วันอังคารที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2560

ชื่อเมืองขุขันธ์ เมื่อ พ.ศ. 2456(ค.ศ. 1913) เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Kukane (เขียนตามการได้ยินการออกเสียงภาษาเขมรของชาวเมืองขุขันธ์ขณะนั้น) ปรากฏนอกเหนือแผนที่ของอาณาเขตปกครองสหภาพอินโดจีน (Union Indochinoise)

           อินโดจีนของฝรั่งเศส (ฝรั่งเศส: Indochine française, อังกฤษ: French Indochina) ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น สหภาพอินโดจีน (Union Indochinoise) เป็นอาณานิคมของจักรวรรดิฝรั่งเศสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2430 โดยประกอบด้วยตังเกี๋ย อันนัม โคชินไชนา (ทั้งสามแห่งรวมกันเป็นประเทศเวียดนามในปัจจุบัน) และกัมพูชา ต่อมาในปี พ.ศ. 2436 จึงได้รวมเอาลาวเข้ามา อินโดจีนมีไซ่ง่อนเป็นเมืองหลวงจนถึงปี พ.ศ. 2445 จึงได้ย้ายเมืองหลวงมาที่ฮานอย ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อินโดจีนถูกปกครองโดยฝรั่งเศสเขตวีชีและยังถูกญี่ปุ่นรุกรานด้วย ในต้นปี พ.ศ. 2489 เวียดมินห์ได้เริ่มต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศส ซึ่งในภายหลังเรียกว่าสงครามอินโดจีน ส่วนทางใต้ได้มีการก่อตั้งรัฐเวียดนามซึ่งนำโดยจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย แห่งเวียดนาม และได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2492 แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2498 เวียดมินห์ก็ได้กลายเป็นรัฐบาลของเวียดนามเหนือตามอนุสัญญาเจนีวา โดยที่รัฐบาลของจักรพรรดิบ๋าว ดั่ย ยังคงปกครองเวียดนามใต้อยู่

A map of French Indochina prior to the First World War. Unfortunately there is part of western Laos which is cut off in this scan : Indochine française (1913).
การแทรกแซงครั้งแรกของฝรั่งเศส
          ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและฝรั่งเศสเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยมีมิชชันนารีคณะเยสุอิตนำโดยบาทหลวงอาแล็กซ็องดร์ เดอ รอด เข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในช่วงเวลาดังกล่าว เวียดนามเพิ่งจะเข้าครอบครองดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเคยเป็นดินแดนของอาณาจักรจามปามาได้ไม่นานนัก[1] ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับยุโรปจำกัดอยู่แค่เรื่องการค้าเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2330 ปีโญ เดอ เบแอนได้ร้องเรียนรัฐบาลฝรั่งเศสและจัดตั้งอาสาสมัครทหารฝรั่งเศสเพื่อช่วยเหลือเหงียน อั๊ญ (ซึ่งภายหลังคือจักรพรรดิยา ลอง) ให้ได้ดินแดนที่สูญเสียให้กับราชวงศ์เต็ยเซินกลับคืนมา ปีโญเสียชีวิตในเวียดนาม แต่กองทหารของเขายังคงต่อสู้จนถึงปี พ.ศ. 2345 ฝรั่งเศสเข้าไปเกี่ยวของกับเวียดนามอย่างมากในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาทิเช่น การปกป้องกิจการของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ซึ่งเข้ามาเผยแผ่นิกายโรมันคาทอลิก การกระทำดังกล่าวทำให้ราชวงศ์เหงียนรู้สึกว่าคณะมิชชันนารีที่เข้ามานั้นเป็นการคุกคามทางการเมือง

           ในปี พ.ศ. 2401 ราชวงศ์เหงียนได้รวบรวมดินแดนทั้งหมดไว้ได้ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งทำได้สำเร็จโดยการบุกโจมตีดานังของพลเรือเอกชาร์ล รีโกล เดอ เฌอนูยี ซึ่งทำให้คณะมิชชินนารีไม่ถูกขับไล่ ในเดือนกันยายนกองทัพผสมระหว่างฝรั่งเศสและชาวพื้นเมืองในอาณานิคมของสเปน[2]ได้เข้าโจมตีท่าเรือตูรานที่ดานังและยึดเมืองสำเร็จในที่สุด

           เดอ เฌอนูยีได้ล่องเรือลงไปทางใต้ และได้เข้าครอบครองไซ่ง่อนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2402 ต่อมารัฐบาลเวียดนามถูกบังคับให้ยกเบียนหฮว่า ซาดิ่ญ และดิ่ญเตื่องให้กับฝรั่งเศส เดอ เฌอนูยีถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกถอดออกจากหน้าที่ในเดือนพศจิกายน พ.ศ. 2402 เพราะว่าเขาได้รับคำสั่งให้ปกป้องศาสนาคริสต์ ไม่ใช่เพื่อขยายอาณาเขต อย่างไรก็ดี นโยบายของฝรั่งเศสในช่วงเวลาสี่ปีถัดมากลับเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้าม ดินแดนของฝรั่งเศสในเวียดนามค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปี พ.ศ. 2405 ฝรั่งเศสได้รับสัมปทานท่าเรือสามแห่งในอันนัม ตังเกี๋ย และโคชินไชนาจากจักรพรรดิตึ ดึ๊ก และต่อมาในปี พ.ศ. 2407 ฝรั่งเศสก็ประกาศดินแดนของฝรั่งเศส ในปี พ.ศ. 2410 จังหวัดเจิวด๊ก (โชฎก) ห่าเตียน และหวิญล็องก็ตกเป็นของฝรั่งเศส

