วันอังคารที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2557

ปราสาทตาเล็ง(Prasat Taleng) หรือ ប្រាសាទតាលេង

 

      ปราสาทตาเล็ง ប្រាសាទតាលេង (Prasat Taleng) หรือปราสาทบ้านลุมพุก(Prasat Banlumpuk) ช่วงก่อนที่บ้านปราสาท หมู่ที่ 1 ตำบลปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ในปัจจุบันจะได้รับการพัฒนาและยกระดับเป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง(อพป.) ปราสาทตาเล็ง เป็นที่รู้จักในนาม "ปราสาทบ้านลุมพุก" สาเหตุที่เรียกกันเช่นนั้นเพราะ คนสมัยก่อน เมื่อได้มีการสัญจรไปมาหาสู่กัน หรือพบปะกันต่างหมู่บ้านก็มักจะทักทายและถามไถ่กันว่า ท่าน...มาจากไหน ? คนบ้านปราสาทก็จะตอบว่าอยู่บ้านปราสาท ถ้ามีผู้ไม่เข้าใจว่าอยู่บริเวณไหน เพราะสมัยนั้นคำว่า "บ้านปราสาท" มีหลายหมู่บ้าน ก็มักจะถามต่อไปว่า ปราสาทไหน ? ผู้ตอบก็จะเอาชื่อตำบล หรือชื่อหมู่บ้านใกล้เคียงซึ่งเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเป็นสร้อยต่อท้ายชื่อหมู่บ้าน เช่น ปราสาทบ้านลุ่มพุก เป็นต้น ซึ่งบ้านลุมพุก นั้นเป็นบ้านเก่าแก่ที่มีพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทหลังนี้และเป็นศูนย์กลางของตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ 
   ต่อมา เมื่อปี 2532 พื้นที่ด้านทิศตะวันตกของตำบลกันทรารมย์ ได้ถูกแยกออกและตั้งเป็นตำบลใหม่ โดยนำชื่อบ้านปราสาท(เดิมบริเวณบ้านปราสาท เป็นหมู่ที่ 6 ตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัศรีสะเกษ)  มาตั้งเป็นชื่อตำบลด้วย เรียกว่า "ตำบลปราสาท" และบ้านปราสาท หมู่ที่ 1 ขณะนั้นได้ได้รับการพัฒนาและยกระดับเป็นหมู่บ้านอาสาพัฒนาป้องกันตนเอง(อพป.) และมีการพัฒนาเป็นอย่างมาก คณะกรรมการหมู่บ้านได้มีการรื้อฟื้นประวัติของหมู่บ้านและเริ่มจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรจึงได้ทราบว่า ผู้ที่มาก่อตั้งหมู่บ้านปราสาทคนแรก ชื่อว่า ตาเล็ง ดังนั้น เพื่อเป็นการยกย่องและให้เกียรติแก่ผู้ก่อตั้งหมู่บ้านท่านแรก จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกของปราสาทบ้านปราสาท หรือ ปราสาทบ้านลุมพุก เป็นชื่อเรียกใหม่ว่า "ปราสาทตาเล็ง" ตั้งแต่นั้นมา

ที่ตั้ง
            บ้านปราสาท  หมู่ที่  1  ตำบลปราสาท  อำเภอขุขันธ์  จังหวัดศรีสะเกษ  บริเวณรุ้ง(Longtitude)ที่  14  องศา  43  ลิปดา  40  ฟิลิปดา เหนือ  แวง(Latitude)ที่  104  องศา  01  ลิปดา  20  ฟิลิปดาตะวันออก  พิกัด 48 PUB  951283  แผนที่ทหาร  มาตรส่วน  1 : 50,000  พิมพ์ครั้งที่  2- RTSD  ลำดับชุด  L  7071  ระวาง  5838  III


พิกัดGPS ของปราสาทตาเล็ง บน Google Map 
คือ 14°43'45.7"N 104°01'18.2"E หรือ 
14.729363, 104.021714

องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม
            ปรางค์เป็นปรางค์รูปเดี่ยวรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม ก่อด้วยศิลาทรายเสริมด้วยอิฐ ตั้งอยู่บนศิลาแลง  มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก  กรอบประตูหินทรายทั้งสองข้างสลักเป็นตัวหงส์กำลังร่อนอยู่ในลายพันธุ์พฤกษา  เหนือบัวหัวเสาสลักเป็นมกรคายนาคห้าเศียร  ส่วนยอดของปรางค์พังทลาย  เรือนผนังปราสาทเหลือเพียงบางส่วน  พบชิ้นส่วนฐานปฏิมากรรม  หน้าบัน  และทับหลัง  ตกร่วมอยู่   4   ชิ้น  ทับหลังที่ประตูด้านทิศตะวันออก สลักเป็นเกียรติมุขหรือหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้าง  มีพวงอุบะและลายใบไม้ม้วนอยู่เหนือเกียรติมุขสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ทับหลังด้านทิศใต้ สลักเป็นรูปพระยมทรงมหิงสา  อยู่เหนือเกียรติมุข  ทับหลังด้านทิศตะวันตกสลักเป็นรูปพระพิรุณทรงหงส์อยู่เกียรติมุข  ทับหลังด้านทิศเหนือ  สลักเป็นรูปพระอีสานทรงโค ? แนวศิลาแลงปรากฏอยู่ทางทิศตะวันตก  สันนิษฐานว่าเป็นขอบโคปุระ  ส่วนคูน้ำสภาพตื้นเขินล้อม   3   ด้าน เว้นทางเดินทางตะวันออก และจากโคปุระ จากทางด้านตะวันออก  มีแนวคันดินลักษณะคล้ายถนนตัดตรงสู่บาราย(สระน้ำ)ขนาดใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเรียกเป็นภาษาเขมรว่า หนองละเบิก​ (คำว่า ละเบิก หรือรากศัพท์ภาษาเขมรใบลานเมืองขุขันธ์เขียนได้ว่า ល្បើក แปลว่า ระยะทางไม่ไกลเท่าไรนัก เดินด้วยเท้าไปพอได้ออกกำลังและได้เหงือเล็กน้อย ราวๆ 100 - 200 เมตรก็ถึงหนองน้ำนั้น)


ประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออก
กรอบประตูหินทรายทั้งสองข้างสลักเป็นตัวหงส์
กำลังร่อนอยู่ในลายพันธุ์พฤกษา

เหนือบัวหัวเสาสลักเป็นมกรคายนาคห้าเศียร

ส่วนยอดของปรางค์พังทลาย
เรือนผนังปราสาทเหลือเพียงบางส่วน
พบชิ้นส่วนฐานปฏิมากรรม  หน้าบัน
และทับหลัง  ตกร่วมอยู่  4  ชิ้น

ทับหลังที่ประตูด้านทิศตะวันออก สลักเป็นเกียรติมุข
หรือหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัยออกมาทั้งสองข้าง
มีพวงอุบะ และลายใบไม้ม้วน
อยู่เหนือเกียรติมุขสลักเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

ทับหลังด้านทิศใต้ สลักเป็นรูปพระยมทรงมหิงสา
อยู่เหนือเกียรติมุข

ทับหลังด้านทิศตะวันตก  สลักเป็นรูปพระพิรุณทรงหงส์
อยู่เ
กียรติมุข

ทับหลังด้านทิศเหนือ  สลักเป็นรูปพระอีสานทรงโค 


ฐานปฏิมากรรม 

ส่วนคูน้ำสภาพตื้นเขินล้อม   3   ด้าน 
เว้นทางเดินทางตะวันออก

แนวศิลาแลงปรากฏอยู่ทางทิศตะวันตก สันนิษฐานว่าเป็นขอบโคปุระ

จากโคปุระ จากทางด้านตะวันออก
มีแนวคันดินลักษณะคล้ายถนน
ตัดตรงสู่สระน้ำขนาดใหญ่
บาราย(สระน้ำ)โบราณขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียก หนองละเบิก(ត្រពាំងល្បើក​​​  อ่านเป็นภาษาเขมรถิ่นเมืองขุขันธ์ได้ว่า
/ตรอเปี็ยง-ลเบิก trɑː:-pĕəŋ-ləbaək /

