ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ความเป็นมาของศาสนาพุทธในประเทศไทย

ศาสนาพุทธเกิดขึ้นในชมพูทวีปซึ่งในปัจจุบันเป็นดินแดนของประเทศอินเดีย ประเทศเนปาล ประเทศอัฟกานิสถาน ประเทศปากีสถาน และประเทศบังคลาเทศ แต่หลักฐานทางโบราณคดีส่วนใหญ่อยู่ที่ประเทศอินเดีย เช่น สังเวชนียสถาน และพุทธสถานต่าง ๆ

ศาสนาพุทธเข้าสู่ประเทศไทยหลังจากการทำสังคายนาครั้งที่ ๓ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๕ พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงส่งสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนต่าง ๆ รวม ๙ สายด้วยกัน ในส่วนของประเทศไทยเชื่อกันว่ามีคณะของสมณทูตซึ่งมีพระโสณเถระและพระอุตตรเถระเป็นหัวหน้าคณะเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกและอาจมีคณะสมณทูตชุดอื่น ๆ เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาในกาลต่อ ๆ มา จึงทำให้คนไทยโดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ไทยยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องคนไทยกับพุทธศาสนา* และพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้น ได้ความตามตำนาน พระพุทธเจดีย์ พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า คนไทยเรานั้นได้นับถือพระพุทธศาสนามาก่อนที่จะอพยพมาตั้งประเทศไทยในปัจจุบันนี้แล้ว ซึ่งเรื่องนี้ พระศรีวิสุทธิโมลี(ประยุทธ ป. ๙ ปัจจุบันเป็นพระพรหมคุณาภรณ์) ได้สรุปไว้ใน คำบรรยายเรื่อง พุทธศาสนากับการศึกษาในอดีต ณ ห้องประชุมหอสมุดแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๑๓ ว่าก่อนที่ชนชาติไทยจะได้ตั้งอาณาจักร เป็นประเทศไทยเป็นปึกแผ่นมั่นคง ซึ่งถือว่าเริ่มแต่การตั้งอาณาจักรสุโขทัยนั้น ชนชาติไทย ในภูมิภาคสุวรรณภูมิ คลุมไปถึงรัฐไทยต่าง ๆ ในดินแดน ตั้งแต่ทางตอนใต้ของประเทศจีนนั้น ได้รับนับถือพระพุทธศาสนามาแล้ว ทั้งสองนิกาย คือ

ยุคแรก ได้รับนับถือพุทธศาสนานิกายมหายาน ผ่านทางประเทศจีน สมัยพระเจ้ามิ่งตี่ ในตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๗ รัชสมัยของขุนหลวงเม้า แห่งอาณาจักรอ้ายลาว

ยุคที่สอง แยกออกเป็น ๒ ระยะ

ระยะแรก สมัยอาณาจักรศรีวิชัยรุ่งเรือง ราวพุทธศักราช ๑๓๐๐ กษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีวิชัย ผู้นับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน มีเมืองหลวงอยู่ที่เกาะสุมาตรา ได้แผ่อำนาจเข้ามาถึงแหลมมลายู ได้ดินแดนตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลงไปไว้ครอบครองพระพุทธศาสนานิกายมหายานจึงแผ่เข้ามาในภาคใต้ของประเทศไทย

ระยะที่ ๒ กล่าวว่าในสมัยลพบุรี เมื่อขอมเรืองอำนาจแผ่อาณาเขตเข้ามาครอบครองประเทศไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางทั้งหมด ในราวพุทธศักราช ๑๕๕๐ พระพุทธศาสนาแบบมหายานซึ่งขอมรับมาจากอาณาจักรศรีวิชัยเช่นกัน แต่ว่าเจือด้วยศาสนาพราหมณ์ จึงแผ่เข้ามาในดินแดนแถบนี้ พร้อมด้วยภาษาสันสกฤต แต่ว่าดินแดนที่ขอมแผ่อาณาเขตเข้ามานั้น เดิมทีประชาชนพลเมืองก็ได้รับนับถือพระพุทธศาสนาแบบหินยานอยู่แล้ว   แต่สมัยที่พระโสณะ และพระอุตตระ ศาสนทูตสายที่ ๒ ใน ๙ สาย ของพระเจ้าอโศกมหาราชนำเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิ ในสมัยทราวดี ในพุทธศตวรรษที่ ๓


ยุคที่สาม สมัยพระเจ้าอนุรุทธมหาราช หรืออโนรธามังช่อ กษัตริย์พม่าแห่งอาณาจักรพุกามแผ่อำนาจเข้ามาในอาณาเขตลานนาและล้านช้าง ราวพุทธศักราช ๑๖๐๐ พระพุทธศาสนานิกายหินยานแบบพุกาม จึงได้แผ่เข้ามาในดินแดนแถบนี้

ครั้งถึงสมัยชนชาติไทยตั้งอาณาจักรสุโขทัย เป็นประเทศชาติไทยอันเป็นปึกแผ่นมั่นคง เมื่อพุทธศักราช ๑๘๐๐ แล้ว เป็นยุคที่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงจากลัทธิมหายานและหินยานแบบเดิม มาเป็นลัทธิหินยานแบบลังกาวงศ์ ซึ่งเรื่องนี้ ตามตำนาน
พระพุทธเจดีย์ พระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ ทรงกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

เมืองสุโขทัยเมื่อก่อนกษัตริย์ไทย ได้ปกครองตั้งเป็นราชธานีของประเทศสยามเป็นเมืองขึ้นของกษัตริย์ขอม ซึ่งครองเมืองลพบุรีอยู่ช้านาน ชาวเมืองเห็นจะถือพระพุทธศาสนาลัทธิมหายาน อย่างเช่นที่ถือกันในเมืองลพบุรี ยังมีพุทธเจดีย์ซึ่งสร้างตามแบบอย่างเมืองลพบุรีปรากฏหลายแห่ง เช่น ปรางค์สามยอดที่วัดพระพายหลวง อยู่นอกเมืองสุโขทัย(เก่า) ไปทางเหนือแห่ง ๑ ปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุที่เมืองชะเลียง (เมืองสวรรคโลกเก่าข้างใต้) แห่ง ๑ ปรางค์วัดจุฬามณีข้างใต้เมืองพิษณุโลกแห่ง ๑ แต่เมื่อกษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงได้เป็นใหญ่ครองประเทศสยาม ณ เมืองสุโขทัยนั้น ประจวบกับสมัยที่เลื่อมใสพระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์แพร่หลายในประเทศนี้ พุทธเจดีย์ซึ่งสร้างในสมัยสุโขทัย จึงสร้างตามลัทธิหินยานอย่างลังกาวงศ์ทั้งนั้น

พระพุทธศาสนาในประเทศไทย เริ่มนับถือแบบหินยานลัทธิลังกาวงศ์อย่างจริงจังนั้นตกอยู่ในรัชสมัยของ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เมื่อพุทธศักราช ๑๘๒๐ เป็นต้นมา กล่าวคือ เมื่อพ่อขุนได้ขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ได้ทรงสดับกิตติศัพท์ พระสงฆ์ที่ไปศึกษาที่ประเทศลังกา กลับมาสั่งสอนอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช มีความรอบรู้พระธรรมวินัยและมีวัตรปฏิบัติน่าเลื่อมใส จึงได้อาราธนาจากเมืองนครศรีธรรมราช ขึ้นมาตั้งสำนักและเผยแพร่คำสอนณ กรุงสุโขทัย เรียกชื่อ ตามแหล่งที่มาว่า ลังกาวงศ์   พระสงฆ์ในลัทธิลังกาวงศ์ที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช อาราธนาจากเมืองนครศรีธรรมราช
มาตั้งสำนักในกรุงสุโขทัยนี้ พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้ามาก และโดยที่พระสงฆ์คณะนี้ ชอบความวิเวกจึงโปรดให้อยู่ ณ วัดอรัญญิก นอกเมือง และพระองค์ ได้เสด็จไปนมัสการท่านเป็นประจำทุกวันกลางเดือนและสิ้นเดือน ดังมีความในศิลาจารึกว่า

“วันเดือนดับ วันเดือนเต็ม ท่านแต่งช้างเผือก กระพัดลยาง เทียนย่อมงาทอง ขวาชื่อรุจาศรี พ่อขุนรามขึ้นขี่ไปนบพระอรัญญิกแล้วกลับมา”
เมื่อกล่าวถึงพระพุทธศาสนาแบบหินยานลัทธิลังกาวงศ์ เข้ามาสู่สยามประเทศ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงเลื่อมใสศรัทธา โปรดให้ถือเป็นแบบอย่างที่ดีงามและเจริญรุ่งเรืองสืบมาเป็นศาสนาประจำชาติไทยจนถึงทุกวันนี้แล้ว ก็ถือโอกาสกล่าวถึงประวัติของลัทธินี้ ตามที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวไว้ในตำนานพระพุทธเจดีย์ดังกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยดังนี้

“ลัทธิลังกาวงศ์เกิดขึ้นครั้งพระเจ้าปรักกมพาหุมหาราช ฟื้นพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป ด้วยทำสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นต้น เมื่อราว พ.ศ. ๑๗๐๐ แต่นั้นลัทธิลังกาวงศ์รุ่งเรืองเลื่องลือเกียรติคุณมาถึงประเทศเหล่านี้ มีพระสงฆ์ไทย พม่า มอญ เขมรไปศึกษา และศรัทธาบวชเป็นภิกษุลังกาวงศ์ แล้วพาลัทธินั้นมาประดิษฐานในประเทศของตน ดังกล่าวแล้วในที่อื่น

ในที่นี้จะแสดงข้อวินิจฉัยในเรื่องลัทธิลังกาวงศ์เพิ่มเติม เพื่อให้เห็นว่า ผิดกับลัทธิอื่นด้วยเหตุอย่างไร คือ ลัทธิลังกาวงศ์เกิดขึ้นในสมัยเมื่อการถือพระพุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมสิ้นแล้ว   ยังนับถือกันอยู่แต่ในประเทศอื่น และถือแตกต่างกันเป็นลัทธิมหายานบ้าง เป็นลัทธิหินยานบ้าง  มิได้มีการศึกษาติดต่อกับอินเดียเหมือนแต่ก่อน ต่างสั่งสอนกันตามความรู้ความสามารถของศาสนาจารย์ในประเทศนั้นๆ ด้วยอาศัยคัมภีร์พระไตรปิฎกอย่าง ๑ กับตำราอาจารย์อย่าง ๑  เป็นหลักของพระศาสนาด้วยกันทุกประเทศ ส่วนพระไตรปิฎกนั้น ชาวธิเบต จีน และญี่ปุ่น ซึ่งถือลัทธิมหายาน เอาไปแปลเป็นภาษาของตน ไม่ศึกษาฉบับมคธ หรือสันสกฤตซึ่งเกิดขึ้นในอินเดีย แต่ประเทศลังกา พม่า มอญ ถือลัทธิหินยาน ยังคงศึกษาพระไตรปิฎกภาษามคธ ฝ่ายประเทศเขมรถือลัทธิมหายาน แต่ศึกษาพระไตรปิฎกภาษาสันสกฤต ซึ่งได้มาจากอินเดีย ส่วนประเทศสยามนี้ (ว่าตามสังเกตโบราณวัตถุมีปรากฏอยู่) อยู่ในระหว่างประเทศมอญกับเขมรเดิมถือลัทธิหินยาน แล้วนับถือลัทธิมหายานไปตามเขมร พระไตรปิฎกที่ศึกษาก็เห็นจะมีในประเทศสยาม ทั้งภาษามคธและสันสกฤต แต่พระไตรปิฎกที่มีอยู่ในประเทศพม่า มอญ ไทย  เขมร ในสมัยนั้นจะเป็นภาษามคธหรือสันสกฤตก็ตาม คงบกพร่องคลาดเคลื่อนกัน ตามธรรมดาของหนังสือซึ่งอาศัยแต่คัดเขียนและยังมีเหตุร้ายกว่านั้น คือเป็นภาษาซึ่งชาวเมืองไม่เข้าใจ การศึกษาจึงต้องอาศัยตำราอาจารย์ คือคำอธิบายบอกเล่าของครูบาอาจารย์เป็นสำคัญ

พระไตรปิฎกในสมัยนั้น เห็นจะมีบริบูรณ์อยู่แต่ในลังกาทวีป เพราะหนังสือพระไตรปิฎกเกิดขึ้นในเมืองลังกา และพระพุทธโฆษาจารย์ ได้ทำสังคายนาไว้ด้วยอีกชั้นหนึ่ง ดังปรากฏในตำนานสังคายนา ครั้นพระเจ้าปรักกรมพาหุมหาราชฟื้นพระพุทธศาสนาในลังกาทวีป เช่นให้ทำสังคายนาพระไตรปิฎกแล้ว ทำนุบำรุงพระสงฆ์ให้นิยมเล่าเรียนภาษามคธจนเชี่ยวชาญ อ่านพระไตรปิฎกได้เองโดยมาก พระสงฆ์ลังกาในครั้งนั้น ก็ย่อมทรงพระธรรมวินัย และรอบรู้พุทธวจนะพิเศษกว่าพระสงฆ์ประเทศอื่นๆ ด้วยประการฉะนี้ ที่พระสงฆ์ไทย มอญ พม่า เขมร พากันไปศึกษาพระศาสนาในลังกาทวีปครั้งนั้น คือต้องไปเรียนภาษามคธจนรอบรู้แตกฉานด้วยหาไม่ก็ไม่สามารถอ่านพระไตรปิฎก จนล่วงรู้พระธรรมวินัยโดยลำพังตนเองได้ เพราะฉะนั้นจึงปรากฏในตำนานว่าออกไปศึกษาอยู่องค์ละหลาย ๆ ปี จนอาจนำความรู้ภาษามคธมาสอนในประเทศของตน และการเรียนภาษามคธจึงถือว่าเป็นสำคัญในสังฆมณฑลสืบมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อันเกิดขึ้น แต่รับลัทธิศาสนาลังกาวงศ์มาคราวนั้น”

เมื่อสรุปเรื่องพุทธศาสนากับคนไทย โดยเฉพาะชนเผ่าไทยในสุวรรณภูมิหรือในสยามประเทศนี้แล้ว ปรากฏว่าคนไทยเรารับนับถือพระพุทธศาสนามาทั้ง ๒ นิกาย คือทั้งมหายาน และหินยาน ก่อนสมัยสุโขทัยดูจะนับถือปะปนกันทั้ง ๒ นิกาย แถมมีศาสนาพราหมณ์ เข้ามาระคนด้วย ที่เป็นดังนี้ เพราะชนชาติไทยได้ร่วมสังคมกับชนชาติขอม ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ในภูมิภาคนี้มาก่อน และแม้สมัยไทยสถาปนาราชอาณาจักรไทยเอกราชขึ้น ณ กรุงสุโขทัยแล้วก็ตาม

ในยุคต้นๆ ของสมัยนั้นก็ยังมีการนับถือพุทธปะปนกันอยู่ ๒ นิกายเช่นกัน ทั้งนี้รวมทั้งอาณาจักรลานนาไทย ซึ่งเป็นอาณาจักรอิสระของไทยตอนเหนืออาณาจักรหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในยุคเดียวกับอาณาจักรสุโขทัย และเป็นพันธมิตรสนิทสนมกับอาณาจักรสุโขทัย ก็มีลักษณะเช่นนั้นเหมือนกันดังจะกล่าวรายละเอียดบางประการในตอนต่อ ๆ ไป

