-->
ขุขันธ์ เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา...ต้นไม้จะอยู่ได้ก็เพราะราก ชาติจะอยู่ได้ก็เพราะวัฒนธรรม การทำลายต้นไม้ ง่ายที่สุด คือทำลายที่ราก การทำลายชาติไม่ยาก ถ้าทำลายวัฒนธรรม...ไร้รากเหง้า วัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตวิญญาณ ไร้เรา...

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

อำมาตตรี พระวิเศษชัยชาญ ( ชอุ่ม อมัตติรัตน์ ) ผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ ท่านที่ 2 (พ.ศ. 2463 - 2465)

อำมาตย์เอก พระยาวิเศษไชยชาญ พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๖๗
อำมาตย์เอก พระยาวิเศษไชยชาญ
(พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๖๗)
          สมเด็จ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงพระนิพนธ์ไว้ในคำนำของประชุมปกรณัมภาคที่ ๔ เรื่องเวตาลปกรณัม พิมพ์ในงารพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยาวิเศษไชยชาญ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๘ พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร  ความว่า


          " พระยาวิเศษไชยชาญ ต ม. จ ช. ร จ พ. นามเดิมฉอุ่ม นามสกุลอมัติรัตน์ เกิดเมื่อวันอังคารเดือนยี่แรม ๕ ค่ำ ตรงกับวันที่ ๒๖ มกราคม ปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ เปนบุตรพระพิมูลภักดี อ่ำ มารดาชื่อเอี่ยม บ้านเดิมอยู่เมืองพิไชยเก่า เรียนอักขรสมัยในสำนักบิดา แลพระครูวิเชียรปัญญามหามุนี วัดมหาธาตุเมืองพิไชยเก่า แรกเข้ารับราชการอยู่กับเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร์) เมื่อยังเปนพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร ได้เปนเสมียนไปรับราชการณเมืองหลวงพระบาง เมื่อครั้งเจ้าพระยาสุรสีห์เปนข้าหลวงใหญ่ใน พ.ศ. ๒๔๓๖ ครั้นเมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ได้เปนข้าหลวงเทศาภิบาลแรกจัดการมณฑลพิษณุโลก ได้มารับราชการเปนเสมียนอยู่ในข้าหลวงเทศาภิบาลด้วย ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นโดยลำดับ จนได้เปนผู้ช่วยข้าหลวงมหาดไทยมณฑลพิษณุโลก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๑ ได้พระราชทานสัญญาบัตรเปนหลวงสำเริงนฤปการ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๒ ย้ายไปเปนนายอำเภอเมืองพิจิตร์อยู่ ๑ ปี ถึง พ.ศ. ๒๔๔๓ จึงกลับมาเปนข้าหลวงมหาดไทยมณฑลพิษณุโลก ประจวบสมัยที่กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งให้มีนักเรียนปกครองขึ้นตามมณฑล หลวงสำเริงนฤปการได้รับเลือกให้เปนผู้สอนนักเรียนปกครองด้วย ถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ ได้พระราชทานสัญญาบัตร์เลื่อนขึ้นเปนพระสำเริงนฤปการ ถึง พ.ศ. ๒๔๔๕ ได้เลื่อนตำแหน่งเปนปลัดมณฑลพิษณุโลก ในปีนี้เกิดผู้ร้ายเงี้ยวขึ้นที่เมืองแพร่ กระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่งให้ไปกำกับราชการเมืองสุโขทัย เมืองสวรรคโลกและจัดพาหนะกระสุนดินดำส่งลำเลียงกองทัพที่ขึ้นไปปราบปรามเงี้ยวณเมืองแพร่จนสงบ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ ๔ เปนบำเหน็จความชอบ

          พระสำเริงนฤปการเปนผู้ชำนาญในการปกครองถึงได้เปนอาจารย์สอนนักเรียนดังกล่าวมา ทางราชการจึงเลือกส่งไปประจำราชการในมณฑลและจังหวัดต่าง ๆ หลายแห่งจนตลอดเวลารับราชการ คือเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ ไปเปนผู้ว่าราชการเมืองอุไทยธานี พ.ศ. ๒๔๕๐ เปนปลัดมณฑลชุมพร พ.ศ. ๒๔๕๒ เปนผู้ว่าราชการเมืองชุมพร ถึง พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้พระราชทานยศเปนอำมาตย์เอก พ.ศ. ๒๔๕๖ กลับมาเปนผู้ว่าราชการเมืองอ่างทอง ถึง พ.ศ. ๒๔๕๗ ได้รับพระราชทานสัญญษบัตร์เลื่อนขึ้นเปนพระยาวิเศษไชยชาญ พ.ศ. ๒๔๕๙ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ช้างเผือกชั้นที่ ๔ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๑ ย้ายไปเปนผู้ว่าราชการจังหวัดขุขันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๓ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มงกุฎสยามเลื่อนขึ้นเปนชั้นที่ ๓ ถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ มาเปนผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีอยู่จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๗ ป่วยเปนไข้มาลาเรีย ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ นี้ คำนวณอายุได้ ๕๑ ปี.

         พระยาวิเศษไชยชาญรับราชการอยู่เปนเวลา ๓๑ ปี ได้รับพระราชทานเงินเดือนตั้งแต่ ๑๓ บาท ถึง ๖๐๐ บาทเปนที่สุด นอกจากนี้ยังได้พระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลา แลเหรียญที่ระลึกในการพระราชพิธีต่าง ๆ ตามบันดาศักดิ์อิกปลายประการ สิ้นประวัติพระยาวิเศษไชยชาญเพียงนี้ "



เอกสารอ้างอิง :
ประชุมปกรณัมภาคที่ ๔ เรื่องเวตาลปกรณัม พิมพ์ในงารพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์เอก พระยาวิเศษไชยชาญ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๘ พิมพ์ที่โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร.

ประชุมปกรณัมภาคที่ ๔ เรื่องเวตาลปกรณัม

ดร.วัชรินทร์ สอนพูด ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์
นายสุเพียร คำวงศ์ เลขานุการสภาวัฒนธรรมอำเภอขุขันธ์

สนับสนุนโดย