การเล่นกันตรึม
ในภาคอิสานตอนล่างซึ่งประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และจังหวัดนครราชสีมา มีประเพณวัฒนธรรมบางอย่างแตกต่างจากจังหวัดอื่นๆของประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดศรีสะเกษที่ขุขันธ์(อดีตเมืองขุขันธ์และจังหวัดขุขันธ์) สุรินทร์ บุรีรัมย์ ซึ่งมีประชากรบางส่วนพูดภาษาท้องถิ่น คือภาษาขอมอีสานใต้ แต่คนกรุงเทพเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “เขมรป่าดง” ชนกลุ่มนี้มีประเพณีวัฒนธรรมเป็นของตนเองโดยเฉพาะเช่น การเล่นมะม๊วด การบายศรีสู่ขวัญ การเล่นมโหรีปี่พาทย์ บุญประเพณีแซนโฎนตา การร้องเจรียง การเล่นกันตรึม เป็นต้น ซึ่งประเพณีเหล่านี้เป็นวัฒนธรรมแสดงถึงความเชื่อ ความรักความสามัคคี บ่งบอกถึงวิถีชีวิตการทำมาหากินและการอยู่อาศัย ซึ่งแสดงออกถึงการมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของท้องถิ่นชาวอีสานใต้
การเล่นกันตรึม ในปัจจุบันเป็นที่นิยมเผยแพร่อยู่ทั่วไปในหมู่ประชาชนแถบอิสานตอนใต้และคนไทยทั่วไป การละเล่นกันตรึมเป็นการพัฒนามาจากการเล่นมะม๊วด ซึ่งมีปี่อ้อ มีกลองโทน 3 ใบ มีกรับ กลองโทน ซึ่งทำมาจากดินเหนียว ขึงหน้ากลองด้วยหนังงูเหลือม หรือหนังตะกวด มีเสียงดังตรึมๆ จึงได้เรียกการละเล่นที่มีการร้องประกอบเสียงซอ เรียกว่า กันตรึม มาจนถึงทุกวันนี้
อุปกรณ์ประกอบการเล่นกันตรึมแบบโบราณ มีซออู้ ซอด้วง กลองโทนกันตรึม ๓ ใบ ปี่อ้อ ฉิ่ง ฉาบ กรับ เพลงที่นิยมเล่นจะเป็นทำนองสนุกสนาน ทั้งแบบช้าและแบบรวดเร็ว ส่วนการร้องประกอบดนตรีจะเป็นการร้องภาษาขอมอีสานใต้ ปัจจุบันมีทั้งแปลเป็นภาษาไทยด้วย เพื่อให้คนทั่วไปฟังรู้เรื่องและเข้าใจเนื้อหา ซึ่งมีพุทธประวัติ การทำมาหากิน การเกี้ยวพา ของหนุ่มสาว นิทานพื้นบ้าน ประเพณีการแต่งงาน สมัยก่อนนิยมเล่นกันตรึมในเทศกาลวันสำคัญทางศาสนา งานประเพณีท้องถิ่นแต่ปัจจุบันเล่นทุกโอกาสไม่จำเพาะเจาะจงเป็นวันสำคัญ
การแต่งกาย นักร้องและนางรำจะนิยมแต่งแบบโบราณคือผู้ชายจะนุ่งโจงกระเบน เสื้อคอกลม มีผ้าขาวมาคล้องคอ ส่วนผู้หญิงอาจจะนุ่งผ้าถุงเป็นไหม หรือผ้าโจงกระเบนก็ได้ มีผ้าสไบพาดเฉียงบ่า การร้องรำจะเป็นท่วงทำนองแบบท้องถิ่นทางเขมร
ในปัจจุบันกันตรึมมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาหรือประยุกต์มากขึ้นตามความนิยมของประชาชน มีการนำเอากลองชุด ออร์แกน กีตาร์ มาประกอบ นางรำก็ใส่ชุดหลากหลายทั้งแบบยาว แบบสั้น นักร้องก็แต่งตัวตามสบายที่มองดูแล้วสวยเด่น การแสดงก็รวดเร็ว กระชับมีแต่จังหวะเร้าใจ
กันตรึมอำเภอขุขันธ์ เป็นวงกันตรึมสมัครเล่น ผสมผสานกันหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย คณะดนตรีไทยและนักร้องชายจากสภาวัฒนธรรมตำบลสำโรงตาเจ็น นักร้องหญิงจากโรงเรียนบ้านกันจานและผู้รำประกอบเพลงจากโรงเรียนขุขันธ์