อายุสมัย
      ราวพุทธศตวรรษที่  16 – 17  (ราวพ.ศ.1560  -1630)

การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
      ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  99  ตอนที่  172 ง วันที่  8  พฤศจิกายน  2525

การประกาศกำหนดขอบเขตโบราณสถาน
      ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 172 ง วันที่ 8 พฤศจิกายน 2525 เนื้อที่  3  ไร่  2  งาน  53  ตารางวา


              จากลักษณะทางศิลปกรรมที่ปรากฏ  กล่าวได้ว่า ปราสาทตาเล็ง  สร้างขึ้นโดยมีรูปแบบศิลปะเขมรแบบบาปวน  มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖  -  ๑๗ โบราณสถาน  แห่งนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ  และกำหนดขอบเขตโบราณสถาน  ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม 99 ตอนที่ 172 วันที่ 18  พฤศจิกายน  2525  เนื้อที่ประมาณ  3  ไร่  2 งาน  53 ตารางวา  

               เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ธันวาคม 2557 ที่ห้องประชุม อบต.ปราสาท อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้มีการประชุมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง การขุดศึกษาทางโบราณคดีปราสาทตาเล็ง โดยสำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี ร่วมกับ อบต.ปราสาท ซึ่งอธิบดีกรมศิลปากรได้อนุมัติแล้ว และได้มอบหมายให้ นางสุกัญญา เบานิด ตำแหน่งนักโบราณคดีชำนาญการ และนายวสันต์ เทพสุริยานนท์ ตำแหน่งนักโบราณคดีชำนาญการ เป็นผู้ดำเนินงานขุดศึกษาทางโบราณคดีที่ปราสาทตาเล็งร่วมกับ อบต.ปราสาท และทีมงานชาวบ้านจิตอาสาจากทุกหมู่บ้านในสังกัดตำบลปราสาท เพื่อการออกแบบอนุรักษ์ โบราณสถานปราสาทตาเล็ง โดยลงมือดำเนินงานภาคนามในระหว่างเดือนธันวาคม 2557 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ด้วยงบประมาณสนับสนุนจาก อบต.ปราสาท จำนวน 100,000บาท 

              
               สำหรับในปัจจุบัน ปราสาทตาเล็ง อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานศิลปากรที่  10 นครราชสีมา โดยสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม  จะได้มีโครงการอนุรักษ์และพัฒนาส่งเสริม เผยแพร่ศิลปกรรม สถาปัตยกรรมของศาสนสถานแห่งนี้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป

เอกสารอ้างอิง :     
     ราชกิจจานุเบกษา  เล่ม  99  ตอนที่  172 ง วันที่  8  พฤศจิกายน  2525
     ประเสริฐ   ศรีสุวรรณ์.ปราสาทตาเล็ง.ศรีสะเกษ.โรงเรียนบ้านคลองเพชรสวาย,19 กรกฎาคม 2556.
     สนั่น โสริยาตร.ด้วยสำนึกรักบ้านเกิ.ศรีสะเกษ.โรงเรียนบ้านสกุล,14 เมษายน 2557.
     สำลี ศรปัญญา.รวมศาสนสถานโบราณในจังหวัดศรีสะเกษ.ศรีสะเกษ : วิทยาการพิมพ์-ออฟเซท,2544.


วีดิทัศน์ประมวลภาพกิจกรรมโครงการสืบสานวัฒนธรรม 
น้อมนำกตัญญผู้สูงอายุตำบลปราสาท ปี 2557
(14 เม.ย. 2557)