วันเสาร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2561

หลักฐานที่ยืนยันว่าชนชาติพันธุ์กูย กวยเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา คือ พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ. 1976 กล่าวถึงในการห้ามหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976

พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ.1895 และ พ.ศ. 1976
              พระอัยการอาญาหลวง ตราขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทอง เมื่อปีพุทธศักราช 1895 มีการบัญญัติเพิ่มเติมอีกหลายคราว โดยพระมหากษัตริย์พระองค์ต่างๆในภายหลัง พระอัยการอาญาหลวงยกเลิกไปในปี พ.ศ 2451 เมื่อใช้กฎหมายลักษณะอาญาหลวง ร.ศ. 127 รวมเวลาที่ใช้พระอัยการลักษณะอาญาหลวงถึง 556 ปี บทบัญญัติในพระอัยการลักษณะอาญาหลวง ส่วนใหญ่เป็นบทลงโทษข้าราชการที่ทุจริตที่ประพฤติมิชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ นอกจากนี้ยังมีความผิดอื่นๆอีก 

การกำหนดโทษ 10 สถาน
              ในพระอัยการลักษณะอาญาหลวง  กำหนดโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดไว้ 10 สถานดังนี้
                1. ฟันคอ ริบเรือน ริบราชบาทว์ เอาลูกเมียฆ่าคนเป็นราชบาทว์ ทรัพย์สิ่งของเอาเข้าท้องพระคลังจนสิ้น
                2. ให้ตัดมือ ตัดเท้า จำใส่ตรุไว้โดยยถากรรม 
                3. ทวนด้วยลวดหนัง หรือไม้หวาย 1 ยก 2 ยก 3 ยก แล้วประจานจำใส่ตรุไว้เดือนหนึ่ง 2 เดือน 3 เดือน
                4. ให้ไหมจตุรคุณ(ปรับไหม 4 เท่า)แล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง
                5. ให้ไหมตรีคุณและเอาตัวออกจากราชการ
                6. ให้ไหมตรีคุณแล้วประจาน 3 วัน 7 วันให้พ้นโทษ
                7. ให้ไหมลาหนึ่ง แล้วให้ใช้ของๆเขา
                8. ให้ตัดปากแหวะปากเอามะพร้าวห้าวยัดปาก
                9. ให้ภาคทัณฑ์บนไว้ 
                10. กฎอุเบกขาไว้(เรียกประกันทัณฑ์บน)
             โทษทั้ง 10 สถานนี้ ตุลาการเลือกลงแก่ผู้กระทำความผิดที่ร้ายแรงเพียงสถานหนึ่งสถานใดเท่านั้น ไม่ใช่ลงโทษทั้ง 10 สถานแก่ผู้กระทำความผิด ส่วนความผิดที่ร้ายแรงน้อยกว่ากฎหมายกำหนดโทษไว้เพียง 8 สถานบ้าง 7 สถานบ้าง ลดหลั่นกันไป

หลักฐานที่ยืนยันว่าชนชาติพันธุ์กูย กวยเป็นที่รู้จักมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
คือ พระอัยการอาญาหลวง พ.ศ. 1976 กล่าวถึงในการห้ามหญิงไทย
แต่งงานกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976

การห้ามหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าว
              การห้ามหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าวในปี พ.ศ 1976 (ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 หรือ เจ้าสามพระยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ-ครั้งที่ 2 แห่งกรุงศรียุธยา เริ่มครองราช พ.ศ.1967 -สิ้นสุดราชกาล พ.ศ.1991 )มีการบัญญัติกฎหมายเพิ่มเติมพระอัยการอาญาหวงห้ามหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าว พ.ศ. 1976 ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะในช่วงนั้นคนต่างชาติเริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยาคงมีการตั้งถิ่นฐานครอบครัวและคลังสินค้ากันในกรุงศรีอยุธยา   จึงเป็นไปได้ที่อาจจะมีหญิงชาวสยามแต่งงานกับคนต่างด้าวบ้าง ด้วยความเป็นห่วงว่าหญิงชาวสยามจะเอาความลับเกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองไปแจ้งให้กับสามีคนต่างด้าวทราบ  และเกรงว่าหญิงไทยที่แต่งงานกับคนต่างด้าวและบุตรที่เกิดในภายหลังจะเข้ารีตไปนับถือศาสนาอื่น  จึงมีตรากฎหมายเพิ่มเติมขึ้นมาว่า  “...และไพร่ฟ้าขอบขัณฑเสมาทุกวันนี้ประกอบด้วยราคะโทสะโมหะโลภะ  มิได้กลัวแก่บาปละอายแก่บาป  เห็นนานาประเทศฝารั่ง อังกริด วิลันดา คุลา ชวา มลายู แขก กวย แกว ประกอบด้วยทรัพย์สมบัติเป็นอันมาก และไทมอญวันนี้ ยกลูกสาวหลานสาวให้เป็นเมียมิจฉาทิฐิถือผิดเป็นชอบแล้วละฝ่ายสัมมาทิฏฐิเสีย   แลบุตรอันเกิดมานั้นก็ถือเพศไปตามพ่อและพากันไปสู่อบายภูมิเสีย  แลมันจะเอากิจการบ้านเมืองไปแจ้งแก่นานาประเทศฟัง...จึงมีพระราชโองการ...ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบัญญัติไว้ว่า แต่นี้สืบไปเมื่อหน้าราษฎรข้าแผ่นดินชายหญิงไทยมอญ บมิยำบมิกลัวพระราชอาญาพระราชกำหนดกฎหมาย  เห็นพัสดุเข้าของเงินทองมิจฉาทิฐิอันมาค้าขายแต่นานาประเทศนอกด่านต่างแดน เลยยกลูกสาวหลานสาวให้เป็นเมียฝรั่ง อังกฤษ วิลันดา ชวา มลายู อันต่างศาสนาและให้เข้ารีตอย่างมิจฉาทิฐินอกศาสนา  ท่านว่าผู้นั้นเป็นเสี้ยนหนามในแผ่นดิน  แลมันเอาใจไปเผื่อแผ่แก่ปัจจามิตรข้าศึกศัตรูหมู่ร้าย   ให้ท่านลงโทษ 6 สถาน  อย่าให้ดูเป็นเยี่ยงอย่าง  เหตุใดจึงกล่าวดังนี้  เหตุว่าพ่อมันดั่งพืชหว่านลงเหนือแผ่นดิน จะเป็นพืชผลสืบไป  ฝ่ายพ่อมันลูกมันจะเอากิจการบ้านเมืองไปแจ้งนานาประเทศๆ มันรู้แล้ว มันจะคิดมาเบียดเบียนพระนครธานีขอบขัณฑเสมา พระพุทธศาสนาก็พลอยเศร้าหมองไป(พระอัยการอาญาหลวง บทที่ 13)
กรุงศรีอยุธยา (พ.ศ. 2209) วาดโดยบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์

ขอบคุณที่มา :
E-Book ม.รามคำแห่ง : รายวิชา LW103ประวัติศาสตร์กฎหมายไทยและระบบกฎหมายหลัก (Thai Legal History and Major Legal System) บทที่ 9 : พระอัยการลักษณะอาญาหลวง