อย่างไรก็ดี เรื่องการพระศาสนาในประเทศไทยในสมัยโบราณนั้น บทบาทสำคัญย่อมขึ้นอยู่กับองค์พระมหากษัตริย์ของแต่ละยุคละสมัย ทั้งนี้เพราะการบริหารบ้านเมืองไทยในยุคนั้นพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในลักษณะพ่อปกครองลูกในยุคสุโขทัย และทรงอยู่ในพระสมมุติเทพ
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกว่าพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรือง เปลี่ยนรูปแบบเป็นประการใดอย่างใดก็สุดแต่พระมหากษัตริย์จะทรงบรรดาล ให้เป็นไป ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เนื่องจากการปกครองของไทย หรือแม้ของชาติอื่นๆในยุคนั้นๆ พระมหากษัตริย์ พ่อบ้าน พ่อเมืองทรงพระราชอำนาจสิทธิราชในการบริหารประเทศด้วยพระองค์เอง โดยมีขุนนางผู้ใหญ่เป็นผู้รับสนองพระราชบัญชา ยังหาได้แบ่งส่วนราชการออกบริหารเป็นส่วนแบบกระทรวง ทบวง  กรมตามแบบอย่างในยุคหลังๆนี้ แต่ประการใด  แต่ก็เป็นที่น่าประหลาดและน่าภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่พระมหากษัตริย์ หรือพ่อเมือง พ่อขุน ของชนชาติไทย ก็ได้เคยแบ่งส่วนการบริหารบ้านเมืองแบบกระทรวง ทบวง กรม มาแต่โบราณกาลแล้วเหมือนกัน เรื่องที่ว่านี้ ได้พบหลักฐานในหนังสือประวัติกระทรวงมหาดไทย(ส่วนกลาง) ภาค ๑ และหนังสือเรื่อง การปกครองของไทย ของนายสมพงศ์ เกษมสิน รัฐประศาสนศาสตร์บัณฑิต ฉบับพิมพ์ที่ สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช กล่าวว่า ไทยน่านเจ้า ได้มีการจัด
รูปการปกครองส่วนกลางออกเป็นส่วนสัดแบบกระทรวงเสนาบดี มาแล้วเหมือนกัน เมื่อเทียบกับระบบการปกครองในปัจจุบันในรูปกระทรวงแล้ว พอเทียบลงได้โดยแบ่งออก ๙ กระทรวง ดังนี้
๑. ฮินสอง   เทียบได้แก่ กระทรวงมหาดไทย
๒. โม่วสอง  ” กระทรวงกลาโหม
๓. ม่านสูง   ” กระทรวงการคลัง
๔. ยันสูง   ” กระทรวงการต่างประเทศ
๕. หว่อสอง ” กระทรวงพาณิชย์
๖. ฝัดสอง  ” กระทรวงยุติธรรม
๗. ฮิดสอง  ” กระทรวงโยธาธิการ
๘. จุ้งสอง  ” กระทรวงสำมะโนครัว
๙. ฉื่อสอง  ” กระทรวงวังหรือราชประเพณี

และการบริหารงานของราชการส่วนกลางมี อภิรัฐมนตรี รัฐมนตรี หรือเสนาบดีปลัดกระทรวง อธิบดี เจ้ากรม ปกครองบังคับบัญชา รับผิดชอบตามลำดับ อันนี้เป็นเรื่องเปรียบเทียบกับแบบแผนการปกครองในสมัยปัจจุบัน   ส่วนการปกครองในส่วนภูมิภาคหรือหัวเมืองได้แบ่งเขตการปกครอง ออกเป็นรูปมณฑลรวม ๑๐ มณฑล คือ
๑. มณฑลหวั่นหน่าม
๒. มณฑลปากหง่าย
๓. มณฑลหม่งแซ่
๔. มณฑลไต้หว่อ
๕. มณฑลปั้นด้าม
๖. มณฑลไต้หลี
๗. มณฑลจุ๊ยแม้
๘. มณฑลหม่งฉิน
๙. มณฑลเผ่งชุ้น
๑๐. มณฑลจิ้วชุน

แต่ละมณฑลมีเมืองเอก โท ตรี และจัตวา มีหัวหน้าปกครองลดหลั่นกันไป ได้แก่
เจ้าหัวเมืองเอก  เรียกว่า หยินจัง
เจ้าหัวเมืองโท  ” สิ้นยุย
เจ้าหัวเมืองตรี  ” ตามเหย่า
เจ้าหัวเมืองจัตวา ” โม้วไฝ

แต่ละเมืองแบ่งออกเป็นแขวง มีนายอำเภอเรียกว่า โต้วตุ๊ก เป็นหัวหน้า รองจากแขวงเป็นแคว้น มีกำนันเรียกว่า จี้หยันกุน เป็นหัวหน้า จากแคว้นเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านเรียกว่า จ๋งจ๋อ เป็นหัวหน้า

ที่ยกเอาเรื่องการปกครองของไทยสมัยน่านเจ้ามากล่าวไว้ในที่นี้ด้วยนั้น ก็เพราะเห็นเป็นอัศจรรย์ที่ชนชาติไทยเรานั้น ได้มีการจัดระบบการปกครองตามแบบอย่างที่คนสมัยใหม่ว่า แบบเจริญศิวิไลมานานแล้ว แม้สมัยสุโขทัย เราก็จัดการปกครองอยู่ในระบบที่เหมาะสมกับสมัยสร้างชาติรวมชาติ คือระบบ “พ่อปกครองลูก” หรือที่ตำราฝรั่งเรียกว่า Paternalism หรือPatriarchal monarchy ไทยเราปกครองระบอบนี้ดังที่ในประวัติศาสตร์เราเรียกพระเจ้าแผ่นดินของเราว่า “พ่อขุน” มาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเราได้คลุกคลีกับขอมซึ่งนับถือศาสนาพราหมณ์ ระบอบการปกครองของพ่อบ้านพ่อเมืองแบบ “ พ่อปกครองลูก” ของกรุงสุโขทัย  จึงเปลี่ยนแปลงไปเป็นแบบ “เทวสมมุติ” หรือ “สมมุติเทพ” ที่ตำราฝรั่งเรียกว่า Divine right  พ่อขุนผู้ปกครองประเทศกลายเป็น “พระเจ้า” ตามระบบเทวสิทธิของขอมและพราหมณ์

ลักษณะสำคัญของการปกครองระบบเทวสมมุติหรือเทวสิทธินี้ นัยว่าถือคติอยู่  ๓ ประการ คือ
๑. รัฐเกิดโดยพระเจ้าบงการ
๒. พระเจ้าทรงเป็นผู้ปกครองรัฐ
๓. ผู้ปกครองรัฐมีความรับผิดชอบต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงผู้เดียว

ด้วยประการฉะนี้ การปกครองแบบนี้จึงทำให้เกิดชนชั้นขึ้นคือ ชนชั้นปกครองเป็นชนชั้นหนึ่ง กับชนชั้นที่ถูกปกครองคือราษฎร เป็นอีกชนชั้นหนึ่ง ซึ่งนักปราชญ์ทางปกครองถือว่า การปกครองระบอบนี้ เป็นต้นกำเนิดของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช และเป็นที่มาของลัทธิมูลนายกับบ่าวหรือทาส และระบบศักดินา ที่ว่าด้วยเรื่องการปกครองนอกเรื่องการพระศาสนามาเสียยืดยาว ก็เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควร “จดหมายเหตุ” ไว้ในที่นี้ด้วย

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย