การใช้สถูปที่บรรจุอัฐิธาตุของบรรพชนเป็นรูปยอดบัว และตัวเรือนเป็นเสารูปกลมหรือสี่เหลี่ยม ไม่ใช่เป็นเรื่องประหลาดแต่อย่างใดในสังคมการปลงศพและบูชาบรรพบุรุษหรือผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้วของคนสองฝั่งโขงที่นับถือพุทธศาสนา(1) มีรูปแบบแทบจะเหมือนทั้งหมดหรือคล้ายคลึงจนกล่าวได้ว่า น่าจะมีวิธีคิดและความตกผลึกในทางวัฒนธรรมจากแหล่งที่มาที่ใกล้เคียงหรือในกลุ่มเดียวกัน ดังที่พบสถูปบรรจุอัฐิของพระสงฆ์ผู้ใหญ่ของชุมชนในวัดทางอีสานหลายแห่ง เช่น ที่วัดเก่าแก่ชื่อ วัดโสภณวิหาร(วัดบ้านลุมพุก) อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ในกลุ่มคนเชื้อสายเขมรเป็นส่วนใหญ่ ก็มีการสร้างสถูปบรรจุอัฐิธาตุของพระผู้ใหญ่ หรือบรรพชนของตนแบบดั้งเดิม และรูปแบบสถูปเป็นแบบคู่สองแห่ง ดังภาพด้านล่างนี้
|
สถูปบรรจุอัฐิธาตุของพระผู้ใหญ่ หรือบรรพชนของชาวตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ในยุคที่ยังมีสถานะเป็นเมืองกันทรารมย์ ณ วัดโสภณวิหาร เดิมชื่อ "วัดร็วมปุก"(វត្តរំពុក) ตั้งขึ้นราวๆ พ.ศ. 2410 ก่อนการตั้งเมืองกันทรารมย์( พ.ศ. 2415 - 2440) |
|
ธาตุฝุ่น ที่บรรจุอัฐิธาตุของพระครูหลวงโพนสะเม็ก ยาคูขี้หอม ที่จำปาสัก ลาวตอนใต้ จะพบว่าเป็นการทำสถูปรูปบัวที่มักใช้บรรจุอัฐิ ของพระผู้ใหญ่หรือผู้มีสถานภาพในวัฒนธรรมไต-ลาว(2) |
และนอกจากนี้ รูปแบบเช่นนี้พบคล้ายคลึงกับการทำสถูปคู่ทำจากหินทรายที่เชิงเขาทางฝั่งไทยก่อนทางขึ้นปราสาทพระวิหารเช่นกัน
|
สถูปคู่ เป็นโบราณวัตถุมีอยู่ 2 องค์ ตั้งคู่อยู่บริเวณทิศตะวันตกของผามออีแดง อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ถ้าเดินทางจากผามออีแดงไปยังเขาพระวิหาร ก็จะผ่านสถูปคู่นี้ มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ขนาดหน้ากว้าง 1.93 เมตร สูง 4.20 เมตร ยอดมนคล้ายดอกบัวตูม ข้างในเป็นโพรงบรรจุสิ่งของ ก่อสร้างด้วยหินทรายเป็นท่อนที่ตัด และตกแต่งอีกที นับว่าแปลกจากศิลปวัฒนธรรมยุคอื่นใด(3) |
Reference :
(1) วลัยลักษณ์ ทรงศิริ, มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์.สถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร และลูกหลานชาวโยดะยาในพม่า “คุณหมอทิน มอง จี”.ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ ธันวาคม 2555.เผยแพร่ผ่าน www.silpa-mag.com เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2559.
(2) ขอบคุณภาพธาตุฝุ่น จาก สโมสรศิลปวัฒนธรรม www.silpa-mag.com
(3) ขอบคุณภาพสถูปคู่ จาก สำนักอุทยานแห่งชาติ, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช http://park.dnp.go.th