วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เมืองขุขันธ์กับเหตุการณ์ครบรอบ ๒๕๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๕๒...ปีแห่งมหามงคล...

       เหตุการณ์แรกคือ ครบรอบ ๒๕๐ ปี รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี (ทองด้วง) เสด็จตามพญาช้างเผือกมาที่เมือง ขุขันธ์ พ.ศ. ๒๓๐๒
       เหตุการณ์ที่ ๒ คือ ครบรอบ ๒๕๐ ปี เมืองขุขันธ์ปกครองในระบบราชการขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา ในฐานะหัวเมืองชั้นนอก
       เหตุการณ์ที่ ๓ คือครบรอบ ๒๕๐ ปี ตากะจะได้รับโปรดเกล้าฯ บรรดาศักดิ์เป็น “หลวงแก้วสุวรรณ” ตำแหน่งนายกอง
       เหตุการณ์ที่ ๔ คือครบรอบ ๒๕๐ ปี เชียงขันได้รับโปรดเกล้าฯ บรรดาศักดิ์เป็น “หลวงปราบ” ตำแหน่งผู้ช่วยนายกอง
เหตุการณ์ที่ ๕ คือครบรอบ ๒๕๐ ปี การตั้งศาลหลักเมืองขุขันธ์ ( ปรับปรุงทำนุบำรุงใหม่ ๒๕๕๒)
       เหตุการณ์ที่ ๖ คือครบรอบ ๒๐๐ ปี พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ หรือสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ( ทองด้วง) ทรงเสด็จสวรรคต (เห็นสมควรที่น่าจะสร้างอนุสรณ์สถานอนุสาวรีย์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ เมืองขุขันธ์ อีกด้วย เพื่อความเป็นสิริมงคลและความเจริญร่งเรืองแห่งเมืองขุขันธ์ สืบไป)
       ด้วยเหตุการณ์และเหตุผลดังกล่าวในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ จึงเห็นควรจัดทำบุญเฉลิมฉลอง ๒๕๕๒ ปี เมืองขุขันธ์ให้ยิ่งใหญ่สมกับเป็นเมืองประวัติศาสตร์เพื่อเตรียมการขอยกฐานะเป็นจังหวัดขุขันธ์ต่อไป

การชำระประวัติศาสตร์เมืองขุขันธ์

             ประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2548 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม เทศบาลตำบลห้วยเหนือ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 10 ท่าน ที่ประชุมร่วมพิจารณา เนื้อหาประวัติเมืองขุขันธ์ และประวัติเจ้าเมือง ฉบับที่ อาจารย์นิติภูมิ ขุขันธิน ร่างมาเสนอเป็นต้นฉบับ แก้ไข ขัดเกลา ศึกษาเพิ่มเติม และให้มีเอกสารอ้างอิง
             ประชุมครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2548 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลห้วยเหนือ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 12 ท่าน ได้ประชุมพิจารณาร่างประวัติเมือง ประวัติเจ้าเมือง และประวัติการสร้างที่มอบหมาย โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านภาษาไทย เข้าร่วมประชุมพิจารณา ปรับปรุง แก้ไข การใช้สำนวนทางภาษาไทยให้สละสลวยถูกต้องตามหลักภาษา ก่อนนำเสนอนายอำเภอขุขันธ์ พิจารณาอนุญาตให้ไปบันทึกลงในแผ่นจารึก
             ประชุมครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2548 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม เทศบาลตำบลห้วยเหนือ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 15 ท่าน ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้รู้และผู้สนใจเกี่ยวกับประวัติเมืองขุขันธ์มาร่วมประชุมพิจารณา ทบทวน ปรับปรุง แก้ไข เอกสารฉบับร่างที่คณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาไทย ร่วมกันประชุมพิจารณา ครั้งที่ 4/2548 และสรุปผลการประชุมพิจารณาและนำเสนอนายอำเภอเพื่อขออนุญาตจารึกลงในแผ่นศิลา จารึกบริเวณฐานอนุสาวรีย์
             ประชุมครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมเล็กที่ว่าการอำเภอขุขันธ์ มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 19 ท่าน มีนายอำเภอขุขันธ์เป็นประธานมนที่ประชุม ประธานเสนอให้ที่ปะชุมทบทวน ปรับปรุงเนื้อหาประวัติเจ้าเมืองให้ชัดเจนขึ้น ผลการประชุมได้เนื้อหาที่จะนำไปจารึกไว้ที่ฐานอนุสาวรีย์ทั้ง 2 ด้าน

ประวัติพระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน( ตากะจะ ) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

             พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เดิมชื่อว่า ตากะจะ หรือตาไกร เป็นหัวหน้าชาวเขมรป่าดงบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน

             ปี พุทธศักราช ๒๓๐๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์แห่งกรุงศรีอยุธยา พญาช้างเผือกมงคลแตกโรงหนีเข้าป่า ไปรวมอยู่กับโขลงช้างป่าในเทือกเขาพนมดงเร็ก ตากะจะหรือตาไกร และเชียงขัน พร้อมด้วยหัวหน้าชาวเขมรป่าดง รับอาสาตามจับพญาช้างเผือกได้และตามคณะนำส่งถึงกรุงศรีอยุธยา ด้วยความชอบในครั้งนี้จึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ ตากะจะหรือตาไกร เป็นหลวงแก้วสุวรรณ ตำแหน่งหัวหน้านายกองปกครองหมู่บ้าน
             ปีพุทธศักราช ๒๓๐๖ หลวงแก้วสุวรรณนำเครื่องบรรณาการถวายพระเจ้าอยู่หัว ณ กรุงศรีอยุธยา ความชอบครั้งนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนขึ้นเป็น “เมืองขุขันธ์” โปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์ให้หลวงแก้วสุวรรณ เป็นพระไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์
             ปีพุทธศักราช ๒๓๑๙ – ๒๓๒๐ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ มีรับสั่งให้ พระยาจักรี ( ทองด้วง ) ไปทำศึกปราบกบฎกับเวียงจันทน์ พระไกรภักดีศรีนครลำดวน ( ตากะจะ) และ”หลวงปราบ” ได้เกณฑ์กำลังไปช่วยรบอย่างเข้มแข็ง จนได้รับชัยชนะทุกครั้งมีความชอบจึงได้โปรดเกล้าฯ เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน“ นับได้ว่าเป็นบรรพบุรุษผู้สร้างเมืองขุขันธ์ เป็นต้นตระกูลเจ้าเมืองขุขันธ์และได้ถึงแก่ อนิจกรรมในปี พุทธศักราช ๒๓๒๑
             ปีพุทธศักราช ๒๕๔๗ นายกฤช รังสิเสนา ณ อยุธยา นายอำเภอขุขันธ์ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยเหนือ และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งในอำเภอขุขันธ์ พร้อมด้วยประชาชนชาวขุขันธ์ทุกหมู่เหล่า ด้วยความเห็นชอบและสนับสนุนงบประมาณของทางราชการจาก นายถนอม ส่งเสริม ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้พร้อมใจกันดำเนินการก่อสร้าง อนุสาวรีย์เจ้าเมืองขุขันธ์ขึ้นโดยได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ เวลา ๑๐.๑๙ น. สร้างเสร็จเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๘

วันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

ประวัติเมืองขุขันธ์ โดยสังเขป

เริ่มต้นที่ยุคเมืองมหานคร (Angkor អង្គរ) คลิก  
ณ ที่นี้ ขอกล่าวถึงเฉพาะช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา - รัตนโกสินทร์
            ในสมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณที่เป็นเขตจังหวัดศรีสะเกษและสุรินทร์ ในปัจจุบันนี้ เดิมเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าต่างๆ หลายชนเผ่าอาศัยอยู่รวมกัน ได้แก่ชนเผ่าเขมร กวย ลาว ฯลฯซึ่งเรียกโดยรวมว่า เขมรป่าดง มีชุมชนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ซึ่งต่อมาได้ยกฐานะเป็น เมืองขุขันธ์

"ปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน" ในอดีต ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น "ปราสาทกุด"
เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคม
  

             ปีพุทธศักราช ๒๓๐๒ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ แห่งกรุงศรีอยุธยา พญาช้างเผือกได้แตกโรงไปอยู่รวมกับโขลงช้างป่าในเขตภูเขาพนมดงเร็ก จึงโปรดเกล้าฯให้ทหารเอกคู่พระทัย ( ทองด้วงและบุญมา) นำไพร่พลออกติดตามโดยได้รับการช่วยเหลือจาก ตากะจะ หรือตาไกร หัวหน้ากลุ่มชนบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนและเชียงขันธ์ ร่วมกับหัวหน้ากลุ่มชนชาวเขมรป่าดงที่ชำนาญการจับช้างคือ เชียงปุม แห่งบ้านเมืองที เชียงสี แห่งบ้านกุดหวาย เชียงฆะ แห่งบ้านอัจจะปะนึง และเชียงไชย แห่งบ้านจาระพัด ออกติดตามจนพบ สามารถจับพญาช้างเผือกได้ และตามคณะนำส่งถึงกรุงศรีอยุธยาพระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ ตากะจะหรือพระยาไกร เป็นหลวงแก้วสุวรรณ ตำแหน่งนายกองหัวหน้าหมู่บ้านและเชียงขันธ์ เป็นหลวงปราบผู้ช่วย
              ปีพุทธศักราช ๒๓๐๖ โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน ขึ้นเป็น เมืองขุขันธ์ โดย หลวงแก้วสุวรรณ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระไกรภักดีศรีนครลำดวน เจ้าเมืองขุขันธ์คนแรก
              ปีพุทธศักราช ๒๓๒๑ พระไกรภักดีศรีนครลำดวน ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน เมืองขุขันธ์ในอดีตมีผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง ๙ คน ดังนี้
              ๑. พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน หรือ ตากะจะ หรือหลวงแก้วสุวรรณ เป็นเจ้าเมืองขุขันธ์ท่านแรก (ตากะจะ - พุทธศักราช ๒๓๐๒ - ๒๓๒๑)
              ๒. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๒(เชียงขันธ์ - พุทธศักราช ๒๓๒๑ - ๒๓๒๕)  
              ๓. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๓( ท้าวบุญจันทร์ - พุทธศักราช ๒๓๒๕ - ๒๓๖๙)
              ๔. พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๔( พระสังฆะบุรี หรือ ทองด้วง - พุทธศักราช ๒๓๗๑ - ๒๓๙๓)
              ๕. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๕( ท้าวใน - พุทธศักราช ๒๓๙๓)
              ๖. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๖( ท้าวนวน - พุทธศักราช ๒๓๙๓)
              ๗. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๗(ท้าวกิ่ง หรือ หลวงภักดีภูธรสงคราม พุทธศักราช ๒๓๙๔ - ๒๓๙๕)
              ๘. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๘(ท้าววัง - พุทธศักราช ๒๓๙๕ - ๒๔๒๖)
              ๙. พระยาขุขันธ์ ภักดีศรีนครลำดวน ท่านที่ ๙(ท้าวปัญญา ขุขันธิน - พุทธศักราช ๒๔๒๖- ๒๔๔๐/ ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์ พ.ศ. ๒๔๔๐ - ๒๔๕๐)ได้รับโปรดเกล้าพระราชทานนามสกุล "ขุขันธิน")

- ปีพุทธศักราช ๒๔๔๐ โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนตำแหน่ง เจ้าเมืองขุขันธ์ เป็นตำแหน่ง ผู้ว่าราชการเมืองขุขันธ์
- ปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ ยุบเมืองศรีสะเกษและเมืองเดชอุดม โดยให้อำเภอที่ขึ้นกับเมืองทั้งสองไปขึ้นกับเมืองขุขันธ์
- ปลายปีพุทธศักราช ๒๔๔๙ ย้ายเฉพาะศาลากลางเมืองขุขันธ์ จากที่ตั้งเดิม(อำเภอเมืองขุขันธ์) ไปตั้งบริเวณศาลากลางเมืองศีร์ษะเกษ แต่ยังคงใช้ชื่อ ศาลากลางเมืองขุขันธ์ ส่วนพื้นที่อำเภอเมืองขุขันธ์ยังอยู่ที่ตั้งเดิม
- ปี พุทธศักราช ๒๔๕๙ โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อเมืองขุขันธ์ เป็นชื่อจังหวัดขุขันธ์
- ปี พุทธศักราช ๒๔๖๐ เปลี่ยนชื่ออำเภอเมืองขุขันธ์ เป็น อำเภอห้วยเหนือ
- ปีพุทธศักราช ๒๔๘๑ เปลี่ยนชื่อจังหวัดขุขันธ์ เป็นชื่อจังหวัดศีร์ษะเกษ เปลี่ยนชื่อ อำเภอห้วยเหนือ เป็นชื่อ อำเภอขุขันธ์ ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
- ปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ ประเทศของเราเดิมชื่อ ประเทศสยาม(Siam) 
เปลี่ยนชื่อมาเป็น ประเทศไทย (Thailand )


วีดิทัศน์ประวัติเมืองขุขันธ์โดยสังเขปที่กล่าวถึงเริ่มต้นจากวีรกรรมการตามจับช้าง
ในช่วงตอนปลายกรุงศรีอยุธยา  สำหรับเวอร์ชั่นที่เริ่มต้นจาก พ.ศ. 1580
ยุคเมืองมหานคร อยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำ...ครับ