข้าหลวงประจําหัวเมืองลาวฝ่ายกลาง ตั้งกองว่าราชการอยู่ที่เมืองนครราชสีมา ประกอบด้วยหัวเมืองเอก 3 เมือง ได้แก่ เมืองนครราชสีมา ชนบท และภูเขียว ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และมีหัวเมืองโท ตรี จัตวาที่ขึ้นกับหัวเมืองเอกอีก 16 เมือง

        ข้าหลวงทั้ง 4 หัวเมือง มีหน้าที่บัญชาราชการและตัดสินความอุทธรณ์ หรือเร่งรัดส่วยอากร โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดฯ ให้ขึ้นตรงต่อพระยามหาอํามาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) ข้าหลวงใหญ่ อยู่ ณ นครจําปาศักดิ์ พร้อมทั้งพระราชทานตราประจําชาติ สําหรับข้าหลวงทั้ง 4 กอง เป็นรูปอาร์มแผ่นดิน(3) ใช้ประทับเป็นสําคัญในหนังสือราชการด้วยแสดงให้เห็นว่า กรุงเทพฯ ได้พยายามที่จะยืนยันถึงปริมณฑลทางอํานาจของตนในบริเวณอีสานอย่างชัดเจน ด้วยการจัดการปกครองหัวเมืองในบริเวณนี้ให้มีความกระชับ และเข้มงวดมากขึ้น อันถือเป็นความพยายามอย่างจริงจังอีกครั้งของชนชั้นนําสยามก่อนที่จะทําการปฏิรูปการปกครองครั้งสําคัญในปี พ.ศ. 2435
แผนที่เก่าเมืองสำคัญในภาคอีสานก่อน พ.ศ.2325
        จากที่กล่าวมาทั้งหมดในข้างต้น แสดงถึงความสัมพันธ์ทางอํานาจของกรุงเทพฯ ที่มีต่อบริเวณอีสานในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างชัดเจน จากที่มีความสัมพันธ์ต่อกันในลักษณะของการส่งส่วย บรรณการ และการสักเลก รวมถึงอํานาจที่ผูกพันอยู่เพียงแต่การตั้งเจ้าเมืองและเจ้าประเทศราช ไปสู่การส่งตัวแทนจากส่วนกลางเข้ามาปกครองและควบคุมพื้นที่ทรัพยากร ในช่วงที่อิทธิของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสได้เข้ามา ทําให้ความพยายามของชนชั้นนำสยามในการแสดงปฏิกิริยาโต้ตอบอํานาจภายนอกดังกล่าว ด้วยการเข้ามาแสดงตัวเหนือพื้นที่อีสานอย่างชัดเจน

เอกสารอ้างอิง
(1) อุบล ลิ้มสุวรรณ. “ทัศนะของผู้ปกครองไทยที่มีต่อคําว่า “ลาว” ในสมัยรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325-2453”. (วิทยานิพนธ์ ปริญญามหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาสารคาม,2537), หน้า 82.


(2) หม่อมอมรวงศ์วิจิตร.“พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน” ใน ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุด แห่งชาติ เล่ม 2 ภาคที่ 4,หน้า 295-297; เติม วิภาคย์พจนกิจ, ประวัติศาสตร์อีสาน,พิมพ์ครั้งที่ 4(กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, 2546), หน้า 300-317. และไพฑูรย์ มีกุศล.การปฏิรูปการปกครองมณฑลอีสานในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระ จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, หน้า 29-33.

(3) หม่อมอมรวงศ์วิจิตร.“พงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน,” ใน ประชุมพงศาวดาร ฉบับหอสมุดแห่งชาติ เล่ม 2 ภาคที่ 4, หน้า 297. ตราอาร์มแผ่นดินนี้ เมื่อโปรดเกล้าฯ ยกเลิกตําแหน่งข้าหลวงใหญ่ ได้ให้ข้าหลวงต่างพระองค์เสด็จออกไปสําเร็จ ราชการแทนพระองค์ยังมณฑลฝ่ายเหนือ และมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ โดยที่ตรานั้นจะบอกนามมณฑล และข้างล่างจะ ระบุว่า “ข้าหลวงต่างพระองค์” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นตราครุฑพ่าห์ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ ใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน (เติม ประวัติศาสตร์อีสาน, หน้า 315.)

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย