-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันอาทิตย์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2562

ความหมาย ความสำคัญ ความเป็นมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

           เมื่อวันที่ 1 มกราคม​​ พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา ชาวไทยได้รับข่าวดีอันเป็นมหามงคลรับปีใหม่ เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562 นับเป็นครั้งหนึ่งในชีวิตของคนไทย และอาจจะเป็นเพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิตของหลายคนที่จะได้อยู่ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์อันสำคัญยิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
ความหมาย : สถาปนากษัตริย์อย่างเป็นทางการ
            “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” เป็นการประกอบพระราชพิธีสถาปนาพระมหากษัตริย์ หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์มาก่อนหน้านั้นแล้ว

             ดร.นนทพร อยู่มั่งมี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เขียนไว้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ว่า นามของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก คำสำคัญ คือ “อภิเษก” และ “รดน้ำ” เดิมทีคำนี้มิได้หมายถึงการรดน้ำเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน แต่มีความหมายเพียงการรดน้ำเท่านั้น แต่เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยกลับมีการบัญญัติให้เป็นราชาศัพท์เฉพาะ

พิธีบรมราชาภิเษกอันเกี่ยวเนื่องด้วยพระมหากษัตริย์ มีการกำหนดวาระและโอกาสไว้ 5 ประการ เรียก “ปัญจราชาภิเษก” ได้แก่

1.อินทราภิเษก หมายถึง การรดน้ำเพื่อเป็นพระอินทร์อันแสดงถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ที่มีความยิ่งใหญ่ คือ พระราชาธิราช 4

2.โภดาภิเษก คือ ผู้ที่จะได้เป็นพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเชื้อสายตระกูลพราหมณ์มหาศาล เป็นตระกูลมหาเศรษฐี มีโภคทรัพย์บริบูรณ์ พร้อมทั้งมียศ มีบริวาร พรั่งพร้อม นอกจากนี้ ยังเป็นผู้รู้จักในราชธรรมตราชูธรรม และทศกุศล อันจะเป็นประโยชน์ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของราษฎร

3.ปราบดาภิเษก คือ ผู้ที่อยู่ในตระกูลกษัตริย์ขัตติยราช มีฤทธิ์อำนาจและความสามารถในการสู้รบชนะข้าศึกศัตรูได้ครอบครองบ้านเมืองและทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดกล้าที่จะกล้ำกรายหรือทำอันตรายได้ อย่างไรก็ดี คำว่าปราบดาภิเษกไม่ได้มีความหมายถึงการรบชนะผู้อื่นเพื่อขึ้นครองราชสมบัติเสมอไป แต่ยังหมายถึงการรดน้ำเพื่อขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกับคำว่าราชาภิเษกอีกด้วย

4.ราชาภิเษก คือ การขึ้นเป็นกษัตริย์ของพระราชโอรส เมื่อพระราชบิดา พระราชมารดาทรงพระชราแล้ว บรรดาพระญาติพระวงศ์เห็นสมควรจะยกพระราชโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์จึงให้จัดพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้น

5.อภิเษกหรืออภิเสก คือ การที่พระราชบิดา พระราชมารดา หาหญิงที่มีตระกูลเสมอกันมาอภิเษกสมรสกับพระราชโอรส ซึ่งหญิงนั้นอาจจะมีเชื้อสายกษัตริย์ในแว่นแคว้นอื่น ๆ ที่มีวงศ์ตระกูลดี ซึ่งเป็นสวัสดิชาติ

           ส่วนจุลสารการจัดองค์ความรู้ สำนักพระราชวัง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกไว้ว่า พระราชพิธีบรมราชาภิเษก คือ พระราชพิธีที่แสดงความสมบูรณ์แห่งพระมหากษัตริย์ตามที่กําหนดในโบราณราชประเพณี เป็นแบบแผนอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

ความสำคัญ : ประกาศสถานภาพสูงสุดด้านการปกครองในราชอาณาจักร


                การประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีความสำคัญด้วยนัยที่เป็นพระราชพิธีที่ประกอบขึ้นเพื่อประกาศสถานภาพความเป็นพระมหากษัตริย์ให้สาธารณชนได้ทราบโดยทั่วกัน ดังที่ ดร.นนทพร อยู่มั่งมี เขียนไว้ว่า การขึ้นครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์จำเป็นที่จะต้องมีการประกาศสถานภาพความเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ให้เหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง และเหล่าราษฎรภายใต้พระราชอำนาจ และยังรวมถึงรัฐหรือเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้พระราชอำนาจ และยังรวมถึงรัฐหรือเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้ขอบขัณฑสีมาได้รับทราบ ดังนั้นจึงมีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกซึ่งมีเนื้อหาอันแสดงถึงความศักดิ์สิทธิ์และอำนาจแห่งสถานภาพที่สูงสุดด้านการปกครองในราชอาณาจักร