         ในปี พ.ศ. 2406 สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ได้ขอให้กัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส และในปี พ.ศ. 2410 สยามได้ประกาศยกเลิกอำนาจเหนือกัมพูชาและยอมรับสถานะกัมพูชาในอารักขาของฝรั่งเศส โดยแลกกับจังหวัดพระตะบองและเสียมราฐ


การสถาปนาอินโดจีนของฝรั่งเศส

         ฝรั่งเศสได้เข้าควบคุมเวียดนามเหนือหลังจากได้รับชัยชนะในสงครามจีน-ฝรั่งเศสระหว่างปี พ.ศ. 2427 - 2428 ฝรั่งเศสได้รวมเอาดินแดนทั้งสี่แห่งเข้าไว้ด้วยกันเป็นอินโดจีนของฝรั่งเศสเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2430 ส่วนลาวนั้นถูกผนวกเข้าภายหลังสงครามฝรั่งเศส-สยาม 

The expansion of French Indochina (blue)
         โดยนิตินัย ฝรั่งเศสได้มอบอำนาจให้กับผู้ปกครองท้องถิ่นในรัฐในอารักขาทั้งสี่ ได้แก่ จักรพรรดิเวียดนาม กษัตริย์กัมพูชา และเจ้ามหาชีวิตลาว แต่ในความเป็นจริงแล้ว อำนาจอยู่กับข้าหลวงใหญ่มากกว่าบรรดาผู้ปกครองท้องถิ่น โดยผู้ปกครองท้องถิ่นเป็นเหมือนหุ่นเชิดเท่านั้น ฝรั่งเศสปกครองอินโดจีนอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2497

ขอบคุณที่มา :
- Kahin, George McTurnin; Lewis, John W. (1967). The United States in Vietnam: An analysis in depth of the history of America's involvement in Vietnam. Delta Books.
- Chapuis, Oscar (1995). A History of Vietnam: From Hong Bang to Tu Duc (Google Book Search). Greenwood Publishing Group. p. 195. ISBN 0313296227.
- https://th.wikipedia.org/wiki/อินโดจีนของฝรั่งเศส

วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560

ขอเชิญเที่ยวงาน และมาร่วมพิธีแซนโฎนตาปลอดเหล้าเมืองขุขันธ์ ปี 2560 ณ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 15 - 16 กันยายน 2560

  
             พี่น้องประชาชนชาวอำเภอขุขันธ์ที่รักทุกท่าน แซนโฎนตาปีนี้ ขอเชิญท่านร่วมค้นหารากเหง้าของประเพณีแซนโฎนตา เพื่อให้เป็นวัฒนธรรมอันดีงามที่จะสืบทอดส่งต่อลูกหลานอย่างมีคุณค่า ความจริงทางประวัติศาสตร์แห่งประเพณีแซนโฎนตาที่ปรากฎในคัมภีร์ใบลานทางพระพุทธศาสนาของดินแดนอีสานใต้เรา บอกว่า



            การทำบุญอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้ไปถึงบรรพบุรุษ หรือโฎนตาที่ล่วงลับไปแล้ว เพื่อจะให้ท่านได้รับจริงๆนั้น ลูกหลานทุกคน จะต้องตั้งใจปฎิบัติตนตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงามเป็นพื้นฐาน อย่างน้อยก็ให้รักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ อย่างสมบูรณ์ในช่วงเทศกาลแซนโฎนตา แล้วตั้งใจกรวดน้ำเพื่ออุทิศผลบุญไปถึง โฎนตา หรือบรรพบุรุษ และญาติพี่น้องผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยใช้น้ำสะอาด หรือน้ำมะพร้าวซึ่งถือเป็นน้ำที่บริสุทธิ์ เมื่อหยาดอุทิศให้เขาเหล่านั้นจะได้รับ และได้พ้นจากทุคติภูมิสู่สุคติภพ และโฎนตาเหล่านั้นก็จะอวยพรสรรพสาธุการ ให้แก่ลูกหลานที่ตั้งใจทำบุญอุทิศ ให้ได้รับความสุขความเจริญ ไม่เจ็บไม่จน อยู่เย็นเป็นสุข ทำมาค้าขึ้น และมีโชคมีลาภที่ดีงามตลอดไป

       
         วันนี้ วันดี ขอเชิญทุกท่านมาร่วมสืบสานประเพณีแซนโฎนตาอันงดงาม ด้วย
         - คนสามวัยใส่ใจแซนโฏนตา สืบทอดประเพณี
             อย่างรู้คุณค่า และมีสติ 

         - ร่วมรณรงค์ ลด ละ เลิกการดื่มเหล้า และ
             แอลกอฮอล์ทุกชนิดเพื่อชีวิตที่ดียิ่งกว่า
        

          นี่คือส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเพื่อสร้างเมืองขุขันธ์ให้เป็นเมือง
ที่น่าอยู่ น่าอาศัย เพราะสังคมที่ดี สามารถออกแบบ และสร้างขึ้นได้


          ด้วยความปรารถนาดีจาก คณะสงฆ์อำเภอขุขันธ์  สภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์  กศน.อำเภอขุขันธ์  เครือข่ายประชาสังคมขุขันธ์ สถาบันวิจัยชาวนา (สวช.) โรงพยาบาลขุขันธ์ และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอขุขันธ์