วันพุธที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เมืองขุขันธ์สมัยกรุงธนบุรี

              ปี พ.. ๒๓๑๐  กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เป็นเวลาไม่ถึงปี  สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงสามารถกอบกู้ อิสรภาพได้เอกราชคืนมา และทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เมืองขุขันธ์ จึง ยังต้องขึ้นต่อเมืองพิมาย   ภายใต้พระราชอำนาจ พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงธนบุรี
      
              ปี พ.. ๒๓๑๔  พระยานางรอง  เจ้าเมืองนางรองคบคิดกับเจ้าเมืองจำปาศักด์ กระทำการกำเริบต่อขอบขันฑ์สีมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาจักรีฯ(ทองด้วง)  ยกทัพไปปราบ เจ้าพระยาจักรียกทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองนครราชสีมา โดยให้กองทัพไปจับตัวเจ้าเมืองนางรองได้  นำมาพิจารณาได้ความสัตย์จริง จึงประหารชีวิตเสีย และทราบว่า ทางเมืองจำปาศักดิ์ซ่องสุมไพร่พลอยู่ โดยรวมไพร่พลได้ประมาณ หมื่นเศษๆ  เมื่อทรงทราบจากการกราบบังคมทูล  จึงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุรสีห์ (บุญมา) ยกทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือไปสมทบกับเจ้าพระยาทั้ง 2 ตีได้เมืองจำปาศักดิ์ เมืองโขง  เมืองอัตปือ กวาดต้อนเอาชาวเมืองเหล่านั้น และได้เกลี้ยกล่อมให้มาอยู่ร่วมกับพลเมืองของกลุ่มเขมรป่าดง และขึ้นตรงกับเมืองขุขันธ์  เมืองสังฆะ และเมืองสุรินทร์ เป็นจำนวนมาก 

              ปี พ.. ๒๓๑๙   หลังจากเสร็จศึกครั้งนี้แล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ ( ทองด้วง ) และเจ้าพระยาสุรสีห์ ( บุญมา ) ยกทัพไปตีเวียงจันทน์ เพราะพระเจ้าสิริบุญสาร ให้พระสุโพธิ์ยกทัพมาตีบ้านดอนมดแดง และจับพระวอประหารชีวิต  (ในประวัติเมืองอุบลฯ) สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก  ยกทัพไปตั้งอยู่ ณ เมืองนครราชสีมา  โดยมีบัญชาให้ เจ้าเมืองขุขันธ์  เจ้าเมืองสุรินทร์  เจ้าเมืองสังฆะ ยกกำลังไปร่วมทำศึกในครั้งนี้ด้วย

             หลังจากปราบศึกเมืองเวียงจันทร์ และเมืองอื่นๆ เรียบร้อยแล้ว สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี  ( พระเจ้าตากสิน ) โปรดเกล้าฯ  บำเหน็จความชอบ ให้เลื่อนบรรดาศักดิ์แก่เจ้าเมืองขุขันธ์  เจ้าเมืองสุรินทร์  เจ้าเมืองสังฆะ จาก "พระ"  ขึ้นเป็น " พระยา" ในราชทินนามเดิม  ทั้ง  ๓  เมือง (เจ้าเมืองขุขันธ์  จึงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน )  การทำศึกสงครามในครั้งนี้ กำลังทหารเมืองทั้ง 3 ได้แสดงถึงความเก่งกล้าสามารถอย่างเต็มกำลัง โดยเฉพาะหลวงปราบ ( เชียงขันธ์ ) ผู้ช่วยราชการเมืองขุขันธ์ ได้รับยกย่องว่าเป็นทหารเอกในศึกครั้งนี้ หลังเสร็จศึกแล้วได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทร์กลับมาด้วย  โดยกวาดต้อนอพยพให้มาตั้งหลักแหล่งมีถิ่นฐานอยู่ในเขตพื้นที่เมืองขุขันธ์ จำนวนมาก  เช่น บ้านสิ (พื้นที่ อ.ขุนหาญ) บ้านหมากเขียบ  บ้านก้านเหลือง ( อำเภอเมืองศรีสะเกษ ) บ้านบก บ้านโสน ( อำเภอขุขันธ์ ) นอกจากนี้แล้ว หลวงปราบ ( เชียงขันธ์ ) ยังได้รับเอา เจ้านางคำเวียง  หญิงหม้ายซึ่งเป็นตระกูลใหญ่ผู้สูงศักดิ์จากเวียงจันทน์  เป็นภรรยา พร้อมมีลูกชายติดตามเจ้านางคำเวียง มาด้วย ( ท้าวบุญจันทร์  บุตรเลี้ยง ) โดยอพยพครอบครัวเจ้านางคำเวียงพร้อมบ่าวไพร่ จำนวนมากให้ไปพำนักอยู่  ณ บ้านบก (พื้นที่บริเวณบ้านบก หมู่ที่ ๑๓ ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน) 

            ปี พ.ศ. ๒๓๒๑  พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ( ตากะจะ ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น " พระยา " ได้ไม่นานก็ถึงแก่อนิจกรรม  จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ " หลวงปราบ " (เชียงขันธ์ )   เป็นพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์ สืบแทน เป็นท่านที่ ๒ และโปรดให้ท้าวอุ่น บุตรพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน(ตากะจะ ) เป็นพระภักดีภูธรสงคราม  ปลัดเมืองขุขันธ์

           ต่อมาพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน ( เชียงขันธ์ ) เจ้าเมืองขุขันธ์ ท่านที่ ๒  เห็นว่าที่ตั้งเมืองขุขันธ์ เดิม(บริเวณบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน) ทิศทางสายน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้พื้นที่ดังกล่าว มีชัยภูมิไม่เหมาะกับการตั้งเมือง อีกทั้งต้องการที่จะให้เป็นไปตามที่พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ ) เจ้าเมืองคนที่ ๑ ได้เตรียมการไว้แล้ว  จึงได้เลื่อนที่ตั้งเมืองขุขันธ์จากบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน มาตั้ง ณ  บริเวณหนองแตระ โดยเรียกชื่อว่า “เมืองขุขันธ์”  เช่นเดิม ในการเลื่อนที่ตั้งเมืองมาตั้ง ณ ที่ บริเวณที่ใหม่ ที่เป็นชัยภูมิที่ดี และน้ำท่วมไม่ถึง โดยได้มีการฝังหลักเมืองตามประเพณีนิยม  ดังปรากฏอยู่ ณ มุมวัดกลาง ด้านทิศหรดี(ทิศตะวันตกเฉียงใต้)ในปัจจุบัน และเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองขุขันธ์เคารพสักการะมาจนถึงปัจจุบัน