ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันเสาร์ที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2558

คุณรู้จัก "ตราวเกียต" กันไหมครับ ?


            ผักตบไทย(Arrow-feaf Monochoria หรือ water hyacinth ) เป็นพืชล้มลุกขึ้นในน้ำ อายุหลายปี รากยึดเกาะกับดินไม่ลอยน้ำ มีถิ่นกำเนิดแถบประเทศในกลุ่มเอเชียอาคเนย์ของเรานี่เอง  ภาษาขแมร์ในท้องถิ่นอำเภอขุขันธ์ และภาษากวยในท้องถิ่นตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เรียกว่า ตราวเกียต สำหรับภาษาขแมร์ในกัมพูชาเรียกว่า ត្រកៀត อ่านว่า /ตรอ-เกียต*/ ในพจนานุกรมพระสังฆราช ชวน นาต นักปราชญ์ด้านภาษาศาสตร์แห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชา ได้อธิบายไว้ว่า เป็นวัชพืชน้ำชนิดหนึ่งพวกเดียวกันกับเผือก ก้านใบและโคนต้นใช้ประกอบอาหารได้ เช่นทำแกงส้มตรอเกียต เป็นต้น(Chuon Nath: ឈ្មោះ​ស្មៅ​ទឹក​ពួក​ត្រាវ ធាង​និង​គល់​ប្រើ​ជា​បន្លែ​បាន : សម្ល​ម្ជូរ​ត្រកៀត ។)

            สำหรับข้อมูลทางวิชาการเพิ่มเติมจากเวปไซต์ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้อธิบายไว้ว่า
            ชื่อสมุนไพร ผักตบไทย
            ชื่ออื่นๆ ผักตบ ผักตบเขียด ผักโป่ง
            ชื่อวิทยาศาสตร์ Monochoria hastata (L.) Solms.
            ชื่อพ้อง -
            ชื่อวงศ์ Pontederiaceae

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
              พืชล้มลุกขึ้นในน้ำ อายุหลายปี รากยึดเกาะกับดินไม่ลอยน้ำ มีลำต้นส่วนที่ทอดนอนอยู่ใต้ดิน ที่เรียกว่าไหล ส่วนเหนือดินสูงถึง 1 เมตร มีกาบใบหุ้มโดยตลอด ต้นมีลักษณะเป็นกอ ใบ เป็นใบเดี่ยว ก้านใบส่วนล่างมีลักษณะเป็นกาบหุ้มซ้อนๆกัน ก้านใบส่วนบนกลมยาว และอวบน้ำ รูปร่างของแผ่นใบ เป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายหัวลูกศร กว้าง 0.9-1.9 เซนติเมตร ยาว 4.5-8 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเว้าลึก ขอบใบเรียบ ผิวใบเกลี้ยงทั้งสองด้าน ดอกเป็นดอกช่อแบบช่อกระจะ ออกบริเวณใกล้แผ่นใบ ดอกแทงมาจากราก สูง 2 ใน 3 ของความยาวของก้านใบ มีแผ่นใบประดับสีเขียวรองรับ ดอกย่อย 15-16 ดอก กลีบดอกบอบบาง สีน้ำเงินปนม่วง หรือสีฟ้าปนม่วง แต่ละดอกมีก้านดอกย่อยยาว 3-4 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงและกลีบดอก มีจำนวน 6 กลีบ เรียง 2 วง วงละ 3 กลีบ เมื่อบานแล้ว กลีบจะบิดพันกันเป็นเกลียว เกสรเพศผู้ 6 อัน ติดอยู่บนวงกลีบรวม ขนาดสั้น 5 อัน ยาว 1 อัน ผลแห้งแตกแบบแคปซูล ยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ภายในมีเมล็ดสีน้ำตาลจำนวนมาก 



ระยะเวลาออกดอก  ราวเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน 

แหล่งที่พบ พบตามแหล่งน้ำจืด บึง หนองน้ำ ที่ชื้นแฉะ โคลนตม ตามท้องนาทั่วไป

สรรพคุณ
             ตำรายาไทย ใบ ขับปัสสาวะ ขับพิษร้อน ใช้ทาฝี นำใบมาตำผสมกับผักกระเฉดเอาน้ำดื่มแก้เบื่อเมา ทั้งต้น มีรสจืด แก้พิษในร่างกาย ขับลม ใช้ต้นสดตำพอก แก้แผลอักเสบ ใช้เป็นยาทาหรือพอก ถอนพิษ แก้ปวดแสบปวดร้อน ยอดอ่อน ก้านใบอ่อน ช่อดอก ใช้เป็นผักสด ลวกจิ้มน้ำพริก หรือทำแกงส้ม   สำหรับชาวเกาะ จะใช้ เหง้า มาบดกับถ่านใช้ทาแก้รังแคได้

ขอบคุณที่มาของข้อมูลวิชาการและภาพ :  จากเวปไซต์ ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ลิงก์ http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=166 ,5 กันยายน 2558.

ขอบคุณ :
- พจนานุกรมขแมร์ ฉบับพุทธศาสนบัณฑิตย์ สมเด็จพระสังฆราช(คณะมหานิกาย) ชวน ณาต โชตัญญาโณ ค.ศ. ๑๙๖๗-๑๙๖๘ (พ.ศ.๒๕๑๒)

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย