-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566

บุญประเพณีแซนโฎนตา สารทแห่งความกตัญญูของชาวอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ(โดยสังเขป)

บุญประเพณีแซนโฎนตา เป็นหนึ่งในรากเหง้าสำคัญทางวัฒนธรรมและเป็นวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวสยามแถบอีสานใต้     ซึ่งแสดงออกถึงความรักสมัครสมานสามัคคีของสมาชิกในวงศาคณาญาติ  ที่ร่วมกันแสดงความกตัญญูต่อบรรพรุษของตน  ซึ่งในภาษาขอมอีสานใต้ เรียกว่า โฎนตา​ ​(ដូនតា)ทั้งที่ยังคงมีชีวิต และที่ได้ล่วงลับไปแล้ว    ซึ่งบุญประเพณีแซนโฎนตา นั้น เริ่มต้นขึ้นในเดือนสิบของทุกปีมาแต่โบราณกาลและตรงกับวันสารทไทยของทุกปี
            คำว่า​ "บุญ" ในใบลานภาษาขุขันธ์จาร ว่า បុន​ หรือ  បុណ្យ​ส่วนคำว่า “แซนโฎนตา” ในภาษาขอมขุขันธ์ เขียนว่า សែនដូនតា อ่านว่า /แซน-โดน-ตา/ ส่วนที่ฝั่งประเทศกัมพูชาเรียกว่า ភ្ជុំបិណ្ឌ​ อ่านว่า /ปจุม-เบ็น/ จริงๆก็คือประเพณีอันเดียวกัน เพียงแต่ใช้ศัพท์เรียกแตกต่างกัน หรือบางครั้งก็เอาคำศัพท์ทั้งสองคำมารวมกันเป็น បុណ្យភ្ជុំបិណ្ឌសែនដូនតា อ่านว่า /ปจุม-เบ็น-แซน-โดน-ตา/ ซึ่งก็ยิ่งจะทำให้สามารถสื่อถึงความหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

            សែន/ แซน / แปลว่า การเซ่นไหว้ การอุทิศ หรือบวงสรวง  ส่วนคำว่า ដូនតា หรือ “โฎนตา” แปลว่า ปู่ย่าตายาย ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือบรรพบุรุษญาติพี่น้องที่ได้ล่วงลับไปแล้ว นั่นเอง  โดยชาวบ้านจะจัดให้มีบุญประเพณีแซนโฎนตาขึ้นทุกปี  ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง วันแรม 14 หรือ 15 ค่ำเดือนสิบ  โดยเฉพาะชาวบ้านในแถบจังหวัดอีสานใต้ เช่น ศรีสะเกษ  สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ฯลฯ  ซึ่งบุตรหลาน และญาติพี่น้องที่ไปประกอบอาชีพหรือตั้งถิ่นฐานที่อื่นไม่ว่าจะใกล้หรือไกล ทั่วทุกสารทิศ จะเดินทางกลับมารวมญาติ  และมาทำบุญที่บ้านเกิดเพื่อทำพิธีแซนโฎนตา  ร่วมกันทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกุศลไปให้บรรพบุรุษ และญาติของตนเองที่ได้ล่วงลับไปแล้ว  นอกจากนี้ ใน่ช่วงประเพณีแซนโฎนตา ยังเป็นโอกาสที่จะได้ทำความดีตามหลักพระพุทธศาสนาด้วยการทำบุญ  บริจาคทาน  รักษาศีล และฟังพระธรรมเทศนา  อันจะส่งผลให้จิตใจแจ่มใสปราศจากความเศร้าโศก   และสะท้อนให้เห็นความรักความผูกพันของสมาชิกในครอบครัวเครือญาติที่จะได้ขอขมาในสิ่งที่ได้กระทำล่วงเกินกัน  และสร้างความสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน

       เครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษในบุญประเพณีแซนโฎนตา หรือ ภาษาเขมร เรียกว่า ​“ซ็อมแณน แซนโฎนตา” ในภาษาขอมขุขันธ์ เขียนว่า សំណែនសែនដូនតា ซึ่งจะประกอบไปด้วยอาหารคาวหวาน  เครื่องดื่ม และผลไม้ชนิดต่างๆ
       อาหารคาว  ได้แก่ ปลานึ่ง ปลาย่าง หมูย่าง ไก่ย่าง  แกงวุ้นเส้น แกงกล้วย ลาบหมู  ต้มยำไก่และไก่นึ่ง ซึ่งเป็นไก่ทั้งตัวเอาเครื่องในออก
       อาหารหวาน ได้แก่ ข้าวต้มมัดใบมะพร้าว หรือใบตอง ขนมเทียน ขนมนางเล็ด ขนมโกรจ(ขนมผลส้ม) ขนมฌูก(ขนมดอกบัว)  และข้าวกระยาสารท  
       เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำเปล่า และน้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ต่างๆ
       สำหรับ ผลไม้ ได้แก่ มะพร้าวอ่อน กล้วย ส้ม ละมุด พุทรา องุ่น เป็นต้น ผลไม้ที่สำคัญ ซึ่งขาดไม่ได้ในประเพณีนี้ก็คือ กล้วย นั่นเอง

   ด้วยความเชื่อที่ว่า เมื่อถึงวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ประตูยมโลกจะเปิด และอนุญาตให้วิญญาณบรรพบุรุษเดินทางมาเยี่ยมญาติได้ ชาวบ้านจะพากันไปวัด  เพื่อประกอบกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเช่น ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ และญาติที่ล่วงลับไปแล้ว ฟังพระสงฆ์แสดงธรรมเทศนา เป็นต้น   ในช่วง ๑ – ๒ วัน ก่อนจะถึงวันแรม ๑๔ - ๑๕ ค่ำ ชาวบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้เพื่อจัดทำพิธีแซนโฎนตาที่บ้าน รวมทั้งจัดทำอาหารคาวหวาน  เครื่องดื่ม และผลไม้ชนิดต่างๆด้วย  แล้วรุ่งเช้าก็จะนำเอาไปทำบุญที่วัด และเป็นของฝากให้ญาติพี่น้องที่อยู่ใกล้ชิดกัน เมื่อวิญญาณของบรรพบุรุษได้มีโอกาสกลับมาเยี่ยมเยียนบุตรหลานบนโลกมนุษย์ พบเห็นข้าวปลาอาหาร ข้าวต้ม ขนมหวาน เครื่องดื่ม และผลไม้ชนิดต่างๆที่ลูกหลานจัดเตรียมเซ่นไหว้ และทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้อย่างอุดมสมบูรณ์ ต่างก็เกิดความปลื้มอกปลื้มใจ และรับเอาส่วนกุศลนั้นกลับไปด้วยและก่อนเดินทางกลับสู่ยมโลกเพื่อไปชดใช้กรรมที่ยังเหลืออยู่ โฎนตาเหล่านั้น ก็จะอำนวยอวยพรให้ลูกหลานประสบแต่สิ่งที่ดีงาม ประสบความสำเร็จในชีวิต  ให้ทำมาค้าขึ้น และครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป

พระธรรมเทศนา ฉลองเบ็ณฑ์ (ឆ្លងបិណ្ឌ)
ภาษาขอมโบราณเมืองขุขันธ์


 จังหวัดศรีสะเกษ โดยอำเภอขุขันธ์ ขอเชิญผู้สนใจทุกท่าน
ร่วมวัฒนธรรมบุญประเพณีแซนโฎนตา   ณ  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ 
ได้ในระหว่างวันที่ตรงกับวันแรม  ๑  - ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ของทุกปี
หมายเหตุ

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย