-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันพุธที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2558

เสาหงส์ที่วัดบกจันทร์นคร อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

               เวลาไปวัดของคนมอญแถวพระประแดง, เกาะเกร็ด, ปทุมธานี หรือตามริมลำน้ำแม่กลอง แถบ อ. บ้านโป่ง โพธาราม จ.ราชบุรี หลายคนมักสังเกตเห็น เสาต้นหนึ่งปักอยู่ มองขึ้นไปบนยอดเสา จะเห็นรูปตัวหงส์ ตั้งเด่นเป็นสง่า  
เสาหงส์ที่วัดบกจันทร์นคร  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ
                สาเหตุที่ในวัดมอญต้องมีเสาหงส์ก็เพราะคนมอญเชื่อว่า หงส์นั้นเกี่ยวข้องกับ ตำนานการเกิดเมืองหงสาวดี อันเป็นเมืองหลวงที่เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ของอาณาจักรมอญ ก่อนจะสิ้นแผ่นดินให้แก่พม่าในปี พ.ศ. ๒๓๐๐
                 ตามตำนานโบราณกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาลครั้งที่พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ได้แปดพรรษา ได้เสด็จเที่ยวจาริกมาถึงภูเขาสุทัศนมรังสิต ครั้งนั้นประเทศตรงนี้ยังเป็นทะเล เมื่อพระองค์เสด็จมาถึง ได้ทอดพระเนตรเห็นหงส์ทองสองตัวกำลังลงเล่นน้ำ พระองค์จึงทรงทำนายว่ากาลภายหน้าประเทศที่หงส์ลงเล่นน้ำ จะเป็นมหานครขึ้น ชื่อว่าเมืองหงสาวดี และเป็นที่ตั้งพระธาตุสถูปเจดีย์พระศรีมหาโพธิ์ ศาสนาของเราจะรุ่งเรื่องอยู่ที่นี่ ครั้นพระองค์นิพพานล่วงไป ๑,๑๑๖ ปี ท้องทะเลตรงนั้นก็ตื้นเขินกลายเป็นแผ่นดินแล้วเกิดเมืองหงสาวดี ดังนั้น คนมอญผูกพันกับเมืองนี้มาก จึงนำ "หงส์" มาใช้เป็นสัญลักษณ์แทนเมืองหงสาวดีและเชื้อชาติมอญ เหตุนี้บนผืนธงชาติมอญ ก็เป็นรูปหงส์
             อย่างไรก็ตาม นอกจากความผูกพันในเชิงตำนานแล้ว หงส์ในทางพุทธศาสนายังเป็นสัญลักษณ์ แห่งความบริสุทธิ์ และภูมิธรรมอันสูง ด้วยชาวพุทธเชื่อว่า หงส์เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ เนื่องจากในอดีตพระพุทธเจ้า เคยเสวยพระชาติเป็นพญาหงส์ และพระอานนท์ก็เกิดเป็นหงส์ด้วย ดังปรากฏในจุลลหงส์ชาดก หรือจุลลหังสชาดก    นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหงส์ เป็นจ้าวแห่งนกทั้งปวง เป็นผู้พิทักษ์รักษาท้องฟ้า และเป็นพาหนะที่นำวิญญาณผู้ตายสู่สวรรค์ การทำตุงอุทิศให้ผู้ตาย จึงมักนิยมนำไปแขวนที่เสาหงส์



         หงส์จึงปรากฏในศาสนวัตถุทางพุทธศาสนามากมาย เช่น ราวเทียนรูปหงส์ ประติมากรรมประดับตามธรรมาสน์ โบสถ์ วิหาร ฯลฯ หรือแม้แต่วัดที่มิใช่วัดมอญ ก็อาจทำเสาหงส์ไว้ได้เช่นกัน

         และนอกจากนี้ยังมีคำโบราณที่ท่านกล่าวขานเตือนสติพุทธศาสนิกชนคนไทยว่า "ฝูงหงส์จะลงหนอง  หงส์ทองจะเป็นกาเสื่อเผ่นจะเป็นหมา  พยัคฆาจะลืมไพร  พระฤาษีจะหนีถ้ำ หนองน้ำจะแห้งไป   ปฐพีจะเป็นไฟ  ชลาศัยจะไร้ปลา  อัคคีไม่มีแสง   พระพายแรงไม่พัดพา สกุณาเป็นสกุณี "