ความเป็นมา : อิทธิพลจากอินเดียสู่ราชสำนักสยาม

          ดร.นนทพร อยู่มั่งมี เขียนไว้ว่า พิธีบรมราชาภิเษกในไทยสันนิษฐานว่ารับรูปแบบมาจากพิธีราชสูยะของอินเดีย ซึ่งมีการประกอบพิธี 3 อย่าง คือ การอภิเษกหรืออินทราภิเษก การกระทำสัตย์ และการถวายราชสมบัติ โดยจะประกอบพิธีขึ้นในพระราชมณเฑียร หรือท้องพระโรง

           ในพื้นที่ราชอาณาจักรไทย พบหลักฐานเบื้องต้นราวพุทธศตวรรษที่ 12 บริเวณจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงการอภิเษกเพื่อขึ้นครองราชสมบัติของเจ้าชายจิตรเสน เพื่อปกครองรัฐซึ่งสันนิษฐานว่าคืออาณาจักรเจินละ ซึ่งมีดินแดนส่วนหนึ่งอยู่ที่ประเทศกัมพูชาในปัจจุบัน

           การประกอบพระราชพิธีดังกล่าวยังปรากฏหลักฐานสืบเนื่องในอาณาจักรสุโขทัยเมื่อพุทธศตวรรษที่ 19 สมัยพระยาลือไทยราช มีการมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในการอภิเษก ได้แก่ มกุฎ หรือพระมหาพิชัยมงกุฎฉัตร และพระแสงขรรค์ชัยศรี

          จวบจนสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏหลักฐานถึงขั้นตอนการพระราชพิธีแบบย่นย่อในคำให้การชาวกรุงเก่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 โดยมีรายละเอียดและลำดับของพระราชพิธี ดังนี้

          1.เครื่องราชูปโภคที่ใช้ในพระราชพิธี เช่น ตั่งไม้มะเดื่อ พระที่นั่งภัทรบิฐ

          2.เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ได้แก่ พระมหามงกุฎ พระแสงขรรค์ พัดวาลวิชนี ธารพระกร และฉลองพระบาท

          3.การประกอบพระราชพิธี เช่น การเป่าสังข์ การตีกลองอินทเภรี และการประโคมเครื่องดุริยางค์

          4.ราชบัลลังก์ปูลาดด้วยหนังพระยาราชสีห์ ซึ่งต่อมาได้ใช้แผ่นทองคำเขียนรูปราชสีห์ด้วยชาดหรคุณแทน

          5.พระสุพรรณบัฏที่จารึกอันมีการประดับกรอบด้วยอัญมณี โดยประดิษฐานอยู่บนพานทอง

         6.การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตรา

         7.การสมโภชพระนคร

        8.เมื่อเสด็จการพระราชพิธีแล้วจะทรงสร้างพระพุทธรูป เงินพดด้วง งดเว้นไม่เก็บส่วยเงินอากร 3 ปี กับทั้งทรงปล่อยนักโทษด้วย

          ส่วนพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จุลสารการจัดองค์ความรู้ สำนักพระราชวัง ให้ข้อมูลไว้ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. 2325 การเสด็จขึ้นครองราชย์ครั้งนั้น เรียกว่า ปราบดาภิเษก ถือว่า การพระราชพิธียังไม่สมบูรณ์ เมื่อทรงสร้างพระบรมมหาราชวัง รวบรวมรูปแบบการพระราชพิธี สร้างเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค และพระแสงอัษฎาวุธ สำหรับพระนครแล้ว พ.ศ. 2328 จึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อความสมบูรณ์แห่งพระมหากษัตริย์

          การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนั้น เป็นแบบแผนที่ถือปฏิบัติมาในรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ขั้นตอนสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอยู่ที่การสรงมรุธาภิเษก คือ ทรงรับน้ำอภิเษกโดยพระราชครูพราหมณ์ ด้วยเชื่อในคติว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมติเทพที่อุบัติมาเพื่อขจัดทุกข์เข็ญอาณาประชาราษฎร์ ภายใต้พระบรมโพธิสมภาร ให้มีความร่มเย็นและทรงบำรุงอาณาจักรให้เจริญรุ่งเรืองอุดมสมบูรณ์

          รัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีสัมพันธไมตรีกับประเทศยุโรป ทรงรับคติการวมพระมหาพิชัยมงกุฏในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างราชสำนักยุโรป นอกจากนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มพระราชพิธีสงฆ์ ดังนั้นน้ำอภิเษกจึงมีทั้งน้ำพระพุทธมนต์และน้ำพระเทพมนต์ และกำหนดให้มีการบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกประจำปี เรียกว่าวันฉัตรมงคล ถือปฏิบัติต่อมาในรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนการพระราชพิธีบ้าง ตามความเหมาะสมในแต่ละสมัย

          ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างย่นย่อ ตัดทอนพิธีการหลายประการ คงไว้เฉพาะที่จำเป็น กำหนดการพระราชพิธี 3 วันคือ วันที่ 3-5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 การประกอบพระราชพิธีในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 นี้เอง ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ที่เราชาวไทยได้ยินคุ้นหูมานานเกือบ 70 ปี

REFERENCE :
-ประชาชาติธุรกิจ.2562.ความหมาย ความสำคัญ ความเป็นมา พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. [ระบบออนไลน์]. แหล่งที่มา https://www.prachachat.net/d-life/news-275179.(13 มกราคม 2562)

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย