ปราสาทพระวิหาร Temple of Preah Vihear ប្រាសាទព្រះវិហារ
ในยุคอาณาจักรขอมโบราณ สมัยเมืองพระนคร เมืื่อช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 16 พระบาทก็อมรอแตงกันตลอัญ ศรีสูรยวรมัมเทพ หรือพระเจ้าศรีสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1549-1593) ได้ขึ้นครองราชย์ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงปรีชาญาณ เข้มแข็ง และได้แผ่พระราชอำนาจอย่างยิ่งใหญ่เข้ามาจนถึงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนใต้(แถบจังหวัดลพบุรีในปัจจุบัน) ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยคุณธรรม พระองค์นับถือศาสนาพุทธนิกายมหายาน และทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภก โดยพระองค์ยินยอมให้ศาสนาพุทธนิกายหินยานเจริญงอกงามในอาณาจักรขอมโบราณยุคนั้นได้ และให้อิสระพลเมืองใดที่ยังนับถือศาสนาฮินดูก็ให้นับถือต่อไปได้ ยุคนี้จึงถือเป็นยุครุ่งเรืองของอารยธรรมขอม อักษรขอมโบราณ เริ่มปรากฏเป็นอัตลักษณ์บ่งบอกตัวตนที่ชัดเจนและนิยมใช้จารึกกันอย่างแพร่หลายในยุคนั้น
ด้วยความเคารพนับถือ ความสมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของเจ้าผู้ครองเมืองขอมโบราณ และความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนามหายานยุคนั้น ปรากฏนามเจ้าผู้ครองเมืองขอมโบราณ 5 ท่าน ได้แก่ กมรเตงชคตศรีขัณฑเรศวร เจ้าผู้ครองเมืองสดกโคกขัณฑ์ ,พระกมรแตงอัญศรีราชปติวรมัม เจ้าเมืองอวัทธยาปุระ(ปัจจุบันอยู่ในบริเวณอำเภอโคกปีบ จังหวัดปราจีนบุรี) , พระบาทกมรแตงกันตลอัญศรีสูรยวรมัมเทพ แห่งเมืองพระนคร , กมรแตงชคตศรีสิขเรศวร แห่งเมืองบัณดูลทนง(แก่นประดู่)เชิงเขาพระวิหาร , กมรเตงชคตศรีพฤตเธศวร แห่งเมืองอํปิล(ปราสาทสระกำแพงใหญ่ อ.อุทุมพร จ.ศรีสะเกษ) พร้อมข้าราชบริพาร ได้พากันตั้งขบวนแห่มาบวงสรวงและเฉลิมฉลองปรางค์ปราสาทซึ่งเป็นพุทธสถานที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองวิเภทปุระ โดยมีศรีสุกรมกำแสดงชี เป็นผู้ครองเมืองและควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ คือ กุรุเกษตร ซึ่งได้ร่วมกันสร้างจนสำเร็จลุุล่วงด้วยดี แสดงให้เห็นรัศมีมหิทธานุภาพแห่งราชอาณาจักรขอมโบราณริ้วขบวนแห่งศรัทธาวิไลวิลาศด้วยพัสตราภรณ์เนืองแน่นด้วยปุโรหิตอำมาตย์มนตรีข้าราชบริพารธงทิวธวัชสล้างเฟื่องฟ้าปลิวปลาย....
ดังปรากฏตามข้อความในจารึกพระวิหาร1 ด้านที่1 ความว่า…"มหาศักราช 959 ขึ้น ๓ ค่ำ มาฆมาส (เดือน ๓) แห่ง พระกมรแตง อัญศรีราชปติวรมัม ผู้เป็นพ่อเฒ่า แห่งเมืองอวัทธยปุระ กราบบังคมด้วยเศียรเกล้าทูล พระบาท กมรแตง ก็อนต๊อล อัญ ศรีสุริยวรมัมเทพ โดยมีสถาปนิกผู้จงรักภักดี คือ ศรีสุกรม กำแสตงชี รับภารกิจในการก่อกำแพงสร้างปราสาท ร่วมกับ กมรแตง ชคตศรีสิขเรศวร กับ กมรแตง ชคตศรีพฤทเธศวร เจ้าเมืองอ็อมปึล กมรแตง ชคตศรีขัณฑเรศวร เมืองสด๊กโคกขัณฑ์ หมู่บ้านภูมิรำดวลตระพังสวาย มีการขุดสระ ลอกเลน วัดเสมาบันเตือยจุม ณ หมู่บ้านบริเวณป่าลำดวล ใกล้วิเภทปุระ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ เป็น กุรุเกษตรปุระ"
ข้อความจากจารึกพระวิหาร๑ ศก. ๕ ด้านที่ ๑
- จากส่วนหนึ่งในบทการแสดงแสง สี เสียง สื่อผสมผสาน ตำนานเมืองขุขันธ์ ปี พ.ศ. 2560
- จารึกพระวิหาร1ด้านที่1