        พระอาจารย์ สุริยนต์  น้อยสงวน วัดบกจันทร์นคร  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ อธิบายขยายความว่า ที่นักปราชญ์โบราณท่านกล่าวเช่นนี้ ก็เพื่อเตือนสติพุทธศาสนิกชนคนไทยทุกคนมิให้เกิดความประมาท ให้มุ่งมั่นกระทำแต่ความดี และหมั่นสังสมบุญอยู่เนืองนิตย์ ซึ่งมีนัยยะคร่าวๆว่า ในภายภาคหน้า 

           โลกหมุนเวียนเปลี่ยนไปใคร่ครวญคิด
ธรรมลิขิตปริศนาน่าสงสัย
ท่านผู้รู้ซ่อนอรรถปรัชญาใน
เอื้อนเอ่ยไซร้หนึ่งมุมมองลองตรองดู


           ฝูงหงส์จะลงหนองปองสิ่งต่ำ
ข้อคมขำโลกเปลี่ยนเวียนอดสู
ชนชั้นสูงมั่วอบายไม่เชิดชู
เกลือกกลั้วอยู่สามัญชนหม่นหมองใจ


           หงส์ทองจะเป็นกาสามานย์สัตว์
ศีลวิบัติหมู่มนุษย์สุดเหลวไหล
ภายนอกสูงยูงทองผ่องอำไพ
แต่ภายในคิดชั่วตัวอัปรีย์


           เสือเผ่นจะเป็นหมาน่าหัวร่อ
หลงเคลียคลอลาภยศหมดศักดิ์ศรี
ชั้นผู้นำลืมบทบาทขาดพอดี
ชีวิตนี้ลุ่มหลงลงอบาย


           พยัคฆาจะลืมไพรใจหน่ายหนี
ลาเสียทีถิ่นเก่าเศร้าแหนงหน่าย
ลืมกำเนิดลืมตนจนวางวาย
อยู่เหมือนตายติดวัตถุทุกข์ท่วมท้น


           พระฤาษีจะหนีถ้ำกำสรดเศร้า
สงฆ์มัวเมาคลำศีลสิ้นมรรคผล
ล่าลาภยศสรรเสริญเพลินร้อนรน
ประพฤติตนบิดเบือนเปื้อนมลทิน


           อันหนองน้ำจะแห้งไปในวันนี้
เปรียบน้ำใจไมตรีที่สูญสิ้น
ขาดช่วยเหลือเจือจานการหลั่งริน
เทิดทรัพย์สินสูงกว่าค่าคนจริง


           ปฐพีจะเป็นไฟไหม้แรงร้อน
ไฟกามรอนเผาผลาญรานทุกสิ่ง
สังคมเสื่อมแสงธรรมสูญถูกทอดทิ้ง
ผู้คนยิ่งอยู่ยากลำบากใจ


           ชลาศัยจะไร้ปลาน่าอนาถ
ธรรมชาติวิปริตด้วยพิษไข้
ทรัพย์ในดินสินในน้ำซ้ำหมดไป
ความยากไร้ทับถมจมโลกา


           อัคคีไม่มีแสงแรงอำนาจ
คนดีขลาดกลัวภ้ยให้กังขา
อำนาจเถื่อนเบือนบิดจิตระอา
คนชั่วช้ากลับเสริมเพิ่มโลกีย์


           พระพายแรงไม่พัดพาฟ้ามัวหม่น
โลกร้อนรนขาดศีลธรรมนำวิถี
เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจนั้นไม่มี
ขาดปรานีกูลเกื้อเอื้ออาทร


           สกุณีเป็นสกุณาน่าขบขัน
เกิดพลิกผันแปลงเพศผิดคำสอน
กุมารีเป็นกุมารามายอกย้อน
ศีลธรรมอ่อนคนเพื้ยนเปลี่ยนแปรไป


           จบปัญหาปริศนาธรรมที่นำกล่าว
ล้วนเรื่องราวหมู่มนุษย์สุดแก้ไข
ประสบการณ์ผ่านชีวิตคิดห่างไกล
โปรดอภัยยังเขลาเบาปัญญา


ขอบคุณที่มา : 
พระครูประภัศร์สุตาลังการ เจ้าคณะอำเภอภูสิงห์ และเจ้าอาวาสวัดบ้านปรือใหญ่  ตำบลปรือใหญ่ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

พระอาจารย์ สุริยนต์  น้อยสงวน วัดบกจันทร์นคร  อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ.

เวปไซต์เที่ยวทั่วไทยไปกับนายรอบรู้ ที่ลิงก์  http://www.sarakadee.com/knowledge/2001/may/doyouknow_swan.htm ,28 สิงหาคม 2558.

ธรรมทิพย์ ที่ลิงก์ https://www.gotoknow.org/posts/456032 ,28 สิงหาคม 2558.

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย